ข้อมูลท่องเที่ยวลำปาง

ข้อมูลท่องเที่ยวลำปาง

ลำปาง เดิมชื่อเขลางค์นคร เป็นเมืองหลวงคู่แฝดกับอาณาจักรหริภุญไชย ซึ่งเจ้าเมืองทั้งสองเป็นโอรสแฝดของพระนางจามเทวี นับเป็นอีกจังหวัดในภาคเหนือที่เป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มีวัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีรถม้าที่ไม่เหมือนใคร มีอาหารการกินแสนอร่อย มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง เช่น มีเครื่องปั้นดินเผาที่ทำจากดินขาวขึ้นชื่อกับถ้วยชามตราไก่ที่เห็นกันจน คุ้นชินแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด ทั้ง ถ้ำ น้ำตก มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และบ่อน้ำร้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้จังหวัดลำปางกลายเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั้งหลายต้องแวะ เที่ยวชม มิใช่เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป

• ประวัติลำปาง แต่อดีตมาเมืองลำปาง มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ศรีดอนชัย ลัมภะกัมปะนคร เขลางค์นคร และกุกกุฏนคร (นครไก่)
คำว่า “ลำปาง” นั้นหมายถึงไม้ป้าง ตำนานเล่าว่าเป็นไม้ข้าวหลามที่ลัวะอ้ายกอนใช้หาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว มะตูม มาถวายพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมายังบริเวณนี้ ก่อนจะปักไม้เอาทางปลายลงเกิดเป็น ต้นขะจาวที่เห็นอยู่ข้างวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ต้นขะจาวนี้มีลักษณะผิดแผกจากไม้อื่นด้วยกิ่งก้านจะชี้ลงดิน เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดลำปางที่มีอายุกว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว
• ส่วนคำว่า “เขลางค์นคร” เป็นภาษาบาลี ปรากฏอยู่ในตำนานตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 คำว่า ลครซึ่งกลายมาจากนคร จึงเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกเมืองเขลางค์ ทั้งยังปรากฏใช้ในศิลาจารึกและพงศาวดารในรุ่นต่อมา ส่วนภาษาพูดจะออกเสียงว่าละกอน มีความหมายเดียวกับคำว่าเมืองลคร หรือ “เวียงละกอน”
• นอกจากนี้บางตำนานยังเล่าว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นทันออกมาทำบุญตักบาตร ด้วยเหตุนี้เมืองลำปางจึงได้ชื่อว่า “กุกกุฏนคร” อันหมายถึงเมืองไก่ขาว ไก่ขาวจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เราจะพบตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่างๆ แม้แต่ในชามตราไก่ที่ขึ้นชื่อ
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของนครลำปางมากว่า 3,000 ปีล่วงมาแล้ว มีการค้นพบภาพเขียนสีและโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนชิ้นส่วนภาชนะดินเผาในสมัยหริภุญไชย และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพง
• เวียงเมืองหรือเมืองเขลางค์นครเก่าตั้งอยู่ในบริเวณตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองปัจจุบัน ฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง มีการพัฒนามาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยยังดำรงอยู่ “เวียง” คือ เมืองที่มีการกำหนดเขตรั้วรอบขอบชิด โดยการขุดคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ เมืองเขลางค์นครนี้มีฐานะเป็นเมืองหลวงคู่แฝดของอาณาจักรหริภุญไชย มีพระเจ้าอนันตยศหนึ่งในพระราชโอรสแฝดของพระนางจามเทวีผู้ครองอาณาจักรหริภุญไชยเคยเสด็จมาปกครองนครแห่งนี้ มีพื้นที่เมืองประมาณ 600 ไร่ และยังพบเวียงบริวารในอำเภอต่างๆ สำหรับเวียงบริวารที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือเวียงพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นเวียงทางพระพุทธศาสนา อยู่ที่อำเภอเกาะคาห่างจากตัวจังหวัดลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร สัณฐานของเวียงนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก มีร่องรอยของกำแพงดิน 3 ชั้น ระหว่างกำแพงดินเป็นคูน้ำคู่ขนานโอบล้อมเวียงไว้ แต่ปัจจุบันคูน้ำคันดินได้ถูกไถแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปตามกาลเวลา จนแทบจะมองไม่ออกว่าเป็นลักษณะเวียง
• เมืองเขลางค์นครแห่งอาณาจักรหริภุญไชยนี้ มีผู้ปกครองสืบต่อกันมาตลอด ก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาของพระยามังรายที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกทางตอนเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 พระยามังรายขยายอิทธิพลยกทัพล้ำเขตเข้ามาโจมตีอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อันมีเขลางค์นครเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน ในที่สุดได้ยึดเมืองทั้งสองไว้ได้และ มีการแต่งตั้งผู้ครองนครขึ้น เป็นการเปลี่ยนวงศ์ผู้ครองเมืองมาเป็นสายของพระยามังราย ระหว่างนั้นได้สร้างเมืองเขลางค์นครขึ้นใหม่ในฐานะของเมืองหน้าด่าน ของอาณาจักรล้านนาสืบมา
อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็อ่อนแอลงและถูกพม่ายึดอำนาจได้เมื่อปี พ.ศ. 2101 และตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ารวมระยะเวลานานถึง 200 ปี แต่ในบางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งอยู่ทางตอนใต้ ร่องรอยอดีตที่แสดงถึงการขยายแผ่อิทธิพลด้านศิลปกรรม คือรูปแบบของศิลปที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว
• ในสมัยที่พม่าครอบครองเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือตอนบนพม่าได้ส่งเจ้านายมาปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเชียงใหม่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2275 ท้าวมหายศผู้ครอบครองเมือง หริภุญไชย ได้ยกทัพมาปราบผู้ที่คิดกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้เป็นอิสระจากพม่า ได้ตั้งทัพอยู่บริเวณเวียงธาตุลำปางหลวง ชาวเมืองได้ติดต่อกับหนานทิพย์ช้างพรานป่าผู้กล้าให้ช่วยกู้เอกราชให้แก่ลำปาง ในครั้งนั้นหนานทิพย์ช้างได้ยิงท้าวมหายศตายด้วยปืนใหญ่ ณ บริเวณวิหารหลวง ปัจจุบันหลังพระวิหารหลวงที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์ยังมีรอยรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
• ความเจริญของนครลำปางก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนกระทั่งในช่วงยุคทองช่วงหนึ่งในปี พ.ศ. 2425-2440 สมัยเจ้านรนันทชัยชวลิต เจ้าผู้ครองนครองค์ที่ 9 ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 5 นครลำปางมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ในฐานะของศูนย์กลางการค้าไม้สักภาคเหนือ โดยมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนตลาดเก่า ซึ่งมีอาคารพาณิชย์ ร้านค้า บ้านพักอาศัยของคหบดี ในสมัยนั้นโดยมากแล้วเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ และได้ตั้งชุมชนที่ท่ามะโอ ณ ตำบลเวียงเหนือ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงได้สร้างวัดแบบศิลปะพม่าไว้หลายแห่ง