สถานที่ท่องเที่ยวในขอนแก่น

สถานที่ท่องเที่ยวขอนแก่น

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวขอนแก่น

อำเภอเมือง
• ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นแห่งนี้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ริเริ่มสร้างขึ้นโดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2499
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เป็นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันมีค่าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ที่บ้านเชียงและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ควรชมสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดีจำหลักภาพพุทธประวัติที่งดงามและสมบูรณ์มาก พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีอันได้แก่ทับหลังจากปราสาทหินในภาคอีสาน นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอื่นไว้ด้วย เช่น สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น และส่วนหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ด้วยเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. (043) 246170
• บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ "เจ้าเพียเมืองแพน" ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมืองเพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่งให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆดูเพลินตาเพลินใจ ยิ่งไปกว่านั้นทางเทศบาลยังปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้โดยรอบเพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภทอีกด้วย
• มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ บริเวณ “มอดินแดง” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวคือ “บึงสีฐาน” ซึ่งมีนกเป็ดน้ำอพยพมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว
• วัดไชยศรี ตั้งอยู่ที่บ้านสะวี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2408 สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดูสวยงามแปลกตาฝีมือนายทอง ทิพย์ชา ช่างพื้นบ้านชาวมหาสารคาม ภาพจิตรกรรมที่วัดนี้จะเขียนทั้งภายในและภายนอกสิม(โบสถ์) สิ่งที่สะดุดตาอันดับแรกคือการใช้สี ช่างจะเขียนด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว มองสบายตา ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนที่เกินจริง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนาน ตัวละครจะออกท่าทางโลดโผน เรื่องราวที่เขียนบนฝาผนังด้านนอกเป็นรูปนรกแปดขุม ภาพพระเวสสันดร นิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ภาพทวารบาล ส่วนด้านในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ มีภาพเทพ มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ปรกติวัดในต่างจังหวัดยังคงเคร่งตามประเพณีเดิม คือผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปภายในโบสถ์ได้ ซึ่งวัดไชยศรีก็เป็นวัดหนึ่งที่ยังรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมโบราณ เดิมเป็นหลังคาแบบอีสานคือมีปีกยื่น ต่อมาหลังคาชำรุดชาวบ้านจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ทั่วถึง จึงทำให้ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกเลือนไปบ้างแต่อย่างไรก็ดีกรมศิลปากรก็ได้เข้ามาต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์แล้ว นอกจากนั้นยังยกพื้นขึ้นเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะฐานด้วย
• การเดินทาง ไปตามถนนมะลิวัลย์สายขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมู่บ้านสาวะถี ผ่านบ้านม่วงรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปโดยทางลาดยางตลอดต้องอ้อมนิดหน่อยผ่านบ้านม่วง บ้านโคกล่าม บ้านหนองตาไก้ บ้านม่วงโป้ บ้านโนนกู่และเข้าสู่สาวะถี รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร
• กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนช้าง เป็นศาสนสถานเขมรขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ประกอบด้วย "บรรณาลัย" (ห้องสมุด) และองค์ปรางค์ประธาน ภายในกำแพงแก้ว ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี"บาราย"(สระน้ำ)ก่อด้วยศิลาแลง ระหว่างการบูรณะพบศิลาจารึกสลักเป็นภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างศาสนสถาน เพื่อเป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนด้วยเรียกว่า“อโรคยาศาล” นอกจากนั้นยังพบรูปสลักหินทราย พระโพธิสัตว์ พระนารายณ์ทรงครุฑ และพรหมทรงกระบือ
• ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
อำเภอน้ำพอง
• พระธาตุขามแก่นสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อ กล่าวว่าโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไป ถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่า จะนำพระอังคารธาตุกลับไป ประดิษฐานไว้ ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้ง ปรากฏว่า แก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุ จึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุและให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ
• การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อข้ามลำน้ำพองแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
• กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำแล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงกู่ประภาชัย
• กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังอย่างเดียวกันกับโบราณสถานที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720-1780) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ 1 สระทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
• หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่าแต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพรควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อนต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่างๆด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่าจึงได้คิดหางูเห่ามาแสดงเพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุกๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จสามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมากสามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 2 เมตรพ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแสดงแทนและถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรชาวบ้านจะรวมกลุ่มเดินทางออกเร่แสดงงูเพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้นจะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบๆบริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย
• ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่นการแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอางจนชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย ฯลฯ
• บ้านโคกสง่าอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2(ถนนมิตรภาพ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 33 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกระนวน ตามทางหลวงหมายเลข 2039 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 เมื่อสังเกตเห็นป้อมยามตำรวจพังทุยทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังผ่านบ้านนางาม วัดสระแก้ว เมื่อถึงสี่แยกที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 600 เมตร จะถึงประตูทางเข้าหมู่บ้าน
อำเภออุบลรัตน์
• เขื่อนอุบลรัตน์ เรียกอีกชื่อว่า “เขื่อนพองหนีบ” เนื่องจากสร้างข้ามแม่น้ำพองโดยปิดกั้นลำน้ำพอง ตรงบริเวณช่องเขาที่เป็นแนวต่อระหว่างเทือกเขาภูเก้าและภูพานคำ การก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2509 มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร การประมง การป้องกันอุทกภัย การคมนาคม ตลอดไปจนถึงเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ภายในบริเวณมีร้านอาหารมากมายหลายประเภท ตั้งแต่อาหารตามสั่งไปจนถึงส้มตำ นั่งปูเสื่อรับประทานแบบสบายๆเข้ากับบรรยากาศ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีบ้านพักบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำการเขื่อนอุบลรัตน์ โทร. (043) 446231 , 224129 ต่อ 2864 หรือ กรุงเทพฯ โทร. 436-3271-2 การเดินทางไปชมเขื่อนไปได้ตามทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ห่างจากขอนแก่น 26 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร
• บางแสน 2 ตั้งอยู่ที่บ้านหินเพิง ตำบลท่าเรือ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 53 กิโลเมตร บรรยากาศโดยรอบของ ชายหาดริมทะเลสาบน้ำจืด เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สวยสะดุดตาเมื่อพระอาทิตย์ฉายส่องลงมาในยามเย็นกระทบกับทิวเขาภูเก้าที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่น่าสนใจก็คือ การบริการให้เช่าจักรยานน้ำ, บานาน่า โบ๊ต, ห่วงยาง นอกจากนี้ยังมีบริการอาหารเลิศรสที่ปรุงจากปลาภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ ปลานิล, ปลาตะเพียน, ปลาช่อน, ฯลฯ ช่วงเทศกาลสำคัญ หรือ วันหยุด มักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมธรรมชาติ และเล่นน้ำกันเป็นจำนวนมาก
• อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ครอบคลุมพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 320 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,250 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 สภาพพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ใบไม้จะเปลี่ยนสีผลัดใบในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานจะอยู่บริเวณภูพานคำริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์มีทิวทัศน์ที่สวยงามมากโดยเฉพาะเวลาพระอาทิตย์ตก ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานฯมีสถานที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมได้ สิ่งที่น่าสนใจส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณภูเก้าในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ ร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในสมัยบ้านเชียง เช่น ภาพเขียนสีและภาพสลักตามผนังถ้ำต่างๆ และรอยเท้าไดโนเสาร์ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพันธุ์เดียวกับรอยเท้าที่พบที่อำเภอภูเวียง เป็นต้น การเดินทาง ใช้เส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากนั้นใช้เส้นทางอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือขึ้นรถโดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ที่ตลาด อำเภออุบลรัตน์

อำเภอหนองเรือ
• อุทยานแห่งชาติน้ำพองมีพื้นที่ทั้งสิ้น 197 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ อุบลรัตน์ ภูเวียง บ้านฝาง มัญจาคีรี และ โคกโพธิ์ชัย และ สองอำเภอในจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ บ้านแท่น และ แก่งคร้อ ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ เป็นทั้งแหล่งต้นน้ำของลำน้ำชี ลำน้ำพอง และแหล่งสมุนไพร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง
• ในบริเวณอุทยานมีจุดชมวิวอยู่หลายแห่ง ได้แก่ “จุดชมวิวหินช้างสี” เป็นกลุ่มหินใหญ่บนสันเขาป่าโสกแต้ ด้านข้างของหินมีรอยดินที่ช้างใช้ลำตัวสีก้อนหินติดอยู่ ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการประมาณ 2 ชั่วโมง หรือโดยรถยนต์จากสวนป่าโสกแต้ 8 กิโลเมตร จากจุดนี้จะมองเห็นทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ และเมืองขอนแก่น เดินเท้าจากจุดนี้ไป 30 นาทีจะเป็น “จุดชมวิวพลาญชาด” เป็นลานหินที่มีต้นชาดขึ้นอยู่ ถัดไปคือ“ผาสวรรค์” เป็นหน้าผาบนเทือกเขาป่าโสกแต้อยู่บริเวณบ้านโนนสวรรค์ อำเภออุบลรัตน์ เป็นจุดชมทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำที่งดงามอีกจุดหนึ่ง ใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการประมาณ 2 ชั่วโมง สถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งก็คือ “คำโพน” เป็นบ่อหินกลมคล้ายปล่องภูเขาไฟเกิดจากสภาพทางธรณีวิทยา
• การเดินทาง จากตัวเมืองขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ไปยังอำเภอชุมแพ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 30 แยกขวาไปประมาณ 19 กิโลเมตร ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตู้ปณ. 13 (ดอนโมง) อ.หนองเรือ ขอนแก่น 40240 โทร. (043) 248006-7
• ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.ภูเวียง : อ.ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

อำเภอภูเวียง
• พัทยา 2 ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุงเซิน ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 78 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบขนาดประมาณ 20 ไร่ มักจะมีผู้คนท้องถิ่นมาพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีทัศนียภาพที่งดงามโดยมีเทือกเขาภูพานคำตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังแล้ว ยังได้นั่งรับประทานปลาน้ำจืดนานาชนิด (ที่หาได้จากทะเลสาบนี้เอง)บรรยากาศที่เย็นสบาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางน้ำให้เลือกเล่นมากมายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนเกียรติสุรนนท์ ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านค้อ และเลี้ยวซ้ายอีกทีตรงวัดโสภารัตนพัฒนาราม ตรงไปและเลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่ง
• หมู่บ้านผึ้งตั้งอยู่ที่ ตำบลกุดขอนแก่น ศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ผึ้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอภูเวียง ได้ส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยงผึ้งและกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลและปลูกพืชอาหารผึ้ง และจัดสร้างซุ้มสาธิตเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งและการเกษตร มีเกษตรกรร่วมโครงการทั้งสิ้น 108 ราย มีร้านจำหน่ายน้ำผึ้ง และผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ในราคาย่อมเยาว์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ผึ้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 255066

อำเภอชุมแพ
• อุทยานแห่งชาติภูเวียงเมื่อพูดถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียงนักท่องเที่ยวก็ต้องนึกถึงไดโนเสาร์ ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าบริเวณที่ราบสูงที่อยู่ในเขตประเทศไทยปัจจุบันนั้นจะเคยเป็นบ้านของไดโนเสาร์มาก่อนจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระหว่างการสำรวจนักธรณีวิทยาได้ค้นพบซากกระดูกชิ้นหนึ่งเข้า และเมื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสวิจัยผลปรากฏออกมาว่าเป็นกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ จากนั้นนักสำรวจก็ได้ทำการขุดค้นกันอย่างจริงจังเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน
• บนยอดภูประตูตีหมาหลุมขุดค้นที่ 1 ได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์หนึ่ง มีลำตัวสูงใหญ่ประมาณ 15 เมตร คอยาว หางยาว เป็นพันธุ์กินพืชซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน จึงได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพฯมาตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" (Phuwianggosaurus Sirindhornae) และในบริเวณหลุมขุดค้นเดียวกันนั้นเอง นักสำรวจได้พบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อปะปนอยู่มากกว่า 10 ซี่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโซโรพอดตัวนี้อาจเป็นอาหารของเจ้าของฟันเหล่านี้ แต่ในกลุ่มฟันเหล่านั้นมีอยู่หนึ่งซี่ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เมื่อนำไปศึกษาปรากฏว่าฟันชิ้นนี้เป็นลักษณะฟันไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อนเช่นกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ นายวราวุธ สุธีธร ว่า "ไซแอมโมซอรัส สุธีธรนี่" (Siamosaurus Suteethorni) ผู้สนใจสามารถเดินไปชมได้ หลุมขุดค้นที่ 1 นั้นอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยาน และยังสามารถเดินไปชมหลุมขุดค้นที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงด้วย
ฟอสซิลของ "ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส" (Siamotyrannus Isanensis) เป็นสิ่งที่ชี้ว่าไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย เพราะฟอสซิลที่พบที่นี่เป็นชิ้นที่เก่าแก่ที่สุด (120-130 ล้านปี) แต่กระดูกชิ้นนี้ได้นำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ
• บริเวณหินลาดป่าชาด หลุมขุดค้นที่ 8 พบรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน 68 รอย อายุประมาณ 140 ล้านปี เกือบทั้งหมดเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์เล็กที่สุดในโลกเดิน 2 เท้า แต่หนึ่งในรอยเท้าเหล่านั้นมีขนาดใหญ่ผิดจากรอยอื่น คาดว่าเป็นของคาร์โนซอรัส การไปชมควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ห่างจากที่ทำการ 19 กิโลเมตร
ส่วนฟอสซิลดึกดำบรรพ์อื่นๆที่ขุดพบ เช่น ซากลูกไดโนเสาร์ ซากจระเข้ขนาดเล็ก ซากหอย 150 ล้านปี จะอยู่กระจัดกระจายกันตามหลุมต่างๆ
ความน่าสนใจของที่นี่ไม่ได้มีแต่เพียงไดโนเสาร์เท่านั้น ยังมีการพบร่องรอยอารยธรรมโบราณด้วย โดยพบ “พระพุทธรูปปางไสยาสน์” ประติมากรรมนูนสูงสลักบนหน้าผาของยอดเขาภูเวียง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ลักษณะท่านอนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย พระเศียรหนุนแนบกับต้นแขนขวา แขนซ้ายทอดไปตามลำพระองค์ นอกจากนี้“ถ้ำฝ่ามือแดง” ที่บ้านหินร่องมีงานศิลปะของมนุษย์ถ้ำโบราณ ลักษณะของภาพเกิดจากการพ่นสีแแดงลงไปในขณะที่มือทาบกับผนังถ้ำก่อให้เกิดเป็นรูปฝ่ามือขึ้น
• ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในบริเวณอุทยานฯจะมีน้ำตกอยู่สองสามแห่ง “น้ำตกทับพญาเสือ” เป็นน้ำตกเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำฝ่ามือแดง “น้ำตกตาดฟ้า” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร สามารถเข้าถึงได้ทางรถยนต์ อยู่ห่างจากอำเภอภูเวียง 18 กิโลเมตรและขึ้นเขาไปอีก 6 กิโลเมตร ตรงต่อไปจากน้ำตกตาดฟ้าอีก 5 กิโลเมตร จะถึง “น้ำตกตาดกลาง” สูงประมาณ 8 กม. นอกจากน้ำตกก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภททุ่งหญ้าและลานหิน ซึ่งจะมีดอกไม้ป่านานาพันธุ์บานในช่วงหลังฤดูฝน ได้แก่ “ทุ่งใหญ่เสาอาราม” “หินลาดวัวถ้ำกวาง” และ “หินลาดอ่างกบ”
พื้นที่อุทยานฯครอบคลุมอำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ มีพื้นที่ 380 ตารางกิโลเมตร การเดินทาง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า“ปากช่องภูเวียง” ซึ่งมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่ เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียงที่ “ภูประตูตีหมา” ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการและซากกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายลักษณะและการเกิดซากต่างๆ เหล่านี้
หากประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อได้ที่สำนักงานอุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา โทร. (043) 249052
เมืองโบราณโนนเมือง เล่าสืบต่อกันมาว่าที่เนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองโบราณ ลักษณะเป็นเนินดินรูปไข่ มีพื้นที่ประมาณ 216 ไร่ ล้อมรอบด้วยคูเมือง 2 ชั้น เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจพบใบเสมาหินทรายศิลปทวาราวดีปักอยู่ในเมืองและพื้นที่โดยรอบ มีเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ
ในชั้นดินสมัยทวาราวดี(พุทธศตวรรษที่ 12-16) ไม่พบหลักฐานของการฝังศพ สันนิษฐานว่าเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาสู่โนนเมือง ประเพณีการฝังศพจึงเปลี่ยนไป ยิ่งขุดชั้นดินลึกลงไปยิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เมืองโบราณแห่งนี้เคยมีชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตอนปลาย) พบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว 2,500 ปี ผู้คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผา มีทั้งลายเขียนสี ลายขูดขีด และลายเชือกทาบ รวมทั้งกำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภท จอบ เคียว และกระดูกของสัตว์ต่างๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทำให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ 16-17) และทิ้งร้างไปในที่สุด
เมืองโบราณโนนเมืองตั้งอยู่ในเขตบ้านนาโพธิ์ ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 80 กิโลเมตร
• การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร
อำเภอเปือยน้อย
• กู่เปือยน้อย ถึงแม้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับปราสาทหินพิมายหรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้ แต่ก็นับเป็นปราสาทเขมรที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ปราสาท เปือยน้อย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุกู่ทอง สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบบาปวนและแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู แผนผังการก่อสร้างมีความหมายเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งถือเป็นแกนจักรวาลอันเป็นที่สถิตย์ของเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต” สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณปราสาทเป็นไปตามแบบแผนของศาสนสถานขอมโบราณ หน้าบันขององค์ปรางค์ประธานสลักเป็นพระยานาคราชมีลวดลายสวยงามมาก ทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่นับว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ "โคปุระ" (ซุ้มประตู) อยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ด้านข้างโคปุระเจาะเป็นช่องหน้าต่าง "กำแพงแก้ว" มีฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีการสลักศิลาแลงเป็นร่องแบบลาดบัว
• การเดินทาง จากขอนแก่นจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง 44 กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข 23 (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือย-น้อยอีก 24 กิโลเมตร

อำเภอหนองสองห้อง
• วัดสระบัวแก้วตั้งอยู่ที่บ้านวังคูณ ลักษณะเด่นของวัดแห่งนี้คงจะเป็นภาพจิตรกรรมและประติมากรรม ตรงเชิงบันไดทางขึ้นสู่โบสถ์ ประดับด้วยประติมากรรมสิงห์หมอบทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าสิงห์ทั้งสองมีรูปปั้นคนนั่งเหยียดเท้ารูปปั้นทั้งสองล้วนเป็นฝีมือของหลวงพ่อผุย พระอุปัชฌาย์ วัดสระบัวแก้ว ส่วนผนังของโบสถ์แห่งนี้ก่ออิฐถือปูน บริเวณภายในและภายนอกผนังทั้งสี่ด้านจะปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาดก สวรรค์ นรก หรือนิทานพื้นบ้านเป็นต้น มีการแบ่งองค์ประกอบของภาพออกเป็นตอนๆ โดยช่างแต้ม จะใช้เส้นแถบหรือสินเทาเป็นตัวแบ่งเรื่อง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วฮูปแต้มอีสานมักไม่ปรากฏว่ามีสินเทา สินเทานี้มีรูปร่างเหมือนสายฟ้าแลบ สามารถเห็นได้ในงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งที่สะดุดตาและเกิดความประทับใจเป็นพิเศษสำหรับฮูปแต้มวัดสระบัวแก้ว ก็คือช่างแต้มดูออกจะมีอิสระเสรี สามารถที่จะแสดงฝีมือของตนได้อย่างเต็มที่ต่อการเขียนภาพต้นไม้ ใบไม้ และภาพสัตว์นานาชนิด ซึ่งลักษณะนี้จะคล้ายกับงานจิตรกรรมตะวันตก ในสมัยอิมเพรสชั่นนิสม์สังเกตได้จากฝีแปรงการแตะแต้ม ส่วนสีที่ใช้จะเป็นสีเหลือง คราม ดินแดง เขียว ฟ้า ดำ
• การเดินทาง จากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข2 (มิตรภาพ) มุ่งสู่อำเภอพล ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 207 ไปยัง อ.หนองสองห้อง ประมาณ 17 กิโลเมตร (ระหว่างกม.ที่ 27-28) ก็จะถึงบ้านวังคูณ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดสระบัวแก้ว

อำเภอบ้านไผ่
• ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่บนเนื้อที่ 51 ไร่ 3 งาน 99.6 ตารางวา เป็นแหล่งวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ภายในอาคาร 2 ชั้น ได้จัดให้มีนิทรรศการต่าง ๆ มากมาย เช่นห้องเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวมพระราชประวัติและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็กพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี หรือห้องนิทรรศการโลกดึกดำบรรพ์ ที่จัดแสดงเรื่องราวของไดโนเสาร์และฟอสซิลด้วยระบบเสียง นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ นิทรรศการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
• ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ แห่งนี้เปิดบริการเข้าชมทุกวัน ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (043) 274154

อำเภอภูผาม่าน
• อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน รูปลักษณ์ภายนอกของอุทยานแห่งนี้คือเทือกเขาหินปูนที่มีหน้าผาตัดตรงดิ่งลงมาเป็นริ้วๆคล้ายผ้าม่าน สภาพป่าของที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศจะเย็นชื้นเกือบตลอดปี อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
• ถ้ำค้างคาวตั้งอยู่บนภูผาม่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 2.5 กิโลเมตรอยู่บริเวณหน้าผาด้านหน้าสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 100 เมตร เมื่อเข้าใกล้จะได้กลิ่นเหม็นของค้างคาว ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล ภายในถ้ำมีค้างคาวขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้านๆตัว ภายในถ้ำมีกลิ่นเหม็นฉุนจัด ทุกวันค้างคาวจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 18.00 น. ตอนบินออกจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยจะบินออกเป็นกลุ่มยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถมานั่งพักผ่อนและชมความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่มีค้างคาวอยู่รวมกันนับล้าน ไปพร้อมกัน
• ถ้ำพระ อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีลักษณะยาวเฉียงขึ้นด้านบน สามารถเดินทะลุถึงยอดภูผาม่านได้แต่เส้นทางค่อนข้างลำบากภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีเสาหินขนาดใหญ่ รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งปี แต่เหมาะที่จะท่องเที่ยวในฤดูหนาวเนื่องจากในฤดูฝนมีน้ำไหลผ่านถ้ำทำให้มีตะไคร่จับก้อนหิน
โครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบหมู่ 1 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 14 กิโลเมตร ที่นี่เป็นที่ทำการของหน่วยงานกรมป่าไม้ บริเวณรอบๆเงียบสงบ อากาศหนาวเย็น มีบ้านพักรับรองแขกได้ประมาณ 30-50 คน นอกจากนั้นยังมีห้องประชุมขนาดย่อม เหมาะสำหรับผู้ที่มาพักผ่อนเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (043) 249001
• ถ้ำภูตาหลอตั้งอยู่ที่บ้านวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯ 17 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้เฉพาะในฤดูแล้ง เป็นถ้ำที่โอ่งโถง พื้นที่ประมาณไร่เศษ เพดานถ้ำสูงประมาณ 5-7 เมตร มีหินงอกหินย้อยซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบอากาศภายในเย็นสบาย หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน
• น้ำตกตาดฟ้าเป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้าซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ในท้องที่บ้านดงสะคร่าน หมู่ 7 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอฯประมาณ 40 กิโลเมตร รถสามารถเข้าไปถึงแค่บ้านตาด-ฟ้า หลังจากนั้นต้องเดินเท้าต่อไปอีก มีน้ำตกทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดคือ ชั้นสุดท้ายซึ่งมีความสูงประมาณ 80 เมตร ฤดูที่น้ำตกตาดฟ้าจะสวยที่สุดคือ ฤดูฝน
• ถ้ำพญานาคราช ภายในมีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นริ้วคล้ายม่านประดับด้วยเกร็ดประกายแวววาวของหินแร่สวยงามมาก ถ้ำนี้มีความคดเคี้ยวคล้ายดั่งตัวพญานาค ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
• ถ้ำลายแทงอยู่ถัดจากถ้ำพญานาคราชมาประมาณ 800 เมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำกว้างประมาณ 2 ตารางเมตร ภาพมีลักษณะต่างๆ เช่น ภาพคน สัตว์และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70 ภาพ เมื่อชาวบ้านมาพบคิดว่าเป็นลายแทงบอกสมบัติจึงเรียกว่าถ้ำลายแทง
• นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือ “น้ำตกตาดร้อง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“น้ำตกตาดฮ้อง”อยู่ในเขตจังหวัดเลยระหว่างรอยต่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึงและอุทยานแห่งชาติภูผาม่านและลำน้ำพอง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 70 เมตร เล่ากันว่าน้ำตกแห่งนี้ร้องได้เพราะบริเวณใต้น้ำตกมีแผ่นหินขนาดใหญ่ยื่นออกมารองรับน้ำตก เปรียบเสมือนลิ้นขนาดใหญ่เวลาน้ำตกลงมากระทบแผ่นหิน และแฉลบไปตามซอกหินต่างๆ ทำให้เกิดเสียงดังประหลาดก้องไปทั่วป่า
• ที่อุทยานแห่งนี้ยังไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
• ผานกเค้าเป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 125 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข 2 และ 201) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจนควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำกล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจะงอยปากขึ้นไปมีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกะเทาะเป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก

Source : tourismthailand.org