สถานที่ท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา

สถานที่ท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา

อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
วัดโสธรวรารามวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า “วัดหงส์” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวเมืองเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก
อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งอยู่ถนนศรีโสธร ตรงข้ามค่ายทหารศรีโสธร พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)เป็นชาวแปดริ้ว เป็นนักปราชญ์ภาษาไทยคู่พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านแต่งแบบเรียนภาษาไทยหลายชุด นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเยาวชนไทยในยุคนั้น
ป้อมเมืองฉะเชิงเทรา อยู่ที่ถนนมรุพงษ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูมารุกราน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ตั้งมั่นกองทัพในการปราบกบฎอั้งยี่ ซึ่งเป็นพ่อค้าฝิ่นเถื่อนชาวจีนที่ก่อความวุ่นวายปล้นสะดมชาวเมือง บริเวณหน้าป้อมจัดเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ชมทิวทัศน์แม่น้ำบางปะกง มีปืนใหญ่ตั้งอยู่ตามกำแพงเมือง
ศาลหลักเมือง เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ตั้งอยู่ถนนหน้าเมือง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยหลังคาทรงจตุรมุข ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ ภายในศาลมีเสาหลักเมือง 2 เสา เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองเก่าสร้างเมื่อพ.ศ.2377 อีกเสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ.2438 นอกจากนั้นยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน เปิดให้เข้าชมเวลา 07.00 – 16.00 น.
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด บนเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ เป็นสวนสาธารณะที่มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางสวน มีทางเดินโดยรอบสระและต้นไม้ขึ้นร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์) อยู่ตำบลหน้าเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2377 พร้อมๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพมหานคร ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น วัดนี้เดิมเรียกว่า วัดเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทราและได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” แปลว่าวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง
วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ รูปปั้นขนาดใหญ่ของจตุโลกบาล และเทวรูปจีนอ้วยโห้ซึ่งแต่งกายชุดนักรบ นอกจากนี้มีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น วิหารบูรพาจารย์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม วิหารว่องอ้วนตี่ วิหารตี่ซังอ๋อง และสระนทีสวรรค์ เป็นต้น
วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง) ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจ้าพ่อซำปอกง” ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร(ฝั่งธนบุรี) จังหวัดกรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มานมัสการอยู่เป็นประจำ
เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ (มูลนิธิสว่างศรัทธาธรรม) ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 1 เมตรเศษ หนัก 40 กิโลกรัม ทำจากเซรามิก เมื่อปี 2540 มีคนพบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำ
วัดพยัคฆอินทาราม (วัดเจดีย์) ตั้งอยู่ตำบลบ้านใหม่ จากหลักฐานแผ่นเงินที่พบบริเวณรอยแตกตรงคอระฆังของเจดีย์องค์ใหญ่ ทราบว่าสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนายเสือหรือพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรากับภรรยาชื่ออินเมื่อปีพ.ศ.2416 ส่วนวัดนั้นสร้างเสร็จภายหลังในราวปีพ.ศ.2424 นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ เจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ เจดีย์องค์เล็ก 2 องค์ วิหารพระพุทธบาท สุสานเก่า อุโบสถ และหอระฆัง
วัดสัมปทวน เดิมชื่อวัด “ สามพระทวน” ตั้งอยู่ถนนศุภกิจ เป็นวัดเก่าแก่ มีตำนานเกี่ยวกับหลวงพ่อพุทธโสธร สิ่งที่น่าชมคือ พระอุโบสถที่มีลายปูนปั้นอยู่ด้านบนระเบียงโบสถ์ แสดงภาพพระเวสสันดรชาดก อีกด้านหนึ่งเป็นภาพวิถีชีวิตชาวแปดริ้วในอดีต
การท่องเที่ยวทางเรือตามลำน้ำบางปะกง ลำน้ำบางปะกงมีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพงบนที่ราบสูงโคราช ไหลผ่านจังหวัดปราจีนบุรี (เรียกว่าแม่น้ำปราจีนบุรี) ผ่านอำเภอบางน้ำเปรี้ยว (เรียกว่าแม่น้ำแปดริ้ว) ผ่านอำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และออกสู่อ่าวไทยที่อำเภอบางปะกง ระยะทาง 230 กิโลเมตร การท่องเที่ยวทางเรือในลำน้ำบางปะกง เริ่มจากตัวเมืองฉะเชิงเทราเพื่อชมธรรมชาติ สองฝั่งน้ำชมบ้านเรือน ซึ่งยังคงสภาพความเป็นอยู่อย่างไทยผ่านสถานที่น่าสนใจ เช่น อาคารตำหนักกรมขุนมรุพงษ์ศิริวัฒน์ ป้อมและกำแพงเมืองโบราณ อาคารศาลากลางหลังเก่า กลุ่มเรือนแพสมัยเก่า วัดวาอาราม ทั้งวัดไทย จีน ฝรั่ง เช่น วัดเมือง วัดสัมปทวน วัดแหลมใต้ วัดสายชล วัดเซ็นต์ปอล ไปขึ้นฝั่งที่วัดโพธิ์บางคล้า เพื่อชมค้างคาวแม่ไก่ ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าน้ำวัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่ท่าน้ำหน้าตลาดในตัวเมือง มีทั้งเรือหางยาวจุคนได้ 8-10 คน เรือสำราญจุคนได้ 40 คน อัตราค่าเช่าเรือตามแต่จะตกลงกันตามจำนวนผู้โดยสารและระยะทาง

อำเภอบางคล้า
วัดโพธิ์บางคล้า อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3121 เข้าตัวอำเภอบางคล้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านศาลเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 500 เมตร ที่วัดโพธิ์บางคล้ายังมีค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่ตามต้นไม้ ค้างคาวแม่ไก่เป็นค้างคาวที่มีปีกสีดำ หน้าตาเหมือนสุนัขจิ้งจอกคือ มีจมูกและใบหูเล็ก ตาใหญ่ ขนสีน้ำตาลแกมแดง ในเวลากลางวันจะอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา ยามพลบค่ำก็จะออกบินไปหากิน หากล่องเรือชมทัศนียภาพตามลำน้ำบางปะกงจะผ่านวัดนี้นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นชมวัดได้จากท่าน้ำของวัด
วัดแจ้ง ตั้งอยู่บริเวณตลาดบางคล้า มีพระอุโบสถที่งดงาม เป็นศิลปแบบไทยผสมจีน มีรูปปั้นยักษ์ข้างโบสถ์ ไม่ปรากฎว่าสร้างในปีใด ชาวบ้านเล่าต่อๆกันมาว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปตีเขมร พระองค์เดินทัพมาจนสว่างที่บริเวณนี้ จึงได้สร้างวัดแห่งนี้และขนานนามว่า “ วัดแจ้ง ”
อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) ตำบลปากน้ำ หลังจากที่พระเจ้าตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้เดินทัพผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์รบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าและได้พักทัพบริเวณนี้ พระองค์จึงสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการสู้รบกับพม่า แต่บริเวณดังกล่าวถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพระเจดีย์พังทลายเมื่อประมาณพ.ศ.2491
ต่อมามีการสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่บริเวณเดิม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสักการะอนุสรณ์หรือนั่งพักผ่อนชมภูมิทัศน์ริมแม่น้ำซึ่งจะสามารถมองเห็นเกาะลัดอยู่ฝั่งตรงข้าม
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ได้รับชัยชนะในการสู้รบกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านในการกอบกู้เอกราช หลังเหตุการณ์เสียกรุง เล่ากันว่าก่อนหน้านั้น สถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของเจดีย์อนุสรณ์ชัยชนะของพระองค์คราวสู้รบกับพม่าในบริเวณนี้ ภายหลังเจดีย์ได้พังทลายลงในปีพ.ศ. 2484 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ยังคงเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา และได้สร้างศาลพร้อมอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชนี้ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2531
สวนมะม่วง ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีการปลูกมะม่วงมากที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 86,000 ไร่ อำเภอที่ปลูกมากที่สุดคือ อำเภอบางคล้าและอำเภอแปลงยาว มะม่วงที่นิยมปลูกได้แก่ แรด เขียวเสวยน้ำดอกไม้ เจ้าคุณทิพย์ และทองดำ เป็นต้น มะม่วงจะเริ่มออกในเดือนมีนาคม ทางจังหวัดได้จัดงานมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้วเป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ที่สนใจจะเที่ยวชมสวนมะม่วง ติดต่อคุณมานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานชมรมสวนมะม่วงฉะเชิงเทราหรือที่สำนักเกษตรอำเภอบางคล้าโทร. 0 3854 1003

อำเภอคลองเขื่อน
สวนปาล์ม ฟาร์มนก ตั้งอยู่เลขที่ 25 หมู่ 6 ตำบลบางตลาด ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทราประมาณ 7 กิโลเมตร (ทางไปอำเภอบางคล้า) ผ่านเขื่อนทดน้ำบางปะกง สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และจำหน่ายนกแก้วมาคอร์ (พันธุ์บลูแอนด์โกลด์, สกาเล็ต, กรีนวิง, ไฮยาชิน) นกกระตั้ว สุนัขพันธุ์ต่างประเทศ (พันธุ์โอลด์อิงลิช มาสตีฟ, เฟรนช์ มาสตีฟ, นีโปรสีแตน มาสตีฟ) และต้นปาล์มกว่า 10 สายพันธุ์ เช่น ตาลฟ้า มูลิโอ วิคตอเรีย โคราช ฟ็อกซเทล ริเวอร์ เพชรบุรี อินทผลัม เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในสวน หากเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0 1218 8223

อำเภอพนมสารคาม
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ตั้งอยู่ตำบลเขาหินซ้อน ริมทางหลวงหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 51-52 อยู่ห่างจากอำเภอพนมสารคาม 17 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 1,929 ไร่ เป็นศูนย์ศึกษาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ โดยความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆและเอกชน มีการแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์เพื่อทำการสาธิตและทดลองงานต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร มีแปลงทดลองปลูกพืชนานาชนิด อาทิ พันธุ์หวายที่มีในประเทศไทย อโวคาโด มะม่วงทุกพันธุ์ทั้งของประเทศไทย และต่างประเทศ โดยจัดตั้งเป็น “สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก” เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่างๆ ภายในอาคารจัดเป็นนิทรรศการบรรยายและสาธิตการผลิตสมุนไพรต่าง ๆ มีห้องอบสมุนไพรซึ่งเปิดบริการทุกวันพุธ-พฤหัสบดีและเสาร์-อาทิตย์ ค่าบริการ 20 บาท ผู้ที่สนใจจะเข้าชมศูนย์เป็นหมู่คณะ ต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ทำหนังสือติดต่อล่วงหน้า นอกจากนั้นศูนย์ฯยังมีบริการที่พัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนในเวลาราชการ 08.00–17.00 น. โทร. 0 3859 9105-6
เขาหินซ้อน ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 53 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 53 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่างๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น “สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประดิษฐานพระบวรราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้านหลังของศาลนี้เป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน

อำเภอสนามชัยเขต
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน หรือ เรือนศานติธรรม ใช้ทางหลวงหมายเลข 3245 (พนมสารคาม-สนามชัยเขต) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3259 (สนามชัยเขต-ท่าตะเกียบ)ประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในอาณาบริเวณเกือบ 13 ไร่ มีพันธุ์ไม้กว่า 700–800 ชนิด เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ภายในมีเรือนไม้แบบไทยมุงด้วยกระเบื้องว่าว ใต้ถุนสูงสำหรับประชุมหรือบรรยาย ชั้นบนใช้เก็บและแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านวัตถุโบราณ ของใช้รุ่นเก่าต่างๆ ด้านหลังบ้านมียุ้งข้าวจำลองและอุปกรณ์นวดข้าว สีข้าว บริเวณบ้านส่วนหนึ่งจัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งค่ายพักแรมสำหรับเยาวชน มีลานสันทนาการ และบริเวณทำกิจกรรม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร 0 3859 7441, 0 3859 7715
วัดพระธาตุวาโย ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3259 (สายสนามชัยเขต – ท่าตะเกียบ)ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร หน้าวัดจะสังเกตเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆัง ประดับด้วยกระจกสีเหลือง น้ำเงิน ขาว งดงามแปลกตา ด้านในเจดีย์มีพระพุทธรูปจำนวนมาก และภาพเขียนสีน้ำมันเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ มีบันไดขึ้นไปด้านบนได้หลายชั้น ชั้นบนสุดจะมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบและอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สภาพโดยรอบคงความเป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

อำเภอท่าตะเกียบ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่ป่าผืนใหญ่รอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดจังหวัดจันทบุรีและแม่น้ำประแสในจังหวัดระยอง สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-150 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง มีสัตว์ป่านานาชนิดและนกพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ นอกจากนั้นยังมี น้ำตกอ่างฤาไนหรือน้ำตกบ่อทอง อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าประมาณ 2 กิโลเมตร
การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม จากอำเภอพนมสารคามใช้เส้นทางหมายเลข 3245(พนมสารคาม-สนามชัยเขต) จากนั้นไปตามเส้นทางหมายเลข 3259 ผ่านอำเภอท่าตะเกียบสู่บ้านหนองคอก ระยะทาง 50 กิโลเมตร ต่อด้วยเส้นทางสู่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน การเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควรปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เรียนผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้

Source : tourismthailand.org