สถานที่ท่องเที่ยวในชัยภูมิ

สถานที่ท่องเที่ยวชัยภูมิ

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวชัยภูมิ

• อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ตั้งอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ในตัวเมือง ชาวชัยภูมิได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
• ตามประวัติเล่าว่า ในปี 2360 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 นายแล ซึ่งเป็นข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้อพยพครอบครัวและบริวารข้ามลำน้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านน้ำขุ่น บริเวณอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ต่อมาจึงได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่โนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร ได้ส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ต่อมาจึงย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวง ในเขตอำเภอเมืองปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา ส่งส่วยแก่รัชกาลที่ 3 ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้ง ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
• ครั้น พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ก่อการกบฎ ยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา ขุนภักดีชุมพลพร้อมเจ้าเมืองใกล้เคียงยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงย้อนกลับมาจับขุนภักดีชุมพลประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามริมหนองปลาเฒ่า ด้วยความดีที่ขุนภักดีชุมพลมีต่อแผ่นดินไทยจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีชุมพล (แล)
• ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ประมาณ 3 กิโลเมตรตามเส้นทางสายชัยภูมิ-บ้านเขว้า (ทางหลวงหมายเลข 225) มีแยกขวาเข้าสู่หนองปลาเฒ่า เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของพระยาภักดีชุมพล (แล) และเป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวเมืองชัยภูมิ ทุกปีมีงานสักการะศาลเจ้าพ่อในช่วงเดือน 6 ก่อนวันวิสาขบูชา และมีพิธีเซ่นไหว้รำผีฟ้าถวายเจ้าพ่อเป็นประจำ
• อุทยานแห่งชาติตาดโตน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเทือกเขาภูแลนคา มีเนื้อที่รวมประมาณ 217 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญ คือ ลำปะทาว และจะไหลรวมกับแม่น้ำชี มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกตาดโตน น้ำตกตาดฟ้า และน้ำตกผาเอียง
• น้ำตกตาดโตน เป็นน้ำตกที่สวยงามใกล้ที่ทำการอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะ ในฤดูฝนจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร ด้านบนเป็นธารน้ำไหลผ่าน ลานหินสองฝั่งธารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะที่จะนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติและเล่นน้ำ บริเวณน้ำตกมี ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง) มีประวัติว่า เจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมรอพยพเข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับพ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล) ท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถะ กรรมฐานปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อถึงแก่กรรมจึงมีการสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะไว้หลายแห่ง นอกจากที่น้ำตกตาดโตนแล้วยังมีศาลปู่ด้วงที่ช่องสามหมอ และที่วัดชัยภูมิพิทักษ์อีกด้วย มักมีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำ
• การเดินทาง จากตัวเมืองทางหลวงหมายเลข 2159 และแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2051 ระยะทางจากตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 201 ทางไปอำเภอภูเขียว จะมีเส้นทางแยกซ้ายอีก 21 กิโลเมตรไปน้ำตกตาดโตนได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสาร สามารถใช้บริการรถสองแถวสายชัยภูมิ-ท่าหินงม ลงที่ด่านเก็บค่าธรรมเนียมแล้วเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร
• วัดสระหงษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2051 มีทางแยกเข้าทางเดียวกับไปอ่างเก็บน้ำช่อระกา บริเวณวัดเป็นลาดหินเนินเขา มีหินก้อนหนึ่งรูปร่างคล้ายหงส์ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถัดจากศาลาวัดไปด้านหลังมีสระน้ำโบราณกว้างประมาณ 10 เมตร มีน้ำตลอดปี
• น้ำตกตาดฟ้า อยู่ในท้องที่ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 201 ประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนบ้านนาวัง แยกขวาอีก 4 กิโลเมตร เมื่อถึงลานจอดรถต้องเดินเท้าอีก 300 เมตร เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่เชิงเขาภูอีเฒ่า ในเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนด้านตะวันออก ลักษณะเป็นลานหินกว้างประมาณ 15-20 เมตร ยาวโดยตลอด 80-90 เมตร ลาดชันประมาณ 30 องศา ลักษณะคล้ายกระดานลื่นธรรมชาติ มีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งน้ำแห้ง ตอนล่างมีแอ่งน้ำให้เล่นน้ำได้
• วัดศิลาอาสน์ ภูพระ ตั้งอยู่ที่บ้านนาไก่เซา ตำบลนาเสียว ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชันประมาณ 5 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าวัดอีก 1 กิโลเมตร ภายบริเวณวัดมีเพิงผาหินซึ่งมีภาพจำหลักกลุ่มพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของชื่อ ภูพระ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาช้านาน ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบไว้ ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ มีพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็กสูง 7 นิ้วลักษณะเดียวกันอีก 1 องค์ตั้งวางอยู่ด้านหน้า ใกล้กันมีพระพุทธรูปอีก 7 องค์จำหลักรอบเสาหินทราย ประทับนั่งเรียงแถว ปางสมาธิ 5 องค์ ปางเดียวกับพระเจ้าตื้อ 2 องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีพุทธลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกปีมีงานนมัสการพระพุทธรูปที่ภูพระในกลางเดือน 5 เริ่มต้นวันขึ้น 14 ค่ำ รวม 3 วัน
• ปรางค์กู่่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวง 2158 เป็นระยะทางอีก 2 กิโลเมตร ปรางค์กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอมที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้า มีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง 1.75 เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้การเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน 5 ของทุกปี
• ใบเสมาบ้านกุดโง้ง เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสายกุดตุ้ม-บุ่งคล้าอีก 4 กิโลเมตร ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่าง ๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน
• น้ำตกผาเอียง ตั้งอยู่ที่บ้านชีลอง ในเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนด้านตะวันตก ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวง 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) ประมาณ 27 กิโลเมตร แยกขวาอีก 2 กิโลเมตรถึงลานจอดรถ และเดินเท้าต่ออีก 800 เมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง เกิดจากลำห้วยชีลอง มีลักษณะเป็นหน้าผาเอียงตัดลำห้วย และทำให้เกิดเป็นน้ำตกไหลเอียงไปด้านหนึ่ง บริเวณโดยรอบเป็นป่าดิบแล้งและยังมีไม้ขนาดใหญ่อยู่มาก ทำให้บรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีน้ำตกอีกสองแห่งในบริเวณนี้คือ น้ำตกผานิต อยู่ก่อนถึงน้ำตกผาเอียง 500 เมตร และน้ำตกผาสองชั้น ซึ่งต้องเดินเท้า 1,200 เมตร น้ำตกเหล่านี้มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งน้ำแห้ง
• อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 177 ตารางกิโลเมตร ในเขต 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง บ้านเขว้า หนองบัวแดง และเกษตรสมบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลากหลายทั้งหน้าผาสันเขา ลานหินและก้อนหินรูปร่างแปลก ๆ รวมทั้งพืชพันธุ์ที่น่าสนใจ เหมาะมาเที่ยวชมในระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม
• ทางอุทยานได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของอุทยานได้แก่ ทุ่งดอกกระเจียว เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีต้นกระเจียวขึ้นอยู่ตามซอกหินสลับกับต้นไม้นานาชนิด มีทั้งดอกสีชมพูและดอกสีขาว เหมาะมาเที่ยวชมในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
• ลานหินแตก เป็นลานหินที่แตกเป็นร่องลึกตามธรรมชาติ ทอดตัวยาวตามแนวหน้าผาสันเขา สามารถชมทัศนียภาพพื้นที่อำเภอหนองบัวแดงและเกษตรสมบูรณ์ ใกล้กันเป็นผากล้วยไม้ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวมีกล้วยไม้ที่เกาะตามก้อนหินและคาคบไม้ออกดอกสวยงามมาก
• ประตูโขลง เป็นก้อนหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายประตูหิน บริเวณโดยรอบยังมีก้อนหินลักษณะแปลกพิศดารจำนวนมากสลับกับป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ซึ่งมีก้อนหินแปลก ๆ อีกหลายแห่ง ได้แก่ ป่าหินงามปราสาท ป่าหินงามหงส์ฟ้า ป่าหินงามจันทน์แดงและแนวหน้าผาซึ่งเป็นจุดชมวิวสวยงาม
• อุทยานมีบ้านพักรับรองและสถานที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวตั้งเต็นท์พักแรม ติดต่อ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
• การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิเดินทางไปตามทางหลวง 2051 ประมาณ 6 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวง 2159 ทางไปหนองบัวแดงอีก 20 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯซึ่งตั้งอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ มีรถสองแถวสายสายชัยภูมิ-หนองบัวแดง วิ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานฯ

อำเภอหนองบัวแดง
• ผาเกิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของภูแลนคา หากเดินทางมาตามเส้นทางชัยภูมิ-หนองบัวแดง จะเห็นหน้าผาสูงริมทางคล้ายพระจันทร์เสี้ยวยื่นออกมา ชาวบ้านจึงเรียกว่า ผาเกิ้ง ซึ่งหมายถึงพระจันทร์ในภาษาอีสาน บนเขามีวัดผาเกิ้งหรือวัดชัยภูมิพิทักษ์ตั้งอยู่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชัยภูมิพิทักษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 14 เมตร ด้านหน้าองค์พระเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองเห็นทัศนียภาพของทุ่งนาได้กว้างไกล ผาเกิ้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 36 กิโลเมตรบนหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง)

อำเภอบ้านเขว้า
• บ้านเขว้า เป็นแหล่งทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของชัยภูมิ โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ผู้ที่นิยมใช้ผ้าพื้นเมืองของไทย มีทั้งลวดลายดั้งเดิมและลายที่คิดขึ้นใหม่ มีจำหน่ายทั้งผ้าผืนและตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผู้สนใจเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหล่านี้สามารถติดต่อร้านจำหน่ายผ้าไหมในตัวอำเภอบ้านเขว้าซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายร้าน อำเภอบ้านเขว้าอยู่ห่างจากอำเภอเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 225ประมาณ 13 กิโลเมตร
• กู่แดง ตั้งอยู่ในวัดกุดยาง ตำบลตลาดแร้ง จากตัวเมืองชัยภูมิ ใช้ทางหลวงหมายเลข 225 ผ่านอำเภอบ้านเขว้าจนถึงบ้านหลุมโพธิ์ประมาณ 30 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปบ้านกุดยางอีก 8 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานสมัยขอม ปัจจุบันคงเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อสูงด้วยศิลาแลง มีร่องรอยบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ผนังก่ออิฐแต่หักพังหมด คงเหลือเสากรอบประตูทั้ง 4 ด้าน พบทับหลังสลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้าง ส่วนทางด้านเหนือถูกดัดแปลงโดยทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปประทับนั่งพร้อมบันไดทางขึ้นครอบอาคารเดิม โบราณสถานแห่งนี้ประมาณอายุจากลวดลายทับหลังอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปเขมรแบบบาปวน

อำเภอหนองบัวระเหว
• อุทยานแห่งชาติไทรทอง ครอบคลุมพื้นที่ป่าบนเทือกเขาพังเหย ในอำเภอหนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง มีเนื้อที่ 319 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสายซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ผสมกับป่าเบญจพรรณ มีต้นไผ่รวกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจคือ
• น้ำตกไทรทอง ห่างจากที่ทำการ 1 กิโลเมตรไปตามทางรถยนต์และเดินเท้าอีก 400 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเตี้ย ๆ สูงเพียง 5 เมตรแต่มีความกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านหน้าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกมีวังน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า วังเงือก สายน้ำไหลไปตามแก่งหินที่ลาดต่ำลงที่ละน้อย มีความยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร
• น้ำตกชวนชม อยู่เหนือน้ำตกไทรทองไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 กิโลเมตร น้ำตกมีความสูง 20 เมตร รอบบริเวณมีต้นไม้ร่มรื่น
• ทุ่งบัวสวรรค์ หรือทุ่งดอกกระเจียว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 10 กิโลเมตร ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคม ต้นกระเจียวจะออกดอกสวยงามเต็มทุ่ง มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว
• ผาพ่อเมือง เป็นแนวหน้าผาตามสันเขาพังเหยด้านตะวันตก ตามเส้นทางขึ้นสู่ทุ่งบัวสวรรค์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-900 เมตร มองลงไปเป็นตัวอำเภอภักดีชุมพลและเทือกเขาพญาฝ่อ ที่กั้นระหว่างชัยภูมิกับเพชรบูรณ์
• อุทยานมีบ้านพักรับรองและสถานที่กางเต็นท์พักแรม ติดต่ออุทยานแห่งชาติไทรทอง ตู้ปณ 1 อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 36230 หรือสำนักงานป่าไม้ชัยภูมิ โทร. (044) 811478 การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณ 65 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกขวาไปที่ทำการอุทยานฯอีก 7 กิโลเมตร

• เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม) ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและยังอำนวยประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อนมีบ้านพัก ร้านอาหารไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับให้ล่องชมอ่างเก็บน้ำ มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน ศูนย์ทดลองพืชเมืองหนาว และหอดูดาว ติดต่อบ้านพักรับรองของ กฟผ. โทร. 436-3271-2, (044) 861669 หรือ (043) 384963 ต่อ 2287 บ้านพักสถานีทดลองและฝึกอบรมเขื่อนจุฬาภรณ์ (ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น) โทร. (043) 242423, (01) 975-6770 การเดินทางไปเขื่อนจุฬาภรณ์ จากตัวเมืองชัยภูมิ ใช้เส้นทางสายชัยภูมิ-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 201) ถึงทางแยกหนองสองห้อง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2055 รวมระยะทางจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 120 กิโลเมตร หรือหากเดินทางมาตามเส้นทางสายหล่มสัก-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เมื่อถึงบริเวณอำเภอคอนสารมีทางแยกไปเขื่อนจุฬาภรณ์อีก 39 กิโลเมตร
• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าในเขตอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง เก้ง กวาง และเนื้อทราย เป็นต้น โดยปล่อยสัตว์ให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ สามารถสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้เอง ได้มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้สนใจศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
• ทุ่งกระมัง เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์กินพืช มีเนื้อที่ 830 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2535โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นในบริเวณนี้ เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ มีการจัดทำดินโป่งในบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งและเผาแปลงทุ่งหญ้าเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารของเก้ง กวางในช่วงฤดูแล้ง บนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ
• การเดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวใช้เส้นทางเดียวกับเขื่อนจุฬาภรณ์ ก่อนถึงเขื่อน 3 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายจากด่านตรวจ (ปางม่วง) ไปยังที่ทำการเขตฯ อีก 24 กิโลเมตร การเข้ามาทัศนศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีสองกรณีคือ หากเข้าชมแบบไป-กลับวันเดียว สามารถขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจปางม่วง กรณีพักค้างแรมต้องได้รับอนุญาตจากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กรุงเทพฯโดยตรง ทางเขตฯค่อนข้างเคร่งครัดในกฎระเบียบเพราะสภาพพื้นที่ที่อุดมไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า การเดินทางเข้ามาในพื้นที่ก็เสมือนการเข้ามารบกวนธรรมชาติ ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าจริง ๆ และทางเขตฯไม่เปิดให้เข้าทัศนศึกษาในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
• สถานีวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวอยู่ก่อนถึงเขื่อนจุฬาภรณ์ 8 กิโลเมตรด้านซ้ายมือ มีสัตว์ป่าให้ชมหลายชนิด โดยเฉพาะกวางป่า ละอง ละมั่ง เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 8.00-16.00 น.

Source : tourismthailand.org