กิจกรรมตรัง

ข้อมูลกิจกรรมตรัง

งานเทศกาล
งานเทศกาลกินเจ เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนในจังหวัดตรัง จะมีขึ้นในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน (ประมาณเดือนตุลาคม) โดยถือเอาวันขึ้น 6 ค่ำ เป็นวันสำคัญที่สุดของงาน ในงานจะจัดขบวนแห่เจ้าอย่างมโหฬารไปรอบๆ เมือง มีพิธีไหว้เจ้าและลุยไฟ และจะมีชาวจีนนุ่งขาวห่มขาวไปถือศีลกินเจตามศาลเจ้าต่างๆ เป็นเวลา 9 วัน
 งานเทศกาลขนมเค้ก ชาวตรังมีชื่อเสียงในการทำขนมเค้กมาช้านาน โดยเฉพาะที่บ้านลำภูรา เป็นแหล่งผลิตขนมเค้กมาแต่ดั้งเดิม เอกลักษณ์ของขนมเค้กของชาวตรังจะไม่ใช้ครีมตกแต่งหน้าเค้ก มีหลายรส เช่น เค้กส้ม เค้กกาแฟ เค้กสามรส และจัดงานเทศกาลขนมเค้กเป็นประจำทุกปี กำหนดจัดงานจะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี บริเวณถนนสถานี
งานเทศกาลหมูย่างจังหวัดตรัง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง จัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานจะมีหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด งานจัดบริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ ถนนสถานี
งานเทศกาลหอยตะเภา เป็นเทศกาลที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานจัดบริเวณชายหาดปากเมง ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

วัฒนธรรมท้องถิ่น
มโนราห์หรือโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้โดยเฉพาะ มีท่ารำอ่อนช้อย สวยงาม บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฎิภาณไหวพริบสรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลอง ทับคู่ ฉิ่ง โหม่ง ปี่ชวาและกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย
หนังตะลุง ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่นิยมกันมากทั่วภาคใต้ ใช้หนังสัตว์แกะเป็นรูปตัวละคร ตัวแสดงต่าง ๆ เช่น ฤาษี เจ้าเมือง ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์และตัวตลก เป็นต้น นำรูปหนังเชิดหลังจอผ่านแสงไฟส่องทำให้เกิดภาพสีและเงาปรากฎบนจอ นายหนังหรือผู้เชิดหนังตะลุง จะเป็นผู้ขับกลอนหรือพากษ์ไปด้วย จะเป็นผู้ที่มีไหวพริบเป็นเลิศและจะพากษ์คนเดียวตลอดเรื่อง เครื่องดนตรีเช่นเดียวกับมโนราห์ อาจเพิ่มซออู้ หรือซอด้วงไปด้วย
ลิเกป่า ลิเกบกหรือลิเกรำมะนาต่างจากลิเกโรงทั่วไป เพราะจะแต่งกายด้วยชุดธรรมดาไม่ใช่ชุดลิเก นิยมในหมู่ชาวไทยอิสลาม ใช้ผู้แสดง 3 คนในฉากเดียวตลอดเรื่อง เปลี่ยนแปลงเฉพาะชื่อสถานที่ตามที่ไปแสดงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศนั้น ๆ เครื่องดนตรีจะมีรำมะนาด 2-3 ใบ ฉิ่ง โหม่ง ฆ้อง ปี่ชวา

Source : tourismthailand.org