สถานที่ท่องเที่ยวในตาก

สถานที่ท่องเที่ยวตาก

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวตาก

อำเภอเมือง จังหวัดตาก

ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพานกิตติขจร และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตากเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราช ทั้งสี่พระองค์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก จึงได้จัดสร้างศาลหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2535
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ที่ถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศาลนี้แต่เดิมอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ชาวเมืองเห็นว่าศาลนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่พร้อมกับให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า “พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2277 สวรรคต พ.ศ. 2325 รวม 48 พรรษา” ศาลนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ที่บ้านรมณีย์ ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2401 บูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2533 ภายในวัดมีเจดีย์ทรงมอญบรรจุพระธาตุไว้ ได้บูรณะฉัตร และบรรจุพระธาตุไว้ที่ส่วนบนของยอดฉัตร ส่วนในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพุทธมนต์” สร้างสมัยสุโขทัย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก
วัดดอยเขาแก้ว หรือวัดพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ท้อ ห่างจากลำน้ำปิงประมาณ 250 เมตร เป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย โบสถ์ที่มีใบเสมาคู่วิหาร เจดีย์ และพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ ด้านหน้ามีเจดีย์ 2 องค์ ใช้บรรจุอังคารบิดา มารดา ของพระเจ้าตากสินมหาราช
วัดมณีบรรพตวรวิหาร อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1 ใกล้โรงพยาบาลตาก ก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นวัดหลวงประจำจังหวัด และวัดพัฒนาตัวอย่าง ด้านหลังเป็นเจดีย์ทรงมอญย่อเหลี่ยมไม้ 16 ภายในอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่วัดนี้ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสงทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด เมื่อปี พ.ศ. 2473 ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตาก
วัดสีตลาราม หรือ วัดน้ำหัก ตั้งอยู่ที่บ้านจีน ถนนตากสิน ตำบลระแหง เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัด เหตุที่ชาวบ้านเรียกวัดน้ำหัก เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำปิง กระแสน้ำไหลหักวน เนื่องจากเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อซึ่งไหลแรงมากได้ไหลตัดกระแสน้ำของแม่น้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัดนี้ ต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนไป จึงไม่มีคุ้งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่น โบสถ์ และอาคารเรือนไม้สร้างตามศิลปะยุโรป พระอุโบสถของวัดเคยถูกไฟไหม้แต่ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ หน้าอุโบสถมีวิหารคต สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ตรอกบ้านจีน อยู่ใกล้วัดสีตลาราม สมัยที่ลำน้ำแม่ปิงยังไม่ถูกถมเพื่อขยายฝั่ง ในอดีตเคยเป็นย่านการค้า และเส้นทางลำเลียงสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค ที่ส่งมาจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อมาขึ้นที่บ้านท่าจีน ปัจจุบันยังคงมีเรือนไทยโบราณสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ซึ่งหาดูได้ยากไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม
วัดเขาถ้ำ ตั้งอยู่ที่บ้านแพะ ถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม แยกขวาจากทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่ 423 เข้าไปตามถนนประมาณ 900 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2437 วัดเขาถ้ำนี้มีหินที่เป็นธรรมชาติวางเรียงรายเป็นชั้นสลับซับซ้อนกัน ทางเข้าถ้ำเป็นเขาสูงประมาณ 70 เมตร ภายในวัดเขาถ้ำมีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระสังกัจจายน์ เจ้าแม่กวนอิม และหลวงพ่อทันใจประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปที่ปั้นด้วยปูนเสร็จภายในหนึ่งวัน บนยอดเขามีเจดีย์ตั้งอยู่ และสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองตากได้ และทุก ๆ ปี หลังวันสงกรานต์จะมีการจัดงานประเพณี “ขึ้นวัดเขาถ้ำ” โดยมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของไทย และสรงน้ำพระพุทธบาทจำลอง
อุทยานแห่งชาติลานสาง อยู่ที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ ห่างจากตัวจังหวัดตากประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่ 65,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ และลาดต่ำลงมาทางด้านทิศตะวันออก มีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่า ดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ หมูป่า เก้ง เต่าปูลู เลียงผา ชะมด นกปรอดเหลืองหัวจุก เป็นต้น
ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา สมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่ และพลัดหลงกับกองทัพ ประจวบกับเป็นเวลากลางคืน และสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพัก ขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรีบพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบ และขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ลานสาง” และสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้ายังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริเวณน้ำตกลานสาง และที่บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกผาลาด เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นเนินหิน ไหลลดหลั่นลงมาสลับซับซ้อนกันเป็นลานหินกว้าง มีความลาดชันเล็กน้อย มีความกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร กระแสน้ำของลำห้วยลานสางที่ไหลบ่าไปตามแผ่นหินรวมตัวไหลลงสู่ แอ่งเล็ก ๆ
น้ำตกลานเลี้ยงม้า อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกผาลาด 200 เมตร มีลักษณะเป็นเนินหิน เตี้ย ๆ ตรงกลางเว้าเป็นช่องว่าง กว้างประมาณ 6 เมตร กระแสน้ำที่ไหลมาตามลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงเนินหินเตี้ย ๆ น้ำจะไหลเข้ามาตามช่องหินสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง น้ำตกชั้นนี้มีความสูงประมาณ 5 เมตร
น้ำตกลานสาง อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 200 เมตร เป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปมากที่สุด มีความสูงประมาณ 40 เมตร น้ำตกจะไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำ และไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า
น้ำตกผาเงิบ เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยผาเงิบ น้ำจากห้วยผาเงิบจะไหลลงสู่ห้วยลานสางบริเวณใกล้ ๆ กับน้ำตก ลานสาง น้ำตกผาเงิบมีความสูง 19 เมตร จะมีน้ำเฉพาะฤดูฝน และฤดูหนาว ความงามของน้ำตกอยู่ที่ผาเงิบ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันเป็นหลืบเหลี่ยม บางตอนก็มีหินงอก และหินย้อย
น้ำตกผาผึ้ง อยู่สูงขึ้นไปตามซอกเขา ห่างจากน้ำตกลานสาง 750 เมตร เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบ มีความลาดชันประมาณ 70 องศา สูง 30 เมตร ลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงยอดน้ำตกจะไหลบ่าแผ่กระจายเป็นละอองฝอยสีขาวไปตามหน้าผาลดหลั่นลงมาตามชั้นหินเล็ก ๆ เป็นบริเวณกว้างลงสู่แอ่งน้ำตก
น้ำตกผาเท อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วย ห่างจากน้ำตกผาผึ้ง 1.2 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ไปตาม ลำห้วยลานสาง ผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่มีสภาพป่า และชนิดของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกัน น้ำตกผาเทเป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีลักษณะเป็นหน้าผามีความชัน สูง 25 เมตร เมื่อน้ำห้วยลานสางที่ไหลมาตามซอกด้วยความเร็วเมื่อมาถึงยอดหน้าผา ซึ่งเป็นท้องน้ำตกที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะพุ่งพ้นยอดผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างด้วยความแรงจนน้ำกระจายเป็นฝอยทำให้เกิดเสียงดังครืน ๆ ได้ยินแต่ไกล
น้ำตกผาน้อย เป็นน้ำตกที่ไหลผ่านช่องแคบ ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ ลงสู่แอ่งน้ำที่กว้าง และมีความลึกมาก
น้ำตกท่าเลย์ เป็นน้ำตกที่มีลักษณะลาดชันไหลลดหลั่นลงมาจากหน้าผา มีความสูง 50 เมตร
จุดชมวิว อุทยานฯ มีจุดชมวิวอยู่บนยอดเขาน้อยสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองตากได้ โดยมีทางขึ้นบริเวณศาลเจ้าพ่อข้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพัก 3 หลัง ราคาหลังละ 200-800 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าสถานที่กางเต็นท์ ราคา 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติลานสาง ตู้ ปณ. 8 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 โทร. 0 5551 9278-9 หรืองานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองตากใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ห่างจากตัวเมือง 19 กิโลเมตร ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12-13 ให้เลี้ยวซ้ายไป 3 กิโลเมตร จะถึงบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รถประจำทาง สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-ตาก มาลงที่สถานีขนส่งในอำเภอเมือง แล้วต่อรถตู้สายตาก-แม่สอดลงที่ปากทางเข้าอุทยานฯ และเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท ชาวต่างประเทศ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตป่าแม่ท้อ ตำบลแม่ท้อ ตำบลพะวอ อำเภอเมือง และป่าแม่ละเมา อำเภอแม่สอด มีเนื้อที่ 165,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน มีภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นอุทยานฯ ที่มีป่าหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ อุทยานฯ มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ส่วนฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม จะมีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทย และพม่า ในปี พ.ศ. 2305 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างยกทัพกลับทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ในป่านี้ สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
ต้นกระบากใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณหุบเขาของป่าดงดิบ เป็นพันธุ์ไม้เนื้ออ่อนมีลักษณะลำต้นตรงเปลา (คือ ลำต้นสูงชะลูดไม่มีกิ่งที่ลำต้น) เรือนยอดเป็นพุ่มกลมเปลือกสีน้ำตาลปนเทา มีอายุประมาณ 700 ปี มีขนาดวัดโดยรอบได้ 16.40 เมตร หรือราว 14 คนโอบ สูง 50 เมตร เป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ค้นพบคือ นายสวาท ณ น่าน ช่างระดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก เส้นทางเดินที่ลงไปชมต้นกระบากใหญ่ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเป็น เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมระบบเชิงนิเวศของป่าด้วย ผู้ที่จะเดินลงไปชมต้นกระบากใหญ่ควรมีความพร้อมทางร่างกาย เพราะทางเดินค่อนข้างชัน การเดินทาง ต้นกระบากใหญ่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นทางรถยนต์ประมาณ 3 กิโลเมตร และเป็นทางเดินเท้าลงเขาชันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
สะพานหินธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้าง และความสูงประมาณ 25 เมตร เบื้องล่างมีลำธารไหลผ่าน ถัดออกไปประมาณ 50 เมตร มีถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 35 ให้แยกเข้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ตาก และตรงไปประมาณ 6 กิโลเมตร จากนั้นให้เดินเท้าต่อไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงสะพานหินธรรมชาติ
น้ำตกปางอ้าน้อย เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี สูงประมาณ 20 เมตร อยู่ห่างจากต้นกระบากใหญ่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร
ถ้ำธารลอดผาขาว-ผาแดง อยู่ห่างจากที่ทำการ 35 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยผาขาว-ผาแดง มีความสูง 30 เมตร มีถ้ำธารลอดเกิดจากลำห้วยผาแดง ซึ่งไหลเลาะลงถ้ำด้านล่าง ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม
น้ำตกแม่ย่าป้า เป็นน้ำตกขนาดกลางที่เกิดจากลำห้วยแม่ย่าป้า อยู่ในป่าทึบ มีน้ำไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นตามร่องห้วย แล้วไหลลงสู่ลำห้วยแม่ท้อ การเดินทาง ไปน้ำตกแม่ย่าป้านั้นยังไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินป่าควรติดต่อขอคนนำทางกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ก่อน
น้ำตกสามหมื่นทุ่ง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยสามหมื่นหลวง มีความสูง 30 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย เด็ก ราคา 10 บาท ผู้ใหญ่ ราคา 20 บาท ชาวต่างประเทศ เด็ก ราคา 100 บาท ผู้ใหญ่ ราคา 200 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 8 หลัง ราคาหลังละ 500-1,000 บาท มีเรือนนอน พักได้ 60 คน ราคา 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่ายพักแรมที่เล่นแค้มป์ไฟได้ และนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเอง ทางอุทยานฯ ได้จัดสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้เสียค่ากางเต็นท์ 100 บาท/คน/คืน และอุทยานฯ มีร้านอาหารบริการแต่ต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตู้ ปณ. 10 อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 โทร. 0 5551 1429 หรืองานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ
การเดินทาง รถยนต์ ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงหมายเลข 105 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 26 มีทางแยกขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รถประจำทาง มีรถตู้วิ่งประจำทาง สายตาก-แม่สอด มาลงที่ปากทางแยกเข้าอุทยานฯ บริเวณกิโลเมตรที่ 26 แล้วจากนั้นจะต้องเดินเท้าเข้าไปอุทยานฯ อีก 2 กิโลเมตร

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
อำเภอแม่สอด อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก 86 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งสหภาพพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ 2,600 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขา และคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวพม่าที่มีภรรยา และบุตรเป็นคนไทยด้วย
ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะเป็นเมืองฉอดของขุนสามชนที่เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย ฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ใช่เมืองเดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ ในท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้
วัดมณีไพรสณฑ์ ตั้งอยู่ในตลาดแม่สอด ภายในวัดมีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ มีลักษณะแปลกคือ บนองค์เจดีย์มีเจดีย์ เล็ก ๆ ล้อมรอบถึง 233 องค์ และพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง 512,028 องค์ มีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่บริเวณหน้าบัน และหลังคาโบสถ์มีลายไม้ฉลุสวยงาม บริเวณโดยรอบวัดมีซุ้ม และศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ได้แก่ หลวงพ่อสังกัจจาย พระพุทธรูปปูนปั้นปางพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
วัดชุมพลคีรี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่สอด เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 200 ปี มีเจดีย์สร้างใหม่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของสหภาพพม่า ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ส่วนในวิหารเป็นที่เก็บกลองโบราณมีอายุกว่า 200 ปี
น้ำตกแม่กาษา อยู่ที่ตำบลแม่กาษา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง มีถ้ำ และธารน้ำกว้างประมาณ 5 เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตก การเดินทาง จากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด (ทางหลวงหมายเลข 105) ประมาณกิโลเมตรที่ 13-14 มีป้ายทางเข้าเขียนว่า บ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
บ่อน้ำร้อนแม่กาษา อยู่ที่ตำบลแม่กาษา บ่อน้ำร้อนนี้อยู่ในตัวหมู่บ้าน มีความกว้างประมาณ 2 เมตร นอกจากนี้ยังมีธารน้ำร้อนเป็นสายมาพบกับธารน้ำเย็น เมื่อผ่านเข้าไปในบริเวณหมู่บ้านจะได้กลิ่นกำมะถันกรุ่นอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำจาง ๆ ลอยขึ้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย เมื่อเข้าไปดูที่ปากบ่อจะเห็นฟอง และการเดือดของน้ำได้ชัดเจน อุณหภูมิของน้ำสูงพอสมควร บริเวณหมู่บ้านมีธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และไร่นา การเดินทาง จากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด ตรงกิโลเมตรที่ 13-14 ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกแม่กาษา เข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ผ่านเข้าไปในหมู่บ้านถึงบ่อน้ำร้อนแม่กาษา
ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดตาก ตั้งอยู่ที่ตำบลพะวอ บนดอยมูเซอ อยู่ในความดูแลของ กรมประชาสงเคราะห์ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ศูนย์ฯ นี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 800 ฟุต เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25-26 มีเนื้อที่ทั้งหมด 26,500 ไร่ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยมูเซอ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ม้ง หรือแม้ว และลีซอ ปัจจุบันชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน และเมืองปันในเขตรัฐฉานของสหภาพพม่า รวมทั้งเขตเชียงตุงด้วย ในบริเวณศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขาฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาบ้านอุมยอม” ที่ให้ความรู้ และคำแนะนำแก่ผู้นำชาวเขาในการจัดการท่องเที่ยว มีการจัดแสดงเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ จำลองบ้านมูเซอตัวอย่าง ส่วนบริเวณด้านนอกจัดทำเป็นลานเต้น จะคึ จำลอง (จะคึ คือการเต้นรำของเผ่ามูเซอ โดยจะเต้นตลอดทั้งวันทั้งคืน ผลัดเปลี่ยนกันเต้นตลอดเวลาไม่ให้เสียงกระทืบเท้าขาดหายไปจนกว่างานจะเลิก ในช่วงที่มีงานทุกคนจะหยุดทำงาน ถ้าใครทำจะถูกปรับ ยกเว้นงานกรีดยางฝิ่นเท่านั้น และสิ่งที่ทุกคนต้องทำ คือการออกเดินทางไปเยี่ยมญาติที่หมู่บ้านอื่นแม้ว่าจะไกล หรือใกล้ก็ตาม) นอกจากนั้นยังมี
เส้นทางศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านอุมยอม โดยชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะของเรือนพักอาศัย หรือหากสนใจจะพักค้างแรมในหมู่บ้านก็ได้ และมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกหนึ่งเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางการทำสวนชา กาแฟ ไร่ข้าว แหล่งน้ำซับ ซึ่งทำให้เห็นวิธีการปลูก และการดูแลพืชผลดังกล่าว ระหว่างทางยังมีน้ำตกให้ได้เที่ยวพักผ่อนอีกด้วย เส้นทางนี้ใช้ระยะเวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 1 วัน นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดตาก ตู้ ปณ. 2 อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000 โทร. 0 5551 3614
การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 25-26 จะมีทางแยกซ้ายเลียบไปตามไหล่เขาอีก 3 กิโลเมตร
สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา บนเทือกเขาถนนธงชัย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 900 เมตร เป็นสถานที่ทดลองวิจัยเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชา ผลไม้ ผักต่าง ๆ และดอกไม้เมืองหนาว ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมดอกบัวตองบนเทือกเขา บริเวณที่ตั้งสถานีฯ จะออกดอกบานสะพรั่ง
ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขาดอยมูเซอ ตั้งอยู่ริมเส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงหมายเลข 105 บริเวณกิโลเมตรที่ 29 เป็นตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาวเขา ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องเงิน และพืชผลต่าง ๆ ทางการเกษตร เปิดจำหน่ายทุกวัน
ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ ถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตาก และชาวอำเภอแม่สอดมาก เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงแต่งตั้งให้เป็นนายด่านอยู่ที่ด่านแม่ละเมา เพื่อคอยป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาได้ เดิมทีศาลเจ้าพ่อพะวออยู่อีกด้านหนึ่งของเขา แต่เมื่อตัดถนนไปทางใหม่จึงได้มาสร้างศาลขึ้นใหม่ มีผู้เล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครไปล่าสัตว์ในบริเวณเขาพะวอแล้วมักจะเกิดเหตุต่าง ๆ เช่น รถเสีย เจ็บป่วย หรือหลงทาง และเพราะเหตุที่เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบ จึงชอบเสียงปืน ทำให้ผู้ที่เดินทางมาสักการะมักยิงปืนถวาย จุดประทัด หรือบีบแตรถวายท่านเป็นการแสดงความเคารพ
เนินพิศวง อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 68 สายตาก-แม่สอด มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนินที่แปลก คือเมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงทางขึ้นเนินโดยไม่ได้ติดเครื่องรถจะไหลขึ้นเนินไปเอง มีนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงสาเหตุนี้พบว่า เกิดจากเป็นภาพลวงตา เนื่องจากได้มีการวัดระดับความสูงของเนินลูกนี้แล้วปรากฏว่า ช่วงที่มองเห็นเป็นที่สูงนั้น มีระดับความสูงต่ำกว่าช่วงที่เห็นเป็นทางลงเนิน ดังนั้นรถที่เรามองเห็นไหลขึ้นนั้นที่จริงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่าเหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้
วัดโพธิคุณ หรือ วัดห้วยเตย อยู่ในตำบลแม่ปะ ริมทางหลวงหมายเลข 105 เส้นทางสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 69 เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) จึงมีความสวยงามตามธรรมชาติ ภายในวัดมีพระอุโบสถสร้างแบบสถาปัตยกรรมประยุกต์ มีลักษณะคล้ายเรือลำใหญ่ มี 3 ชั้น ภายในอุโบสถลงรักปิดทองโดยรอบ
วัดไทยวัฒนาราม เดิมชื่อ วัดแม่ตาวเงี้ยว หรือ วัดไทยใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ 1 ตำบลท่าสายลวด ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 84 ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด เส้นที่จะไปตลาดริมเมย ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายมหายานของชาวไทยใหญ่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลมาจากสหภาพพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 โดยนายมุ้ง เป็นชาวพม่ารัฐฉาน ที่อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สอด และได้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า หมื่นอาจคำแหงหาญ ในปี พ.ศ. 2500 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นวัดพระพุทธศาสนาในสังกัดกรมศาสนา ในวัดมีพระพุทธมหามุณี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุณีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑเลย์ สหภาพพม่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดตากศรัทธาเลื่อมใสกันมาก
สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด เป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำเมย ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี ของสหภาพพม่า มีความยาว 420 เมตร กว้าง 13 เมตร สำหรับประชาชน ชาวไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอแม่สอด สามารถเดินทาง หรือนำรถยนต์ข้ามไปในประเทศพม่าได้ โดยทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ ที่ว่าการอำเภอแม่สอด หรือศูนย์การค้าแม่เมยซิตี้ โดยเสียค่าธรรมเนียมทั้งในฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศพม่า และเสียค่าประกันภัยรถยนต์ตามที่กำหนด สอบถามข้อมูลก่อนเดินทางได้ที่ ที่ทำการอำเภอแม่สอด โทร. 0 5553 1077
หมายเหตุ นักท่องเที่ยวชาวไทย ควรสอบถามรายละเอียดที่ ที่ว่าการอำเภอแม่สอดก่อนเดินทาง เนื่องจากระเบียบการอาจมีการเปลี่ยนแปลง
นักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ ที่ต้องการเดินทางข้ามไปสหภาพพม่าต้องนำหนังสือเดินทาง (PASSPORT) มาแสดงที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยเพื่อประทับตราผ่านแดนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับฝั่งประเทศพม่าเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งพม่า คนละ 10 ดอลล่าร์ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้) เพื่อท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ ได้ตั้งแต่เวลา 06.00-08.00 น. และจากด่านตรวจคนเข้าเมืองนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศสามารถเดินทางเข้าไปได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร ควรสอบถามข้อมูลก่อนเดินทางได้ที่ ที่ทำการอำเภอแม่สอด โทร. 0 5553 1077
ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทย และสหภาพพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีที่มาจากสหภาพพม่า การเดินทาง สามารถขึ้นรถสองแถวจากตลาดอำเภอแม่สอดไปตลาดริมเมยทุกวัน โดยลงที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อัตราค่าโดยสารคนละ 10 บาท
พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่ อยู่ที่บ้านวังตะเคียน พระธาตุ หรือเจดีย์หินกิ่วเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ คือ ก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนชะง่อนผา เป็นหินที่กิ่วคอดเหมือนจะขาดออกจากกัน และมีเจดีย์ทรงมอญสร้างไว้มีขนาดพอดีกับความกว้างของก้อนหิน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” เป็นที่เคารพของชาวจังหวัดตาก และประชาชนจังหวัดใกล้เคียง ทุก ๆ ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุหินกิ่ว การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 ผ่านหมู่บ้านท่าอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียน จะพบทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปพระธาตุหินกิ่ว 3 กิโลเมตร
แม่น้ำเมย (พม่าเรียกว่า แม่น้ำต่องยิน) เป็นเส้นกั้นเขตแดนประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีความยาวประมาณ 327 กิโลเมตร แม่น้ำสายนี้ไหลขึ้นมิได้ไหลลงเช่นแม่น้ำทั่ว ๆ ไป มีต้นน้ำอยู่ที่บ้านมอเกอ ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ แล้วไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง ไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินแล้วไหลลงอ่าวมะตะบันในเขตพม่า การเดินทาง จากอำเภอแม่สอดใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร สุดเขตแดนไทยถึงแม่น้ำเมย
• ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
อำเภอแม่ระมาด เป็นอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับสหภาพพม่าอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 120 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา สันนิษฐานว่าเดิมอำเภอแม่ระมาดเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมามีชาวไทยล้านนาอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมากจนได้ยกฐานะเป็นอำเภอแม่ระมาด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 การเดินทาง จากตัวจังหวัดตากใช้เส้นทางตาก-แม่สอด-แม่ระมาด หรือใช้เส้นทางตาก-บ้านตาก-แม่ระมาดก็ได้
วัดดอนแก้ว ตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด มีพระพุทธรูปแกะสลักหินอ่อน เป็นปฏิมากรรมของพม่าที่แกะสลักขึ้นพร้อมกัน 3 องค์ องค์ที่ 1 ประดิษฐานที่ประเทศปากีสถาน องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย และองค์ที่ 3 ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประดิษฐานในวิหารของวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม มีขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สูง 63 นิ้ว
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ตั้งอยู่บริเวณป่าแม่ตื่น มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอแม่ระมาด และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีเนื้อที่ 733, 125 ไร่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงชันสลับซับซ้อนมีป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
สถานที่น่าสนใจในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ได้แก่
ดอยขุนแม่ตื่น อยู่บริเวณหลังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มีลานหิน เป็นบริเวณกว้าง มีถ้ำขนาดเล็ก ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น เก้ง เลียงผา ค้างคาว เป็นต้น
ลำน้ำแม่ตื่น เป็นลำน้ำสาขาที่มีขนาดใหญ่ของลำน้ำแม่ปิง ไหลลงมาบรรจบกับลำน้ำปิงบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล เป็นบริเวณที่สามารถล่องแก่งได้โดยเริ่มต้นที่ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด ซึ่งอยู่แยกจากทางสายแม่ระมาด-บ้านตาก ประมาณกิโลเมตรที่ 30 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ล่องไปตามลำน้ำแม่ตื่น ผ่านกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งนอกจากจะได้ชมความงามตามธรรมชาติของป่า และนกนานาพันธุ์แล้ว ยังจะได้ผจญภัยกับการล่องเรือยางผ่านเกาะแก่งตามลำน้ำแม่ตื่น และสัมผัสชีวิตของชาวแพเหนือทะเลสาบแม่ปิง
ดอยสอยมาลัย เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ยอดดอยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 เมตร จากยอดดอยสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ สิ่งที่น่าสนใจภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้แก่ สลาแมนเดอร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จิ้งจกน้ำ เป็นสัตว์น้ำดึกดำบรรพ์ที่หายาก ลักษณะจะเหมือนกับจิ้งจก ลำตัวสีชมพู พื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าสนเมืองหนาว มีจุดชมวิวที่ดูทะเลหมอกในยามเช้าได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงฤดูที่น่าเที่ยวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้บริเวณที่ทำการเขตฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0 5551 4341 -3 นักท่องเที่ยวจะต้องขอใบอนุญาตที่หน่วยพิทักษ์ป่ากิ่วสามล้อก่อนขึ้นดอยสอยมาลัยทุกครั้ง การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1175 สายบ้านตาก-แม่ระมาด รถยนต์ที่ใช้ควรเป็นรถที่มีสมรรถนะสูง หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
• ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

อำเภอท่าสองยาง เป็นอำเภอชายแดนติดกับประเทศพม่า อยู่ติดลำน้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากอำเภอแม่สอด-อำเภอท่าสองยาง ประมาณ 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวอำเภอเมืองตากถึงอำเภอท่าสองยางประมาณ 169 กิโลเมตร
ถ้ำแม่อุสุ อยู่ในเขตวนอุทยานถ้ำแม่อุสุ หมู่ที่ 4 บ้านมีโนะโค๊ะ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าสองยางไปทางเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร บนเส้นทางสายแม่สอด-แม่สะเรียง (ทางหลวงหมายเลข 105) เลยกิโลเมตรที่ 94 ไปเล็กน้อย จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้ำแม่อุสุแห่งนี้เป็นถ้ำที่กว้างใหญ่ มีเพดานสูง อากาศโปร่ง และไม่มืดนัก มีลำห้วยแม่อุสุไหลผ่าน ถ้าเดินทางเข้าไปในถ้ำนี้จะต้องเดินลุยน้ำห้วยแม่อุสุ ถ้าในช่วงฤดูฝนระดับน้ำจะสูงมาก ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยรูปร่างต่าง ๆ ดูสวยงาม ทางด้านตะวันตกจะมีโพรงหินขนาดใหญ่ และในตอนบ่ายจะมีแสงแดดส่องเข้ามาทำให้ถ้ำดูสวยงาม ทางเดินไม่ลำบาก ถ้าหากปีนขึ้นไปจนทะลุโพรงหินก็จะยิ่งสวยงาม เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำสักระยะหนึ่งแล้ว หันกลับมาดูทางเข้าก็จะเห็นลำห้วยที่ไหลคดเคี้ยวออกจากถ้ำที่มืดไหลไปสู่ปากถ้ำที่สว่าง และบริเวณด้านหลังเป็นทุ่งหญ้า สีเขียวที่สวยงาม
อุทยานแห่งชาติแม่เมย อยู่ในเขตอำเภอท่าสองยาง มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนสหภาพพม่าโดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นแบ่งเขตแดน บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีการจัดภูมิทัศน์ และตกแต่งพื้นที่ด้วยไม้ประดับดูสวยงาม บรรยากาศโดยรอบที่ทำการสงบร่มรื่นด้วยป่าเขา และยังมีสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น กวาง ละมั่ง เป็นต้น นอกจากนั้นทางอุทยานฯ ได้จัด เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ใช้เวลาเดินประมาณ 6 ชั่วโมง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางโดยติดต่อล่วงหน้าที่อุทยานฯ เป็นเส้นทางเดินแบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือจะพักแรมก็ได้ ระหว่างเส้นทางที่เดินเป็นทางขึ้นเขาบ้าง ลงเขาบ้าง ทางเดินไม่ชันมาก เดินเรียบลำน้ำขึ้นไปเรื่อย ๆ ผ่านน้ำตกเล็ก ๆ บางครั้งต้องปีนบันไดไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นขนานไปกับน้ำตก ละอองน้ำจากน้ำตกจะกระเด็นเข้ามาปะทะที่ใบหน้าทำให้สดชื่นขึ้น หากมาในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบดอกไม้ป่านานาชนิดหลากสีสันบานอยู่ริมทางเดินหรือริมน้ำตก เช่น ดอกกระทือสีแดง ดอกบัวตองสีเหลืองบานเป็นกอชวนสะดุดตาตัดกับผืนป่าสีเขียว บางดอกซ่อนตัวอยู่กับพรมมอสสีเขียวเข้ม
น้ำตกผาเทวะ เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะได้พบในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และเป็นน้ำตกที่เด่นที่สุดในอุทยานฯ มีความสูง 150 เมตร เวลาที่อยู่ใกล้ ๆ จะมองเห็นสายน้ำทิ้งตัวลงจากหน้าผา ส่งให้สายน้ำไหลแรงมากระทบโขดหิน และแอ่งน้ำเบื้องล่าง ป่ารอบ ๆ บริเวณจึงชุ่มชื้น และฉ่ำเย็นด้วยละอองของน้ำที่กระจายไปทั่ว สายน้ำสีขาวของผาเทวะที่ไหลยาวไปสู่เบื้องล่างสามารถมองเห็นได้จากอีกยอดเขาหนึ่งเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาจะพบ ทุ่งหญ้านิรนาม เป็นทุ่งหญ้า และหุบเขาสามารถพักแรมได้ เป็นจุดมีทิวทัศน์สวยงาม และบรรยากาศเย็นสบาย ซึ่งถ้าตื่นมาตอนเช้าจะมองเห็นทะเลหมอกได้ถ้าฟ้าเปิด ใกล้ ๆ บริเวณจะพบหลุมขุดแร่เป็นระยะ ๆ เพราะที่นี่เคยเป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่มาก่อน และบริเวณกลางป่ามีเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิของหญิงสาวที่เลือกมาผูกคอตายเพราะผิดหวังในความรัก
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกแม่ระเมิง เป็นจุดที่สามารถชมทะเลหมอก และดูพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามมีอยู่หลายจุด ได้แก่ ม่อนกระทิง ม่อนพูนสุดา ม่อนครูบาไส และม่อนกิ่วลม
คำแนะนำ สำหรับคนที่กลัวทากควรเตรียมอุปกรณ์กันทากไปด้วย ควรใส่รองเท้าที่กระชับ เกาะพื้น และควรมีน้ำดื่มติดไปด้วย
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท ชาวต่างประเทศ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท รถยนต์ 4 ล้อ 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีบริการบ้านพัก จำนวน 3 หลัง ราคา 1,200 บาท หากต้องการให้อุทยานฯ บริการด้านอาหารต้องติดต่อก่อนล่วงหน้า ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่เมย อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 63150 โทร. 0 5551 9644
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองตากไปตามเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง (ทางหลวงหมายเลข 105) ระยะทางประมาณ 114 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือที่จุดตรวจแม่สลิดเป็นทางที่จะตัดไปสู่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นทางขึ้นเขาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ ทางขึ้นเขาเป็นทางชันรถบัสใหญ่ไม่สามารถขึ้นไปได้ (หมายเหตุ เส้นทางหลวงหมายเลข 105 ช่วงแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง เป็นเส้นทางเรียบชายแดนจึงไม่แนะนำให้เดินทางผ่านช่วงหลังเวลา 18.00 น.)
รถประจำทาง ให้นั่งรถสองแถวจากแม่สอดไปบ้านแม่สลิดหลวง หลังจากนั้นต้องเหมารถต่อไปที่ทำการอุทยานฯ

อ.พบพระ จ.ตาก

อำเภอพบพระเป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก การเดินทาง ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงหมายเลข 105 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 75 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1206 ไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร จึงถึงอำเภอพบพระ รวมระยะทางจากตัวจังหวัดประมาณ 135 กิโลเมตร ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดถนนลาดยางสายแม่สอด-พบพระ (ทางหลวงหมายเลข 1206) นั้น การคมนาคมระหว่างสองอำเภอนี้ลำบากมากเพราะพื้นที่ของอำเภอพบพระเป็นพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขารับลมมรสุมจากอ่าวเมาะตะมะ ดังนั้นพื้นที่นี้จึงมีฝนตกชุกที่สุดในเขตภาคเหนือราว 2,300-3,000 มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมจึงมีแต่โคลนตม ต้องเดินลุยโคลนกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า ขี้เปรอะเพอะพะ แปลว่า ขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า ถ้าใครผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้เปรอะเพอะพะ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บ้านเพอะพะ แล้วจึงเปลี่ยนเป็น พบพระ
น้ำตกนางครวญ เดิมชื่อ น้ำตกเพอะพะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น น้ำตกพบพระ และเปลี่ยนมาเป็นชื่อ น้ำตกนางครวญ เป็นน้ำตกขนาดกลางไหลลดหลั่นลงไปเป็นชั้นเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าร่มรื่น มีต้นน้ำมาจากลำคลอง ริมท้องนาข้างทาง และทางการได้ตัดถนนผ่านตัวน้ำตกจึงแลดูเป็นน้ำตกเล็ก ๆ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงสาย 1090 พอถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 31-32 มีทางแยกขวามือเข้าอำเภอพบพระ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1206 ที่อยู่ริมสะพานคอนกรีตด้านขวาบริเวณกิโลเมตรที่ 12 ก่อนถึงอำเภอพบพระเล็กน้อย
บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อุณหภูมิวัดได้ 60 องศาเซลเซียส สามารถเที่ยวชมได้ตลอดปี การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ-บ้านช่องแคบ (ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกพาเจริญ) มีทางแยกขวาก่อนเข้าอำเภอพบพระแล้วให้แยกขวาทางไปหมู่บ้านห้วยน้ำนัก
อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ และตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด มีพื้นที่ 534,375 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,765 เมตร สภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าเขาสน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำห้วยน้ำไหลมารวมกับแหล่งน้ำซับแล้วไหลลงสู่ชั้นน้ำตกที่นับรวมได้ถึง 97 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีแต่จะสวยงามในช่วงปลายฤดูฝน การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง มีทางแยกซ้ายกิโลเมตรที่ 37 เข้าไปอีกประมาณ 700 เมตร
จุดชมวิวดอยเกี๊ยะ ตั้งอยู่ในเขตป่าแม่สอด หมู่ที่ 4 ตำบลพบพระ เป็นจุดสูงสุดชายแดนไทย-สหภาพพม่า มีความสูงประมาณ 512 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์บริเวณป่าของพม่าได้ บางส่วนเป็นสันเขา และมีอากาศเย็นสบาย ในฤดูหนาวมีทะเลหมอกเหนือแม่น้ำเมย ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-สหภาพพม่า
น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกหินปูนจากห้วยป่าหวายมีน้ำไหลตลอดปี บริเวณน้ำตกมีไม้หวายเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตก การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 สายพบพระ-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ 42 อยู่ก่อนถึงบ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก
น้ำตกสายฟ้าและน้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกที่มีละอองน้ำตกลงมากระทบแสงแดด เหมือนรุ้งกินน้ำ มีน้ำไหลตลอดปี การเดินทาง อยู่ระหว่างเส้นทางหลวงหมายเลข 1090 เลยอำเภอพบพระไป 11 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกสายฟ้า และน้ำตก สายรุ้ง
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 2 หลัง และมีเต็นท์ให้เช่า ราคา 150 บาท/คืน นอนได้ 4 คน แต่ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้า ถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ กิโลเมตรที่ 37 หมู่ 6 ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก 63160
การเดินทาง อุทยานฯ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 37 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 700 เมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
• ข้อมูลท่องเที่ยว อ.อุ้มผาง จ.ตาก

อำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากจังหวัดตาก 249 กิโลเมตร มีพื้นที่ 2,703,362 ไร่ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแปดอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่า และเคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน ต่อมาจึงมีคนไทยภาคเหนืออพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น เดิมอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจชาวพม่า ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 ได้ประกาศให้ขึ้นกับจังหวัดตาก คำว่า “อุ้มผาง” เพื้ยนมาจากคำภาษากะเหรี่ยงว่า “อุ้มผะ” แปลว่า การแสดงหนังสือเดินทางของผู้เข้าออกไทย-พม่า การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ถึงตาก ระยะทางประมาณ 425 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวจังหวัดตาก 7 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ถึงอำเภอแม่สอดระยะทาง 86 กิโลเมตร และจากอำเภอแม่สอดมีทางแยกซ้ายให้เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง ทางไปอำเภออุ้มผาง ระยะทาง 164 กิโลเมตร บนเทือกเขาถนนธงชัย เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวสลับซับซ้อนมีทั้งหมด 1,219 โค้ง เป็นที่รู้จักกันในนามของ ถนนลอยฟ้า จากอำเภอแม่สอดถึงอำเภออุ้มผางใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง รวมระยะทาง 689 กิโลเมตร หมายเหตุ เส้นทางช่วงแม่สอด-อุ้มผาง นักเดินทางควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และรถที่ใช้ควรมีสภาพดี หรือรถที่มีสมรรถนะสูง เพราะเป็นเส้นทางตัดผ่านเทือกเขา ถนนมีความคดโค้งมาก มีจุดแวะพักบริเวณกิโลเมตรที่ 84 มีร้านขายอาหาร และเครื่องดื่ม ผู้ที่เมารถควรรับประทานยาแก้เมารถไว้ล่วงหน้า
บ้านโบราณ อุ้มผางเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ลักษณะการสร้างบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยวัสดุท้องถิ่น เช่น ใบตองตึง แป้นเกล็ดไม้ และกระเบื้องดินเผา ตัวบ้านยกสูง ใต้ถุนเปิดโล่ง มีบันไดขึ้นด้านหน้า ชานบ้านมีม้านั่งขนานกับขอบระเบียง รั้วบ้านทำด้วยปีกไม้ ปัจจุบันยังมีให้เห็นกันอยู่ นอกจากนั้นทางชมรมบ้านโบราณได้มีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าของบ้าน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบ้านโบราณให้เป็นที่พักทางวัฒนธรรม ที่เรียกว่า “โฮมสเตย์” (HOME STAY) เพื่อที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอำเภออุ้มผาง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเข้าพักสามารถติดต่อผ่าน ชมรมบ้านโบราณ โทร. 0555 61287
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง มีพื้นที่ 1,619,280 ไร่ เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพื่อการสงวน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นผืนป่าตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งมรดกโลก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาว และเย็นมากในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ เสือลายเมฆ สมเสร็จ เลียงผา เหยี่ยว นกกระทุง ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อ พ.ศ. 2532สถานที่น่าสนใจภายในเขตฯ ได้แก่ น้ำตกทีลอซู คำว่า ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตฯ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อท้อ ลำน้ำทั้งสายตกลงสู่หน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลแรงตลอดปี ความกว้างของตัวน้ำตกประมาณ 500 เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความสูงประมาณ 300 เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก ติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก ซึ่งการเดินทางไปชมน้ำตกแต่ละชั้นบางครั้งจะต้องเดินผ่านสายน้ำตก ควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
การเดินทาง รถยนต์ จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่สอด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 มีทางแยกซ้ายที่บ้านแม่กลองใหม่ไปด่านเดลอ หรือจุดตรวจ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง” เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร (สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขับรถเข้าน้ำตกทีลอซูต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตเข้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (สป. 7) ได้ที่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์อุ้มผางก่อนทุกครั้ง นักท่องเที่ยวต้องยื่น สป. 7 ที่ด่านเดลอ) จากนั้นเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางช่วงนี้เป็นทางดิน ควรใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีสมรรถนะสูงเท่านั้น ในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ และจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จึงถึงตัวน้ำตกทีลอซู
ล่องแพ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อผ่านบริษัททัวร์ที่จัดล่องแพในอำเภออุ้มผางได้ โดยติดต่อได้ที่ สวนเรือแก้ว รีสอร์ท โทร. 02 998 3887, 09 770 9207
น้ำตกทีลอจ่อ หรือ น้ำตกสายฝน ห่างจากอำเภออุ้มผาง 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านปะละทะ ถึงแยกขวามือมีทางเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะพบน้ำตก ชั้นแรก มีความสูงประมาณ 80 เมตร อยู่บนหน้าผาสูงชัน ชั้นที่ 2 ไหลจากหน้าผาสูงชันตกลงสู่แม่น้ำแม่กลอง สายน้ำแตกกระจายเป็นฝอยดูเหมือนสายฝน ทำให้บริเวณโดยรอบได้รับความชุ่มชื้นมีพืชประเภทมอส และตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี น้ำตกทีลอจ่อนี้สามารถล่องเรือยางจากตัวอำเภอ อุ้มผางไปตามลำน้ำแม่กลองถึงน้ำตกได้ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที
น้ำตกเซปละ อยู่ในเขตบ้านเซปละ ตำบลแม่ละมุ้ง ห่างจากบ้านปะละทะ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกภูเขาหินปูนที่ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 50 เมตร กระแสน้ำที่ตกลงกระทบโขดหินทำให้ดูคล้ายกับก้อนเมฆสีขาวที่มีความสวยงาม
น้ำตกทีลอเร มีพื้นที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นน้ำตกที่อยู่บนโตรกผา มีลักษณะเป็นเพิงผาคล้ายถ้ำ ริมลำน้ำแม่กลอง โดยมีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่านหน้าผาสูงชันตกลงสู่ลำน้ำแม่กลอง มีความสูง 80 เมตร ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม น้ำตกทีลอเรเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินทางลักษณะการผจญภัย และศึกษาธรรมชาติ ควรใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านปะละทะ เริ่มต้นจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงปะละทะด้วยการล่องเรือยางไปตามลำน้ำแม่กลองใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน หมายเหตุ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์ในการพักค้างแรมระหว่างทาง 1 คืน และต้องเตรียมอาหารไปเอง
ดอยหัวหมด อยู่ในเขตบ้านอุ้มผาง เป็นภูเขาหินปูนที่ทอดเป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน มีความยาว 30 กิโลเมตร กว้าง 2 กิโลเมตร บนภูเขานี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แต่จะมีต้นหญ้าเตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ปรง ดอกเทียน และดอกไม้ป่าที่ขึ้นปกคลุมจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูฝนรวมทั้งมีโขดหินเป็นระยะ หากมองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นเหมือนพรม สีเขียวแซมด้วยโขดหิน ต้นไม้ และดอกไม้เป็นแห่ง ๆ หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นหมู่บ้านอุ้มผาง และทิวเขาสลับซับซ้อนกัน โดยรอบมีทิวทัศน์สวยงาม มีจุดชมวิวเหมาะที่จะดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และดูทะเลหมอกในยามเช้า (ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวจะมีทะเลหมอกที่สวยงาม) การเดินทาง ใช้เส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงดอยหัวหมด มีจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ดังกล่าวได้สวยงาม 2 จุด จุดแรก บริเวณกิโลเมตรที่ 9 โดยต้องเดินขึ้นภูเขาไปประมาณ 20 นาที จุดที่ 2. บริเวณกิโลเมตรที่ 10 มีทางแยกซ้ายไปลานจอดรถ และเดินเท้าไปอีก 5 นาที ควรไปถึงดอยหัวหมดก่อน พระอาทิตย์ขึ้นราว 05.00-06.00 น. อากาศบนดอยค่อนข้างเย็น มีลมพัดตลอดเวลา
ถ้ำตะโค๊ะบิ อยู่ในเขตบ้านแม่กลอง ลักษณะถ้ำมีทางเดินกว้างลงไปเป็นชั้น ๆ ข้างในมีทางแยกหลายทางเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เพดานถ้ำสูง มีหินงอก หินย้อยสวยงาม และสามารถเดินทะลุถ้ำมาออกที่บ้านแม่กลองใหม่ ความลึกของถ้ำประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทาง จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายแม่กลองใหม่-น้ำตกทีลอซู ไปประมาณ 3 กิโลเมตร
สถานที่พัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางได้จัดสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้ นักท่องเที่ยวจะนำเต็นท์ไปเอง เสียค่ากางเต็นท์ 20 บาท/คน/คืน หรือติดต่อขอเช่าเต็นท์ได้ที่เขตฯ และเตรียมอาหารมาเอง โดยทางเขตฯ มีอุปกรณ์สำหรับการทำอาหารให้ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ถึงจังหวัดตาก รวมระยะทาง 410 เมตร โดยก่อนถึงตาก 7 กิโลเมตร ให้แยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด สู่อำเภอแม่สอดระยะทาง 88 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง ระยะทาง 164 กิโลเมตร เข้าสู้อำเภออุ้มผางรวมระยะทาง 689 กิโลเมตร

• ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

อำเภอบ้านตากเป็นเมืองตากเก่า มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกของกรุงสุโขทัย จนในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองตากลงมาตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับตัวเมืองตากในปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านตากส่วนใหญ่จึงเป็นโบราณสถาน อำเภอบ้านตากอยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือราว 22 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 แต่หากเดินทางจากเส้นทางหลวงหมายเลข 1107 เลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกถึงอำเภอบ้านตาก ระยะทาง 25 กิโลเมตร
วัดพระบรมธาตุ อยู่ที่ตำบลเกาะตะเภา วัดพระบรมธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งแล้ว ตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักที่สวยงาม หน้าบัน และจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะสลักเป็นพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค วิหารของวัดเป็นวิหารเก่ามีเพดานสูง 2 ชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบ ทำให้อากาศภายในวิหารมีอากาศเย็น และมีพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองอยู่ภายในวิหาร นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ที่มีลายแกะสลักไว้ให้ชม นับเป็นวัดที่มีคุณค่าในทางโบราณคดีมาก การเดินทาง จากอำเภอเมืองตากใช้ทางหมายเลข 1107 สายตาก-บ้านตาก ไปประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1175 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ
เจดีย์ยุทธหัตถี หรือ เจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์ชนช้าง ตั้งอยู่บนดอยช้าง ตำบลเกาะตะเภา ดอยช้างเป็นเนินดินเล็ก ๆ อยู่ทางเหนือของดอยพระธาตุไปเล็กน้อย เจดีย์นี้เป็นโบราณสถาน สร้างในสมัยสุโขทัยมีอายุราว 700 ปีเศษ องค์เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่เยื้องกับวัดพระบรมธาตุประมาณ 200 เมตร ลักษณะของเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นศิลปะแบบสุโขทัยคล้ายกับองค์อื่น ๆ ทั่วไปในเมืองสุโขทัย ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 12 เมตร เป็นเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขึ้นไป สูง 16 เมตร เหนือเรือนธาตุทำเป็นลำสี่เหลี่ยมย่อมุมตลอดถึงยอดที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ยอดสุดมีฉัตร มีร่องรอยการซ่อมแซมตลอดมา แต่ไม่เสียรูปทรงเดิม ฐานพุ่มมีลายปั้นเป็นรูปหน้าสิงห์สวยงาม หน้าสิงห์ด้านทิศเหนือยังสมบูรณ์ ด้านอื่น ๆ ชำรุด องค์เจดีย์ส่วนใหญ่มีคราบตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป จะมีการขุดแต่ง และทำความสะอาดรอบบริเวณเจดีย์ในช่วงใกล้วันเทศกาล เป็นงานเดียวกับงานไหว้พระธาตุบ้านตาก
• ข้อมูลท่องเที่ยวอำเภอสามเงา จังหวัดตาก
ผาสามเงา อยู่ในตำบลย่านรี จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 1107 ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถีประมาณ 25 กิโลเมตร หรือถ้าใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพลไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงอำเภอสามเงา จะมองเห็นเขาใหญ่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “ผาสามเงา” เพราะที่เชิงเขาริมหน้าผานั้นเจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกัน 3 ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ มีบันไดไม้ต่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้ ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าพระนางจามเทวีราชธิดาแห่งกรุงละโว้เป็นผู้สร้างเมื่อครั้งเดินทางตามลำน้ำแม่ปิงเพื่อขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย หรือลำพูน
เขื่อนภูมิพล เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขื่อนยันฮี เป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ จัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน 154 เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และด้านชลประทาน ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร รอบบริเวณเขื่อนภูมิพลเป็นแหล่งพักผ่อน และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดด้วย นอกจากนั้นทางเขื่อนภูมิพลได้จัดทำ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ สองฝั่งลำน้ำปิงเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ตื่นเป็นเส้นทางเดินศึกษาสภาพความหลากหลายของพื้นที่ป่าดิบเขา และการฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดจนการศึกษาลักษณะสภาพป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ความหลากหลายของภูเขาหิน ลำห้วย และน้ำตก เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ภายในเขื่อนฯ มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่
พระพุทธบาทดอยเขาหนาม เป็นเกาะกลางน้ำ มีวัดพระพุทธบาทอยู่บนยอดดอย ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาท และศาลาประดิษฐานองค์พระประธาน ทิวทัศน์โดยรอบสวยงาม
เกาะวาเลนไทน์ เป็นเกาะเล็ก ๆ มีหาดทราย สามารถเล่นน้ำได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาะทั้งสองได้โดยเช่าเรือจากเขื่อนภูมิพลล่องไปตามลำน้ำใช้เวลาประมาณ 30 นาที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดบริการกีฬาบางประเภทเพื่อการพักผ่อนไว้บริการนักท่องเที่ยว อาทิ สนามกอล์ฟ สนามเทนนิส เรือเช่า สำหรับนักท่องเที่ยว หรือนักศึกษาที่มาเป็นหมู่คณะ หากต้องการฟังการบรรยาย และชมโรงไฟฟ้า ต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าได้ที่ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก 63130
สถานที่พัก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีบริการบ้านพักเป็นเรือนนอน (ห้องแอร์) พักได้ 30 คน ราคา 5,000 บาท, บ้านพัก ราคา 800-2,500 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนภูมิพล โทร. 0 5554 9509, 05559 9003-6 ต่อ 2501, 0 5559 9093-7 กรุงเทพฯ โทร. 0 2436 3271-2
การเดินทาง จากตัวอำเภอเมืองตากใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 463-464 ให้แยกซ้ายเข้าไปประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงตัวเขื่อนภูมิพล

Source : tourismthailand.org