กิจกรรมนครศรีธรรมราช

ข้อมูลกิจกรรมนครศรีธรรมราช

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระพุทธเจ้า ซึ่งชาวนครศรีธรรมราช เชื่อมั่นว่ามีบุญญาภินิหารหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้เพราะว่าภายในพระเจดีย์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ในปีหนึ่งๆ พุทธศาสนิกชนจะบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ด้วยการจัดขบวนแห่พระบฎขึ้นห่มองค์เจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำรงชีพทุกด้าน ประเพณีนี้จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันมาฆบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) และวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)
ประเพณีเทศกาลเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากของชาวภาค ใต้และชาวนครศรีธรรมราช งานประเพณีนี้เริ่มในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกๆ ปี ประเพณีเทศกาลเดือนสิบ เป็นงานบุญเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุพการีซึ่งล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาว่าผู้ล่วงลับไปแล้วมีบาปมากจะตกนรกและกลายเป็น “เปตชน” หรือเปรต จะถูกปล่อยตัวจากนรกเพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมือง มนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงพยายามหาอาหารต่าง ๆ ไปทำบุญตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ ซึ่งเป็น “วันจ่าย” หมายถึง วันออกจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นในการจัดตกแต่ง “หมรับ” (สำรับ) ในวันแรม 14 ค่ำ คือวัน “ยกหมรับ” หมายถึง การยก “หมรับ” ไปวัด หรือวันรับตายายและวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับลงไปอยู่ในนรกตามเดิม คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า “วันบังสุกุล” หรือวันส่งตายาย สำหรับหมรับในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาจากการจัดหมรับแบบดั้งเดิม เป็นการตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น โดยมีองค์ประกอบครบถ้วนตามแบบโบราณและจัดให้มีการแข่งขันการจัดหมรับขึ้นอีก ด้วย โดยจะมีขบวนแห่แหนกันอย่างสวยงามตลอดแนวถนนราชดำเนินในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ
ประเพณีชักพระ หรือ ลากพระ อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียได้กระจายสู่แนวคิดของชาวนครศรีธรรมราชสืบต่อกัน มา ถือว่าเป็นการแสดงความยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ จึงอัญเชิญขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับ ส่วนเหตุผลแท้จริงของชาวนครฯ ในการปฎิบัติคือเป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรออกแห่แหนหลังจากอยู่ใน พรรษาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อเป็นการผ่อนคลายความจำเจและประกวดประชันความเลื่อมใสศรัทธากัน จะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยก่อนหน้านั้นประมาณ 7 วัน จะมีการตีกลอง รัวกรับเรียกว่า “คุมพระ” และตกแต่งบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร (พระลาก) การลากพระนิยมทำกันในวันออกพรรษาเพียงวันเดียว โดยลากออกจากวัดตอนเช้าไปชุมนุมกันที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อำเภอเมือง บริเวณที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์ สำหรับการลากพระบก และบริเวณแม่

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
เครื่องถมนคร เป็นหัตถกรรมสำคัญของนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่อดีต มี 2 ชนิด คือ ถมดำซึ่งจะมีลวดลายเป็นสีขาว พื้นเป็นสีดำ และถมทอง หรือถมทาทอง ซึ่งจะมีลวดลายเป็นสีทอง พื้นเป็นสีดำ ปัจจุบันมีการสอนการทำหัตถกรรมเครื่องถมที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ผลิตภัณฑ์เครื่องถมนครได้รับความนิยมจนปัจจุบันเนื่องจากยังรักษาคุณภาพไว้ได้ ลวดลายต่างๆ ยังสลักด้วยมือ น้ำยาถมนครก็มีสีดำสนิท เป็นเงา สินค้าเครื่องถมได้แก่ แหวน สร้อยคอ กำไล ขัน พาน ถาด ซึ่งเป็นการทำโดยใช้มือทั้งสิ้น บริเวณ ที่มีเครื่องถมขายมากคือ ถนนท่าช้างหลังสนามหน้าเมืองบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช และในบริเวณตลาดท่าวัง
เครื่องทองเหลือง ที่หมู่บ้านไทยอิสลามสวนมะพร้าวหลังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปัจจุบันผลิตกระบอกรีดเส้นขนมจีนอย่างเดียว สร้อยนะโม สร้อยเงิน และสร้อยสามกษัตริย์ เป็นงานที่ตกทอดกันมาช้านานด้านฝีมือ ช่างเงินของชาวนครศรีธรรมราชที่ประดิษฐ์ถักร้อยสร้อยนานาชนิด มีทั้งเงิน ทอง และสามกษัตริย์ (คือ เงิน ทอง นาก) มีศูนย์รวมอยู่ที่บริเวณถนนท่าช้าง หลังสนามหน้าเมือง
หนังตะลุง การแกะหนังตะลุงเป็นศิลปหัตถกรรมที่ ควบคู่กับการเล่นหนังตะลุงของภาคใต้ ตัวหนังตะลุงของไทยได้ดัดแปลงแก้ไขรูปร่างตัวหนังตะลุงของชวา ให้เป็นศิลปะตามแบบของไทย มือเท้าของตัวหนังสามารถเคลื่อนไหวได้ขณะเชิด หนังที่ใช้แกะทำหนังตะลุง จะใช้หนังวัวหรือหนังแพะดิบ วิธีแกะจะใช้สิ่วขนาดต่างๆ ตอกสลักตามลวดลายที่ได้รับการออกแบบไว้แล้ว ราคาหนังตะลุงแต่ละตัวจะต่างกันขึ้นอยู่กับความประณีตของงานและขนาดของตัว หนัง ปัจจุบันหนังตะลุงเป็นสินค้าเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของนครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยเฉพาะในตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีร้านประดิษฐ์และจำหน่ายตัวหนังตะลุงมากมาย
จักสานย่านลิเภา ย่านลิเภาเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งของปักษ์ใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นงานฝีมือที่มีมานานมากกว่า 100 ปี ย่านลิเภา เป็นพืชเถาที่ขึ้นในที่ชื้น เปลือกลำต้นเหนียว มีความทนทาน ชาวบ้านจึงนำมาสานเป็นเครื่องใช้สอยแทนหวาย เช่น กระเป๋าถือ กล่องยาเส้น ปั้นชา เป็นต้น บางชิ้นจะมีการเลี่ยมนาก เงิน ถมทอง หรือทอง การสานผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาแต่ละชิ้นจะใช้เวลาราว 10 วัน จนถึงแรมเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความละเอียดของลวดลายและความประณีต แหล่งผลิตหัตถกรรมย่านลิเภาอยู่ที่บ้านหมน ตำบลท่าเรือ และที่บ้านนาเคียน ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง และครอบครัวทหารในค่ายวชิราวุธ
พัดใบกะพ้อ ประดิษฐ์จากพืชตระกูลปาล์มที่เรียกกันตามภาษาถิ่นว่าต้นพ้อ หรือต้นกะพ้อ อันเป็นที่มาของชื่อพัดใบพ้อ ชาวบ้านโคกยางอำเภอร่อนพิบูลย์ใช้เวลาว่างจากงานอาชีพประจำผลิตพัด ใบพ้อ ด้วยการนำใบพ้อมาตากแห้งและสานเป็นพัด บ้างก็ย้อมสีวัตถุดิบที่ใช้สานทำให้งานหัตถกรรมที่ ได้มีสีสันสดใสและสวยงามในราคาจำหน่ายที่ย่อมเยา ส่งให้หัตถกรรมพัดใบพ้อเป็นที่รู้จักอย่าง
แพร่หลายและมีจำหน่ายทั่วทั้งประเทศ พัดใบกะพ้อมีจำหน่ายในบริเวณร้านค้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ร้านค้าของที่ระลึกถนนท่าช้าง และในบวรบาซาร์ย่านตลาดท่าวัง

กีฬาพื้นเมือง
กีฬาชนวัว ถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้อย่างหนึ่ง และเป็นกีฬาท้องถิ่นอันสืบทอดมาเป็นเวลานานของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีวิธีการอย่างละเอียดและมีขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกโคตัวผู้พันธุ์ดี ลักษณะดี สายเลือดดี เพื่อเลี้ยงและฝึกฝนอย่างใกล้ชิด การชนโค จะจัดให้มีขึ้นทุกสัปดาห์โดยหมุนเวียนกันไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดมากนัก ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอปากพนัง อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งสง อำเภอหัวไทร และ อำเภอร่อนพิบูลย์

Source : tourismthailand.org