กิจกรรมน่าน

ข้อมูลกิจกรรมน่าน

เทศกาลงานประเพณี
งานประเพณีไหว้พระธาตุเมืองน่านเป็นเมืองหนึ่งในดินแดนล้านนาที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงเป็นเวลาช้านาน ในเขตเมืองเก่า ทั้งในตัวเมืองน่าน และที่อำเภอปัว จะมีพระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาเด่นเป็นสง่า ในรอบปีมีงานประเพณีบูชาพระธาตุสำคัญ ได้แก่
งานนมัสการพระธาตุเบ็งสกัด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม)
งานประเพณี “หกเป็งไหว้สามหาธาตุแช่แห้ง” ในวันเพ็ญเดือน 6 เหนือ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 4 ภาคกลาง (ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) มีการจุดบ้องไฟถวายเป็นพุทธบูชา
งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย ในวันเพ็ญเดือน 8 เหนือ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ภาคกลาง(ประมาณเดือนพฤษภาคม) มีงานนมัสการพระธาตุเขาน้อย และมีการจุดบ้องไฟถวายเป็นพุทธบูชา
งานประเพณีนมัสการสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาลช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-15 เมษายน
งานตานก๋วยสลาก งานแห่คัวตาน หรือครัวทาน ทานสลาก หรือก๋วยสลากเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สำหรับชาวเหนือถือว่า เป็นประเพณีทำบุญกลางบ้านที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น พระภิกษุรับนิมนต์เพื่อมารับการถวายทานโดยการจับสลาก
งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานต่อมาใน
พ.ศ. 2479 ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคีสืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐินพระราช ทานในปัจจุบัน ราวกลางเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยถือเอาวันเปิดสนามแข่งเรือตามวันถวายสลากภัตของวัดช้างค้ำวรวิหารซึ่ง เป็นวัดหลวง จะจัดงานถวายสลากภัตก่อน งานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่านจึงเป็นประเพณีคู่กับตานก๋วยสลากของวัดช้าง ค้ำมาจนทุกวันนี้ ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำอันเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่ เมืองของจังหวัดน่านเข้าไปด้วย นอกจากนั้นยังมีงานแข่งเรือที่อำเภอเวียงสาในเทศกาลตานก๋วยสลาก เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ ๆ เอามาขุดเป็นเรือ เอกลักษณ์โดดเด่นของเรือแข่งเมืองน่าน คือ ที่หัวเรือแกะเป็นรูปพญานาค ชูคอสง่างาม หางเรือเป็นหางพญานาคงอนสูง ด้วยคนเมืองน่านเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนคือ เจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง เกิดจากไข่พญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ การต่อเรือแข่งเป็นรูปพญานาคจึงถือเป็นการบูชาบุญคุณพญานาคผู้เป็นเจ้าแห่ง น้ำและบรรพบุรุษของชาวเมืองน่าน ประเภทการแข่งขัน มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์อีกด้วย และหากมาในช่วงซ้อมก่อนการแข่งขัน ตอนเย็น ๆ จะเห็นชาวบ้าน นักเรียนจับกลุ่มอยู่ริมน้ำเพื่อดูการซ้อมเรือ เชียร์ทีมเรือ และฝีพาย ที่เป็นคนท้องถิ่น เป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน และเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี บางปีอาจจัดร่วมกับเทศกาลของดีเมืองน่าน ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทองจะมีเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศคือ อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกัน 8 องศา เป็นเหตุให้สาร “คาร์ทีนอยพิคเมนท์” ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองดังกล่าว กิจกรรมในงานที่น่าสนใจมีหลายอย่าง ได้แก่ การประกวดขบวนรถส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอต่าง ๆ และจากเมืองฮ่อน-หงสา สปป.ลาว การแสดงพื้นเมืองและมหรสพต่าง ๆ อีกมากมาย
พิธีสืบชะตา เป็นประเพณีโบราณ มักทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเกิดอายุครบรอบ ฟื้นจากการเจ็บป่วย การสืบชะตาถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ เป็นสิริมงคล และขับไล่สิ่งเลวร้ายให้ผ่านพ้นไป ต่อมามีการประยุกต์พิธีสืบชะตากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ดนตรีพื้นบ้าน ปิน สะล้อ ซอน่าน พ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) คือผู้เชี่ยวชาญปิน (ซึง) และสะล้อ และยังสามารถประดิษฐ์เครื่องดนตรี คำร้อง และทำนองเพลงซอปั่นฝ้าย ศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งคือ พ่อครูคำผายนุปิง ผู้ขับ “ซอล่องน่าน” ที่เล่าถึงตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองน่าน ตามเรื่องเล่าขานกันมาช้านานว่า ครั้งเมื่อพระยาการเมืองอพยพย้ายเมืองจากวรนคร อำเภอปัว มาสร้างเมืองใหม่ที่ภูเพียงแช่แห้งนั้น ขบวนเสด็จแห่แหนใหญ่โตมาตามลำน้ำน่าน ผู้ติดตาม คือ ปู่คำมาและย่าคำปี้ ขับร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี คลอปิน และสะล้อ เพื่อไม่ให้การเดินทางน่าเบื่อ

ผลไม้-อาหารพื้นเมือง
ผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัด ได้แก่ ส้มสีทอง มะไฟจีน ลิ้นจี่ และต๋าว หรือ ตาว (เป็นชื่อปาล์มชนิดหนึ่งใบคล้ายมะพร้าว ออกผลเป็นทะลาย เนื้อในเมล็ดอ่อน เรียกว่า ลูกชิด เชื่อมกินได้) หาชิมได้ไม่ยาก และราคาย่อมเยา ที่ “กาดเช้า” หรือตลาดเช้า ที่ตลาดสดเทศบาลเมือง หรือตลาดก่อนถึงทางขึ้นพระธาตุเขาน้อย และที่ “กาดแลง” หรือตลาดเย็น (เริ่มประมาณบ่ายสามโมง) หน้าโรงแรมเทวราช อาหารท้องถิ่นเมืองน่านอุดมด้วยเครื่องสมุนไพร ผักพื้นบ้านเครื่องเทศ โดยเฉพาะมะแข่น ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด เช่น ยำลาบ ยำชิ้นไก่ แกงขนุน และแกงผักกาด รับประทานกับข้าวนึ่งร้อน ๆ อาหารพื้นบ้านเมืองน่านหลายชนิด คล้ายกับอาหารล้านนาทั่วไป เช่น ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง และแกงฮังเล แต่บางชนิดเป็นอาหารเฉพาะถิ่น และมีให้รับประทานในบางฤดูกาลเท่านั้น
ไค (อ่านว่า “ไก”) ไค เป็นพืชน้ำ มีเส้นสีเขียวยาวเหมือนเส้นผม งอกตามหินผาใต้ลำน้ำโขงมีขนาดใหญ่และยาวกว่า “เทา” (อ่านว่า “เตา”) ซึ่งเป็นพืชประเภทเดียวกันที่ขึ้นตามห้วย หนอง คลอง บึง และนาข้าว แต่คนเมืองน่านเรียกสาหร่ายจากแม่น้ำว่า “ไค” และ “เตา” ส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำน่าน นอกจากนั้นยังมีจากแม่น้ำว้า ถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความสะอาดของน้ำได้เป็นอย่างดี หารับประทานได้ในฤดูหนาว และไคนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง อาทิ แกงไค ห่อนึ่งไค และไคพรุ่ย
- แกงไค (อ่านว่า “แก๋งไก”) มีทั้งแกงไคแบบไม่ใส่เนื้อและใส่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อปลาดุก หรือปลาช่อน หากเป็นแกงไคใส่เนื้อนอกจากพริกแกงที่ประกอบด้วยพริกสด กระเทียม หอม ปลาร้าหรือกะปิแล้ว จะใส่เถาสะค้าน (เป็นไม้เถา ใช้ทำยาได้ เรียกว่า ตะค้านก็ได้) ข่าอ่อน และใบมะกรูด
- ห่อนึ่งไค คล้ายห่อหมกในภาคกลางเพียงแต่ไม่ใส่กะทิ มีทั้งห่อนึ่งไคไม่ใส่เนื้อ โดยนำไคมาผสมกับเครื่องแกงซึ่งประกอบด้วยพริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ หรือปลาร้า และใบมะกรูด นำไปห่อใบตองแล้วนึ่ง
- ไคพรุ่ย (อ่านว่า “ไกพุ่ย”) นำไคแห้งมาปิ้งถ่านไฟให้สุกออกเหลือง แล้วฉีกเป็นฝอยละเอียด นำไปผัดกับกระเทียมเจียวใส่เกลือป่นโรยให้ทั่ว
น้ำปู หรือที่ทางเหนือเรียก “น้ำปู๋” ทำจากปูนาโขลกผสมกับตะไคร้ และขมิ้น แล้วกรองแต่น้ำจากนั้นนำไปเคี่ยวไฟอ่อน ๆ พร้อมตะไคร้ ขมิ้น พริกป่น เกลือ และน้ำมะนาว จนกว่าน้ำจะงวดข้น น้ำปูใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงหน่อไม้ ยำหน่อไม้ และน้ำพริกปู
ส้มสีทอง เริ่มมีการปลูกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 หมื่นระกำ ผู้คุมเรือนจำจังหวัดน่านเป็นผู้นำมาปลูกครั้งแรก ส้มสีทองให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในกลางเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม
องุ่นดำน่านฟ้า ได้รับชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ เป็นองุ่นพันธุ์ดีจากไต้หวัน
มะไฟจีน แหล่งเดิมอยู่ที่ประเทศจีนเชื่อว่าชาวจีนเป็นผู้นำมาปลูกในจังหวัดน่านเมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว เป็นผลไม้ที่มีอยู่ที่จังหวัดน่านเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีสรรพคุณเป็นยา คือช่วยระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจโล่งจมูก ชุ่มคอ รับประทานสดตอนที่ผลแก่จัดมีรสหวาน หรือตากแห้งแล้วแช่อิ่ม

โฮมสเตย์บ้านดอนมูล ตำบลบ้านดอนมูล อำเภอท่าวังผา เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1080 เลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 40 ข้ามสะพาน ตรงไป แล้วเลี้ยวขวาจะผ่านทางเข้าวัดหนองบัว ตรงไปผ่านบ้านดอนแก้ว จึงจะถึงบ้านดอนมูล จัดทำโฮมสเตย์จำนวน 10 หลัง ค่าที่พัก 100 บาท/คืน อาหาร 50 บาท/มื้อ ขันโตกชุดละ 500 บาท / 5 คน นำเที่ยววัดหนองบัว ชมสินค้าประจำหมู่บ้าน เช่น ผ้าทอไทลื้อ และเดินป่าชุมชน ประมาณ 2-3 กิโลเมตร หากมาเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า 1 วัน ติดต่อคุณลำไย โทร. 09489 2247 (งดรับนักท่องเที่ยว ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เนื่องจากเป็นฤดูฝน)

Source : tourismthailand.org