กิจกรรมในบุรีรัมย์

กิจกรรมบุรีรัมย์

ข้อมูลกิจกรรมบุรีรัมย์

เทศกาล งานประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์

• นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือน 5 มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือน 12 มีประเพณีลอยกระทง แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน เช่น
• ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นงานประเพณีประจำปี กำหนดจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ในแต่ละปีมีจำนวนเรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า 40-50 ลำ และยังมีขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงามด้วย
ประเพณีแข่งเรือยาวที่สนามแห่งนี้ เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตรและสักการะเจ้าพ่อวังกรุด ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล ต่อมาได้จัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา
• งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์และได้รับการแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยหลัง ช่วงที่ถูกทิ้งร้างอยู่มีผู้นำพระพุทธบาทจำลองไปประดิษฐานไว้ที่ปรางค์น้อยบนเขา กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณนั้นพากันขึ้นไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทนี้รวมทั้งไหว้พระทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ยี่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีแต่เดิมอยู่แล้ว จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีงานประเพณีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ ได้แก่ ขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ การแสดงแสง-เสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง และการแสดงระเบิดภูเขาไฟจำลอง
• งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาวมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเล่นกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นอีสานแต่นานมา
บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตรครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอก และลีลาของว่าวบนท้องฟ้า นอกจากนี้มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ การละเล่น และการแสดงสินค้าพื้นบ้าน
งานมหกรรมว่าวอีสานจัดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดอำเภอห้วยราชในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี
• งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ (วัดศีรษะแรด) อำเภอพุทไธสง ในวันขึ้น 14 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ทุกปีเป็นเทศกาลนมัสการปิดทองพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของบุรีรัมย์ มีการทำบุญไหว้พระและมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย รวม 3 วัน
• งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง

ของฝากจากจังหวัดบุรีรัมย์
• ผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่งดงามของนาโพธิ์ หินทรายแกะสลัก เครื่องจักสาน ปลาจ่อมอร่อยที่ประโคนชัย ขาหมูเลิศรสของนางรอง กุนเชียง และไก่ย่างของลำปลายมาศ หัวผักกาดหวานอบน้ำผึ้งขนานแท้ดั้งเดิมของกระสัง และกุ้งอร่อยที่สตึก
• สินค้าเหล่านี้นอกจากมีขายตามร้านค้าในตัวเมืองแล้ว บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเช่น ปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ ยังมีสินค้าพื้นเมืองนานาชนิดของบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

Source : tourismthailand.org