สถานที่ท่องเที่ยวในบุรีรัมย์

สถานที่ท่องเที่ยวบุรีรัมย์

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวบุรีรัมย์

อำเภอเมือง
• ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ ตั้งอยู่ภายในสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ถนนจิระ เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย นิทรรศการที่จัดแสดงมีหลากหลายหัวข้อ อาทิ นิทรรศการเกี่ยวกับช้าง ชาวส่วย ผ้าพื้นเมือง จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องถ้วยและเตาเผาโบราณ วิถีชีวิตชาวอีสาน สภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนโบราณของบุรีรัมย์ เปิดทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.30-19.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิดถึงเวลา 16.00 น. สอบถามรายละเอียด โทร. (045) 611211, 617588 ต่อ 159
• พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอยู่ในตัวเมืองทางไปอำเภอประโคนชัย สร้างในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก พระบรมราชานุสาวรีย์มีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับบนช้างศึก จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 7 กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองซึ่งคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอินแห่งจำปาศักดิ์ ขณะเดินทัพพบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมิดีแต่ไข้ป่าชุกชุม ชาวเขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ จึงรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองแปะ และให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสมันซึ่งติดตามมาด้วยเป็นเจ้าเมือง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองบุรีรัมย์”
• วนอุทยานเขากระโดง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การเดินทางขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือ ขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ
• อ่างเก็บน้ำกระโดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขากระโดง จากทางเข้าเขากระโดงมีทางแยกซ้ายมือไปทางเดียวกับค่ายลูกเสือ “บุญญานุศาสตร์” และสวนสัตว์ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้
• อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดและสวนนกบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) ในท้องที่ตำบลสะแกซำ กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี 2535 จากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีมีนกชนิดต่าง ๆ มาอาศัยอยู่โดยรอบจำนวนกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายนจะมีฝูงนกมาอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์และหาดูได้ยาก เช่น นกเป็ดหงส์ นกเป็ดก่า และนกกาบบัว ในบริเวณบ้านของคุณสวัสดิ์ คชเสนีย์ ได้จัดทำเป็นสวนนก และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เหมาะมาเที่ยวชมฝูงนกในยามเย็น ทุกวันเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. จะมีฝูงนกยางสีขาวนับหมื่นตัวบินกลับรังเป็นภาพที่น่าชมมาก มีบริการรถชมรอบบริเวณ

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

• อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”)
ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น
• ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึง ปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมี เสานางเรียง ปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่าง ดินแดนแห่งมนุษย์และ สรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพัก เป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลัก ที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน
• ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้า ที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วน สลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและ รายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17
• ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16
นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลา ที่สร้างด้วย ศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก”
• กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
• อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. (044) 631746
การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
• รถส่วนบุคคล จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1.ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 208) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร
2.ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 23 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)
• รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง
• วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร จากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง-บ้านตะโก-บ้านตาเป็ก (ทางเดียวกับไปปราสาทหินพนมรุ้ง) เมื่อเดินทางถึงบ้านตาเป็ก เลี้ยวขวาตามทางไปอำเภอละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาไปวัดเขาอังคารอีก 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่าง ๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย

อำเภอนางรอง
• อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 24 ห่างจากอำเภอนางรอง 4 กิโลเมตร ระหว่างทางไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นจุดแวะพักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในฤดูแล้งมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย

อำเภอประโคนชัย
• ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางตลอด เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม โดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์
• ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัดเพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอม แบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 โดยมีลักษณะของศิลปะขอมแบบคลังซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็น ภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู
• ตัวปราสาท ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพ ที่ไม่สมบูรณ์ ปรางค์ทุกองค์มีประตูเข้าสู่ภายในปรางค์ได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอก แต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้าอีกชั้นหนึ่ง การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้น ประดับฐาน อีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม สำหรับปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือ ประตู ทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลัง โคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ จากการขุดแต่งได้พบยอดปรางค์ทำด้วยหินทรายสลักเป็นรูปดอกบัว ตกอยู่ในบริเวณฐานปรางค์ หน้ากลุ่มปรางค์ยังมีวิหารเป็นอาคารก่ออิฐ 2 หลัง ตั้งหันหน้าตรงกับปรางค์ที่อยู่ด้านข้างทั้งสององค์
• สิ่งก่อสร้างดังกล่าว ล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า ระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทั้งหมดยกเว้นซุ้มประตูของประตูชั้นใน ด้านทิศ ตะวันตกก่อด้วยหินทราย สลักลวดลายในส่วนต่างๆ อย่างงดงาม ตั้งแต่หน้าบัน ทับหลัง เสาติดผนัง ฯลฯ เป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลวดลาย ที่ผูกขึ้นจากใบไม้ ดอกไม้ที่มักเรียกรวมๆ ว่า ลายพันธุ์พฤกษา
• ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งหินแลง ก่อเรียง เป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียรเกลี้ยงๆ ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ
• ปราสาทหินเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 7.30-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
• เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ตามทางไปประโคนชัย 41 กิโลเมตร มีสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ อยู่ด้านซ้ายมือ ริมถนน เป็นจุดที่เหมาะแก่การดูนกน้ำ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน

อำเภอบ้านกรวด
• แหล่งตัดหิน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ห่างจากตัวอำเภอบ้านกรวด 7 กิโลเมตร บนเส้นทางบ้านกรวด-ตาพระยา และแยกจากถนนใหญ่ไปอีก 3 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสาย เป็นแหล่งหินทรายที่คนสมัยขอม ตัดหินเอาไปสร้างปราสาทต่างๆ ในเขตอีสานใต้ อยู่บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ที่น่าสนใจคือ หินบางก้อนปรากฏรอยตอกเนื้อหินให้เป็นรูเรียงกันเป็นแนวยาว หินบางก้อนถูกเซาะสกัดเป็นร่องขาดจากกัน และยังมีหินที่ถูกตัดและงัดขึ้นมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมอยู่ทั่วไป แหล่งเตาโบราณ ในบริเวณอำเภอบ้านกรวดซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปตามทางหลวงหมายเลข 2075 ประมาณ 66 กิโลเมตร นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผาโบราณจำนวนมาก เตาโบราณเหล่านี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยขอม เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ โดยมีการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเตาโบราณ 2 แห่ง คือ เตาสวายและเตานายเจียน ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอบ้านกรวดเป็นระยะทาง 5 และ 10 กิโลเมตร ตามลำดับ ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบสามารถชมได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์หรือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

อำเภอปะคำ
• ปราสาทวัดโคกงิ้ว อยู่บนทางสายนางรอง-ปะคำ (ทางหลวงหมายเลข 348) ก่อนถึงอำเภอปะคำ 3 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานสมัยขอม ด้านหลังวัดโคกงิ้ว เป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตามคติในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

อำเภอโนนดินแดง
• อนุสาวรีย์เราสู้ อยู่ที่อำเภอโนนดินแดง ริมทางสายละหานทราย-ตาพระยา (ทางหลวงหมายเลข 348) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้ายที่ขัดขวางการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้
• เขื่อนลำนางรอง ตั้งอยู่แยกจากอนุสาวรีย์เราสู้ไป 200 เมตร เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน มีถนนลาดยางบนสันเขื่อนสำหรับชมทัศนียภาพ และมีร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ นอกจากเขื่อนนี้จะเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรแล้ว ยังได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีบ้านพักรับรอง ห้องประชุม และค่ายพักแรม ติดต่อสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรองซึ่งอยู่ก่อนถึงสันเขื่อนในเวลาราชการ โทร. (044) 606336 ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (ดอยคำ) ผลิตผักผลไม้กระป๋องอาทิ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ และน้ำมะเขือเทศ
• ปราสาทหนองหงส์ อยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อนลำนางรอง ห่างจากตัวเขื่อนประมาณ 500 เมตร เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจำหลักลายอย่างสวยงาม คือ องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล ซึ่งมือยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา อีก 2 องค์ที่เหลือ คือ องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้ก็มีลักษณะคล้ายกันต่างกันที่ภาพตรงกลาง คือ ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค ด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง มีทางเดินยื่นยาวออกไป มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีวิหารหรือบรรณาลัยอีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบอีกทีหนึ่ง การกำหนดอายุ สมัยของปราสาทนั้น กำหนดจากลักษณะการก่อสร้าง และศิลปกรรมที่พบซึ่งตรงกับ ศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

อำเภอสตึก
• พระพุทธรูปใหญ่ (พระพุทธรูปปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎรนิมิตมนิน) เป็นพระยืนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำมูล ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอสตึก เป็นที่เคารพสักการะของชาวสตึกและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงงานงานประเพณีแข่งเรือยาวซึ่งจัดที่อำเภอสตึกมีทั้งชาวเรือและผู้มาเที่ยวงานแวะมานมัสการพระพุทธรูปใหญ่กันเป็นจำนวนมาก

อำเภอพุทไธสง
• พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่างๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก ที่เรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่า ผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุราและสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครองรักษาอยู่มิได้ขาด
• การเดินทางไปวัด จากตลาดพุทไธสง ถึงทางแยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคฆภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร

อำเภอนาโพธิ์
• หมู่บ้านทอผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์ การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-พุทไธสง ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 202 บริเวณกิโลเมตรที่ 21 มีทางแยกเข้าตัวอำเภอนาโพธิ์ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งทอผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ ได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต ลวดลาย การให้สี จากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
• กู่สวนแตง ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม บ้านดอนหวาย ตำบลดอนหวาย การเดินทางจะใช้เส้นทางบุรีรัมย์-พยัคฆภูมิพิสัย ทางหลวงหมายเลข 219 ระยะทาง 70 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ทางไปอำเภอประทายอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่กู่สวนแตงด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร หรือจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2074 ผ่านอำเภอคูเมือง ไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ไปอีก 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.5 กิโลเมตร
• กู่สวนแตงเป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง

Source : tourismthailand.org