สถานที่ท่องเที่ยวในประจวบคีรีขันธ์

สถานที่ท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์

ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ถนนสละชีพ เป็นศิลปะเแบบลพบุรี สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมืองนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง
วัดถ้ำเขาคั่นกระได ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีทางเข้าแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 314 เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดเล็กประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ในอดีตถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝน
อ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ อ่าวมะนาว ทั้ง 3 อ่าวอยู่หน้าเมืองประจวบฯมีทิวทัศน์สวยงามเหมาะต่อการออกกำลังกายเช่น วิ่ง ขี่จักรยานเลียบชายทะเล โดยอ่าวน้อยและอ่าวประจวบฯมีถนนเลียบชายหาดเชื่อมโยงถึงกัน อ่าวน้อย มีทิวสนขนานไปกับถนน อ่าวประจวบฯ มีบาทวิถีให้เดินชมทะเลได้อย่างใกล้ชิดส่วนอ่าวมะนาว ซึ่งอยู่ในเขตกองบินที่ 53 กองทัพอากาศเป็นหาดที่เหมาะแก่การเล่นน้ำตรงข้ามกับหาดเป็นเขาล้อมหมวก ยามน้ำลดจะปรากฏสันทรายทอดยาวให้เดินไปเที่ยวชมได้อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์วีรชนและจัดงานวันรำลึกวีรกรรม 8 ธันวาคม ทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักผ่อนได้มีร้านอาหารและบริการบ้านพัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบิน 53 โทร. (032) 661088 ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า
เขาช่องกระจก เป็นภูเขาขนาดเล็กมีลิงเสนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันไดขึ้นไปจนถึงยอดเขา เป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธบาทจำลอง ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งดูคล้ายกับกรอบของกระจก จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง และอ่าวทั้งสามได้อย่างสวยงาม
อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เป็นสถานที่ี่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ของไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแห่งนี้ และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์ และทูตานุฑูตชาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 จากตัวเมืองเดินทางมาทางทิศใต้ 12 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ 335–336 จะมีทางแยกเข้าหว้ากอทางด้านซ้ายมือ ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย อาคารดาราศาสตร์และอวกาศ พิพิธภัณฑ์บ้านหว้ากอ และในอนาคตจะมี พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ท้องฟ้าจำลอง สถานีรถไฟหว้ากอ เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. (032) 661098 , 661727 โทรสาร (032) 661098

อำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 161 ตารางกิโลเมตร หรือ 100,625 ไร่ เป็นป่าบนเทือกเขาตะนาวศรี ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่บริเวณน้ำตกห้วยยาง เป็นน้ำตกขนาดเล็กมี 7 ชั้น บริเวณอุทยานฯ ร่มรื่นน่าพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีน้ำตกขาอ่อน น้ำตกห้วยหินดาด น้ำตกเขาล้าน น้ำตกบัวสวรรค์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2534
การเดินทางจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่350–351 มีทางแยกขวาเข้าที่ทำการอุทยานฯ อีกประมาณ 7 กิโลเมตรในอุทยานฯมีบริการบ้านพัก 2 หลังส่วนเต็นท์นักท่องเที่ยวจะต้องนำไปเอง ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77130 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 579–5734 , 579–7223
อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ชายหาดมีความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร เรียงรายด้วยทิวสนเป็นแนวไปตามชายหาด อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเพชรเกษมประมาณ 23 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายประมาณกิโลเมตรที่ 350 และมีทางเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร ภายในบริเวณอุทยานฯมีสถานที่น่าสนใจคือ ลานข่อย เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์(เป็นแหล่งสัมปทานรังนกนางแอ่น และบริเวณรอบเกาะมีแนวปะการัง) สำหรับการดำน้ำดูปะการังติดต่อได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ อุทยานฯ มีบริการเต็นท์และบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77130 โทร.(032) 602654 หรือที่งานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 561–2920–21 หรือ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อสอบถามจองที่พักได้ที่ โทร. 579–0520( มีบังกะโล และ เรือนนอนในบริเวณอุทยานฯ)

อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

วังไกลกังวล ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมห่างจากหัวหินไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สำหรับใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อนและพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการกรมศิลปากร ในสมัยนั้นเป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างโดยเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 ต่อมาได้รับการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในบริเวณมีพระตำหนักหลายหลังมีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์ สร้างอยู่กลางอุทยานไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ โดยมีพื้นที่ด้านหนึ่งติดชายทะเล นอกจากนั้นยังมี พิพิธภัณฑ์หอยซึ่งเป็นที่รวบรวมเปลือกหอยนานาชนิด วังไกลกังวลเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. (ยกเว้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม) อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท (จำหน่ายบัตรเข้าชมถึงเวลา 15.30 น.) ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 511115
ศูนย์ศิลปหัตถกรรมหัวหิน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 18 ถนนแนบเคหาสน์ เป็นทั้งสวนพฤกษชาติและเป็นแหล่งรวมงานจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปะโบราณวัตถุและงานสร้างสรรค์แห่งโลกศิลปะที่นักท่องเที่ยวสามารถชมและสัมผัสได้ ศูนย์ฯนี้เปิดบริการให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 - 18.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.(032) 511249 , 511061
ตัวเมืองหัวหิน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 195 กิโลเมตร และอยู่ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 90 กิโลเมตร ตลาดหัวหินเป็นตลาดใหญ่มีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และโรงแรมมากมาย การคมนาคมสะดวกมีบริการรถสามล้อ รถสองแถวรับจ้าง และรถเช่า ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในตัวอำเภอ และสถานที่ใกล้เคียง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองหัวหินเป็นชายหาด มีทางลงหาดอยู่ที่ถนนดำเนินเกษม หาดหัวหินมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ทรายขาวละเอียดเหมาะสำหรับเล่นน้ำทะเล
สถานีรถไฟหัวหิน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟแห่งนี้คือ พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯเป็นพลับพลาจตุรมุขสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมีชื่อว่า พลับพลาสนามจันทน์ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทน์ จังหวัดนครปฐม พลับพลานี้มีไว้ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รื้อถอนมาเก็บไว้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2511 สมัยพันเอกแสง จุลจาริตต์เป็นผู้ว่าการรถไฟฯได้พิจารณาเห็นว่าควรนำเครื่องอุปกรณ์ก่อสร้างของพลับพลาสนามจันทร์มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่หัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การดำเนินการก่อสร้างนี้ใช้ช่างฝีมือคนไทยและได้มีการทำพิธีเปิดพลับพลาซึ่งได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “พลับพลาพระมงกุฎเกล้ฯ”เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2517 โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวอำเภอหัวหินเป็นอย่างมาก
ตลาดโต้รุ่งหัวหิน เป็นสีสันยามราตรีของหัวหินและเป็นแหล่งรวมอาหารนานาชนิดอาทิ อาหารไทย อาหารทะเล ขนมไทย โรตีแขก เป็นต้น มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนไปเสมอ นอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึกจำหน่ายอีกด้วย
ตลาดฉัตรไชย เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของหัวหินเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม สร้างในปี พ.ศ. 2469 ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะของหลังคาเป็นรูป 7 โค้งอันเป็นสัญญลักษณ์หมายถึงสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ระลึก อาหารสดและแห้ง
เขาตะเกียบ เขาไกรลาส เป็นภูเขา 2 ลูกที่อยู่ใกล้กัน อยู่ห่างจากตัวอำเภอหัวหินไปทางทิศใต้ประมาณ 14 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือจากถนนเพชรเกษมที่กิโลเมตร 235 เข้าไปประมาณ 500 เมตร จากตลาดหัวหินมีรถโดยสารวิ่งระหว่างหัวหิน-เขาไกรลาส-เขาตะเกียบ
เขาตะเกียบเป็นเขาที่ยื่นออกไปในทะเลมีโขดหินสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดใหญ่หันหน้าออกสู่ทะเล บนยอดเขามีทางเดินขึ้นไปสามารถชมทิวทัศน์ของท้องทะเลและตัวเมืองหัวหินได้อย่างชัดเจน ชายหาดเขาตะเกียบมีความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีความลาดชันน้อย ทรายขาวละเอียด บริเวณชายหาดมีร้านอาหาร ที่พักและร้านขายของที่ระลึกมากมายไว้บริการ
เขาหินเหล็กไฟ เป็นจุดชมวิวตัวเมืองและอ่าวหัวหินที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งซึ่งประกอบด้วยจุดชมวิวรวม 3 จุด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาหินเหล็กไฟนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหัวหินไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะในการชมวิวคือช่วงค่ำและเช้าตรู่
ค่ายธนะรัชต์ เป็นค่ายทหารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 600,000 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 237 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ภายในค่าย ประกอบด้วย อนุสรณ์สถาน ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสถานที่รวบรวมชีวประวัติ ผลงานในอดีต เครื่องแต่งกายของใช้ส่วนตัว เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งของไทย และต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์ทหารราบ จัดแสดงอาวุธโบราณสมัยต่าง ๆ และ ท่าเสด็จ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปราณบุรี ทางทิศตะวันตกของค่ายฯ ห่างจากถนนเพชรเกษม ประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติ มีสวนไม้ดอก ไม้ประดับ พันธุ์ไม้ในวรรณคดี และมีกิจกรรมแนวผจญภัยเช่น การกระโดดหอสูง ไต่หน้าผา ยิงปืน ตกปลา แค้มปิ้ง เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายกิจการพลเรือน โทร. (032)542455–64 ต่อ 4163
สวนสนประดิพัทธ์ อยู่ห่างจากหัวหินไปตามถนนเพชรเกษมประมาณ 9 กิโลเมตร โดยมีทางแยกจากถนนเพชรเกษม ที่กิโลเมตร 240 เข้าไปประมาณ 500 เมตร มีรถโดยสารจากหัวหินไปยังสวนสนทุก 20 นาที สวนสนประดิพัทธ์อยู่ในความดูแลของศูนย์การทหารราบ ปราณบุรี มีที่พักลักษณะเป็นบังกะโล เรือนแถวและห้องพัก ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 511240 , 536581-3
เขาเต่า อยู่ห่างจากตัวอำเภอหัวหินประมาณ 13 กิโลเมตร โดยมีทางแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 243–244 เข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีรถโดยสารวิ่งระหว่างหัวหิน-สามแยกเขาเต่า บริเวณเขาเต่ามีหาดทรายที่สะอาด และสวยงามอยู่ 2 แห่ง คือ หาดทรายน้อย และหาดทรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเกาะขนาดเล็กอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งเท่าใดนัก บนเกาะมีเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ทับถมกันอยู่มากมายและยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่หันพระพักตร์ออกสู่ทะเล
เกาะสิงห์โต อยู่ทางด้านทิศตะวันออก จากสวนสนประดิพัทธ์ไปประมาณ 800 เมตร เป็นเกาะเล็กๆ รูปร่างคล้ายสิงห์โตนอนหมอบหันหน้ามาทางทิศเหนือ เหมาะสำหรับตกปลา นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือได้ที่หมู่บ้านเขาตะเกียบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที
น้ำตกป่าละอู ตั้งอยู่ในเขตป่าละอู มีพื้นที่ประมาณ 273,125 ไร่ อุดมไปด้วยป่าไม้เขียว ชอุ่ม และสัตว์ป่านานาชนิด ป่าละอูจัดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีหน่วยพิทักษ์อุทยานน้ำตกป่าละอู ของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำก่อนถึงตัวน้ำตกประมาณ 2 กิโลเมตร
น้ำตกป่าละอูประกอบด้วยน้ำตกละอูใหญ่ และน้ำตกละอูน้อย ซึ่งไหลลดหลั่นกันอย่างสวยงามถึง 11 ชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้ ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน
การเดินทาง จากตลาดหัวหิน มีทางแยกจากถนนเพชรเกษมไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงหมายเลข 3219 จนสุดถนนราว 63 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านฟ้าประทาน แล้วเดินทางต่อไปอีกราว 4 กิโลเมตร สามารถเช่าเหมารถสองแถวซึ่งจอดอยู่ที่ถนนชมสินธุ์ไป-กลับได้ ในกรณีที่ต้องการพักค้างแรม ทางอุทยานฯ มีบริการเต็นท์ให้เช่า คนละ 100 บาท/คน/คืน หรือ จะนำเต็นท์มาเองก็ได้ ติดต่อขออนุญาตพักค้างแรมในเขตอุทยานฯได้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานน้ำตกป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110

อำเภอปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์

แม่น้ำปราณบุรี มีต้นกำเนิดจากผืนป่าแก่งกระจานไหลผ่านทิวเทือกเขาในด้านตะวันตกก่อนไหลลงสู่ทะเลที่ปากน้ำปราณบุรี นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือหางยาวชมทัศนียภาพตลอดลำน้ำไปยังปากน้ำปราณบุรีได้ซึ่งจะผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าแม่ทับทิม ไร่สับปะรด หมู่บ้านชาวประมงและชมนกนานาชนิดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่สวนอาหารวราการ์เด้น โทร.(032)540255
อ่างเก็บน้ำปราณบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองตาแต้ม กิโลเมตรที่ 253 ห่างจากจุดปากทางเข้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 17 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ประมาณ 20 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำปราณบุรีนี้เกิดจากเขื่อนดินสร้างปิดกั้นแม่น้ำปราณบุรี สันเขื่อนยาว 1,500 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 42 เมตร ภูมิประเทศเป็นหุบเขา มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ลำน้ำทอดยาวไปในพื้นที่เพาะปลูกของอำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมือง เป็นระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร
วนอุทยานปราณบุรี เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยกำหนดพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า คลองคอย มีพื้นที่ประมาณ 1,984 ไร่ ประกอบด้วย ป่าชายเลน และมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ป่า ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี กรมป่าไม้
วนอุทยานปราณบุรีมีหาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นด้วยแนวสนทอดยาว 1 กิโลเมตร เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนและการล่องเรือ เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วนอุทยานปราณบุรี หมู่ 1 ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77220 โทร.(032)559148 , (01) 682–6674 , (01) 763-9652
• ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอสามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกุยบุรี และอำเภอปราณบุรี ห่างจากหัวหินลงมาทางใต้ประมาณ 63 กิโลเมตร ตามตำนานเล่ากันว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเลมีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมาย ในสมัยนั้นมีขบวนเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมา และประสบกับลมพายุมรสุมจนเรืออับปาง คนบนเรือที่รอดชีวิต 300 คนได้ไปอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ จึงเรียกว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาเพี้ยนเป็น “เขาสามร้อยยอด” จนทุกวันนี้
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 98 ตารางกิโลเมตร หรือ 61,300 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน มีที่ราบน้ำท่วมถึงอยู่ริมชายฝั่งทะเล เป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด ซึ่งมีมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2509 และเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งแรกของประเทศไทย
การเดินทาง จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4 ) ถึงสี่แยกปราณบุรีเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายปากน้ำ-ปราณบุรีประมาณ 4 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปตามถนนรพช.ประมาณ 31 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯหรือจากถนนเพชรเกษม จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 286 (ใกล้บ้านสำโหรง ก่อนถึงอำเภอกุยบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร) เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77150 โทร.(032) 603571 บริเวณอุทยานฯมีสถานที่ท่องเที่ยวดังนี้
จุดชมวิวเขาแดง อยู่บนยอดเขาแดง เวลาที่เหมาะแก่การขึ้นชมวิว คือ เวลาประมาณ 05.30 – 07.00 น. เนื่องจากสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น และทัศนียภาพโดยรอบ ๆ ได้อย่างสวยงาม การเดินทาง ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 400 เมตรหรือขับรถไปหมู่บ้านเขาแดงจะมีทางแยกด้านซ้ายมือ จอดรถแล้วเดินเท้าขึ้นเขาไปประมาณ 320 เมตร
คลองเขาแดง เหมาะต่อการล่องเรือชมทิวทัศน์และสัตว์นานาชนิดในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือได้จากหมู่บ้านเขาแดง และที่หมู่บ้านบางปู โดยลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเขาแดง ล่องไปตามลำคลองประมาณ 3-4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เวลาที่เหมาะแก่การล่องเรือคือประมาณ 16.00 - 17.00 น. เพราะอากาศไม่ร้อน และสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงาม
หาดสามพระยา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นด้วยแนวสนทอดยาว 1 กิโลเมตร เหมาะสำหรับเล่นน้ำและตั้งแค้มป์พักแรม บริเวณชายหาดมีร้านอาหารและห้องน้ำไว้บริการ
ถ้ำไทร อยู่ในหมู่บ้านคุ้งโตนด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 9 กิโลเมตร สามารถนำรถยนต์ไปจอดที่หมู่บ้านใกล้เชิงเขาแล้วเดินขึ้นไปบนถ้ำระยะทางประมาณ 280 เมตร จุดสนใจในถ้ำได้แก่ สระโบกขรณี ห้องหินงอกหินย้อย ห้องม่านเจ็ดสี ที่ถ่ายรูปพิสดาร น้ำตกแห้ง อนุสาวรีย์ตาเอิบ ซึ่งเป็นผู้พบถ้ำคนแรก บ่อน้ำน้อยหน่าและหินโดม ภายในถ้ำค่อนข้างมืดนักท่องเที่ยวสามารถเช่าตะเกียงเจ้าพายุหรือไฟฉายจากชาวบ้านที่หมู่บ้านคุ้งโตนดได้
ถ้ำแก้ว อยู่ที่เขาหุบจันทร์ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯไปทางบ้านบางปู 13 กิโลเมตร จากเชิงเขาต้องเดินเท้าอีก 15 นาที มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในถ้ำมืดมาก และค่อนข้างอันตรายเพราะมีเหวลึก จำเป็นต้องมีตะเกียงเจ้าพายุ และเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ นำทาง
หาดแหลมศาลา และถ้ำพระยานคร อยู่ที่บริเวณเขาเทียน ใกล้บ้านบางปู ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางเรือ โดยเช่าเรือจากหมู่บ้านบางปู ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที หรือจะเดินข้ามเขาเทียนเป็นระยะทางประมาณ 530 เมตร จากชายหาดมีทางเดินขึ้นเขาไปยังถ้ำพระยานคร ระหว่างทางมีบ่อน้ำกรุด้วยอิฐดินเผารูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าง 1 เมตร ลึก 4 เมตร เรียกว่า “บ่อพระยานคร” ตามประวัติเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยานคร ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้แล่นเรือผ่านทางเขาสามร้อยยอด และเกิดพายุใหญ่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงจอดพักเรือหลบพายุที่ชายหาดแห่งนี้เป็นเวลาหลายวัน และได้สร้างบ่อน้ำเพื่อใช้ดื่ม “ถ้ำพระยานคร” เป็นถ้ำขนาดใหญ่ บนเพดานถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ จุดเด่นของถ้ำแห่งนี้ คือ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” เป็นพลับพลาแบบจตุรมุข สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2433 เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลังโดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ นับเป็นจุดเด่นของถ้ำพระยานคร และเป็นตราประจำจังหวัด
ประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน อุทยานฯ มีบริการบ้านพักที่บริเวณ เขาแดง และที่ หาดแหลมศาลา และยังมีบริการเต็นท์ให้เช่า ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 561–2919–20, 561–4294 ต่อ 746-7, 579–5734, 579–7223

อำเภอบางสะพาน
อ่าวแม่รำพึง ห่างจากตัวเมืองประจวบฯประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม)แยกเข้าตัวอำเภอบางสะพานไปประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งหาดทรายขาว มีถนนเลาะเลียบตลอดแนวชายหาด มีร้านอาหารทะเลบริการนักท่องเที่ยวเหมาะสำหรับพักผ่อน
อ่าวบ่อทองหลาง ห่างจากอ่าวแม่รำพึงตามถนนเลียบชายหาดประมาณ 4 กิโลเมตร มีชายหาดโค้งเป็นรูปวงกลมอยู่ริมเชิงเขาหาดทรายขาวและเกาะหินขนาดเล็กตั้งเรียงรายด้านหน้าอ่าวสามารถลงเล่นน้ำได้ บริเวณชายหาดมีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มบริการนักท่องเที่ยว
ตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่บนเขาธงชัย ท้องที่บ้านกรูด ซึ่งแยกจากถนนเพชรเกษมเข้าไปทางซ้ายประมาณ 16 กิโลเมตร จะพบตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สวยเด่นเป็นสง่าบนยอดเขาธงชัย หันหน้าออกสู่ทะเล บริเวณรอบ ๆ มีสวนไม้ดอก ไม้ประดับ และสำนักสงฆ์ซึ่งเชื่อกันว่ากรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เคยเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อพักทอดสมอเรือรบ นอกจากนี้บนเขาธงชัยยังเป็นที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์เก้ายอด เป็นจุดชมวิวที่จะเห็นชายหาดที่ทอดตัวเป็นแนวตรงริมหาดชอุ่มเขียวด้วยสวนมะพร้าวกว้างใหญ่เป็นความงามที่ผสานผสมหาดทราย น้ำทะเลและทิวมะพร้าวรวมกันเป็นภาพที่สวยงามลงตัวมาก
เกาะลำร่า เป็นเกาะหินขนาดปานกลางอยู่ที่ตำบลธงชัย (อยู่ระหว่างเขตอำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน) บริเวณรอบเกาะมีแนวประการัง บนเกาะเป็นที่อยู่ของชาวประมง
ถ้ำเขาม้าร้อง ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางสะพานไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีหลายคูหาซึ่งมีผู้ดูแลติดตั้งไฟฟ้าแสงสีต่าง ๆ ประดับประดาทำให้บรรยากาศในถ้ำดูสวยงามน่าสนใจ ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีพระพุทธรูปวางเรียงรายตลอดแนว รถยนต์สามารถเข้าถึงปากถ้ำได้

อำเภอบางสะพานน้อย
เกาะทะลุ เกาะสังข์ เกาะสิงห์ เป็นเกาะที่อยู่ใกล้ ๆ กัน บริเวณรอบ ๆ เกาะอุดมไปด้วยปะการังสีสวย หาดทรายขาวสะอาด เหมาะสำหรับผู้นิยมดำน้ำชมปะการัง และตกปลา นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือบ้านปากคลอง ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที การเดินทาง จากถนนเพชรเกษมแยกซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 399 ตามเส้นทางบางสะพาน-ชายทะเลไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงตลาดบางสะพานเลี้ยวขวาเข้าถนนบางสะพาน-หนองทัดไทซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดบางสะพานไปอีก 10 กิโลเมตร ท่าเรือจะอยู่ทางซ้ายมือ

Source : tourismthailand.org