สถานที่ท่องเที่ยวในปราจีนบุรี

สถานที่ท่องเที่ยวปราจีนบุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวปราจีนบุรี

อำเภอเมือง ปราจีนบุรี

• ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม อยู่ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 320 ประมาณ 9 กิโลเมตร วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะตั้งอยู่ทางขวามือ ศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับยืน เหตุที่สร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่านในคราวกรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักทัพในเขตปราจีนบุรี ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล
• พิพิธภัณฑ์พระครูอุทัยธรรมธารี อยู่ถัดจากศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปทางจังหวัดสระแก้ว เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะวัตถุของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งของที่จัดทำขึ้นใหม่เลียนแบบศิลปะโบราณ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุประมาณ 900 ชิ้น อาทิ กำไลสำริด ภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบ พระพุทธรูปปางต่างๆ เหรียญเงินตราของประเทศเพื่อนบ้านสมัยก่อน กี๋รูปกลมแบบ 5 ขา
• วัดแก้วพิจิตร ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยเศรษฐีนีใจบุญชาวปราจีนบุรีชื่อนางประมูลโภคา (แก้ว ประสังสิต) ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างพระอุโบสถเพิ่มเติม จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับอาคารผสมผสานระหว่างศิลปไทย จีน ยุโรป และเขมร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถ มีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ วาดโดยช่างหลวงในรัชกาลที่ 6 ด้านหน้าพระอุโบสถมีอาคารเรียนหนังสือไทยนักธรรมบาลีเป็นอาคารคอนกรีต รูปสถูปโดม ศิลปกรีกหรือโรมันอยู่หลังหนึ่ง นอกจากนั้นภายในวัดแก้วพิจิตรยังมีหอพระไตรปิฎกและศาลาตรีมุขที่ท่าน้ำ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่น
• ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ถนนปราจีนอนุสรณ์ ข้างหอประชุมอำเภอเมือง เดิมเป็นอาคารในโรงจักรถลุงทอง จัดสร้างโดยพระปรีชากลกาล (สำอาง อมาตยกุล) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปกรรมไทยกับแบบตะวันตก ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้ทำการบูรณะซ่อมแซม จัดทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมเพื่อเป็นที่รวบรวมเอกสาร วัตถุโบราณ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่น
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ตั้งอยู่ทางด้านหลังของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 200 เมตร เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุในเขต 7 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด และระยอง ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปเคารพในศาสนาฮินดู ศิวลึงค์ ทับหลัง เครื่องใช้สำริด และ จัดแสดงศิลปะในประเทศไทยสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบ รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกที่พบใต้ทะเลจากบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังจัดสถานที่ส่วนหนึ่งสำหรับนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสต่าง ๆ ด้วย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3721 1586
• ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัว ในปี พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ภายในตึกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โดยจะเป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร และการแพทย์ของท้องถิ่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดยารักษาโรค มีการนวด อบ ประคบและฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง จำหน่ายในราคาย่อมเยา โทร. 0 3721 1088
• วัดโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองปราจีนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ภายในวัดมีพระพุทธรูป 3 องค์ ประดิษฐานเรียงรายไปตามริมแม่น้ำ คือ พระพุทธรูปปางลีลา พระนามว่า “พระสิริมงคลนิมิต” พระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระสรรพสิทธินาวา” พระพุทธรูปปางประทับนอน พระนามว่า “พระมหาชินไสยาสน์” ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ
• สวนนกวัดสันทรีย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดเป็นที่ชุมนุมของนกนานาชนิด เช่น นกแขวก นกกาน้ำ นกกระยาง จำนวนนับหมื่นจะมาชุมนุมกันทุกปี ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับนักดูนก
• สวนพันธุ์ไผ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไผ่นานาชนิดปลูกไว้เพื่อการศึกษา และขยายพันธุ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเนินหอม (วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ไปตามทางหลวงหมายเลข 3077 สายแยกเนินหอม-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นถนนไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร
• น้ำตกเหวนรก อยู่บนเส้นทางสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวย ความสูงประมาณ 60 เมตร และมีหน้าผาสูงชัน น้ำไหลแรงสู่หุบเหวเบื้องล่างในช่วงฤดูฝน
• น้ำตกเขาอีโต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม น้ำตกเขาอีโต้เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ความสูงไม่มากนัก สภาพบริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง มีน้ำมากเฉพาะในช่วงฤดูฝน การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ แต่อยู่เลยไปอีกประมาณ 400 เมตร
• น้ำตกธารรัตนา ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม ระยะทางประมาณ 100 เมตร จากถนนสายเนินหอม-เขาใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมือง ประมาณ 25 กิโลเมตร มีสภาพเป็นแก่งน้ำไหลตามหุบเขาในเทือกเขาใหญ่มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน

อำเภอบ้านสร้าง
• ค้างคาวแม่ไก่วัดบางกระเบา วัดบางกระเบาอยู่บนถนนสายบ้านสร้าง-บางแตน ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านสร้างประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดของพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังคือ หลวงพ่อจาด ภายในบริเวณวัดบางกระเบา จะมีค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับพันตัวอาศัยอยู่ตามต้นไม้

อำเภอศรีมโหสถ
• ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ อยู่ในเขตวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ตำบลโคกปีบภายในวัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเป็นหน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ สถานที่ตรัสรู้จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มีอายุกว่า 2,000 ปี ซึ่งนำเข้ามาปลูกเป็นต้นแรก ลำต้นวัดโดยรอบประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 เมตร ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าทวานัมปะยะดิษฐ์ เจ้าครองเมืองศรีมโหสถในสมัยขอมเรืองอำนาจทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงได้ส่งคณะทูตเดินทางไปขอกิ่งต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับเมื่อคราวตรัสรู้ จากเจ้าผู้ครองนครปาตุลีบุตร ประเทศอินเดีย แล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกที่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ในวันวิสาขบูชาจะมีงานนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ
• การเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์ ใช้เส้นทางสายปราจีนบุรี-อำเภอพนมสารคาม ทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรก็จะถึงวัดแห่งนี้
กลุ่มโบราณสถานสระมรกต ตั้งอยู่ที่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลงและอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะรากฐานอาคารเท่านั้น ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลง ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้าง และยังมีการสลักรูปกากบาท โดยที่ตรงกลางมีหลุมสำหรับใช้ปักเสา สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่ม รอยพระพุทธบาทคู่นี้คาดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใกล้กันมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก
• นอกจากนั้นยังมี สระมรกต เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้างประมาณ 115 เมตร ยาว 214 เมตร ลึก 3.50 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ สันนิษฐานว่าขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ และได้นำศิลาแลงไปใช้เป็นสถาปัตยกรรม นอกจากสระมรกตแล้วยังมี สระบัวหล้า และ ศูนย์นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ
• การเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี-อำเภอพนมสารคาม ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้
• โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ลักษณะของเมืองมีคูเมือง และคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบคูน้ำ ภายในเมืองมีโบราณสถาน เนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า 100 แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เช่น เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลม ลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวารวดี โบราณสถานหมายเลขที่ 25 เป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 โบราณสถานสระแก้ว เป็นโบราณสถานที่เป็นสระน้ำโบราณ สระน้ำขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเมืองศรีมโหสถ ตัวสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีทางลงทำเป็นขั้นบันได ผนังขอบสระทุกด้านมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น รูปช้าง สิงห์ หมู กินรี งูพันเสา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ชั้นสูง สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 6-11
• การเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ

อำเภอศรีมหาโพธิ
• อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโพรง อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์นี้เป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จประพาสปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2451 ทรงจารึกไว้บนแผ่นศิลาแลง ซึ่งเป็นซากโบราณวัตถุสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13
• การเดินทาง อนุสาวรีย์อยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยอยู่เยื้องทางเข้าหลุมเมือง
• หลุมเมือง มีลักษณะเป็นหลุมขนาดต่าง ๆ ขุดเจาะลึกลงไปในพื้นศิลาแลง ไม่ทราบว่าขุดขึ้นในสมัยใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2451 มีพระราชสันนิษฐานว่า “เป็นหลุมสำหรับโขลกปูนที่จะปั้นลวดลายเครื่องประดับปรางค์ปราสาท” มีหลุมทั้งหมดประมาณ 48 หลุม แต่คำบอกเล่าของคนรุ่นเก่ากล่าวว่าเป็นหลุมสำหรับเล่นกีฬาพื้นบ้าน เรียกว่า การเล่นหลุมเมือง
• เทวสถานพานหิน ตั้งอยู่ที่บ้านโคกขวาง ตำบลหนองโพรง เป็นโบราณสถาน ที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ กว้างด้านละ 16 เมตร สูง 3.5 เมตร มีมุขยืนออกไปทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งเจนละ ตรงกลางของซากเทวาลัยมีฐานของเทวรูปซึ่งแต่เดิมตะแคงอยู่ลักษณะคล้ายพาน จึงเรียกว่า “พานหิน” นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงทรงกลม สกัดเป็นรูปฐานเชิง
• การเดินทาง เทวสถานพานหินอยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

อำเภอประจันตคาม
• น้ำตกธารทิพย์ ตั้งอยู่ที่บ้านเนินหินตั้ง ตำบลหนองแก้ว เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านชั้นหินต่างระดับ บางช่วงไหลผ่านลานหินบริเวณกว้าง บางช่วงเป็นแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำได้ มีลานหินสำหรับนั่งพักผ่อน ฝั่งซ้ายของลำธารลักษณะค่อนข้างสูงชัน สภาพโดยทั่วไปยังเป็นป่าที่คงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างดี
• การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกันกับน้ำตกตะคร้อ จะมีทางแยกซ้ายมือ ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 9 และเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร
• น้ำตกส้มป่อย ตั้งอยู่ที่บ้านเขาน้อย ตำบลบุฝ้าย เป็นน้ำตกที่ไม่สูงมากนัก ไหลลดหลั่นผ่านแก่งหิน เป็นระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร มีแอ่งน้ำที่ลงเล่นน้ำได้ตลอดลำธาร
• การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกันกับน้ำตกธารทิพย์ ก่อนถึงน้ำตกตะคร้อจะมีแยกซ้ายมือบริเวณกิโลเมตรที่ 14 เข้าไปจนถึงตัวน้ำตกอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
• น้ำตกตะคร้อและน้ำตกสลัดได ตั้งอยู่ที่บ้านตะคร้อ ตำบลบุฝ้าย น้ำตกตะคร้อ อยู่ห่างจากด่านตะคร้อ ประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นแก่งน้ำกว้าง มีสะพานแขวนทอดข้ามน้ำตกตะคร้อ ฝั่งซ้ายของลำธารเป็นเนินเขา ส่วนทางด้านฝั่งขวาเป็นป่าโปร่ง เหมาะแก่การพักผ่อน จากน้ำตกตะคร้อมีทางเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึง น้ำตกสลัดได เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม หากจะเดินทางเข้าไปชมน้ำตกสลัดไดควรติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจาก หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกตะคร้อ
• การเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามทางถนนปราจีนบุรี-ประจันตคาม เส้นทางหลวงหมายเลข 3452 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 33 จนถึงสี่แยกประจันตคาม แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนน รพช. หรือจะใช้เส้นทางสี่แยกเนินหอม แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 33 จนถึงสี่แยกประจันตคาม ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนน รพช. ประมาณ 16 กิโลเมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร จนถึงตัวน้ำตกตะคร้อ

อำเภอกบินทร์บุรี
• นกเป็ดน้ำหนองปลาแขยง อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 33 ระหว่างช่วงอำเภอประจันตคาม-กบินทร์บุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 206-207 ทางซ้ายมือจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีนกเป็ดน้ำมาอาศัยเป็นจำนวนมากนับพันตัว

อำเภอนาดี
• อุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบคลุมพื้นที่ของตำบลบุพราหมณ์ ในเขตอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี, อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,240 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,400,000 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่
• ป่าลานและสวนพักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ ป่าลาน เป็นป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลปาล์มที่หายาก จะออกดอกเมื่อต้นมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงฤดูออกดอกในราวเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ดอกมีสีเหลืองสดสวยงามมาก หลังออกดอกแล้วต้นลานนั้นจะตายไป นอกจากดงลานแล้ว ภายในพื้นที่อุทยานฯ ยังปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง และป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และนกชนิดต่าง ๆ สวนพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ประกอบด้วยต้นลาน และพันธุ์ไม้นานาชนิด ภายในร่มรื่น มีซุ้มสำหรับนั่งพักผ่อน กลางสวนมีสระน้ำขนาดใหญ่
• น้ำตกทับลานหรือน้ำตกเหวนกกก อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 7 กิโลเมตร เดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จึงจะถึงตัวน้ำตก เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
• อ่างเก็บน้ำทับลาน อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน
• น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงาม มีความสูง ประมาณ 50 เมตร กว้าง 30 เมตร การเดินทาง แยกจากทางหลวงหมายเลข 304 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 79 เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในหน้าแล้งนำรถยนต์เข้าได้เกือบถึงตัวน้ำตก
• การเดินทาง จากอำเภอกบินทร์บุรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 สายอำเภอกบินทร์บุรี-นครราชสีมาระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ริมทางหลวง (ห่างจากจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 90 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 107 กิโลเมตร)
• แก่งหินเพิง ตั้งอยู่ที่ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ที่สวยงามอยู่ในลำน้ำใสใหญ่ อยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 อำเภอนาดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่เหมาะแก่การล่องเรือยางที่ท้าทาย และสนุกสนาน ในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำหลาก ล้นแก่ง และไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ เหมาะสำหรับการล่องแก่งหินเพิง หากพ้นช่วงฤดูฝนไปแล้วแก่งหินเพิงนี้จะกลายเป็นลานโขดหินกว้างใหญ่ การล่องแก่งหินเพิงจะผ่านแก่งต่าง ๆ ได้แก่ แก่งหินเพิง แก่งวังหนามล้อม แก่งวังบอน แก่งลูกเสือ แก่งวังไทร แก่งงูเห่า ใช้ระยะเวลาในการล่องแก่งประมาณ 45 นาที นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อบริษัทนำเที่ยวที่จัดกิจกรรมในการล่องแก่งหินเพิง และสามารถพักค้างแรมแบบแค้มปิ้ง หรือพักรีสอร์ทในเขตอำเภอนาดีได้
• การเดินทาง ใช้เส้นทางสายอำเภอกบินทร์บุรี-จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางหลวงหมายเลข 304 จากปากทางกิโลเมตรที่ 11 เข้าไปประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วจอดรถไว้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ หน่วยความรับผิดชอบที่ 9 และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 45 นาที ก็จะถึงแก่งหินเพิง

Source : tourismthailand.org