สถานที่ท่องเที่ยวในพะเยา

สถานที่ท่องเที่ยวพะเยา

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวพะเยา

อำเภอเมือง
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาวลำดับที่ 9 ระหว่างปี พ.ศ. 1801-1841 เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก ประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา (สวนสมเด็จย่า 90) หน้ากว๊านพะเยา เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามพระองค์ได้กระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณแม่น้ำอิง ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณสถานีประมงน้ำจืดพะเยา พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์กล่าวกันว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปทางไหน “แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้แดดก็แดด จักให้บดก็บด” จึงได้พระนามว่างำเมือง
กว๊านพะเยา เกิดจาการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้วเป็นแอ่งน้ำซึ่งเป็นที่รวบรวมของลำห้วยต่างๆ 18 สาย ต่อมาในปี 2478 กรมประมงได้ตั้งสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอิงและสร้างฝายกั้นน้ำทำให้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร คำว่า “บึง” ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า “กว๊าน” กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพะเยา คือเป็นทั้งแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลาไน รวมทั้งปลานิล อันลือชื่อของจังหวัดพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีความร่มรื่น สามารถมองเห็นแนวทิวเขาสลับซับซ้อน งดงามมาก บริเวณริมกว๊านมีร้านอาหารและจัดเป็นสวนสาธารณะเหมาะที่จะไปนั่งเล่น พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็น ชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊านเป็นภาพที่สวยงามมาก
สถานีประมงน้ำจืดพะเยา ตั้งอยู่ตรงถนนพหลโยธินระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 734-735 เป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ปลาที่เพาะพันธุ์เพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ฯลฯ และสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้สำเร็จเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ห้องจัดแสดงพันธุ์ปลาสวยงามที่หาดูยากไว้หลายชนิด เปิดให้ชมในวันเวลาราชการ และยังมีเรือนประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อครั้งเสด็จมาทรงงานที่จังหวัดพะเยาอยู่ในบริเวณเดียวกัน บริเวณรอบตำหนักจะมีดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ สระน้ำพุอันสวยงาม ตั้งอยู่บริเวณสถานีประมงพะเยา
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ อยู่ใกล้กับวัดศรีโคมคำ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุ เอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยา และเรื่องราวความเป็นมาทั้งด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพะเยาโดยใช้รูปแบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
วัดศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี และวัดพัฒนาตัวอย่าง ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนาไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 16 เมตร สูง 18 เมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2034-2067 พระเจ้าตนหลวง หรือ พระเจ้าองค์หลวง มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย วันวิสาขบูชามีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงเป็นประจำทุกปีเรียกว่า “งานประเพณีนมัสการพระเจ้าองค์หลวงเดือนแปดเป็ง”
วัดพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับกับวัดศรีโคมคำ มีถนนขึ้นไปถึงเจดีย์พระธาตุจอมทองเป็นปูชนียสถานโบราณคู่เมืองพะเยา บริเวณโดยรอบมีป่าไม้ปกคลุม เป็นสวนรุกชาติ มองเห็นตัวเมืองและกว๊านพะเยาได้โดยรอบ
วัดอนาลโย ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัมห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 1 (พะเยา-เชียงราย) ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1127-1193 อีก 9 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสาย บริเวณดอยบุษราคัม และม่อนพระนอน ประกอบด้วยพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยลักษณะงดงามมาก และยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ อีกหลายองค์ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างด้วยความประณีตสวยงามแบบศิลปไทย รัตนเจดีย์ เป็นศิลปะแบบอินเดียพุทธคยา เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลอง จากยอดเขาสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาและเมืองพะเยาได้อย่างสวยงาม ขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางบันไดและทางรถยนต์
วัดศรีอุโมงค์คำ มีพระเจดีย์สมัยเชียงแสนที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาอีกองค์หนึ่งนามว่า “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” ซึ่งถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่สุดแห่งล้านนาไทย และนับเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของภูกามยาวโดยเฉพาะ
วัดลี ตั้งอยู่หลังโรงเรียนเทศบาล 3 มีสถูปที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมของภาคเหนือ และโบราณวัตถุสมัยอาณาจักรพะเยาอีกมากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยๆ ได้อีกแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีพุทธศาสนสถานเก่าในเมืองพะเยาที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ ป่าแดงบุนนาค มีตำนานเกี่ยวพันครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังดินแดนแห่งนี้ วัดศรีจอมเรือง มีศิลปะสวยงามแบบไทยผสมพม่า วัดราชคฤห์ มีเจดีย์เก่าแก่ของเมืองพะเยา และพระพุทธรูปศิลาซึ่งพุทธลักษณะสวยงามแบบเดียวกับพระเจ้าล้านตื้อ
หมู่บ้านทำครกและโม่หิน บ้านงิ้ว ตำบลบ้านสาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปวัดอนาลโย เป็นถนนรอบกว๊านพะเยา รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ทุกฤดูกาล ชาวบ้านมีอาชีพเสริมหลังการทำนาคือการ ทำครก โม่หิน ใบเสมา และลูกนิมิต เป็นต้น โดยทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัว และส่งไปขายในตัวเมืองพะเยา
หมู่บ้านทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา อยู่ที่บ้านสันป่าม่วงใช้เส้นทางเดียวกับทางไปหมู่บ้านทำครกและโม่หิน ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวป่าม่วงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นทำเป็นงานอดิเรก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผักตบชวา ได้แก่ หมวก กระเป๋า จานรองแก้ว และของประดับตกแต่งต่างๆ

อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย และลำปาง รวมเนื้อที่ 731,250 ไร่ หรือ 1,170 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของกว๊านพะเยา แม่น้ำวังและแม่น้ำลาว สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดเช่น เลียงผา กวาง เก้ง หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี กระจง หมาใน ไก่ป่า ไก่ฟ้า และนกชนิดต่างๆ มากกว่า 150 ชนิด นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลื้อยคลานอีกเช่น ตะพาบน้ำ ตะกวด และงูชนิดต่างๆ อีกด้วย
ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ อยู่บริเวณ น้ำตกปูแกง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย น้ำตกปูแกง มีความสูง 9 ชั้น น้ำไหลตลอดปี มีเส้นทางเดินป่า ติดต่อได้ที่ อุทยานฯ ฤดูที่เหมาะสำหรับการเดินป่าอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม–เมษายน ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา คือ น้ำตกจำปาทอง อยู่อำเภอเมือง เป็นน้ำตกสูงชัน น้ำใสสะอาด น้ำตกลงมาเป็นชั้นๆ คล้ายงาช้างบ้าง หัวช้างบ้าง มีชื่อเรียกตามลักษณะเช่น วังจำปา ตาดหัวช้าง ฯลฯ เดินทางจากทางหลวงสายพะเยา-เชียงราย ตรงหลักกิโลเมตรที่ 7 มีทางแยกเป็นลูกรังเข้าไปยังตัวน้ำตก ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร น้ำตกวังแก้ว เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในดอยหลวง และจังหวัดลำปาง อยู่ในท้องที่อำเภอวังเหนือ ตั้งอยู่ในบริเวณป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ ประกอบลักษณะพื้นที่เป็นเขาสูงชันทำให้มีปริมาณน้ำมากไหลแรง และมีถึง 102 ชั้น สามารถเดินทางจากจังหวัดพะเยาได้สะดวก โดยใช้เส้นทางสายพะเยา-อำเภอวังเหนือ และจากอำเภอวังเหนือมีทางลาดยาง ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงน้ำตกวังแก้ว
การเดินทาง ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน พะเยา-เชียงราย 39 กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านปูแกงเข้าไป 9 กิโลเมตร มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสำหรับให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว มีร้านค้าไว้บริการ ตลอดจนสถานที่กางเต๊นท์และมีเต๊นท์ให้เช่า ติดต่ออุทยานแห่งชาติดอยหลวง ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โทร. (053) 609042

อำเภอดอกคำใต้
ดอกคำใต้ คือ ดอกกระถินสีเหลือง ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดย่อม มีลักษณะเป็นพุ่มใบเล็กเป็นฝอย ดอกสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอมกรุ่นละไม ช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงปีใหม่ ดอกคำใต้ก็จะผลิดอกเหลืองสะพรั่งไปทั้งต้น งดงามมาก
วนอุทยานบ้านถ้ำ ตำบลบ้านถ้ำ ตามเส้นทางสายดอกคำใต้-เชียงม่วน ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากตัวอำเภอ เป็นสถานที่อันร่มรื่นเหมาะสำหรับการพักผ่อน และในบริเวณเดียวกันนั้นยังประดิษฐาน พระธาตุจอมศีล ตั้งอยู่บนเชิงเขาเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของดอกคำใต้มาช้านาน เมื่อขึ้นไปถึงบนลานพระธาตุแล้ว จะมองเห็นทิวทัศน์อำเภอดอกคำใต้อย่างสวยงาม และชาวอำเภอดอกคำใต้จะมีงานประเพณีไหว้พระธาตุจอมศีล ในวันมาฆบูชา และวันสงกรานต์
อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน มีพื้นที่ทั้งหมด 462,775 ไร่ พื้นที่ประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง อุทยานแห่งชาติดอยภูนางมีสถานที่ที่น่าสนใจและยังเป็นอุทยานที่สำคัญอีกที่หนึ่งเพราะมีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่เช่น ตะพาบน้ำ ตะกวด นกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะนกยูง นกยูงฝูงนี้จะเดินทางระหว่างแก่งเสือเต้น (อุทยานแห่งชาติแม่ยม) และอุทยานแห่งชาติภูนาง โดยมาที่นี่ในฤดูผสมพันธุ์ที่นี่ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯมีทางเดินเท้าจากที่ทำการไปยังน้ำตก 300 เมตร มีชื่อว่าน้ำตกธารสวรรค์ มีความกว้างของน้ำตกถึง 40 เมตร มีร้านค้าไว้บริการ ถ้าต้องการจะพักค้างแรมที่อุทยานแห่งชาติภูนางก็ให้นำเต๊นท์ไปด้วยการเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1021 ถึงอำเภอดอกคำใต้ เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 1251 ระยะทาง 48 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปอีก 4 กิโลเมตร

อำเภอจุน
โบราณสถานเวียงลอ (เมืองพระลอ) อยู่ห่างจากอำเภอจุน ตามทางหลวงหมายเลข 1021 ถึงบ้านห้วยงิ้ว ประมาณ 17 กิโลเมตร มีทางแยกไปเป็นทางดินถึงบ้านน้ำจุนอีกประมาณ 12 กิโลเมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคงเป็นเมืองในสมัยพ่อขุนงำเมือง เพราะปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า วัดร้าง อยู่มากมาย พระธาตุและวัดเก่าแก่คือ วัดศรีปิงเมือง และใกล้เวียงลอนี้ยังเป็นจุดที่ลำน้ำจุน ไหลลงสู่แม่น้ำอิงด้วย จึงเรียก
บริเวณนี้ว่า “สบอิง”
วัดพระธาตุขิงแกง ห่างจากอำเภอจุนตามทางหลวงหมายเลข 1091 ถึงบ้านธาตุขิง-
แกงประมาณ 10 กิโลเมตร แยกขวาเป็นทางเดินไปอีก 300 เมตร ถึงตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาธาตุขิงแกงซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของหมู่บ้านขิงแกงได้อย่างชัดเจน องค์พระธาตุมีรูปทรงแบบล้านนาคล้ายพระธาตุสบแวนที่อำเภอเชียงคำ แต่ขนาดใหญ่และมีการตกแต่งมากกว่า

อำเภอเชียงคำ
เป็นอำเภอหนึ่งที่มีความเจริญทัดเทียมกับอำเภอเมือง มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติและโบราณสถานวัดวาอารามที่มีความสวยงามหลายแห่ง
วัดพระนั่งดิน อยู่ในตำบลเวียง ไปตามทางหลวง 1148 ห่างจากตัวอำเภอ 4 กิโลเมตร เป็นวัดที่องค์พระประธานของวัดไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ เคยมีราษฎรสร้างฐานชุกชีเพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐาน แต่ปรากฏว่าพยายามยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้น จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า พระนั่งดิน
อนุสรณ์ผู้เสียสละ พ.ต.ท. 2324 อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคำ ตามทางหลวง 1021 ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ได้พลีชีพในการสู้รบเพื่อรักษาอธิปไตยในพื้นที่ชายแดนจังหวัดพะเยาและเชียงราย นอกจากนั้นยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงภาพถ่ายรูปจำลองและอาวุธยุโธปกรณ์ที่เคยใช้ต่อสู้ในการรบครั้งนั้นไว้ด้วย เปิดให้เข้าชมในวันเวลาราชการ
วัดพระธาตุสบแวน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 4 กิโลเมตร มีองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่มาก คาดว่าอายุราว 800 ปี ภายในบรรจุเส้นพระเกศา และกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังคงรักษาสภาพศิลปะแบบล้านนาไทยไว้ได้
วัดนันตาราม อยู่ที่บ้านดอนไชย เขตสุขาภิบาลเชียงคำ เป็นวัดที่มีศิลปะแบบพม่า ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตกแต่งลวดลายฉลุไม้อย่างสวยงามตามส่วนประกอบต่างๆ เช่น หน้าต่าง หน้าบันระเบียง เป็นต้น
ศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ ตั้งอยู่ที่วัดหย่วนในอำเภอเชียงคำ จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรม และฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทยลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส ในอดีตชาวไทยลื้อมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนามณฑลยูนาน ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขามีที่ราบแคบๆอยู่ตามหุบเขาและลุ่มแม่น้ำอันเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของชาวไทลื้อ โดยเฉพาะการทำนาที่ลุ่มเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งชาวไทยลื้อเรียกว่า “แม่น้ำของ” ในปี พ.ศ. 2399 เจ้าสุริยพงษ์ ผริตเดช ผู้ครองนครน่านได้อพยพมามาอยู่ที่บ้านท่าฟ้าเหนือและท่าฟ้าใต้อำเภอเชียงม่วน หลังจากนั้นมีบางส่วนได้อพยพมาอยู่ที่อำเภอเชียงคำ ชาวไทลื้อมีอุปนิสัยรักสงบ ขยันอดทน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติภูซาง ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทั้งหมด 178,123 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่มีค่า ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะเคียน จำปีป่า ยมหอม ประดู่ สัก และรัง เป็นต้น อุทยานแห่งชาติภูซางยังเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดพะเยา
อุทยานแห่งชาติภูซางมีน้ำตกที่มีน้ำอุ่น 33 องศาเซลเซียส ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆอีก เช่น ถ้ำต่างๆ มีหินงอกหินย้อยตระการตา และมีน้ำไหลลอดผ่านตลอดทั้งถ้ำ ระดับน้ำลึก ประมาณ 1 เมตร และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
การเดินทาง เมื่อมาถึงอำเภอเชียงคำแล้วให้เดินทางมายังถนนหมายเลข 1093 ไปประมาณ 17 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติภูซางมีสถานที่กางเต๊นท์ บ้านพักและร้านอาหารบริการแก่นักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ (054) 483094
บ้านฮวก อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูซางประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นด่านชายแดนไทย – ลาว ทุกๆวันที่ 10, 20 และ 30 ของเดือน จะจัดเป็นตลาดนัดเพื่อให้ประชาชนทั้งไทยและลาวได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ส่วนมากเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน พืชผลทางการเกษตรและหัตถกรรม เป็นต้น และเส้นทางนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปถึงภูชี้ฟ้าและผาตั้งจังหวัดเชียงรายได้ ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นลูกรัง
ผ้าทอไทยลื้อ ศิลปะและลวดลายบนพื้นผ้าที่มีความสวยงามเป็นเอกลัษณ์ของตัวเองของชาวไทยลื้อ แวะไปชมวิธีการทอ และซื้อหาได้บริเวณวัดพระธาตุสบแวน เวลาว่างจากภาระกิจประจำ แม่บ้านจะมารวมตัวกันทอผ้าที่นี่ นอกจากนั้นยังหาซื้อได้ที่ตลาดนัดที่บ้านฮวกซึ่งจะจัดทุกวันที่ 10 20 และ 30 ของทุกเดือนนอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น

Source : tourismthailand.org