สถานที่ท่องเที่ยวในร้อยเอ็ด

สถานที่ท่องเที่ยวร้อยเอ็ด

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวร้อยเอ็ด

อำเภอเมือง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง เป็นสถานที่จัดแสดงและรวบรวมเรื่องราวน่ารู้ทุกด้านของจังหวัดแห่งนี้ เดิมทีเดียวนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด จัดตั้งขึ้นตามดำริของท่านศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ในอันที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ฯ ศิลปหัตถกรรมอีสาน โดยเฉพาะผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง ต่อมาเมื่อกรมศิลปากร มีนโยบายในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง จึงได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาในการจัดแสดงให้ครอบคลุมข้อมูลเรื่องราวของจังหวัดทุกด้าน ทั้งด้านภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรณีโบราณคดี ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วิถีชีวิต ประเพณี และศิลปหัตถกรรม เริ่มโครงการจัดตั้งมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2536 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2540 จึงดำเนินการได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบด้วยงบประมาณด้านการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ปรับสภาพภูมิทัศน์ ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ จัดทำห้องประชุมและนิทรรศการพิเศษปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เฉพาะการจัดแสดงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่ ระบบสารสนเทศ การทำหุ่นจำลอง และฉากวิถีชีวิตต่าง ๆ เข้ามาประกอบการนำเสนอเรื่องราว ทำให้อาจกล่าวได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในความดูแลของกรมศิลปากร เปิดทุกวันระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2529 มีเนื้อที่ประมาณ 225 ไร่ ตกแต่งบริเวณด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ และต้นไม้น้อยใหญ่เพื่อให้ความร่มรื่น จุดเด่นของสวนแห่งนี้อยู่ที่น้ำพุบริเวณใจกลางสวนที่พุ่งฉีดในระดับสูง มีหอนาฬิกากลางเมืองสวยเด่นเป็นสง่าแก่เมืองร้อยเอ็ด มีอาคารอ่านหนังสือไว้สำหรับบริการประชาชน สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลและพิธีการต่างๆ ของจังหวัด เช่น งานปีใหม่
บึงพลาญชัย ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ร่มรื่น และในบึงน้ำมีปลาชนิดต่างๆ หลายพันธุ์มากมาย มีเรือสำหรับให้ประชาชนได้พายเล่นในบึง นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้งจัดมหรสพต่างๆ ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาวร้อยเอ็ด พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้ พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้ ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นสวนสัตว์และน้ำตกจำลอง สนามเด็กเล่น นกชนิดต่างๆ สวนสุขภาพ เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้างพลานามัยแก่ชาวร้อยเอ็ด
วัดกลางมิ่งเมือง ตั้งอยู่บนเนินในเมือง เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ส่วนอุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันเป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรม และสถานที่สอบธรรมสถาน ชื่อโรงเรียนสุนทรธรรมปริยัติ บริเวณผนังรอบอุโบสถมีลวดลายภาพวาด แสดงถึงพุทธประวัติ สวยงามและมีค่าทางศิลปะ
วัดสระทอง หรือวัดบึงพลาญชัย ตั้งอยู่ในตัวเมือง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพสักการะสร้าง ในสมัยใดไม่ปรากฏ เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระยาขัตติยะวงษา (ท้าวธน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ได้พบพระองค์นี้เห็นว่ามีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดสระทองและยกให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ในอดีตข้าราชการทุกคนต้องมาสาบานตนต่อหน้าหลวงพ่อว่า จะซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นประจำทุกปี
วัดบูรพาภิราม อยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบูรพาภิราม มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นห้องพิพิธภัณฑ์จำนวนหลายห้อง ความสูงขององค์พระวัดจากพระบาทถึงยอดเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 85 เซนติเมตร นอกจากนี้หลวงพ่อใหญ่ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ดด้วย ด้านทิศตะวันออกของบริเวณวัดอยู่ติดกับคูรอบเมืองสมัยเก่า ซึ่งเป็นที่สร้างศาลาศาลเจ้าพ่อมเหศักดานุภาพ ซึ่งชาวเมืองร้อยเอ็ดเคารพนับถือมาก

อำเภอธวัชบุรี
ปรางค์กู่หรือปราสาทหนองกู่ ตั้งอยู่ที่บ้านยางกู่ ตำบลมะอี การเดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้ามมีทางแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) ไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่อีก 1 กิโลเมตร ปรางค์กู่ คือ กลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่เชื่อกันว่า คืออโรคยาศาลตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมอันประกอบด้วย ปรางค์ประธาน บรรณาลัย กำแพงพร้อมซุ้มประตูและสระน้ำนอกกำแพง โดยทั่วไปนับว่าคงสภาพเดิมพอควร โดยเฉพาะปรางค์ประธานชั้นหลังคาคงเหลือ 3 ชั้น และมีฐานบัวยอดปรางค์อยู่ตอนบน อาคารอื่นๆ แม้หักพังแต่ทางวัดก็ได้จัดบริเวณให้ดูร่มรื่นสะอาดตา นอกจากนี้ภายในกำแพงด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นวางเก็บรักษาไว้ใต้อาคารไม้ ได้แก่ทับหลังหินทราย สลักเป็นภาพบุคคลนั่งบนหลังช้างหรือวัว ภายในซุ้มเรือนแก้วหน้ากาล จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม กล่าวว่าเป็นทับหลังหน้าประตูมุขของปรางค์ประธาน เสากรอบประตู 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งมีภาพสลักรูปฤาษีที่โคนเสาศิวลึงค์ขนาดใหญ่พร้อมฐานที่ได้จากทุ่งนาด้านนอกออกไป และชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นฐานของพระสังกัจจายน์ปูนปั้น กำหนดอายุว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18
บ้านหวายหลึม ตั้งอยู่ที่ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี บนเส้นทางสายร้อยเอ็ด-ยโสธร บริเวณกิโลเมตรที่ 145-146 ห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ด 25 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม มีการจัดตั้ง "กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต" เป็นศูนย์รวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์

อำเภอเกษตรวิสัย
กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร กู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ขณะนี้สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะให้เห็นสภาพชัดเจนสวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาลซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือนั้นครอบคลุมอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ของจังหวัดร้อยเอ็ด ในแนวทิศใต้มีลำน้ำมูลทอดยาวตลอดพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในแนวทิศตะวันตกผ่านอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ประมาณ 3 ใน 5 นั้นอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้มีเนื้อที่กว้าง 2,107,681 ไร่
สาเหตุที่ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้น ก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันว่า พวกกุลาซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ คือ มีความเข้มแข็งอดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำหรือต้นไม้ใหญ่เลย ฤดูแล้งแผ่นดินก็แห้งแตกระแหง
ปัจจุบันท้องทุ่งอันกว้างใหญ่นี้ได้รับการพัฒนาจากส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ บางแห่งก็ทำการเกษตรกรรม บางแห่งก็ใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับแต่จะมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ห่างจากที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ 6 กิโลเมตร เลยกู่พระโกนาไปเล็กน้อย

อำเภอสุวรรณภูมิ
กู่พระโกนา ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางตามทางหลวงสาย 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสาย 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากจังหวัด ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้าเป็นสวนยาง กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่าง สร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลัก ภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้น เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอ กด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร
จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16
สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตากแดด ตำบลหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ ลักษณะทางศิลปกรรม เป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ มีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบหน้าบันและรังผึ้งของสิมมีลายแกะสลักสวยงามภายในมีจิตรกรรมหรือ ฮูปแต้ม แสดงเรื่องในพุทธศาสนา สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านนอกสิมมีพระพุทธรูปแบบอีสานขนาดใหญ่ ซึ่งย้ายมาจากวัดใต้วิไลธรรม ในเขตอำเภอเดียวกัน (สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2541 และได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามประจำปี 2541)

อำเภอเสลภูมิ
บึงเกลือ (บุ่งเกลือ) อยู่ในเขตตำบลเมืองไพร ห่างจากตัวอำเภอเสลภูมิไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ ในบึงน้ำแห่งนี้มีน้ำขังตลอดปี ริมบึงมีหาดทรายขาวสะอาด กว้างขวาง ในวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าท่องเที่ยวพักผ่อนกันมากมาย

อำเภออาจสามารถ
สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน มีลักษณะทางศิลปกรรมเป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ ภายนอกมี “ฮูปแต้ม” เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี ภายในมีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อำเภอโพนทอง
แหลมพยอม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณทิศตะวันออกของบึงโพนทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพนทองไปทางทิศตะวันออก (ถนนสายอำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

อำเภอหนองพอก
วนอุทยานผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ เดินทางโดยรถยนต์สายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136 ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจได้แก่
ผาน้ำย้อย เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลตกและซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว บ้านโคกกลาง ตำบลโคกสว่าง มีเนื้อที่ป่ารอบๆ บริเวณหน้าผาพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด นับเป็นป่าที่มีค่าและหายากยิ่ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า ฯลฯ
ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 200 เมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 380-500 เมตร เป็นภูเขาแบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บนเขาลูกนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่งสร้างในพื้นที่ 2,500 ไร่ ตามไหล่เขามีศาลาการเปรียญที่ใหญ่โตมาก มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วัดนี้มีชื่อว่า "วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม" โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตัวองค์พระธาตุได้แบ่งเป็น 5 ชั้น และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในวรรณคดีประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมะอี่ ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 85 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นเนื้อที่สำหรับปลูกต้นไม้แบ่งตามวรรณคดี เช่น เรื่องพระเวสสันดร ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเบงพ่าย ลานพุทธประวัติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแยกตามสรรพคุณ บริเวณสวนมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองพอก ครอบคุมดูแลพื้นที่ประมาณ 151,242 ไร่ หรือประมาณ 242 ตารางกิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่จะเป็นเทือกเขาหินทรายสูงชันและสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่าแห่งนี้ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ หมูป่า สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณเขตห้ามล่าฯ คือ ผาพยอม ซึ่งเป็นจุดที่ใช้สำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น และผาน้ำทิพย์ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ชมพระอาทิตย์ตกดิน

Source : tourismthailand.org