สถานที่ท่องเที่ยวในลำพูน

สถานที่ท่องเที่ยวลำพูน

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวลำพูน

อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ตั้งอยู่ถนนอินทยงยศเยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อ พ.ศ. 2522 ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุแบ่งเป็น 3 ห้องคือ ห้องจัดแสดงใหญ่ เป็นห้องโถงยาวอยู่ชั้นบนของตัวอาคารมีการจัดแสดงวัตถุออกเป็น 3 สมัย คือสมัยก่อนหริภุญไชย สมัยหริภุญไชย และสมัยล้านนา ได้แก่ พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเทวดาเป็นต้น ห้องจัดแสดงศิลปพื้นบ้าน และเครื่องไม้จำหลัก เป็นห้องจัดแสดงเล็กที่อยู่อาคารเล็กชั้นเดียวมีโถงเชื่อมจากชั้นบนของอาคารหลังใหญ่ วัตถุที่แสดงเป็นศิลปะสมัยล้านนา รัตนโกสินทร์ แสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือตีเหล็ก เครื่องมือทอผ้า เครื่องดนตรีพื้นบ้าน พานดอกไม้เชี่ยนหมาก เป็นต้น ห้องศิลาจารึก เป็นห้องโถงเปิดโล่ง อยู่ชั้นล่างของตัวอาคาร จัดแสดงศิลาจารึก สมัยหริภุญไชย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 และศิลาจารึก สมัยล้านนา อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมา เปิดทำการเวลา 09.00 - 16.00 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 5351 1186 โทรสาร 0 5353 0536
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฎฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 06.00 - 18.00 น. ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท ภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตู ก่อนเข้าไปในบริเวณวัด จะผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงพระราชให้เป็นสังฆาราม
วิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว จะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง” เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2458 วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วและยังมีพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์
พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำ เจดีย์ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาในปี พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกา
ปทุมวดีเจดีย์ หรือพระสุวรรณเจดีย์ ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังจากสร้างพระบรมธาตุเสร็จได้ 4 ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือแบบขอม ปรากฎให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเครื่อง
อนุสาวรีย์สุเทวฤาษี ตั้งอยู่ที่บริเวณดอยติ ริมถนนสายซุปเปอร์ไฮเวย์ตรงทางเข้าสู่เมืองลำพูน เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน สุเทวฤาษีเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชย แต่เนื่องจากเป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงไปเชิญพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระธิดาของพระยาจักวัติแห่งเมืองละโว้มาปกครองเมืองหริภุญไชยแทน และยังได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาในนครหริภุญไชยอย่างมั่นคง
วัดมหาวัน ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร เลียบไปตามคูเมืองเก่า มีตำนานการสร้างวัดกล่าวว่า วัดนี้สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญไชย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อคือ พระรอดมหาวัน
วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ”
นอกจากนั้นยังมี รัตนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์
วัดพระยืน ตั้งอยู่ที่บ้านพระยืน ตำบลเวียงยอง ข้ามลำน้ำกวง ไปตามทางหลวงหมายเลข 114 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1029 ประมาณ 500 เมตร วัดพระยืนมีชื่อเดิมว่า วัดพฤทธมหาสถาน ซึ่งพระเจ้าธรรมมิกราช กษัตริย์หริภุญชัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1606-1611 พระเจดีย์วัดพระยืนเป็นพระเจดีย์ทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศ เครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็กเป็นประธาน คล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม และพระเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย
กู่ช้าง-กู่ม้า เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ซอยโรงเรียนจักรคำคณาทร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร กู่ช้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ชื่อ “ภูก่ำงาเขียว” ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม ส่วนกู่ม้า เป็นสถูปทรงระฆัง เชื่อว่าเป็นสุสานม้าทรงของพระโอรสพระนางจามเทวี
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่เชิงดอยติ บริเวณวัดดอยติ ตำบลป่าสัก ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง พระครูบาศรีวิชัยเป็นพระเถรเจ้า นักพัฒนาแห่งล้านนาไทย ผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจและด้านถาวรวัตถุให้แก่ชาวล้านนาไว้อย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2421-2481 ถิ่นฐานบ้านเดิมของท่านอยู่ที่บ้านแม่ตื่น อำเภอลี้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่เมืองนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ดอยขะม้อ อยู่ในตำบลมะเขือแจ้ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวเข้าทางหลวงสายสาย 1147 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่หลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นภูเขาไฟโบราณ รูปทรงสัณฐานคล้ายฝาชี บนยอดมีปล่องกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร ตอนล่างเป็นบ่อ มีน้ำตลอดปี การเดินขึ้นไปบ่อน้ำบนยอดเขาต้องขึ้นบันไดไป 1,749 ขั้น ประชาชนนับถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงตัก เมื่อถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปปนกับน้ำพระราชทาน แล้วจึงนำขึ้นสรงองค์พระธาตุและเมื่อพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะต้องนำน้ำในบ่อนี้อัญเชิญไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง
บ้านหนองช้างคืน เป็นแหล่งผลิตลำไยใหญ่ที่สุด อยู่ก่อนถึงเมืองลำพูน 8 กิโลเมตร โดยจะผ่านบ้านป่าเหวมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาเข้าบ้านหนองช้างคืน ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้าน ตลอดสองฝั่งทางที่ลดเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้านจะเนืองแน่นไปด้วยสวนลำไย ในราวเดือนสิงหาคมของทุกปี จะมีงานเทศกาลลำไยลำพูน จัดขึ้นในอำเภอเมือง ในงานนี้จะมีการประกวดรถประเภทสวยงามที่ประดับตกแต่งด้วยลำไย การประกวดผลิตผลลำไยและธิดาลำไย
หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยอง อยู่บริเวณบ้านศรีเมืองยู้ ตำบลเวียงยอง เป็นหมู่บ้านผลิตผ้าฝ้ายโดยฝีมือชาวบ้าน ผ้าที่ผลิตจะเป็นผ้าฝ้ายและผ้าฝ้ายยกดอก รวมถึงผลิตภัณฑ์จากฝ้ายอื่น ๆ

อำเภอบ้านธิ
วัดศรีดอนชัย ตั้งอยู่บ้านสันมะนะ หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านธิ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 11 ระหว่างกิโลเมตรที่ 76–77 เข้าไป 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสูง 59 ศอก เป็นพระพุทธรูปที่สูงและใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สร้างขึ้นจากศรัทธาของประชาชน ในปี พ.ศ. 2538 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 และพระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธเฉลิมสิริราช”
วัดพระธาตุดอยเวียง ตั้งอยู่บ้านดอยเวียง หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านธิ ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 7 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ และบนดอยเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์เก่าแก่ซึ่งมีพระสารีริกธาตุบรรจุอยู่ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1220 ในสมัยพระนางจามเทวี
ตามตำนานจารึกในใบลานเล่าว่าขุนหลวงปาละวิจา มาตั้งเมืองที่นี่ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและได้สร้างวัดไว้บนดอย ต่อมาถูกไฟป่าไหม้ลุกลาม ทำให้เหลือแต่เจดีย์และศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีก 3 องค์ องค์แรกเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งฝนแล้ง ชาวบ้านเดือดร้อนเลยนำพระองค์นี้มาแห่ขอฝนปรากฎว่าฝนตก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระองค์นี้ว่า “พระเจ้าสายฝน” องค์ที่สองหน้าตักกว้าง 99 นิ้ว ประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ องค์ที่สามหน้าตักกว้าง 89 นิ้วประดิษฐานที่เชิงดอย ทั้งสององค์ข้างในเป็นศิลาแลงและข้างนอกฉาบปูน สมัยที่ค้นพบนั้นเหลือไม่เต็มองค์เศียรปักดินชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระเจ้าดำดิน” ชั้นบนสุดของดอยเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ธาตุดอยเวียง และทุก ๆ ปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ
พระธาตุดอยห้างบาตร ตั้งอยู่บ้านไซใต้ ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อถึงหมู่บ้านไซใต้ จะเห็นพระธาตุดอยห้างบาตรอยู่ทางขวามือ เป็นเจดีย์ทรงจัตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อไร ตามตำนานเล่าว่าสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังดอยลูกนี้และเตรียมเสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ซึ่งการเตรียมบาตรภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ห้างบาตร” ปรากฎร่องรอยห้างบาตรอยู่เป็นหลุมลึกลงไปหินดินดานและมีมณฑปครอบไว้ พระธาตุแห่งนี้อยู่บนยอดดอยที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกล

อำเภอแม่ทา
หมู่บ้านแกะสลักอำเภอแม่ทา เดินทางไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักร ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณบ้านหนองยางไคล ตำบลทุ่งทาหลวง และบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับบ้าน ของเล่นเด็ก เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนส่งไปขายยังจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อำเภอห้างฉัตรและอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 159,556 ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟลงที่สถานีขุนตาล เดินเท้าอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์เดินทางไปตามเส้นทางลำปาง-ลำพูน (ทางหลวงหมายเลข 11) กิโลเมตรที่ 47 เข้าไปประมาณ 18 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจของอุทยานฯ
อุโมงค์ขุนตาล เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 1,352 เมตร สร้างขึ้นโดยชาวเยอรมันชื่อเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะในระหว่างการสร้างอุโมงค์เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้นายเอมิลเดินทางกลับประเทศ ต่อมาปี พ.ศ. 2460 กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟ เสด็จมาเป็นแม่งานก่อสร้างจนเสร็จในปี พ.ศ. 2461
บริเวณยอดเขา จากที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีที่พักของกรมป่าไม้ตั้งอยู่ เดินเท้าต่อไปประมาณ 1,500 เมตร จะถึง ย. 1 หรือจุดยุทธศาสตร์ 1 เป็นที่ตั้งของบ้านพักรับรองของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 800 เมตร จะถึง ย. 2 บริเวณนี้มีต้นสนเขาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีบ้านพักรับรองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายในบริเวณปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวและจัดตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม หากเดินต่อไปอีกประมาณ 3,600 เมตร จะถึง ย. 3 เป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชันนารี จุดสูงสุดของเทือกเขาดอยขุนตาลมีชื่อเรียกว่า “ม่อนส่องกล้อง” หรือ ย. 4 ระยะทางเดินจาก ย. 3 ประมาณ 1 กิโลเมตร
น้ำตกแม่กลอง อยู่ทางทิศใต้ของสถานีขุนตาล ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร โดยลงรถไฟที่สถานีแม่ตาลน้อย แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกตาดเหมย อยู่แยกจากเส้นทางด้านซ้ายมือ ระหว่างทางจาก ย. 2 ไป ย. 3 โดยต้องเดินลงไปในหุบเขาแม่ยอนหวาย ประมาณ 300 เมตร
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์ไปเองทางอุทยานฯ ได้จัดบริเวณสำหรับกางเต็นท์ไว้ให้ ติดต่อสำรองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 5734, 0 2579 7223 หรืออุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล โทร.0 5351 9216-7 นอกจากนี้ยังมีบ้านพักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2225 6964 และบ้านพักมิชชันนารี ของมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5324 1255

อำเภอป่าซาง
แหล่งทอผ้าบ้านหนองเงือก ตั้งอยู่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 138–139 แล้วเลี้ยวเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร บ้านหนองเงือกเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือและสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่ทำจากผ้าฝ้าย เช่น ปลอกหมอน ม่าน ผ้าปูโต๊ะ เสื้อผ้า ราคาไม่แพง และยังผลิตส่งไปจำหน่ายยังแหล่งขายของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
วัดหนองเงือก ตั้งอยู่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง ไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (ลำพูน-ลี้) กิโลเมตรที่ 138–139 แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่แสดงให้เห็นศิลปกรรม
ฝีมือช่างพื้นบ้าน สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ ศิลปะปูนปั้นที่ซุ้มประตูของวัด และหอไตร ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพม่า ลักษณะเป็นตึกโบราณ 2 ชั้น ชั้นล่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
หอศิลป อุทยานธรรมะ ตั้งอยู่ที่ 109/2 หมู่ 1 บ้านป่าซางน้อย สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 และเข้าซอยข้างตลาดป่าซางไป 500 เมตร อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เป็นสวนร่มรื่น มีอาคารใช้สำหรับจัดแสดงงานประติมากรรม เกี่ยวกับธรรมะและพระพุทธศาสนา รอบ ๆ อาคารมีแบบจำลองประติมากรรม มุมแสดงเสียงพิเศษ ตั้งขึ้นโดยคุณอินสนธ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม ปี พ. ศ. 2542 ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทศิลปะและธรรมะ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เปิดให้เข้าชมในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 1600 น. สำหรับวันจันทร์-ศุกร์ ต้องโทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้าที่โทร. 0 5352 1609
วัดป่าเหียง ตั้งอยู่บ้านกองงาม ตำบลแม่แรง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 1032 (ข้างวัดป่าซางงาม) ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตามประวัติวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 มีหอไตรอายุกว่าร้อยปี สร้างไว้กลางสระ เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หน้าบันและบานประตูแกะสลักอย่างสวยงาม และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตั้งอยู่ตำบลมะกอก เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 ช่วงกิโลเมตรที่ 136–137 เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นบันไดทางขึ้นวัดอย่างชัดเจน วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่าพระพุทธองค์พร้อมด้วยสาวกได้เสด็จจาริกสั่งสอนไปตามที่ต่าง ๆ จนถึงที่แห่งนี้ได้รับสั่งให้นำจีวรที่ซักระหว่างทางออกมาตากกับหน้าผาหิน ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้ จากนั้นจึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน และบนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย ปัจจุบันสามารถนำรถขึ้นไปได้ เมื่อถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือนแปดเหนือ ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประเพณีทุกปี
ถ้ำเอราวัณ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลนครเจดีย์ บริเวณที่ทำการย่อยสำนักงานหน่วยแนุรักษ์ป่าไม้แม่อาว เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 ช่วงกิโลเมตรที่ 124 มีป้ายบอกทางเลี้ยวเข้าถนนลาดยาง 4 กิโลเมตร และลูกรังอีก 7 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการย่อยของสำนักงานหน่วยอนุรักษ์ป่าไม้แม่อาว ลักษณะปากถ้ำจะมีขนาดเล็กลาดต่ำจนถึงปากคูหาถ้ำ เมื่อผ่านปากถ้ำเข้าไปจะพบห้องโล่งกว้างแสงแดดเข้าไม่ถึงบางแห่งของห้องโถงใหญ่แบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ กระจายอยู่ซึ่งแต่ละห้องจะมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม การเดินทางเข้าไปในถ้ำควรมีเจ้าหน้าที่นำทาง และควรนำไฟฉายติดตัวไปด้วยเพราะภายในถ้ำไม่มีไฟฟ้า

อำเภอบ้านโฮ่ง
วัดพระเจ้าตนหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลศรีเตี้ย สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 108 และเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 1010 เข้าไปประมาณ 6 กิโลเมตรก็จะถึงตัววัด วัดนี้เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 เมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงเมาลี 9.5 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1909 โดยพระเถระสิริราชวโส เพื่อหลีกเคราะห์กรรม และภัยพิบัติ จึงมีฉายานามว่า “พระเจ้าหลีกเคราะห์” อีกชื่อหนึ่ง
หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลป่าพลู สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (ลำพูน-ลี้) ระหว่างกิโลเมตรที่ 107–108 เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ยังคงประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมไว้คือการทอผ้าแบบดั้งเดิมโดยใช้เอวเป็นกี่ในการทอ
ถ้ำหลวงผาเวียง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลป่าพลู สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (ช่วงบ้านโฮ่ง – ลี้) จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 2.8 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีความสวยงามภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 8 ห้อง เช่น ลานรมณีย์ เป็นห้องกว้างมีแสงสว่างจากปากถ้ำส่องถึง อัคนีโขดเขิน เป็นห้องที่มีร่องรอยการพังทะลายของหินงอกหินย้อย และเนินไศลงามตา เป็นเนินดินสลับกับก้อนหินตั้ง เป็นต้น ค่าเข้าชมถ้ำคนละ 10 บาท ภายในถ้ำจะติดไฟฟ้าไว้บริการ
วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (ลำพูน-ลี้)บริเวณกิโลเมตรที่ 113 เลี้ยวเข้าทางบ้านโฮ่งหลวงประมาณ 4 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดที่สวยงาม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2484 ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระเจ้าสะเลียมหวาน ซึ่งแกะสลักจากไม้สะเดา เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนทั่วไป

อำเภอลี้
วัดบ้านปาง ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย ห่างจากตัวอำเภอลี้ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลี้-บ้านโฮ่ง-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ 89 เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกภายในบริเวณวัดนอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน ได้แก่ สบง จีวร หมอน กระโถน และแจกัน เป็นต้น
วัดพระธาตุห้าดวง (เวียงเจดีย์ห้าหลัง) ตั้งอยู่ที่ตำบลลี้ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ประมาณ 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ เพราะมีซากกำแพงและคูเมืองตั้งเป็นแถว วัดนี้เป็นที่ตั้งของหมู่เจดีย์ 5 องค์
ตามตำนานกล่าวว่าพระนางเจ้าจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญไชย ได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏเห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง เวลากลางคืนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวง ลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาก็ทราบว่า คือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ และในวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง
วัดพระบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายในมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม โดยครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังของทางภาคเหนือเป็นผู้บูรณะก่อสร้างและจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบบริเวณวัด ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และทุกปีประมาณเดือนธันวาคมชาวกะเหรี่ยงจะจัดงานชุมนุมชาวกะเหรี่ยงและสืบสานวัฒนธรรม มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรมชาวดอย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือชาวกะเหรี่ยง บริเวณบ้านพระบาทห้วยต้ม
อุทยานแห่งชาติแม่ปิง สามารถเดินทางไปตามหลวงหมายเลข 106 (สายลำพูน-ลี้) บริเวณกิโลเมตรที่ 47 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 1087 (สายลี้ –ก้อ) บริเวณกิโลเมตรที่ 20– 21 ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เดิมนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีพื้นที่ 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่บางส่วนเป็นลำน้ำปิงซึ่งยาวประมาณ 140 กิโลเมตร และสองฝั่งแม่น้ำเป็นเกาะแก่ง หน้าผา หินงอก หินย้อย การเดินทางท่องเที่ยวลำน้ำปิงสามารถเริ่มจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เรือหางยาว แล้วมาต่อแพที่แก่งสร้อย ล่องมาจนถึงเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในทางกลับกันอาจจะเช่าเรือหรือแพจากเขื่อนภูมิพลล่องขึ้นไปก็ได้
สถานที่น่าสนใจของอุทยานฯ
ถ้ำยางวี เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่อยู่ภายในอุทยานฯ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว เม่นและเลียงผา การเดินทางเข้าไปชมต้องใช้ไฟฉายหรือคนถือไฟนำทางเข้าไป ไม่ไกลจากบริเวณถ้ำยางวีจะมีป่าที่มีลักษณะเป็นป่าเต็งรังผสมสนสองใบเรียกว่า “ป่าพระบาทยางวี” มีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบเดินป่าพักค้างแรม
ทุ่งกิ๊ก อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 15 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติกว้างใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานฯ และที่ราบเนินเขาปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าสลับป่าเต็งรัง มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำพวกเก้ง กวาง กระต่าย นก และไก่ป่าชนิดต่างๆ กิจกรรมดูนกเป็นที่นิยมมาก นักท่องเที่ยวสามารถมาตั้งแค้มป์พักพักแรมบริเวณทุ่งกิ๊กได้ ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม กล้วยไม้ป่ากว่า 20 ชนิด จะบานสะพรั่งสวยงามมาก
น้ำตกก้อหลวง อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 22 กิโลเมตร และเดินเท้าอีก 500 เมตร เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำน้ำในห้วยแม่ก้อ ไหลผ่านหินดินดานเทาดำและหินทรายของหน้าผาที่มีความสูงต่างระดับลดหลั่นกันลงมาทั้งหมด 7 ชั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นหินปูน จึงทำให้บริเวณน้ำตกมีหินงอกหินย้อยสวยงามตามธรรมชาติ และยังมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่สีเขียวใส มีปลาอาศัยอยู่มากมาย
แก่งก้อ อยู่ในเขตบ้านก้อจัดสรร หมู่ 4 ตำบลก้อ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 23 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่า (หน่วยที่ 2) แก่งก้อเป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่เกิดจากลำห้วยแม่ก้อไหลมาบรรจบแม่น้ำปิง นักท่องเที่ยวสามารถมาพักเรือนแพ นั่งเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งมีเขาหินปูนถูกกัดเซาะ เกิดหินงอกหินย้อยอย่างงดงาม ตามเส้นทางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก เช่น น้ำตกอุ้มปาด โรงเรียนเรือนแพ ถ้ำช้างร้อง วัดพระธาตุแก่งสร้อย ซึ่งตำนานเล่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเมืองสร้อยอายุกว่า 800 ปี มีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาหลายยุคสมัยและมีพญาอุดมเป็นผู้ปกครองเมืองคนสุดท้าย จากนั้นเมืองสร้อยก็จมอยู่ในท้องน้ำ ยังคงมีซากกำแพงเก่าให้เห็นอยู่ ส่วนเจดีย์ชำรุดตามกาลสมัย เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางต่อเพื่อชมบริเวณหน้าเขื่อนภูมิพลได้อีกด้วย
อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีสถานที่กางเต็นท์และเรือนแพไว้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตู้ ปณ.18 อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ ถนนพหลโยธิน

Source : tourismthailand.org