สถานที่ท่องเที่ยวในสมุทรสงคราม

สถานที่ท่องเที่ยวสมุทรสงคราม

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสมุทรสงคราม

อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ดอนหอยหลอด สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสันดอนตั้งอยู่ปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการตกตะกอนของดินปนทราย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทรายขี้เป็ด” ดอนหอยหลอดมีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 แห่ง แห่งแรกได้แก่ ดอนนอก อยู่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง เดินทางไปได้โดยทางเรือ ดอนใน อยู่ที่ชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง และอีกแห่งคือ ชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว สามารถเดินทางไปได้โดยทางรถยนต์ บริเวณสันดอนมีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด ได้แก่ หอยหลอด หอยลาย หอยปุก หอยปากเป็ด หอยแครง แต่พบว่าหอยหลอดเป็นหอยที่มีจำนวนมากที่สุด จึงเป็นจุดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้
หอยหลอดเป็นหอยชนิด 2 ฝา ตัวสีขาวขุ่น มีเปลือกคล้ายหลอดกาแฟ ฝังตัวอยู่ในเลน การจับหอยหลอด จะจับในช่วงน้ำลง โดยใช้ไม้เล็ก ๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาว แล้วแทงลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูนแล้วโผล่ขึ้นมาให้จับ ไม่ควรสาดปูนขาวลงบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะท่องเที่ยวดอนหอยหลอด คือ ประมาณเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เพราะน้ำทะเลจะลดลงนานกว่าช่วงเวลาอื่น และสามารถมองเห็นสันดอนโผล่ขึ้นมา นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือบริเวณศาลาอาภร ( ใกล้ศาลกรมหลวงชุมพรเขตตอุดมศักดิ์ ) เพื่อนั่งเรือไปชมดอนหอยหลอด ราคาเช่าลำละ 50 บาท (ไม่เกิน 5 คน) หรือ ไปเรือโดยสารราคาคนละ 5 บาทต่อเที่ยว นักท่องเที่ยวคนละ 10 บาทต่อเที่ยว หากต้องการเช่าไปเที่ยวชมทิวทัศน์ป่าชายเลน (ไม่เกิน 7 คน ) ราคาลำละ 300 บาท นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเวลาน้ำขึ้น – น้ำลง ได้ที่ อบต. บางจะเกร็ง โทร 0 3472 3749
บริเวณดอนหอยหลอด ยังเป็นที่ประดิษฐานศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีการแสดงดนตรีไทยทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 17.00 - 18.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตตอุดมศักดิ์
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและร้านขายสินค้าของที่ระลึกหลายร้านเรียงรายบริเวณดอนหอยหลอดขายสินค้าประเภทอาหารทะเลสด-แห้ง หอยหลอดสด-แห้ง น้ำปลา กะปิคลองโคน น้ำตาลปึก น้ำตาลสด ฯลฯ
วัดศรัทธาธรรมหรือวัดมอญ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบล บางจะเกร็ง ไปตามถนนธนบุรี-ปากท่อ (พระราม2) ประมาณกิโลเมตร ที่ 64 ไปเส้นทางเดียวกับไปดอนหอยหลอด เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้จะอยู่ทางขวามือก่อนถึงดอนหอยหลอด) วัดนี้เป็นวัดที่มีพระ-อุโบสถเป็นจุดเด่น สร้างโดยพระครูสมุทรวิสุทธิวงศ์ (อดีตเจ้า- อาวาส) เมื่อพ.ศ.2535 พระอุโบสถทำด้วยไม้สักทองผนังฝังมุกทั้งด้านในและด้านนอก ลวดลายมีความละเอียดงดงามมาก แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและรามเกียรติ์ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลม หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงพ่อพุทธโสธรเป็นที่สักการะของชาวสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียง ในบริเวณวัดมีขนมกาละแม-รามัญจำหน่ายโดยกลุ่มแม่บ้านรามัญพัฒนา เป็นขนมขึ้นชื่อของวัดมีรสชาติเหนียว หวาน มัน ห่อด้วยกาบหมาก สามารถชมการสาธิตกวนกาละแมในกะทะใบใหญ่ได้ในบริเวณวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0 3471 1305
วัดเขายี่สาร ตั้งอยู่ที่บ้านเขายี่สาร ตำบลเขายี่สาร เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจได้แก่พระวิหารบนยอดเขามีลักษณะเป็นรูปเรือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งเป็นองค์ประธานของวัด พระมณฑปและบานประตูสลักไม้ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายนับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง พระอุโบสถบูรณะใหม่ประดิษฐ์ลวดลายปูนปั้นด้วยฝีมือช่างเมืองเพชร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝีมือเดิม บานหน้าต่างเป็นรูปบุคคลในพงศาวดารจีน ถ้ำพระนอนประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีนิ้วพระบาทเก้านิ้ว นอกจากนี้ด้างล่างยังมีศาลประดิษฐานหลวงพ่อปู่ศรีราชามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป มีงานนมัสการหลวงพ่อปู่กลางเดือนอ้ายของทุกปี
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขายี่สาร โดยใช้อาคารศาลาการเปรียญของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2539 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนยี่สารที่มีความสำนึกในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นชุมชนยี่สารเป็นชุมชนโบราณ ร่วมสมัยกับการเกิดกรุงศรีอยุธยา มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวเหล่านี้เป็นจนข้อมูลสำคัญที่น่าศึกษา หาค้นคว้าได้จากพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร อาคารชั้นล่างจัดแสดงภูมิปัญญาบ้านเขายี่สาร ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน เครื่องมือผลิตยาสมุนไพร เครื่องใช้ไม้สอยของชาวบ้านในชุมชน ชั้นบนจัดแสดงภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวชุมชนเขายี่สาร เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 15.00 น. ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ตรงกับวันธรรมสวนะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ส่วนวันจันทร์-ศุกร์เปิดให้เข้าชมเมื่อมีการติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ ค่าเข้าชม เด็ก นักเรียน 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณสิริอาภา รัชตะหิรัญ โทร. 0 2433 1547, 0 1859 3195 องค์การบริหารส่วนตำบลเขายี่สารโทร. 0 3476 3108 โทรสาร 0 3476 3109
วัดบ้านแหลม หรือ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมือง บริเวณถนนเพชรสมุทร เดิมชื่อวัดศรีจำปา เป็นวัดที่สำคัญของจังหวัด ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา ปีพ.ศ.2307 พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาช่วยรักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อบ้านเดิมของตนในเมืองเพชรและช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา เรียกวัดนี้ใหม่ว่า “วัดบ้านแหลม” ชาวบ้านแหลมนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวประมง คราวหนึ่งได้ออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลองพบพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน สำหรับพระพุทธรูปนั่งได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี สำหรับพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรสูงประมาณ 167 เซนติเมตร (แต่บาตรนั้นสูญหายไปในทะเล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดชได้ถวายบาตรไว้ให้บาตรหนึ่งเป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน) นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป วัดบ้านแหลมเจริญขึ้นเป็นวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้คนมาทำบุญนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมกันเรื่อยมา ต่อมาวัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ จัดแสดงพระพุทธรูป และพระเครื่องสมัยต่างๆ โบราณวัตถุเครื่องลายคราม และธรรมมาสน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยา ปกติไม่เปิดให้เข้าชม ต้องติดต่อเจ้าอาวาสก่อนล่วงหน้า
อนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จันและพิพิธภัณฑ์เรือ ตั้งอยู่ตำบลลาดใหญ่ ริมถนนเอกชัย (ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 4 กม.) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ฝาแฝดสยามอิน-จันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก ภายในบริเวณเป็นลานกว้างประดับด้วยต้นไม้ดอกไม้ อนุสรณ์แฝดสยามอิน-จันตั้งอยู่กลางลาน ด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาคารโถงจัดแสดงชีวประวัติของแฝดสยามอิน-จัน “ แฝดสยามอิน-จันเกิดที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2354 (ค.ศ.1811) ประมาณปีพ.ศ.2371-2372 (ค.ศ.1828-1829) กัปตันคอฟฟินและฮันเตอร์เดินทางมาติดต่อการค้าที่แม่กลอง พบฝาแฝดคู่นี้จึงขอนำกลับไปอเมริกาและอังกฤษ เพื่อเปิดการแสดงในที่ต่างๆ เรื่องราวชีวิตของแฝดสยามอิน-จัน ฝาแฝดที่มีร่างกายท่อนบนติดกันและสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติยาวนานจนถึงอายุ 63 ปี ได้รับการกล่าวขานทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อ “Siamese Twin” ในอาคารโถงเดียวกันนอกจากชีวประวัติแฝดสยามแล้ว ยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง เป็น พิพิธภัณฑ์เรือ รวบรวมเรือพื้นบ้านหลายชนิดมาจัดแสดงไว้เพื่อให้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแม่กลอง พิพิธภัณฑ์เรือเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.00-12.00 น . ค่าเข้าชม 15 บาท สอบถามรายละเอียด โทร. 0 3471 1333

อำเภออัมพวา มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยก่อนเรียกกันว่า “แขวงบางช้าง” เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตรและการพาณิชย์ มีหลักฐานเชื่อได้ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชินิกุล “ณ บางช้าง” พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้ นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ภายหลังหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีบางช้างและย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม อีก 3 ปี ปีพ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า “บุญรอด” (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ในรัชกาลที่ 2) ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี พระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดและสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เองคุณนาคภรรยาก็ได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชายชื่อ ฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และได้ดำรงตำแหน่งจนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรีเริ่มเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คุณนาคภรรยาจึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้นมารดาคุณนาค ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติต่างๆ ที่สนิทประกอบอาชีพทำสวนอยู่ที่บางช้าง เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงนับเป็นราชินิกุล “บางช้าง” พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ จึงมีคำกล่าวเรียกว่า “สวนนอก” หมายถึง สวนบ้านนอก ที่เป็นของวงศ์ราชินิกุลบางช้าง ส่วนบางกอก ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า “สวนใน” มีคำกล่าวว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” จนถึงใน สมัยรัชกาลที่ 4 จึงยกเลิกไป อำเภออัมพวาจึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน
ตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าคา เป็นตลาดนัดทางน้ำที่ยังคงความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำสวนปลูกพืชชนิดต่างๆ ชาวบ้านจะพายเรือนำผลผลิต พืชผักและผลไม้จากสวน เช่น พริก หอม กระเทียม น้ำตาลมะพร้าว ฝรั่ง มะพร้าว ชมพู่ ส้มโอมาขาย แลกเปลี่ยนกัน เฉพาะในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ (ทุกๆ 5 วัน) ปัจจุบันได้เพิ่มวันนัดเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00–11.30 น. นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อเช่าเรือพายเที่ยวชมหมู่บ้านและเรือกสวนผลไม้ในบริเวณนั้นได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันเวลานัดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา โทร. 0 3476 6208
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ 32 (เลยทางแยกเข้าวัดเกาะแก้วไปเล็กน้อย) มีทางแยกขวาไปอีก 5 กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางขึ้นรถได้ที่ตลาดตัวเมือง หน้าธนาคารทหารไทย สายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ตั้งแต่เวลา 07.00–18.00น. รถออกทุก 20 นาที
วัดจุฬามณี ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตร 34 – 35 ตำบลบางช้าง เป็นวัดโบราณริมฝั่งคลองอัมพวาต่อเนื่องกับคลองผีหลอก วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่า ท้าวแก้วผลึก(น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชินิกุลบางช้างเป็นผู้สร้างขึ้น บริเวณหลังวัดเดิมเป็นนิวาสสถานของคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ) และคุณบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2)
วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 37 – 38 ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจอยู่ภายในวิหารเก่าของวัด ผนังวิหารด้านบนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังลักษณะแตกต่างจากทั่วไป คือ เป็นปูนปั้นลวดลายนูนแสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ผนังวิหารด้านล่างโดยรอบมีช่องเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้กลางวิหารยังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่ซ้อนกันสี่รอยลดหลั่นกันไป สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เดิมมีแผ่นเงินหุ้มแต่ถูกขโมยไปเมื่อครั้งสงคราม พระพุทธบาทรอยที่ซ้อนลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุกยังคงหลงเหลือลวดลายงดงาม บริเวณลานวัดจะเห็นร้านกาแฟเล็กๆจำหน่ายชา กาแฟรสชาติหอมอร่อยแบบดั้งเดิม
วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่ติดกับอุทยาน ร. 2 เป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังวัดแห่งนี้เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และ คุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ) และเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 เชื่อกันว่า บริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันเจติยาราม เดิมเป็นเรือนที่คุณนาคใช้เป็นที่คลอดคุณฉิมบุตรชาย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอัมพวันเจติยารามได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดอัมพวันเจติยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถตลอดจนถาวรวัตถุในวัดนี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นพระอุโบสถที่มีความงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรต ิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯถวาย มีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง แบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น หอกลาง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ห้องชาย จัดแสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ มีพระพุทธรูปสำหรับบูชา รวมทั้งแท่นพระบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ห้องหญิง แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ ห้องครัวและห้องน้ำ จัดแสดงลักษณะครัวไทยมีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชามและห้องน้ำของชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ยังมีโรงละครกลางแจ้งและสวนพฤกษชาติเป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดและมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง จำหน่ายพันธุ์ไม้ อุทยาน ร.2 เป็นสถานที่ๆมีความร่มรื่น เหมาะสำหรับเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศแบบไทย ที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ อุทยานฯเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น. อัตราค่าเข้าชม เด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท ส่วนพิพิธภัณฑ์เปิดเวลา 09.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3475 1666
การเดินทาง รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกิโลเมตรที่ 63 เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ผ่านตัวเมือง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตรที่ 36-37 มีทางแยกซ้ายไปอุทยานฯ เข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
รถโดยสายประจำทาง ขึ้นรถได้ที่ตลาดเทศบาลอำเภอเมือง สายแม่กลอง-บางนกแขวก–ราชบุรี ลงหน้าอุทยาน ร.2
ศิลปะการทำซออู้ บ้านพญาซอ ซอเป็นเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านภาคกลาง บ้านพญาซอเป็นบ้านช่างซออู้ ที่นำศิลปะการเล่นดนตรีไทยมาผนวกกับการแกะสลักซอเป็นลวดลายที่งดงาม โดยการนำผลมะพร้าวที่ใช้ทำซอ ซึ่งมีลักษณะพิเศษมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายตัวละคร ลายพุดตาน ลายนามย่อ ลายนามปีนักษัตรเช่น ชวด ฉลู ปัจจุบันหาชมศิลปะการแกะสลักเช่นนี้ได้ยาก นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถชมศิลปะการแกะสลักซอและเรียนรู้การใช้ซอได้ที่ บ้านคุณสมพร เกตุแก้ว เลขที่ 43 หมู่ 5 ต.บางพรหม อ.บางคนที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3476 1949
การเดินทาง บ้านพญาซอ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) กิโลเมตร ที่ 36-37 มีทางแยกซ้ายไปอุทยาน ร.2 บ้านพญาซออยู่เลยอุทยาน ร.2 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตรงปากคลองประชาชื่นฝั่งตะวันตก ตำบลสวนหลวง สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดมีมากมาย ได้แก่ กุฎีทอง ทำด้วยไม้สัก ประวัติเล่าว่า เศรษฐีบิดาของคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ) ให้สมภารวัดบางลี่ตรวจดูดวงชะตาคุณนาค สมภารทำนายว่าจะได้เป็นพระราชินีเศรษฐีบิดาคุณนาคจึงให้ คำมั่นว่า ถ้าเป็นจริงจะสร้างกุฎีทองถวายให้วัด วัดบางลี่จึงได้ชื่อว่า วัดบางลี่กุฎีทอง ต่อมาวัดบางลี่ถูกน้ำเซาะที่ดินพังลง จึงรื้อกุฎีทองมาสร้างไว้ที่วัดภุมรินทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง นอกจากนี้ ยังมี พิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์และอุทยานการศึกษา เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณ วัตถุล้ำค่าสมควรแก่การศึกษาและอนุรักษ์ ไว้ เช่น พระพุทธรูป หนังสือไทย โถลายคราม และ เครื่องทองเหลือง พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัยชื่อ พระพุทธรัตนมงคลหรือหลวงพ่อโต และ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน สอบถามรายละเอียดได้ที่พระปลัดถาวรปิยธโร โทร. 0 3475 1492
บ้านดนตรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดภุมรินทร์กุฎีทอง โดยใช้อาคารโรงเรียนเป็นที่ทำการสอนดนตรีไทย ด้วยสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม เล็งเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์สืบทอดให้ลูกหลานชาวสมุทรสงคราม ได้ภาคภูมิใจ จึงได้รวบรวมนักดนตรีไทยรุ่นเก่าๆที่สมัครใจ ให้อบรมสั่งสอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดความเป็นเมืองแห่งดนตรีไทยไว้สืบชั่วลูกหลาน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นมา สอนทั้งในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ โทร. 0 3475 1500
วัดบางแคใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองบางแค ตำบลแควอ้อม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2357 ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระอุโบสถหลังใหญ่อายุกว่า 150 ปี ด้านหน้ามีเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา พระประธานในอุโบสถปางมารวิชัยปั้นด้วยศิลาแลง มีธรรมเจดีย์ 7 องค์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2415 มีกำแพงแก้วล้อมรอบ และบนฝาประจัน (ฝากั้นห้อง) กุฏิสงฆ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว เขียนในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นเรื่องราวการทำสงครามไทย-พม่า ซึ่งน่าจะเป็นครั้งที่ ร.2 โปรดให้ไปขัดตาทัพที่ราชบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2364 ซึ่งไม่ได้เปิดให้ชมทั่วไปต้องขออนุญาต
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3062 ประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านวัดภุมรินทร์กุฎีทอง จะเห็นวัดบางแคใหญ่
บ้านแมวไทยโบราณ เป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์แมวไทยโบราณ ตั้งอยู่เลขที่ 2/1 หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม บ้านแมวไทยโบราณ เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนที่นิยมเลี้ยงแมวไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์แมวไทย ให้อยู่คู่กับประเทศไทยเป็นสมบัติของชาติตลอดไป และเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องคุณสมบัติและลักษณะที่ถูกต้องของแมว สนับสนุนด้านการค้นคว้าวิจัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมทั้ง เพิ่มพูนความรู้ระหว่างสมาชิก แลกเปลี่ยนเรื่องและประสบการณ์การวิจัย การผสมพันธุ์กับองค์กรการเลี้ยงแมวที่เกี่ยวข้อง คุณปรีชา พุคคะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้ดูแลบ้านแมวไทยโบราณเล่าให้ฟังว่า “ เดิมคุณแม่เป็นผู้เลี้ยงแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศ สมัยนั้นผมยังเด็กไม่ค่อยได้สนใจ พอโตขึ้น ถูกใช้ให้คลุกข้าวเลี้ยงแมว ช่วงนั้นมีแมวอยู่ในบ้านไม่มากนัก เลี้ยงมาเรื่อยๆ แมววิเชียรมาศ ไม่เคยขาดบ้าน มีความผูกพันกับแมวมาตลอด ต่อมามีเพื่อนฝูงที่นิยมเลี้ยงแมวมากขึ้น ไปมาหาสู่พูดคุยกันว่าน่าจะอนุรักษ์ไว้ เพราะแมวไทยเป็นแมวที่ฉลาด ช่างประจบ รักบ้าน รักเจ้าของและสวยสง่า มองดูสะดุดตา” แมวไทยมีหลายพันธุ์ทั้งพันธุ์สีสวาท ศุภลักษณ์ โกญจา ภายในบ้านแมวไทยมีเรือนเพาะเลี้ยงแมวไทย แบ่งเป็นกรงเลี้ยงแมวไทยประเภทต่างๆ บ้านแมวไทยโบราณ เป็นสถานที่น่าสนใจเหมาะแก่การศึกษาหาความรู้เรื่องแมวไทยพันธุ์แท้ๆ ผู้สนใจเยี่ยมชมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3473 3284
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 325 (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3062 ข้ามคลองประชาชมชื่น ผ่านวัดภุมรินทร์กุฎีทอง วัดบางแคใหญ่ จะเห็นป้ายบ้านแมวไทย
วัดอินทาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลเหมืองใหม่ เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อพ.ศ.2300 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปหลวงพ่อโตอายุกว่า 300 ปี พระอุโบสถสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง บานหน้าต่างและบานประตูเป็นไม้สักแกะสลักสุภาษิตสอนใจ ท่าน้ำของวัดเป็นอุทยานปลาตะเพียน นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ ส่วนหนึ่งของวัดจัดเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ใช้สมุนไพรควบคู่กับการปฏิบัติธรรมรักษาผู้ติดยาเสพติด มีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์เรือโบราณในอนาคต โทร. 0 3476 1888, 0 3473 5 315

Source : tourismthailand.org