สถานที่ท่องเที่ยวในสมุทรสาคร

สถานที่ท่องเที่ยวสมุทรสาคร

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสมุทรสาคร

วัดใหญ่จอมปราสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าจีน ห่างจากตัวจังหวัด 4 กิโลเมตร สามารถเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) บริเวณกิโลเมตรที่ 31 เชิงสะพานท่าจีน เป็นวัดเก่าแก่มีอายุประมาณ 400 ปี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดใหญ่สาครบุรี” รวมทั้งได้พระราชทานพระไตรปิฎก และยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระวิหารเก่าแก่ก่ออิฐถือปูนฐานแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา ที่ซุ้มประตูและหน้าต่างมีการประดับลวดลายปูนปั้น นอกจากนี้ยังมีงานแกะสลักไม้ที่บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ เป็นลายพันธุ์พฤกษา ต้นไม้ ภูเขา รูปสัตว์ และบุคคล เป็นศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นลวดลายแกะสลักลึกเข้าไปในเนื้อไม้ที่งดงามมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479
วัดสุทธิวาตวราราม หรือ วัดช่องลม ตั้งอยู่ตรงปากอ่าวสมุทรสาคร ตำบลท่าฉลอม ตรงข้ามกับตัวเมือง เดินทางโดยทางหลวงหมายเลข 35 เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 เข้าถนนสุทธิวาตวิถีประมาณ 3 กิโลเมตร วัดช่องลมเป็นพระอารามหลวงได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ด้านหน้าวัดมีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินท่าฉลอม และทรงตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่ชาวสมุทรสาครสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ตำบลโคกขาม ห่างจากวัดโคกขามประมาณ 1 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 ในเนื้อที่กว่า 18 ไร่ ภายในอาคารจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ ในหัวข้อโลกและระบบสุริยะ การสำรวจดวงจันทร์ ชีวิตของดาวฤกษ์ มีเครื่องฉายดาวภายในโดมขนาดเล็ก ประกอบการบรรยาย Mini Theater และมีชุดนิทรรศการเรื่อง “มนุษย์กับการวัดและการนับ” เล่าถึงประวัติของการพัฒนาการวัดมาอย่างยาวนาน ภายนอกอาคารจัดเป็นสวนวิทยาศาสตร์ เช่น สวนธรณีวิทยา สวนสุขภาพ สวนสนุกของเครื่องเล่นเชิงฟิสิกส์ และยังมีฐานเกษตรธรรมชาติและสวนสมุนไพร ซึ่งการจัดกิจกรรม ผสมกลมกลืนกับสภาพภูมิทัศน์เดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3442 1014
วัดโคกขาม ตั้งอยู่ริมคลองโคกขาม เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 เลี้ยวซ้ายเข้าทางวัดพันท้ายนรสิงห์ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ คือพระอุโบสถหลังเก่ามีใบเสมารอบ ๆ ด้านหน้ามีพระเจดีย์ที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา ลวดลายการแกะสลักไม้ที่หน้าบันนั้นงดงาม นอกจากนั้นยังมีศาลพันท้ายนรสิงห์ซึ่งเป็นศาลเพียงตาเดิม และเป็นที่เก็บโบราณวัตถุที่เล่ากันว่าเกี่ยวพันกับเรื่องของพันท้ายนรสิงห์ เช่น ชิ้นส่วนของเรือพระที่นั่งเอกชัย และบุษบก เป็นต้น
ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ตำบลโคกขาม เดินทางจากถนนเอกชัย เข้าทางหลวงหมายเลข 3423 (วัดสหกรณ์-ศาลพันท้ายนรสิงห์) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ศาลนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันท้ายนรสิงห์ ในคราวที่คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยจนหัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม ทำให้โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือทรงจำฝืนพระทัยตามพระราชกำหนดที่วางไว้จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี ต่อมากรมศิลปากรได้จัดสร้างศาลขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่พังลงมา ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่นับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
คลองโคกขาม เป็นคลองที่มีความคดเคี้ยวมาก ลักษณะเป็นโค้งข้อศอก กระแสน้ำเชี่ยวมากยากต่อการเดินเรือ ทำให้ครั้งที่พระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชรที่ 8 (พ.ศ. 2246-2252) เสด็จประพาสต้นไปตามลำคลองโคกขามด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย ได้เกิดอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้หัก ทำให้พันท้ายนรสิงห์ ถูกประหารชีวิต บริเวณที่ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ พระเจ้าเสือทรงโปรดให้ขุดคลองลัดตัดทางคดเคี้ยวของคลองโคกขามให้ตรง โดยให้เจ้าพระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมไพร่พลจำนวน 3,000 คน ขุดคลองตัดจากคลองโคกขามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2248 ตรงมาเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน ขนาดคลองกว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก เสร็จในปี พ.ศ.2252 ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อขุดเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “คลองสนามไชย “ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ คลองมหาชัย” แต่บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า “คลองถ่าน” และที่ปากคลองมหาชัยติดกับคลองโคกขามจะมีศาลพันท้ายนรสิงห์อีกศาลหนึ่ง
ป้อมวิเชียรโชฎก ตั้งอยู่ตำบลมหาชัย ห่างจากศาลากลางจังหวัด 200 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2371 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในสมัยนั้นได้เกิดกรณีพิพาทกับญวณเรื่องเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่าญวณจะยกกำลังมารุกรานไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นแม่กองสร้างป้อมเพื่อรักษาปากน้ำท่าจีนที่เมืองสมุทรสาคร และพระราชทานนามว่า “ป้อมวิเชียรโชฎก” ลักษณะของป้อมก่อด้วยอิฐถือปูน ไม่มีป้อมยามมีแต่หอรบ ตามช่องของกำแพงมีปืนใหญ่ไว้สำหรับป้องกันข้าศึกที่มาทางปากน้ำ
ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับป้อมวิเชียรโชฎก เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประชาชนเคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวประมงในจังหวัด โดยก่อนออกเรือเพื่อไปหาปลาทุกครั้งชาวประมงจะต้องไปทำพิธีสักการะบูชา และจุดประทัดบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคล
ตลาดมหาชัย (ท่าเรือเทศบาล) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ใกล้กับป้อมวิเชียรโชฎกและศาลหลักเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 200 เมตร นับเป็นศูนย์กลางการค้าการคมนาคมของสมุทรสาคร ตลาดมหาชัยมีท่าเรือที่มีเรือเมล์ไปสู่ตำบลต่าง ๆ หลายแห่ง แล้วยังสามารถเช่าเรือหางยาวไปเที่ยวคลองโคกขามได้ มีทั้งเช่าเหมาลำและเรือประจำทาง
สะพานปลา เป็นสะพานปลาที่ใหญ่ และทันสมัยแห่งหนึ่งรองจากกรุงเทพฯ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสาคร มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่ใช้ในการลำเลียงขนถ่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทางทะเลทุกอย่างเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางการค้าส่งปลาทะเล
วัดป่าชัยรังสี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลบ้านเกาะ จากมหาชัยเดินทางไปตามถนนเศรษฐกิจ (ทางหลวงหมายเลข 3091) ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 16 (ตรงข้ามสถานีไฟฟ้าย่อย) เข้าไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาประมาณ 200 เมตร วัดป่าชัยรังสีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 สิ่งที่น่าสนใจคือ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายกับปราสาทหินทางภาคอีสาน
วัดบางปลา ตั้งอยู่ตำบลบ้านเกาะ ริมแม่น้ำท่าจีนเดินทางจากมหาชัยไปตามถนนสายเศรษฐกิจประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางเดียวกับวัดป่าชัยรังสีประมาณ 4 กิโลเมตร วัดบางปลาเป็นวัดที่สำคัญของคนมอญในจังหวัดสมุทรสาคร ตามธรรมเนียมมอญจะต้องมีวัด ๆ หนึ่งที่เป็นหลักของชุมชน เมื่อมีเทศกาลสำคัญ เช่น วันปวารณาออกพรรษา พระสงฆ์จากวัดอื่น ๆ ในเมืองจะต้องมาร่วมกันทำพิธี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดบางปลา เมื่อครั้งหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเป็นเจ้าอาวาส นอกจากนี้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ยังทรงสร้างซุ้มศาลายาว เชิงชายแกะสลักอย่างงดงามไว้ตรงทางเดินของวัดไว้อีกด้วย
พื้นที่ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวมหาชัย ตั้งอยู่ตำบลบางหญ้าแพรก บริเวณปากแม่น้ำท่าจีนฝั่งขวา เดินทางไปตามถนนสุทธิวาตวิถี ประมาณ 2.5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไป 6 กิโลเมตร พื้นที่ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวมหาชัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ 3,872 ไร่ เหมาะสำหรับเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของระบบนิเวศป่าชายเลนและปากแม่น้ำท่าจีน และบริเวณที่ทำการศูนย์มีที่สำหรับกางเต็นท์พักแรม สำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนได้ด้วย
นากุ้งนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาครมีชายฝั่งที่เหมาะกับการทำนาเกลือนากุ้งหลายแห่งโดยเฉพาะที่ตำบลกาหลง ตำบลนาโคก ตำบลบ้านบ่อ ตำบลบางโทรัด ตำบลโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ และบริเวณสองข้างทางสายธนบุรี-ปากท่อต่อเขตจังหวัดสมุทรสงคราม มีนาเกลือและเกลือวางขายเรียงราย มีนกหลายชนิดบินผ่านไปมา มีกังหันวิดน้ำเข้านาเกลือหมุนแล่นลม เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม

อำเภอกระทุ่มแบน สมุทรสาคร

วัดนางสาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3091 ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าซอยวัดนางสาว 2 ประมาณ 1 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของวัดมีเรื่องเล่ากันว่า เมืองสาครบุรี คือ เมืองชายทะเลตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในพม่าชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีมาตามริมแม่น้ำท่าจีน คนชราและผู้หญิงได้พากันไปหลบซ่อนในโบสถ์เก่า ต่อมาคนไทยได้ช่วยกันต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และผู้ที่อพยพมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น ในกลุ่มนี้มีสองพี่น้องที่เคยอาศัยโบสถ์หลบหนีภัย ทั้งสองมีความคิดที่จะบูรณะโบสถ์ใหม่ แต่พี่สาวเห็นว่าโบสถ์ทรุดโทรมมากจึงไปสร้างวัดใหม่แทน น้องสาวต้องการทำตามสัจจาธิษฐานของตนว่าถ้ารอดตายจะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ จึงดำเนินการบูรณะจนเสร็จและตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์” ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า”วัดน้องสาว” จนปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว” โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้ คือโบสถ์ที่มีฐานโค้งเป็นรูปเรือสำเภาก่ออิฐ มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียวชาวบ้านเรียกว่า “โบสถ์มหาอุด” หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบเก่า ขื่อข้างบนใช้ไม้ซุงทั้งต้น มีเสมาคู่เป็นหินทรายขนาดเล็กอยู่รอบ ๆ โบสถ์ นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดซึ่งติดกับแม่น้ำท่าจีน ยังมีอุทยานมัจฉาประกอบด้วยฝูงปลาสวายจำนวนมากอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารแก่ฝูงปลาและเที่ยวชมอยู่เสมอ
ปล่องเหลี่ยม ตั้งอยู่ตำบลท่าไม้ ริมแม่น้ำท่าจีน เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 3091 (ถนนเศรษฐกิจ 1 แยกอ้อมน้อย-สมุทรสาคร) ไปจังหวัดนครปฐมผ่านคลองภาษีเจริญระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ปล่องเหลี่ยมเป็นปล่องเตาไฟโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของชาวโปรตุเกส ชื่อกัปตันฮิท สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2367 ลักษณะของปล่องเป็นปล่องก่ออิฐถือปูนบนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 4 เมตร สูง 4 เมตร ต่อจากฐานขึ้นไปเป็นปล่องทรงแปดเหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมกว้างประมาณ 1 เมตร แล้วค่อย ๆ เรียวขึ้นไปจนถึงปลายสูงประมาณ 30 เมตร

Source : tourismthailand.org