สถานที่ท่องเที่ยวในสระบุรี

สถานที่ท่องเที่ยวสระบุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสระบุรี

อำเภอเมือง สระบุรี
อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง แก่งคอย หนองแค และวิหารแดง มีเนื้อที่ประมาณ 44 ตารางกิโลเมตร หรือ 27,856 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นเหมาะสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน อุทยาน ฯ อยู่บนเส้นทางสายกรุงเทพฯ-สระบุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนมิตรภาพ ห่างจากตัวเมืองสระบุรีลงมาทางใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร หากมาจากกรุงเทพฯ ให้เลี้ยวขวากลับรถ ช่วงก่อนถึงกิโลเมตรที่ 102 เข้าทางหลวงหมายเลข 3042 และ 3046 ตามลำดับเป็นถนนลาดยางประมาณ 8 กิโลเมตร
อุทยานฯแห่งนี้ ประกอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ มีที่ราบในหุบเขา ยอดที่สูงที่สุดคือ เขาครก สูงประมาณ 329 เมตร สามารถมองเห็นตัวเมืองสระบุรี และอำเภอใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน สัตว์ป่าที่พบมีอยู่หลายชนิด เช่น ไก่ฟ้า ไก่ป่า เก้ง ลิง หมูป่า และนกชนิดต่าง ๆ เช่น เขียวคราม กระรางหัวหงอก โพระดก บั้งรอกใหญ่ รวมทั้งผีเสื้อนานาชนิด
ภายในบริเวณอุทยานฯ มีน้ำตกหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกสามหลั่น เป็นลานหินกว้างเรียงซ้อนกันเป็นสามชั้นมองดูคล้ายบันได ซึ่งเป็นที่มาของชื่อน้ำตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ประมาณ 300 เมตร น้ำตกโพธิ์หินดาษ ห่างจากที่ทำการประมาณ 300 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวเตี้ย ๆ สามารถลงเล่นน้ำได้ บริเวณน้ำตกเป็นลานหินกว้าง มีต้นโพธิ์แผ่กิ่งก้านสาขา และต้นน้ำที่ไหลมายังน้ำตกโพธิ์หินดาดยังไหลไปสู่ น้ำตกโตนรากไทร ซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 400 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวตกลงมาจากหน้าผาหินสูง 7 เมตร สู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง รอบๆแอ่งน้ำมีโขดหินน้อยใหญ่ใช้เป็นที่นั่งชมน้ำตกได้ ทางอุทยานฯ ได้ทำเส้นทางเดินเท้าเชื่อมโยงระหว่างน้ำตกเหล่านี้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเดิม น้ำตกจะมีความสวยงามมากที่สุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนตุลาคม
สถานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่
จุดชมวิวเขาครก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 329 เมตรเป็นจุดชมวิวที่อยู่สูงที่สุดสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ที่สวยงามรอบๆเมืองสระบุรีได้อย่างชัดเจน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นที่ส่องกล้องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม สภาพพื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
อ่างเก็บน้ำเขารวก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีความจุประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างเขารวก และเขาแดง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2523 มีที่สำหรับนั่งชมทิวทัศน์ และประกอบกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เช่น พายเรือคยัค ปั่นเรือถีบ เล่นน้ำ เป็นต้น
อุโมงค์รถไฟพระพุทธฉาย ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 12 กิโลเมตรเป็นอุโมงค์รถไฟชนิดทางเดียวกว้าง 7 เมตร สูง 7 เมตร ยาว 1,197 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2537 เป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทย อยู่บริเวณเขาช่องลิง รอยต่อระหว่างตำบลเจริญธรรม อำเภอวิหารแดง และตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองจังหวัดสระบุรี
อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพญี่ปุ่น (เขาแดง) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยึดครองบริเวณเขาแดงเป็นฐานทัพ และใช้เป็นสถานที่กักขังเชลยด้วย ยังมีร่องรอยของหลุมระเบิด ที่ทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้ สิ่งปลูกสร้างที่ทหารญี่ปุ่นสร้างไว้ ได้แก่ อุโมงค์บัญชาการ สนามเพลาะตลอดแนวเขา ห้องผู้บัญชาการ ห้องเก็บสมบัติแนวบังเกอร์
ซากเจดีย์โบราณบนยอดเขาเรดาร์ คาดว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกฟ้าผ่าเสียหาย ปัจจุบันก็ยังพอมีร่องรอยให้เห็นอยู่ ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งคือ ทหารญี่ปุ่นได้ใช้เขาเรดาร์นี้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ด้วย
นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางเขาแดง ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร 2) เส้นทางสามหลั่น-โตนรากไทร ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร 3) เส้นทางสามหลั่น-ซับปลากั้ง ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร เส้นทางสุดท้ายนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักค้างแรมได้ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯทราบก่อนใช้เส้นทางทุกเส้นทาง
วัดพระพุทธฉาย ตั้งอยู่เชิงเขาปถวี (ปฐวี) ที่ตำบลหนองปลาไหล เข้าทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธฉาย หรือ รอยพระพุทธรูป อยู่บนแผ่นหินซึ่งตั้งอยู่บนชะง่อนผา มีการสร้างมณฑปครอบไว้ มีบันไดจากบริเวณวัดด้านล่างขึ้นไปยังมณฑป และต่อไปยังหน้าผาซึ่งอยู่เหนือมณฑปขึ้นไป
นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนลายเส้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณเชิงผา ได้แก่ ภาพสัตว์ลายเส้นคล้ายตัวกวาง บริเวณข้างประตูเข้าพระพุทธฉาย พบภาพมือคน และภาพสัญลักษณ์ บริเวณจากถ้ำฤาษีไปทางพระพุทธฉายทางทิศตะวันตก พบภาพเขียนรูปไก่ ภาพพระพุทธรูป และภาพสัญลักษณ์ และบริเวณหน้าผา จปร. พบภาพลายเส้นขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน คล้ายภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยถูกค้นพบที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เขียนด้วยยางไม้มีอายุเก่าแก่ประมาณ 3,000 ปี โดยเขียนสัญลักษณ์ใช้สื่อความหมายให้เข้าใจในหมู่เดียวกัน และอาจจะเป็นสื่อทางพิธีกรรม และความเชื่อของคนในยุคนั้น และยังพบ รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา เมื่อ พ.ศ.2537 กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมมณฑปบน ภูเขาบริเวณวัดพระพุทธฉาย และเมื่อรื้อพื้นซีเมนต์พบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาอยู่ใต้ทรายปรากฏเห็นเป็นรูปรอยประทับในหิน
ฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์ ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางเข้าพระพุทธฉาย ถึงก่อน 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่เลี้ยง และเพาะพันธุ์จระเข้ นอกจากนั้นยังมีสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ กวาง ลิง และนกพันธุ์ต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 08.30-17.30 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท รายละเอียดติดต่อ 0 3621 2958
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุทิศ ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาจัตุรมุข วัดศาลาแดง ถ.พิชัยรณรงค์สงคราม ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นพระพุทธรูปประจำทิศตะวันออก หนึ่งในพระพุทธรูป 4 องค์ ที่กรมการรักษาดินแดนสร้างขึ้นเพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้แก่ชาวจังหวัดสระบุรี

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
สวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง(พุแค) ตั้งอยู่ที่ตำบลพุแค ใช้เส้นทางสายสระบุรี-ลพบุรี (ถนนพหลโยธิน) ห่างจากตัวเมืองสระบุรีไปประมาณ 17 กิโลเมตร จะอยู่ตรงทางแยกไปทางหลวงหมายเลข 21 (ไปเพชรบูรณ์) พอดี ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพระพุทธบาทพุแค มีพื้นที่ทั้งหมด 4,697 ไร่ ครอบคลุมสองฟากฝั่งถนน หากไปจากสระบุรี ฟากซ้ายมือ จะเป็นส่วนของอาคารสำนักงาน และ ห้องสมุดพรรณไม้ ฟากขวามือมีบริเวณกว้างขวาง บรรยากาศร่มรื่น และมีลำธารไหลผ่าน เป็นสวนหย่อมรวบรวมพันธุ์พืชไม้ต่างๆ ส่วนมากจะเป็นไม้พื้นบ้าน ประกอบด้วยพรรณไม้ต่างๆ 35 วงศ์ พรรณไม้ในวรรณคดี และ พรรณไม้สมุนไพร สวนพฤกษศาสตร์จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2484 เป็นส่วนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย เป็นแหล่งรวบรวมและศึกษาวิจัยพันธุ์พืชรวมทั้งเผยแพร่และให้บริการความรู้ในด้านต่างๆเกี่ยวกับพืช และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่าง เวลา 08.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม รายละเอียดติดต่อ 0 3634 7457
ถ้ำศรีวิไล ตั้งอยู่บริเวณวัดถ้ำศรีวิไล ตำบลหน้าพระลาน ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 22 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธเนาวรัตน์ ศิลปะสมัยเชียงแสน มีหินงอก หินย้อย นอกจากนั้นยังสามารถเที่ยวชมวิวทิวทัศน์ของธรรมชาติ มองเห็นภูเขาสลับซับซ้อนสวยงาม การเดินทาง จากตัวเมืองสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงสามแยกหนองจานมีทางแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3385 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางโรงปูนอีกครั้งหนึ่ง

อำเภอเสาไห้
เสาร้องไห้ ตั้งอยู่ในศาลนางตะเคียนทอง ณ วัดสูง ตำบลเสาไห้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสาไห้ประมาณ 500 เมตร ริมทางหลวงหมายเลข 3041 เป็นเสาไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ โดยถือกันว่าเป็นเจ้าแม่ เพราะสิ่งของที่นำไปบูชาล้วนเป็นของสตรีทั้งสิ้น มีตำนานเล่ากันว่า เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี ได้มีการเกณฑ์เสาจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกเสาที่มีลักษณะงดงาม เพื่อจัดเป็นเสาเอก ทางเมืองสระบุรีได้จัดส่งเสาต้นหนึ่งที่มีลักษณะงดงามมากล่องลงมาตามลำน้ำป่าสัก แต่มาถึงกรุงเทพฯ ช้าไปเล็กน้อย และได้มีการคัดเลือกเสาเอกไปก่อนแล้ว จึงได้เป็นเสารอง ซึ่งถ้าเสาต้นนี้มาทันเวลาก็ต้องได้เป็นเสาเอกอย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะใหญ่ และสวยงามมาก เสาต้นนี้จึงเกิดความเสียใจลอยทวนน้ำกลับขึ้นมาจมลง ณ ตำบลแห่งนี้อยู่ประมาณ 100 กว่าปี เมื่อปี พ.ศ.2501 ได้มีชาวบ้านนำขึ้นจากน้ำไปไว้ที่ศาลหน้าพระอุโบสถวัดสูงจนถึงปัจจุบันนี้ พอตกเวลากลางคืนชาวบ้านมักได้ยินเสียงร้องไห้ จึงได้ให้ชื่อตำบลนี้ว่า ตำบลเสาร้องไห้ และได้กลายเป็น "อำเภอเสาไห้" ในปัจจุบัน และในวันที่ 23 เมษายนจะมีประเพณีสรงน้ำนางตะเคียนทุกปี ณ บริเวณหน้าอุโบสถวัดสูง
วัดเขาแก้ววรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นตาล ทางฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จประพาสหัวเมือง เมื่อถึงอำเภอเสาไห้ ได้โปรดเกล้าฯ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง มีคำเล่าลือกันว่าวันดีคืนดีจะเห็นดวงแก้วสุกสว่างเหนือวิหารวัดเขาแก้ว ถือว่าเป็นการแสดงปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุในองค์พระเจดีย์ ในเจดีย์ปรางค์ห้ายอดองค์เล็กซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหอระฆังและเจดีย์องค์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปปางป่าเลไลก์ และ พระพุทธบาทซึ่งล้วนมีลักษณะงดงาม
วัดสมุหประดิษฐาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนดอกไม้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2440 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องคาวีสวยงามมาก พระประธานในพระอุโบสถอัญเชิญมาจากเมืองเก่าสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทองปางมารวิชัย และประดิษฐานพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวา และในเดือนกันยายน ของทุกปีจะมีการแข่งขันเรือยาวประเพณีที่วัดแห่งนี้
วัดจันทบุรี ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่า หมู่ 6 ต.เมืองเก่า เลยจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 1 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3041 วัดอยู่ทางขวามือ มีป้ายชี้ทางเข้าวัดอย่างชัดเจน สิ่งที่น่าชมคือพระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2436 สมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคาจั่ว ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับลายปูนปั้นและเครื่องถ้วย ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยเดียวกับพระอุโบสถซึ่งยังสมบูรณ์อยู่และงดงามมาก เป็นรูปเทพชุมนุม และพุทธประวัติ
ศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าตำบลต้นตาล เกิดขึ้นจากกลุ่มสตรีที่ว่างงานรวมตัวกันใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ครบวงจรให้กับเยาวชน และบุคคลทั่วไป โดยผ้าที่ทอมีหลายแบบ ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าพื้น ผ้าสี่เขา ผ้าลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลายแบบโบราณของคนไท-ยวน การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 3041 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข3341 จนถึงบ้านปากบางให้เลี้ยวเข้าทางเดียวกับวัดต้นตาล โดยศูนย์จะอยู่ใกล้กับวัด

อำเภอบ้านหมอ
ถนนพระเจ้าทรงธรรม หรือ ถนนฝรั่งส่องกล้อง เป็นถนนที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรมเมื่อครั้งเสด็จตรวจรอยพระพุทธบาท ทางเรือพระที่นั่งตามลำน้ำป่าสัก พอเสด็จมาถึงบริเวณท่าเรือ จึงได้เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง โดยมีพรานบุญเป็นผู้นำทางและเมื่อเสด็จกลับ ได้ให้ฝรั่งส่องกล้อง แล้วให้ตัดทางกว้าง 10 วา ตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางให้เรียบร้อยแล้วใช้เป็นถนนหลวง
ในปัจจุบันถนนเส้นนี้เหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ประมาณ 9 กิโลเมตร โดยเริ่มจากบริเวณเยื้องวัดสร่างโศก ช่วงกิโลเมตรแรกเป็นถนนดินที่ไม่ได้ใช้เป็นถนนอีกต่อไป ถัดจากนี้เป็นถนนลูกรังผ่านหลังวัดปัญจาภิรมย์ วัดหนองคณฑี ไปตัดกับถนนพระพุทธบาท-บ้านหมอ บริเวณหน้าวัดกัลยาบรรพต ผ่านหน้าศาลเจ้าพ่อเขาตก และพระตำหนักสระยอหายไปเป็นถนนลูกรังและคอนกรีต ความกว้างของถนนเหลือ 6-8 เมตร

อำเภอพระพุทธบาท
สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาโปร่งปราบ ตำบลขุนโขลน ห่างจากตัวเมืองสระบุรีไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ประมาณ 25 กิโลเมตร หากไปจากตัวเมืองสระบุรี วัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ทางเข้าอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 132-133 เป็นสถานที่รักษาคนไข้ติดยาเสพติดที่มีชื่อเสียง สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกนี้ แม่ชีเมี้ยน ปานจันทร์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 ต่อมาเมื่อแม่ชีเมี้ยนเสียชีวิตลง หลวงพ่อจำรูญ ปานจันทร์ ซึ่งเป็นหลานได้เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจสืบต่อมา และได้รับรางวัล "แมกไซไซ" เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2518
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ปูชนียสถานที่สำคัญคือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ประทับไว้บนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี รอยพระบาทมีความ กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้ว ค้นพบในสมัย พระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราว ครอบรอยพระบาทไว้ ต่อมาได้มีการสร้างต่อเติมกันอีกหลายสมัย ลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจก เป็นรูปเทพพนม มีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับมุกชั้นเยี่ยมของเมืองไทย พื้นภายในปูด้วยเสื่อเงินสาน ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย ซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด เป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตีเป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย พระอุโบสถ และพระวิหารต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท (วิหารหลวง) ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่ายิ่ง อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่า พัดยศของพระสมัยต่าง ๆ และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งปกติจัดให้มีปีละ 2 ครั้ง คือตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงแรม 1 ค่ำ และตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึงแรม 1 ค่ำ คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท
พระตำหนักธารเกษม อยู่ที่ตำบลขุนโขลน ระหว่างธนาคารกรุงเทพ สาขาพระพุทธบาทและสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี ตั้งอยู่ริมธารน้ำใต้ทองแดง ซึ่งเป็นลำธารไหลผ่านพระพุทธบาท เป็นที่ซึ่งมีแมกไม้ร่มรื่น เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย พระตำหนักสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2176 ในสมัยสมเด็จ พระเจ้าปราสาททอง เพื่อใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จมานมัสการพระพุทธบาท ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานธารทองแดง เกิดจากเขาธารทองแดง ในเขตอำเภอพระพุทธบาท แล้วไหลไปทางอำเภอหนองโดน ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างพระตำหนักริมธาร ได้มีการขุดพบท่อน้ำสามตาที่ริมลำธาร (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานพระพุทธบาท) ท่อนี้เป็นข้อต่อเหมือนข้อต่อ น้ำประปาปัจจุบัน แต่ใหญ่กว่ามากเป็นท่อทำด้วยทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม. และในบริเวณธารทองแดงนี้ ยังพบที่กั้นน้ำที่ระบายน้ำมาใช้ในพระตำหนักท้ายพิกุล เป็นเขื่อนก่อด้วยอิฐถือปูน ซึ่งเป็นซากโบราณสถาน ที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันนี้ยังคงสภาพเป็นลำธารแต่ตื้นเขินมากแล้ว ที่ริมลำธารมีแนวเขื่อนก่ออิฐถือปูนปรากฏอยู่
ถ้ำเทพนิมิตธารทองแดง อยู่ที่วัดพุคำบรรพต ตำบลพุคำจาน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบโบราณวัตถุของมนุษย์สมัยหินใหม่ตอนปลาย มีลักษณะคล้าย และเหมือนกับที่ขุดพบที่บ้านท่าแค บ้านดีลัง และซับจำปา ที่ลพบุรี สันนิษฐานว่ามนุษย์สมัยนั้นในบริเวณดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์กัน ปัจจุบันไม่มีโบราณวัตถุอยู่ในถ้ำแล้ว การเดินทาง หากมาจากสระบุรีทางเข้าวัดจะอยู่ด้านขวามือริมทางหลวงสาย 1 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 130-131 เข้าทางเดียวกับวัดพุคำจานแต่จะแยกขวาก่อนข้ามสะพานและเลี้ยวขวาอีกครั้ง

อำเภอแก่งคอย
ถ้ำพระธาตุเจริญธรรม สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) จากตัวเมืองสระบุรีไปตามถนนมิตรภาพ เส้นทางไปจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตัวอำเภอแก่งคอย ผ่านตลาดแล้วข้ามสะพานอดิเรกสารซึ่งทอดข้ามแม่น้ำป่าสักไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร ก็ถึงถ้ำพระธาตุเจริญธรรม หรือ 2) จากสระบุรีใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ทางไปจังหวัดลพบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงหน้าโรงเรียนพุแควิทยา ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนจะมีถนนสายพุแค-แก่งคอย เข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร จากปากทางเข้าจะปูด้วยหินอ่อนเป็นทางเดินชมทั่วบริเวณถ้ำโดยตลอด ภายในถ้ำแบ่งออกเป็นห้องขนาดใหญ่ 3 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 ชื่อว่า “ถ้ำบ่อปลา” มีปลาว่ายน้ำเข้ามาในบริเวณถ้ำเป็นจำนวนมาก ห้องที่ 2 ชื่อว่า “ถ้ำท้องพระโรง” มีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีรูปร่างคล้ายเจ้าแม่กวนอิม และฮก ลก ซิ่ว ส่วนห้องที่ 3 ได้แบ่งซอยเป็นห้องเล็ก ๆ มีจุดเด่นอยู่ที่หินงอกหินย้อยหลายรูปแบบ มีรูปร่างคล้ายหินปะการังซึ่งจะเข้าได้ในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนั้นทางด้านหลังยังมีถ้ำขนาดใหญ่อีก 2 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำสามเขา และถ้ำเทพประทาน ถ้ำจะปิดในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะเปิดระหว่างเวลา 08.00-18.00 น.
ผาเสด็จ ตั้งอยู่ริมทางรถไฟ ตำบลทับกวาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพ(ทางหลวงหมายเลข 2) ประมาณ 25 กิโลเมตร ระหว่างกม.ที่ 132-133 หากไปจากสระบุรีเลี้ยวซ้ายตรงบริเวณโรงเรียนบ้านซับบอนไปประมาณ 3 กิโลเมตร ผาเสด็จอยู่เลยจากสถานีรถไฟไปประมาณ 50 เมตร เป็นหน้าผาที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาประทับเมื่อคราวสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2438 ทั้งสองพระองค์ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. และ สผ. ไว้ ณ หน้าผาแห่งนี้
ถ้ำพระโพธิสัตว์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ตำบลทับกวาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 32 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ทางไปจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 15 กิโลเมตร หากไปจากสระบุรีวัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกไปวัดถ้ำพระโพธิสัตว์อีกประมาณ 11 กิโลเมตร ถ้ำพระโพธิสัตว์ ที่ผนังมีภาพสลักนูนต่ำเป็นรูปพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม และภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และภายในผนังถ้ำยังมีเจดีย์ทรงลังกา ศิลปะสมัยทวารวดี มีหินงอก หินย้อย บริเวณภายนอกถ้ำมีต้นไม้นานาพรรณ นอกจากนั้นยังมีถ้ำธรรมทัศน์ ถ้ำลุมพินี สวนหิน และถ้ำสงัดเจดีย์
พระพุทธบาทน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระพุทธบาทน้อย ที่ตำบลสองคอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพ เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอแก่งคอย ข้ามสะพานอดิเรกสาร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนอดิเรกสาร จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนสองคอน-พระบาทน้อย-พุแค ประมาณ 7.5 กิโลเมตร จนถึงวัดพระพุทธบาทน้อย ภายในมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ประทับลึกลงไปในดินกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอก
พระบวรราชวังสีทา ตั้งอยู่ที่ตำบลสองคอน ประวัติพระบวรราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างที่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตะวันตก ณ ตำบลบ้านสีทา ในแขวงจังหวัดสระบุรี สร้างคราวเดียวกับเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่เมืองลพบุรี เพราะมูลเหตุที่เกิดแต่คราวหาที่สร้างราชธานีสำหรับเวลาสงครามดังกล่าวมานั้น ได้โปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปตรวจเมืองนครราชสีมา ทรงเห็นภูมิลำเนาไม่เหมาะ มาโปรดที่เขาคอก ในแขวงจังหวัดสระบุรี ว่าเหมือนเป็นป้อมอยู่โดยธรรมชาติจึงทรงสร้างที่ประทับขึ้น ณ ตำบลบ้านสีทา เห็นว่าไปมาถึงเขาคอกได้สะดวก แล้วเสด็จไปประทับ ณ ที่นั่น เพื่อตกแต่งเขาคอกไว้เป็นป้อมปราการสำหรับต่อสู้ข้าศึกแห่งหนึ่ง ได้เสด็จไปประทับที่วังสีทาเนืองๆ จนตลอดพระชนมายุ แต่วังนั้นล้วนสร้างเป็นเรือนเครื่องไม้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้รื้อตำหนักลงมาสร้างวัง พระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ บ้าง ที่เหลืออยู่ก็พังสูญไปหมด เดี๋ยวนี้ที่ซึ่งเคยเป็นพระบวรราชวังกลับเป็นที่บ้านราษฎรไปอย่างเดิม บริเวณสร้างวังกว้างขวางมาก ประมาณ 150 ไร่เศษ ซากเป็นพื้นก่อเรือนไม้ก่อด้วยอิฐฉาบปูนเป็นบัวคว่ำหงาย มีรากฐานกว้างประมาณ 10 วา ยาวประมาณ 20 วา โดยคาดว่าสร้างขึ้นเป็น 2 หลัง อิฐสมัยโน้นแกร่งแข็งแรงมาก ขนาดหนา 4 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเอาบริเวณที่สร้างวังเป็นไร่ปลูกข้าวโพด มีการไถทำลายซากเดิมแทบจะสังเกตไม่ออกแล้ว ยังพอมีบริเวณที่เหลือซึ่ง กำนันสุพัฒน์ ฤทธิจำปา กันเอาไว้เป็นที่สาธารณะอยู่อีกประมาณ 4 ไร่เศษ ตรงที่เหลือนี้ ปรากฏเป็นชานประตูก่ออิฐฉาบปูน มีรอยวางแผ่นกระดานทำสะพานยื่นไปยังบึงน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “บึงตลาดไชย” ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัววังสีเทา ห่างกันประมาณ 100 เมตรเศษ เล่ากันว่าทรงใช้เป็นที่ประทับสรงน้ำ และเป็นที่ชุมนุมเหล่าสนมกำนัลนางฝ่ายใน เมื่อคราวเสด็จมาพักแรมในฤดูร้อนทุกๆ ปี เล่าสืบกันมาว่า สนมของพระองค์ทุกนางเก่งในทางแอ่วลาวมากที่สุด จนกระทั่งพระองค์เองสามารถเป่าแคนและแอ่วลาวได้ด้วย ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์กลอนลำแอ่วลาวไว้หลายเล่มสมุดไทย คงเหลือปรากฏอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
การล่องแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอแก่งคอยมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ทัศนียภาพธรรมชาติตลอดริมฝั่งแม่น้ำสวยงาม รวมทั้งมีเขาตามแนวตลอดเส้นทางที่ล่องแก่ง บางแห่งมีโขดหิน และหน้าผาที่แปลกตา คล้ายรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ และยังสามารถเที่ยวชมไพรพักค้างที่หาดผาหมีซึ่งมีบริเวณกว้าง 2 ไร่เศษ หรือจะตกปลากระทิงในแม่น้ำ ตั้งอยู่บริเวณอำเภอแก่งคอย ระยะห่างจากจังหวัดประมาณ 15 กิโลเมตร บนเส้นทางมิตรภาพ มีเอกชนดำเนินการจัดแพและเรือยนต์ไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่รีสอร์ทต่าง ๆ ริมแม่น้ำป่าสัก เช่น โรงแรมศุภาลัยป่าสักรีสอร์ท โทร. 0 3630 6270-2
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า มีพื้นที่ 13,750 ไร่ ตั้งอยู่ ต.ท่ามะปราง มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่านานาชนิด มีพื้นที่ติดต่อกับด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วยสังคมป่าหลายชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า ก่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืช เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกต่างๆในพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบมีจำพวกพืชสมุนไพร เช่น พญามีฤทธิ์ ม้ากระทืบโรง กราวเครือ ว่าน รวมทั้งเห็ดชนิดต่างๆ เช่นเห็ดแชมเปญ เห็ดปากหมูฯ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ได้แก่ ช้างป่า กระทิง หมี กวาง เก้ง นางอาย อีเห็น กระจง หมูป่า และ นกอีกประมาณ 158 ชนิด เช่น โพระดก หัวขวาน กระแตแต้แวด ปรอด ขุนแผน ฯลฯ บินข้ามไปมาระหว่างศูนย์ฯกับเขาใหญ่
จากที่ทำการมีเส้นทางเดินป่าไปยังน้ำตกต่างๆ แบ่งเป็นวงรอบ ได้แก่ รอบเล็ก (น้ำตกเจ็ดคดเหนือ) ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าบริการ 150 บาท / เจ้าหน้าที่นำทาง 1 คน / นักท่องเที่ยว 10 คน รอบกลาง (น้ำตกเจ็ดคดเหนือ กลาง ใต้) น้ำตกเจ็ดคดเหนือ เป็นน้ำตกสูง 4 ชั้น รายล้อมด้วยป่าไผ่ ในช่วงเดือนธันวาคมตามลำห้วยจากน้ำตกจะมีดอกไม้ขึ้นตลอดเส้นทาง เดินลงมาทางทิศใต้ตามลำห้วยเจ็ดคดประมาณ 150 เมตร จะพบ น้ำตกเจ็ดคดกลาง ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นเดียว มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ให้ลงเล่นน้ำได้ หากเดินต่อไปอีกประมาณ 150 เมตร ก็จะถึง น้ำตกเจ็ดคดใต้ เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีความสวยงาม สูงประมาณ 40 เมตร เป็นน้ำตกที่ตกลงมาตั้งฉากกับลำห้วยเจ็ดคด สองข้างทางของลำห้วยเจ็ดคดเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เช่น เอื้องหมายนา ดอกพนมสวรรค์ ต้นไคร้น้ำ เฟิร์นก้านดำ กระแตไต่ไม้ ฯลฯ และสัตว์นานาชนิด เช่น ปูหิน แมลงปอ น้ำตก และผีเสื้อหลากสีสัน ระยะทาง 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ค่าบริการ 200 บาท รอบใหญ่ (น้ำตกเจ็ดคดเหนือ กลาง ใต้ และน้ำตกเจ็ดคดใหญ่) เป็นเส้นทางที่สวยที่สุด น้ำตกเจ็ดคดใหญ่ จะมีน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งน้ำตกอื่นๆจะมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน เส้นทางนี้มีระยะทางเดิน 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4 ชั่วโมง ค่าบริการ 300 บาท และมีเส้นทางไปยังน้ำตกอื่นๆ ได้แก่ น้ำตกเขาแรด เป็นเส้นทางที่ค้างคืนได้ ระยะทาง 6 กิโลเมตร ค่าบริการ 400 บาท น้ำตกโกรกอีดก เป็นน้ำตกที่สวยงามมากและมีความสูงถึง 7 ชั้น หรือประมาณ 300 กว่าเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย เพราะเส้นทางเข้าถึงน้ำตกค่อนข้างยากลำบาก ต้องมีอุปกรณ์พร้อมและมีร่างกายที่แข็งแรง แต่ก็คุ้มค่าเพราะน้ำตกโกรกอีดก โดยเฉพาะชั้นที่ 6 และ 7 มีความสวยงามเป็นพิเศษ เส้นทางนี้จุดเริ่มเดินอยู่ที่บ้านตะโกด้าน อยู่ห่างจากศูนย์ประมาณ 20 กิโลเมตร ต้องมาถึงศูนย์ก่อน 7 โมงเช้า สามารถค้างคืนได้ ค่าบริการ 400 บาท
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีอยู่ด้วยกัน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 จากจุดชมวิวซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการฯ 12 กิโลเมตร และสามารถชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกยามเย็นได้ ไปอ่างเก็บน้ำซับป่าว่าน ระยะทาง 1.5 กม. ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง เส้นทางที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำซับป่าว่าน ไปน้ำตกหินดาดเป็นน้ำตกชั้นเดียว แต่กว้าง บริเวณโดยรอบดารดาษด้วยพรรณไม้ที่สวยงาม เช่น กล้วยไม้ ลิ้นมังกร ดอกเทียน เป็นต้น และไปยังน้ำตกคลองผักหนาม กลับมายังอ่างเก็บน้ำซับป่าว่าน ระยะทาง 4 กม. ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เส้นทางที่ 3 จากอ่างเก็บน้ำซับป่าว่านไปน้ำตกเจ็ดคดเหนือ เจ็ดคดกลาง เจ็ดคดใต้ กลับมายังอ่างเก็บน้ำซับป่าว่าน ระยะทาง 4 กม. ใช้เวลา 4 ชั่วโมง
น้ำตกอื่นๆที่พบในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงมีความงามแตกต่างกันไป น้ำตกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเขาแคบ เป็นน้ำตก 7 ชั้น สูง 30 เมตร สวยงามมาก ช่องที่น้ำตกลงมาเป็นช่องแคบ น้ำจึงทิ้งตัวลงมาเป็นสาย และกระแทกก้อนหินเบื้องล่าง แตกกระจายเป็นฝอย อ่างน้ำตกใหญ่และลึกเห็นน้ำเป็นสีเขียวมรกต น้ำตกโกรกฝาผนัง อยู่ใกล้ๆกับน้ำตกโกรกอีดก มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาชันเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบความโลดโผน น้ำตกซับป่าว่าน เป็นน้ำตกที่ไม่สูงนัก ต้นน้ำเกิดจากอ่างเก็บน้ำของโครงการฯเหมาะที่จะเดินท่องเที่ยวในช่วงฝนตก หรือช่วงที่มีน้ำมาก เพราะบริเวณเส้นทางของน้ำตกปลอดภัยจากน้ำป่าและเป็นทางราบเดินสบาย แต่ละชั้นของน้ำตกมีลานกว้างให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากกิจกรรมเดินป่าแล้วทางศูนย์ยังจัดกิจกรรมส่องสัตว์เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพัก 6 หลัง และมีเต็นท์ถุงนอนให้เช่า นักท่องเที่ยวต้องเตรียมเสบียงมาเอง แต่ห้ามก่อไฟในบริเวณ อนุญาตให้ใช้เตาปิกนิก หรือเตาถ่านได้
องค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียวประจำประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 430 ไร่ ตั้งอยู่ที่ 90/1 หมู่ 1 ต.ชำผักแพว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ห่างจากกรุงเทพฯมาตามถนนมิตรภาพ 126 กิโลเมตร แยกจากถนนมิตรภาพเข้ามาประมาณ 8 กิโลเมตร มีโครงการจัดทำสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนมิโรคุ โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ศาสนา และศิลปะความงามด้านพืชศาสตร์ ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง มีสระน้ำ ประติมากรรมหินอ่อน รูปทรงต่างๆ และสวนญี่ปุ่น มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและอีกฟากหนึ่งของโครงการจะมีแปลงสาธิตเกษตรธรรมชาติ โดยใช้ EM เทคโนโลยี คือการใช้จุลินทรีย์ให้เกิดประโยชน์เพื่อลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม

อำเภอมวกเหล็ก
จากกรุงเทพฯมายังอำเภอมวกเหล็ก สามารถเดินทางได้หลายวิธี รถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มาลงที่สถานีขนส่งมวกเหล็ก หรือรถไฟสายหัวลำโพง-มวกเหล็ก จากมวกเหล็กจะมีรถสองแถวคอยบริการเข้าออกตลอดวัน
สวนรุกขชาติมวกเหล็กและน้ำตกมวกเหล็ก อยู่ห่างจากสระบุรีประมาณ 37 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพ ทางเข้าซ้ายมือตรงข้ามกับร้านขายผลิตภัณฑ์ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สวนรุกขชาตินี้อยู่ในเนื้อที่ 375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กับอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีลำธารซึ่งมาจากต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลผ่านลงสู่แม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตระหว่างสองจังหวัดดังกล่าว ในลำธารมีแก่งหินลดหลั่น เป็นน้ำตกชั้นเล็ก ๆ บริเวณสองฟากของลำธารมีสะพานแขวน และพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับต่าง ๆ
น้ำตกเจ็ดสาวน้อย หรือ น้ำตกสาวน้อย อยู่ในเขตตำบลมวกเหล็ก ทางเข้าทางเดียวกับน้ำตกมวกเหล็ก เป็นทางลาดยางต่อไปอีก 9 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นมาตามแนวลำธาร มีประมาณ 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงราว 4 เมตร แอ่งน้ำมีบริเวณที่เล่นน้ำกว้าง และร่มรื่น
ตามเส้นทางสายมวกเหล็ก (ทางหลวงหมายเลข 2224) จะเป็นลำธารเรียบไปตลอดเส้นทางและมีที่เอกชน และรีสอร์ทหลายแห่งตั้งเรียงรายอยู่ริมธารน้ำตก
ถ้ำดาวเขาแก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลพญากลาง ห่างจากอำเภอมวกเหล็กประมาณ 38 กิโลเมตร หรือจากตัวอำเภอเมืองไปประมาณ 75 กิโลเมตร ไปทางเดียวกับน้ำตกเจ็ดสาวน้อยอยู่เลยไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางตลอด จากทางหลวงหมายเลข 2224 มีทางแยกซ้ายเข้าไปเป็นลูกรังประมาณ 5 กิโลเมตร ผู้ที่จะชมถ้ำต้องปีนบันไดจากเชิงเขาไปถึงปากถ้ำประมาณ 100 เมตร ลักษณะแปลกของถ้ำนี้ คือ มีจุดสีแดง สีดำ และสีน้ำตาลอยู่ที่เพดานถ้ำ มีหินงอก หินย้อย และมีฝูงค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ที่อ.มวกเหล็กยังมีไร่องุ่นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทั้งปี ชิมองุ่นสด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่น เช่น ไวน์ น้ำองุ่น องุ่นหยี แยมองุ่น เป็นต้น หรือ จะร่วมกิจกรรมเก็บองุ่นก็ได้ ไร่ องุ่นที่เปิดสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ ไร่องุ่นกำนันเม้ง โทร. 0 3634 4693 หรือ ไร่องุ่นคุณมาลี โทร. 0 3622 7056 การเดินทาง ไร่องุ่นจะอยู่ตามเส้นทางสาย 2089 (มวกเหล็ก-วังม่วง)

อำเภอวังม่วง
อุโมงค์ต้นไม้ เป็นบริเวณทางโค้งที่ต้นไม้สองฝั่งถนนโน้มเข้าหากันทำให้ดูคล้ายอุโมงค์ และให้ความร่มรื่นสวยงามมีความยาวประมาณ 200 เมตร นักท่องเที่ยวมักจอดรถแวะถ่ายรูปเป็นประจำ การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 แยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2089 อุโมงค์ต้นไม้จะอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 24-25 จะมีป้ายปักไว้ด้วยว่าอุโมงค์ต้นไม้
ทุ่งทานตะวัน ตั้งอยู่ที่บริเวณเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี และสระบุรี ตามเส้นทางสายพัฒนานิคม-วังม่วง มีการทำไร่ทานตะวันกันมาก ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ริมฝั่งถนนจะสะพรั่งไปด้วยสีเหลืองของดอกทานตะวัน เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้ผ่านมาบริเวณนี้เป็นอย่างมาก สอบถามรายละเอียดได้ที่ เกษตรอำเภอวังม่วง โทร. 0 3635 9021
ทานตะวันเป็นพืชตระกูลถั่ว ประเภทเดียวกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง บัวตอง ซึ่งเป็นพืชล้มลุกชอบแสงแดดจัด ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อย และเป็นพืชอายุสั้น นิยมปลูกหลังฤดูฝนประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป จึงเหมาะแก่การปลูกทดแทนข้าวนาปรังหรือพืชชนิดอื่นๆ ทานตะวันเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังนำมาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเมื่อดอกทานตะวันบาน นับพันนับหมื่นไร่ กลายเป็นท้องทุ่งดอกไม้สีทอง อร่ามที่งดงามกว้างไกลสุดสายตา สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว นับแสนคนจากทั่วประเทศ ให้เดินทางมาเที่ยวชมและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก
เกษตรกรจะทำการเพาะปลูก หรือหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป ดอกทานตะวันจะบานและให้เมล็ดเมื่ออายุครบ 55-60 วัน และจะบานสวยงามเต็มที่ประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นเกษตรกรจะปล่อยให้เมล็ดทานตะวันแห้งคาต้น แล้วจึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต
เมล็ดทานตะวันสามารถให้น้ำมันที่มีคุณภาพในปริมาณสูงถึง 45% ต่อน้ำหนัก และยังมีคุณค่าอาหารอื่นๆ อีกมาก เช่น โปรตีน แป้ง เกลือแร่ โดยไม่มีคอเลสเตอรอล เพราะเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลอิค กรดอาซิโนอิค สูงถึง 60-70 % ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดไม่สูงเกินไป ทำให้ลดปัญหาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายอีกมาก เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ เค บี 2 อี และ ดี กากเมล็ดพืชที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ น้ำมันทานตะวันนอกจากจะใช้บริโภคในรูปของน้ำมันสลัดและปรุงอาหารแล้ว ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเนยเทียม สบู่ สีน้ำมันขัดเงา ส่วนเมล็ดสามารถนำไปกะเทาะเปลือกและอบโรยเกลือเป็นอาหารขบเคี้ยวที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายได้อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทานตะวันมีอยู่หลายอย่าง อาทิ เมล็ดทานตะวันอบแห้ง คุ้กกี้ทานตะวัน ข้าวเกรียบ ข้าวตังทานตะวัน น้ำผึ้งดอกทานตะวัน เกสรผึ้ง นมผึ้ง เป็นต้น

อำเภอวิหารแดง
เจดีย์พระคุณแม่ ตั้งอยู่ที่วัดคลองใหม่ ตำบลหนองหมู ระยะทางห่างจากจังหวัดประมาณ 42 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน มุ่งสู่กรุงเทพฯ ผ่านหินกองและตลาดหนองแค ก่อนข้ามสะพานรพีพัฒน์จะมีทางแยกซ้ายมือเลียบคลองชลประทานบอกทางเข้าวัดคลองใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านที่ว่าการอำเภอหนองแคไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงเจดีย์พระคุณแม่เป็นเจดีย์รูปทรงคล้ายพระปฐมเจดีย์ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง องค์เจดีย์ล้อมรอบด้วยพระประจำวัน เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อให้กุลบุตรกุลธิดาระลึกถึง และตอบแทนพระคุณแม่

อำเภอหนองแค
สวนนกธรรมชาติตำบลไผ่ต่ำ อยู่บริเวณป่าไผ่ที่บ้านลุงต้อม เหมือนแม้น อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลไผ่ต่ำ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนกพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 17 ชนิด อาทิ นกเอี้ยงดำ นกกางเขน นกเขา นกกวัก นกกาน้ำเล็ก นกแขวก และนกกระยาง โดยฝูงนกเหล่านี้จะออกหากินตั้งแต่เช้าตรู่ และจะบินกลับรังในตอนเย็นใกล้ค่ำ การเดินทาง เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ไปจากกรุงเทพฯ จนถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 83-84 ทางด้านซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางไปวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไผ่ต่ำ ให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 800 เมตร จนพบคลองชลประทานให้เลี้ยวซ้ายเลียบคลองไปอีกประมาณ 150 เมตร

Source : tourismthailand.org