สถานที่ท่องเที่ยวในสุพรรณบุรี

สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

อำเภอเมือง สุพรรณบุรี
หอคอยบรรหาร-แจ่มใส ตั้งอยู่ถนนนางพิม หอคอยบรรหาร-แจ่มใส เป็นหอคอยชมวิวแห่งแรก และสูงที่สุดในประเทศไทยมองเห็นโดดเด่นอยู่กลางเมือง มีความสูงถึง 123.25 เมตร ฐานกว้าง 30 เมตร การขึ้นเที่ยวชมหอคอย จะมีจุดแวะพักชมวิว 4 ชั้น ชั้นแรกเป็นที่จำหน่ายบัตรและของที่ระลึก ชั้นที่ 2 เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มอาหารว่างและจุดนั่งชมสวน ชั้น 3 เป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกและจุดชม ตัวเมือง ชั้นที่ 4 อยู่ในระดับสูงสุด 78.75 เมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์ของจังหวัดสุพรรณบุรีโดยรอบ มีกล้อง ส่องทางไกลบริการ ผนังห้องแสดงภาพวาดสีน้ำมันเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สวนเฉลิมภัทรราชินี เป็นสวนสาธารณะมีเนื้อที่ 15 ไร่ ในสวนมีสถานที่ต่างๆให้แวะชมไม่ว่าจะเป็นอาคารแสดงผลงานของฯพณฯบรรหาร สวนน้ำพร้อมสไลเดอร์ สวนลายไทย สวนนกพิราบ สวนดอกไม้ สนามเด็กเล่น น้ำพุดนตรี สนามออกกำลังกาย ประชาชนนิยมมาเดินเล่นและออกกำลังกายในสวนตอนเย็นๆ เวลากลางคืนจะมองเห็นหอคอยเปิดไฟเป็นจุดเด่นของเมืองสุพรรณบุรี
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3552 2721, 0 3552 4060-4 และสำนักงานเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โทร 0 3551 1987, 0 3551 1021 โทรสาร. 0 3552 2973
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง ในบริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นอาคารคอนกรีต ออกแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยและยุ้งฉางของชาวนา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนา โดยไม่ได้จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา
เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีวิถีชีวิตของชาวนา เรื่องราวของข้าวในอดีต และที่น่าสนใจ คือ การพบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งอาจเป็นหลักฐานพระราชพิธีแรกนาขวัญในสมัยอยุธยา ชั้นบน จัดแสดงพระราชจริยวัตรพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาไทยทรงพัฒนาการทำนาและการเกษตรของชาติ มีการจัดแสดงภาพจำลอง เหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อปีพ.ศ. 2529 ณ แปลงนาสาธิต บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงทำปุ๋ยหมัก หว่านและเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง และยังคงเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงใช้ นอกจากนี้ชั้นล่างยังมี ห้องค้นคว้าข้อมูล สำหรับค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุที่จัดแสดง พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น.โทร. 0 3552 2191
วัดสุวรรณภูมิ (วัดกลางหรือวัดใหม่) เป็นวัดในสมัยอยุธยา ตอนต้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ถนนพระพันวษา ตรงข้ามกับที่ว่าการ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 อาคารมี 2 ชั้นเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป นาฬิกา อาวุธ เชี่ยนหมาก ถ้วยชาม แจกัน แก้ว โดยเฉพาะบาตรสังคโลกสมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งมีชิ้นเดียวในประเทศไทย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. (ควรติดต่อขออนุญาตเข้าชมล่วงหน้า) โทร. 0 3552 3603, 0 9241 5265
บ้านยะมะรัชโช ตั้งอยู่ที่ถนนหมื่นหาญ ตำบลท่าพี่เลี้ยง ใกล้สะพานอาชา สีหมอก ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และเป็นอดีตเสนาบดี 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาลและกระทรวงโยธาธิการ ลักษณะบ้านเป็นเรือนหมู่ สภาพปัจจุบันเหลือตัวเรือนเดิม เรือนนอน 2 หลัง หอกลาง 1 หลัง หอนั่งสร้างใหม่แทน ของเดิม 1 หลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จบ้านหลังนี้ 2 ครั้ง และได้พระราชทาน ชื่อบ้านไว้ ต่อมาจังหวัดฯ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์บ้านยะมะรัชโช โดยส่งเข้าประกวดโครงการดีเด่น ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมือง ได้รับรางวัลพร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันนี้บ้านยะมะรัชโชเป็นของกองทุนมูลนิธิพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) สนใจชมบ้านยะมะรัชโช ติดต่อโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โทร. 0 3550 2784-8, 0 3552 4088
กำแพงเมืองเก่าและประตูเมือง เมืองสุพรรณบุรีเก่าอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ (บ้านขุนช้าง) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี โดยยังหลงเหลือแนวกำแพงดิน และคูเมืองให้เห็นระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กำแพงทางด้านทิศตะวันตก ของเมืองทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนอก มีเนินดิน และกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500 เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จดแม่น้ำ ด้านตะวันออกไม่พบตัวกำแพง เพราะถูกรื้อในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ใน พระราชหัตถเลขา เรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า บรรยายภาพกำแพงเมืองสุพรรณบุรีว่า “ เมืองสุพรรณบุรีมีกำแพงสองฟากเหมือนเมืองพิษณุโลกยื่นขึ้นไปจากฝั่งแม่น้ำราว 25 เส้น ดูกว้างประมาณ 6 วา นอกเชิงเทิน ” ส่วนประตูเมืองตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมนบนแนวกำแพงเมืองเก่า ประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ ตามแบบกรมศิลปากรตรงสถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิม
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมาย พระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบ สมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่ เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่น เห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน 36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 7-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนกำยาน ริมถนนมาลัยแมน เลยวัดป่าเลไลยก์ ไปทางอำเภออู่ทองประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงข้ามสวนน้ำสุพรรณบุรี ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคตะวันตก มีอาคารแสดงนิทรรศการผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมฝีมือดีเด่นสวยงามประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องหนัง เสื้อผ้า เครื่องหวาย จากในเขตพื้นที่ดูแล รวมทั้งจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-15.00 น. โทร. 0 3554 5518-9
สวนนกท่าเสด็จ (หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามทางสายสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์ (ทางหลวงหมายเลข 322) กิโลเมตรที่ 6-7 เข้าถนนคันคลองไปประมาณ 2 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 200 เมตร สวนนกแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ดินของป้านก พันธุ์เผือก และลุงจอมกับ ป้าถนอม มาลัย เดิมเป็นสวนผลไม้ในระยะแรกยังมีนกไม่มาก ต่อมานกเริ่มเพิ่มจำนวน ขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของที่ดินเป็นคนใจดีจึงปล่อยให้นกมาอาศัยทำรังจนนกเพิ่มเป็นจำนวน นับหมื่นตัว นับเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วมีนกหลายชนิด เช่น นกปากห่าง นกกระสา นกยาง และนกช้อนหอย เป็นต้น ต่อมาทางราชการเข้ามาดำเนินการพัฒนาสวนนกให้เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และจัดตั้งเป็นหน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ มีหอดูนกไว้ขึ้นชมนกจากมุมสูง ในเวลากลางวันจะมีนกให้ชมอยู่บ้าง ส่วนในตอนเย็นจะเห็นนกบินกลับรังจนดูมืดฟ้ามัวดิน ช่วงที่มีนกมาก คือ ในช่วงเดือนตุลาคม
สระศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 322) กิโลเมตรที่ 7-8 ตรงข้ามทางเข้าสวนนกท่าเสด็จ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 13 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาทอดพระเนตรสระศักดิ์สิทธิ์ที่ตำบลนี้ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านท่าเสด็จ สระศักดิ์สิทธิ์เดิมพบเพียง 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ต่อมาพบอีก 2 สระ คือ สระอมฤต 1 และสระอมฤต 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “…แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…” น้ำในสระทั้งหมดนี้ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและพระราช พิธีสระน้ำมูรธาภิเษกตามลัทธิพราหมณ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นโบราณสถานไว้ แต่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร เขตตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถูกลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก กรุใน องค์พระปรางค์นี้เป็นต้นกำเนิดพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” 5 พระเครื่องยอดนิยม อันได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จ พระพุทธาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณ พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชรและพระรอด จังหวัดลำพูน นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า ปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะ การก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขาม ให้เป็น ตัวต่อตัวแตนจากต้นมะขามต้นนี้กับท่านอาจารย์คงเพื่อใช้เวลาโจมตีข้าศึก ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดีและ เป็นการอนุรักษ์ศิลปด้านวรรณกรรม และประวัติศาสตร์
วัดพระลอย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลรั้วใหญ่ เลยวัดแคไปไม่ไกล สาเหตุที่สร้างวัดนี้น่าจะมาจากที่มีพระพุทธรูปปางนาคปรกเนื้อหินทรายขาวลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน(แม่น้ำสุพรรณ) จึงได้ทำพิธีอาราธนาขึ้นมาจากแม่น้ำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูป สมัยลพบุรี นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ที่ปรักหักพังสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทางวัดได้ปฏิสังขรณ์โดยสร้างโบสถ์ใหม่ครอบ และยังมีอุโบสถจตุรมุขใหญ่ สูงเด่น สง่างาม ประดิษฐาน พระพุทธนวราชมงคล สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทราย ปางต่างๆ เก่าแก่มาก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดเป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ มีฝูงปลาหลายชนิด ผู้มาเที่ยวชมสามารถให้อาหารปลาได้ ถือเป็น อุทยานมัจฉา อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
วัดหน่อพุทธางกูร เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เลยวัดพระลอยไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3507 กิโลเมตรที่ 3 เป็นวัดเงียบสงบสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับพุทธประวัติ ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางไสยาสน์ สลักจากหิน มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร ลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
วัดพร้าว อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ติดกับประตูน้ำโพธิ์พระยา เลยวัดพระนอน ไปทางเหนือ ห่างจากจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ภายในวัดมีวิหารลักษณะเด่น คือ เลียนแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนชั้นทรงสูง มีความงดงามแปลกตา เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ด้านหลังวัดยังมีหอไตรกลางน้ำ ตู้พระธรรม สิ่งที่ น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บนต้นหว้าหลังวัดเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่จำนวน นับพันตัวเกาะห้อยหัว ตัวใหญ่เท่าแม่ไก่ สีดำเต็มไปหมด
โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 เป็นโรงละครภูมิภาคแห่งหนึ่งซึ่งกำหนดให้สร้างขึ้นสำหรับภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการแสดงและเป็นสถานที่ให้บริการทางวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดนตรี รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนศิลป วัฒนธรรมระหว่างชาติประจำภาคตะวันตก
วัดสนามชัย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ริมทางหลวงหมายเลข 340 ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก จากพงศาวดารเหนือเล่าว่า พระเจ้า กาแต ทรงให้มอญน้องผู้เป็นญาติสร้างขึ้นพร้อมกับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 1746 พบซากเจดีย์ขนาดใหญ่และกำแพงแก้วพร้อมเจดีย์บริวารเล็กๆทั้งสี่ทิศ เมื่อปีพ.ศ. 2504-2505 กรมศิลปากร ขุดแต่งองค์เจดีย์ ภายในกลวง พบอัฐิธาตุป่นปนกับเถ้าถ่านจำนวนมากบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ นักโบราณคดี ให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า เจดีย์วัดสนามชัย เป็นเจดีย์ 16 เหลี่ยม กว้างด้านละ 48 เมตร ยาวด้านละ 62 เมตร สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี - สมัยอู่ทอง (คือช่วงปลายทวารวดีต่อสมัยอยุธยา) และ สมัยอยุธยา
วัดพระธาตุ หรือ วัดพระธาตุศาลาขาว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนมาลัยแมน (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ) ทางหลวงหมายเลข 321 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 145 วัดมหาธาตุตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะพระปรางค์คล้ายกับ พระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อมกว่า มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร จากสภาพที่หลงเหลือปัจจุบันเป็นพระปรางค์เดี่ยว มีบันไดและซุ้มประตู ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐานของโบราณวัตถุ ที่ขุดค้นพบได้จากพระปรางค์ สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างในราว พ.ศ. 1967-2031 ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) หรือพระบรมไตรโลกนาถ ปัจจุบันพระธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม

อำเภอดอนเจดีย์
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 (สุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์) ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้าง เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ ดอนเจดีย์และถือเป็นวันกองทัพไทย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ทุกปี เลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมไปสักการะบูชาอยู่เสมอ
โบราณสถานบึงหนองสาหร่าย อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร เลยพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3038 ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเลือกบริเวณหนองสาหร่ายเป็นที่ตั้งทัพ เพราะน้ำบริเวณหนองสาหร่ายมีมากพอที่จะให้ทหารจำนวนแสนคน พร้อมช้าง ม้าได้อาศัยเป็นเวลาแรมเดือน ประกอบกับเป็นชัยภูมิที่ตั้งสูงห่างข้าศึก ปัจจุบันสภาพหนองน้ำตื้นเขินและมีเนื้อที่เหลือที่เป็นหนองน้ำเพียง 29 ไร่ บริเวณโดยรอบมีต้นไม้เรียงรายร่มรื่น เนื่องจากสภาพทรุดโทรมนักท่องเที่ยวไม่นิยมมาท่องเที่ยว

อำเภอบางปลาม้า
อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์ อยู่ที่ตำบลบ้านแหลม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 86 จะเห็นป้ายทางเข้าจากนั้นไปตาม ทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะปลายสวาย ปลาเทโพ ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชม และให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิดบริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อนทางเท้าริมน้ำยาวประมาณ 100 เมตร

อำเภอศรีประจันต์
บ้านควาย ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ศรีประจันต์) กิโลเมตรที่ 115-116 เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลาง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หมู่บ้าน ชาวนาแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว คอกควาย โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเรือนไทยภาคกลาง เรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ เช่น เรือนแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย และการใช้สมุนไพร เรือนโหราศาสตร์ มีลานแสดงควายช่วงเช้าแสดงรอบ 11.00-11.30 น. ช่วงบ่ายรอบ 16.30-17.00 น. ด้านหน้าทางเข้ามีร้านขายสินค้าที่ระลึกของบ้านควายสำหรับนักท่องเที่ยว บ้านควายเปิดให้เข้าชมทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 09.30-18.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 300 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักงานกรุงเทพฯโทร. 0 2619 6326-9 สำนักงานสุพรรณบุรีโทร 0 3558 1668 เว็บไซต์ : www.buffalovillages.com
วัดบ้านกร่าง จากทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านอำเภอศรีประจันต์ เข้าทางหลวงหมายเลข 3038 กิโลเมตรที่ 14-15 ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีคนละฝั่งกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีกรุ พระขุนแผนบ้านกร่าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ลักษณะเป็นพระคู่ ด้านใต้ของวัดมีเจดีย์องค์หนึ่งอายุประมาณ 100 ปี บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำมีปลาอาศัยจำนวนมาก ทางวัดจัดจำหน่ายอาหารปลา ถือ เป็นอุทยานมัจฉา แห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี จะสังเกตเห็นเรือนแถวหน้าทางเข้าวัดบ้านกร่าง เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น แบบโบราณ บรรยากาศเงียบสงบ สะท้อนความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมของผู้คนแถวนั้น

อำเภอเดิมบางนางบวช
วัดวัดเขาขึ้น หรือ วัดเขานางบวช (วัดพระอาจารย์ธรรมโชติ) ห่างจากจังหวัดประมาณ 51 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 138-139 มีทางลาดยางขึ้นไปจนถึงวัดซึ่งตั้งอยู่บนเขานางบวช หรือจะเดินขึ้นบันได 249 ขั้น ไปจนถึงยอดเขาก็ได้ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระที่มีความสำคัญใน ศึกชาวบ้านบางระจัน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องรางของขลัง ชาวบ้านบางระจันจึงนิมนต์ไปเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับพม่า ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ด้านนอกวิหาร จะเห็น เจดีย์หินแผ่น เป็นหินแผ่นบางๆวางซ้อนเป็นรูปเจดีย์ขนาดไม่สูงมากตั้งอยู่ติดกับวิหาร ในโบสถ์ หลังใหม่มีรูปปั้นอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อยืนอยู่บนยอดเขาสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอเดิมบาง นางบวชได้อย่างทั่วถึง
วัดหัวเขา ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลหัวเขา ในตัวอำเภอเดิมบางนางบวช ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร ผ่านเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 3350 ประมาณกิโลเมตรที่ 2-3 เมื่อถึงวัดหัวเขาจะเห็นบันไดขึ้น-ลงเขาทำด้วยคอนกรีตจำนวนรวม 212 ขั้น ทุกปีทางวัดจะจัดงานประเพณี ตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นพิธีทำบุญของชาวไทยในเทศกาลออกพรรษา งานเริ่มหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 2 ค่ำ เดือน 11 มีผู้คนมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก
วัดเดิมบาง ห่างจากจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ ธรรมาสน์ที่สร้างโดยช่างชาวจีน เป็นศิลปะไทยผสมจีน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2466 ปัจจุบันเก็บไว้บนศาลา การเปรียญ นอกจากนั้นที่หอสวดมนต์ยังเก็บของมีค่าของวัดไว้ 3 ชิ้น ได้แก่ ฝาบาตรมุก ตาลปัตร และปิ่นโต ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่วัด ทางวัดเก็บรักษาไว้อยู่ในสภาพดี และยังมีมณฑปและหอระฆังที่ก่อสร้างอย่างประณีตสวยงาม ส่วนภายในพระอุโบสถที่บูรณะใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสภาพสมบูรณ์
บึงฉวาก เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 กว่าไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสุพรรณประมาณ 64 กิโลเมตร บึงฉวากมีพื้นที่ติดกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทและอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่อยู่ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชมีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ บึงฉวากได้รับประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี 2526 และในปี พ.ศ. 2541 ได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีในบึง ลักษณะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้าง ทั้งที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมถาวรและชั่วคราว ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุด น้ำลึกไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งบึงฉวากเข้าข่ายลักษณะดังกล่าว คือเป็นบึงน้ำจืด ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร พื้นที่บึงฉวากอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตรและอุตสาหกรรม กรมป่าไม้ เป็นต้น
บึงฉวากให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร มีสถานที่ ท่องเที่ยวน่าสนใจอยู่ในความดูแลเช่น อุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติบึงฉวาก ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ข้อมูล ห้องนิทรรศการแสดงผลผลิตทางการเกษตร ศูนย์บริการท่องเที่ยวเกษตร เรือนเพาะชำกล้าไม้ อุทยาน เปิดให้เขาชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 1948 9214 หรือสำนักงานเกษตร อำเภอเดิมบางนางบวช โทร. 0 3557 8061
ในส่วนของกรมป่าไม้ มีอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มีตู้จำลองระบบนิเวศและห้องฉายวิดีทัศน์ ด้านนอกมีกรงเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก กรงนก กรงเสือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.00-18.00 น. โทร. 0 3543 9206
การเดินทาง จากถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) เมื่อถึงอำเภอเดิมบางนางบวช สามารถเข้าไปได้ 2 ทางคือ เมื่อถึงสี่แยกทางเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ตรงไปจนพบสามแยกตัดกับถนนเลียบคลอง ชลประทาน ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน
อีกเส้นทางหนึ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 340 หลักกิโลเมตรที่ 147 ด้านซ้ายมือจะเห็นโรงเรียน วัดเดิมบางนางบวช ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงเรียน ข้ามแม่น้ำแล้วตรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสามแยกตัดกับ ถนนเลียบคลองชลประทานให้เลี้ยวขวาไปตามถนน จนพบสะพานข้ามคลองชลประทานด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วตรงไปเรื่อยๆ จะเห็นบึงฉวาก

อำเภออู่ทอง
ทวารวดี พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อาคารที่ 2 จัดแสดงห้องชาติพันธุ์วิทยาและลูกปัดที่ค้นพบในเมืองอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ส่วนลานกลางแจ้งสร้างเป็นเรือนแบบลาวโซ่ง จัดแสดง วัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวลาวโซ่ง พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3555 1040
วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม เดิมชื่อ วัดเขาพระ ห่างจากจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ในตัวอำเภออู่ทอง ใกล้หอนาฬิกาบรรหาร-แจ่มใส เข้าซอยไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าตั้งแต่สมัยทวารวดี เพราะ มีโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสลักจากเนื้อหิน เทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน บนยอดเขาพบซากเจดีย์อยุธยา 1 องค์ และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองแกะสลักด้วยหินเขียวธรรมชาติ ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาอีกด้วย ทุกปี มีงานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 12 กับ วันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5
วนอุทยานพุม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลจระเข้สามพัน ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ไปทางหลวงหมายเลข 321 กิโลเมตรที่ 128-129 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 3342 ไป 500 เมตร จะเห็นทางเข้า วนอุทยานพุม่วงทางขวามือ อุทยานแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1,725 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณสลับกับ ป่าไผ่รวก ภายในวนอุทยานมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างทางเดินจะเห็นไม้เบญจพรรณจำพวกไม้มะค่า ไผ่ จันทน์กะพ้อ จันทน์ผา
คอกช้างดินสมัยทวารวดี อยู่ไม่ไกลจากที่ทำการ อายุราว 1,500 ปี จำนวน 3 คอก มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่
ฐานวิหารศิลาแลงสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่สำหรับกษัตริย์ทำพิธีบวงสรวงสังเวยเพื่อ คล้องช้างป่า
น้ำตกพุม่วง ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน มีทั้งหมด 5 ชั้น ตลอดเส้นทางที่ น้ำตกไหลผ่าน จะผ่านจุดที่น่าสนใจ คือ คอกช้างดินและฐานศิลาแลง หากขึ้นไปบนเทือกเขาพระจะเห็นพันธุ์ไม้นานาชนิดอาทิ เช่น จันทน์กะพ้อ และปรงเผือก มี ลานหิน ที่มีก้อนหินน้อยใหญ่วางสลับกัน บางแห่งก็รวมกันเป็นเชิงชั้น มีต้นปรงขึ้นสลับ เป็นป่าใกล้เมืองที่หาได้ยากแห่งหนึ่ง
หากต้องการพักค้างแรมควร ติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า และเตรียมอาหารไปเอง สอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ วนอุทยานพุม่วง ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. 0 1943 5188
วัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลดอนคา ห่างจากอำเภออู่ทอง 8 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายสีแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีทางรถขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางวัดปรับปรุงภูมิทัศน์บนยอดเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามในเขตอำเภออู่ทองโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่าง ๆ อีกหลายชนิด
วัดไผ่โรงวัว ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 43 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยก ลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว หรือ หากมาตามทางหลวงหมายเลข 3422 กิโลเมตรที่ 18-19 วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาธร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และยังมี “พระวิหารร้อยยอด” และ “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้ง สิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย เป็นวัดที่โดดเด่นวัดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
วัดทับกระดาน ไปตามทางหลวงหมายเลข 3387 ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 อำเภอสองพี่น้องเป็นอำเภอบ้านเกิดของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังซึ่งมีคนนิยมฟังเพลงของเธอมากมายและ ได้เสียชีวิตไป ทำให้แฟนเพลงเสียใจกันมาก จึงมีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ ที่ใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ เนื่องจาก พุ่มพวงคุ้นเคยกับวัดนี้ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน ด้านหน้าวัดมีร้านขายของสด แห้งต่างๆ เช่น น้ำพริก หน่อไม้ ผลไม้ต่างๆ ทุกปีจะมีการจัดงานครบรอบวันเสียชีวิตของนักร้องผู้นี้ มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก

อำเภอด่านช้าง
ถ้ำเวฬุวัน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดวังคัน ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากทางเข้าอุทยานแห่งชาติพุเตย 1 กิโลเมตร มีบันไดคอนกรีตขึ้นถึงบริเวณปากถ้ำ จำนวน 61 ขั้น สภาพภายในถ้ำ มีไฟฟ้าสว่างพอให้นักท่องเที่ยวเห็นสภาพภายในถ้ำ ซึ่งมีหินงอกและ หินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปจำลองปางป่าเลไลยก์ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา นอกจากนั้นในบริเวณวัด ทางอำเภอได้จัดทำเป็นสวนไผ่เทิดพระเกียรติ มีพันธุ์ไผ่ต่าง ๆ ปลูกไว้ประมาณ 10 กว่าชนิด
เขื่อนกระเสียว บริเวณสันเขื่อนต้องเดินขึ้นบันไดจากลานจอดรถด้านล่าง เมื่อขึ้นไปถึงจะมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตาถึงเขาพุเตย มีร้านอาหารส้มตำไก่ย่างบริการใกล้ลานจอดรถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่เขื่อนกระเสียว โทร. 0 3559 5120
อุทยานแห่งชาติพุเตย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 198,422 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำและป่าเขาห้วยพลู อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีและวนอุทยานถ้ำเขาวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า ชุกชุม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารด้านการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี บนยอดเขามีป่าสนสองใบหลายพันต้นและยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม
จุดที่น่าสนใจของอุทยานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามสถานที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานดังนี้
หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) บ้านป่าขี อำเภอด่านช้าง หากเดินทางจากเส้นทางหลวงหมายเลข 333 จะเห็นป้ายไปอุทยานแห่งชาติพุเตยอีก 18 กิโลเมตรจะถึงที่หน่วยพิทักษ์นี้ก่อน จากจุดนี้มีพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์พักแรมได้ มีนิทรรศการเกี่ยวกับป่าไม้สำหรับผู้สนใจ
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง เดินทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) ไปประมาณ 12 กิโลเมตร
ศาลเลาด้า ตั้งอยู่ระหว่างทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินเลาด้าแอร์ตกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน
ป่าสนสองใบธรรมชาติ อยู่บนเทือกเขาพุเตย ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่1(พุเตย) ประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้โดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อแล้วเดินเท้าต่อเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินจะผ่านจุดชมวิว และผ่านเนินสนสองใบ สามารถพักค้างคืนกางเต็นท์ได้บริเวณป่าสนสองใบ
ต้นปรงยักษ์ อยู่บนเทือกเขาพุเตย เจริญเติบโตขึ้นผสมกับสนสองใบ อายุประมาณ 200-300 ปี สูง 6-8 เมตร
หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ อยู่ใกล้น้ำตกตะเพินคี่ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุขของมึนเมาทุกประเภท กะเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นกะเหรี่ยงด้ายเหลือง นับถือศาสนาพุทธ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีตลอด 3 วัน 3 คืน จะมีงานพิธีไหว้จุฬามณี ซึ่งนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำจากไม้ไผ่เหลาแหลมปักไว้ที่ลานหมู่บ้าน
น้ำตกตะเพินคี่ อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 51 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย บ้านห้วยหินดำ 33 กิโลเมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี ผืนป่าและต้นน้ำตะเพิ่นคี่ยังคงสภาพสมบูรณ์ มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มากว่า 200 ปี เป็นป่าที่ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสวยงาม เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 2 (พุกระทิง) บ้านวังโหรา อ.ด่านช้าง
อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อยู่ที่บ้านวังโหรา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ใกล้ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 2 (พุกระทิง)
น้ำตกพุกระทิง ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) ประมาณ 7 กิโลเมตร ใกล้อ่างเก็บน้ำ ลำตะเพิน
การเดินทางและที่พัก อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 80 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 160 กิโลเมตร จากอำเภอด่านช้างไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 333 ผ่าน ถ้ำเขาเวฬุวันไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายไปอุทยานแห่งชาติพุเตยอีก 18 กิโลเมตร และเลยผ่านบ้านป่าขีไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 1 (พุเตย) รถยนต์ที่ใช้ควรเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มีกำลังแรงสูง
ที่ทำการอุทยานฯ ไปทางอำเภอบ้านไร่ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ทางซ้ายมือจะมองเห็นป้ายหมู่บ้านวังคุ้น แล้วเลี้ยวเข้าไปประมาณ 14 กิโลเมตร หรือ ห่างจากอำเภอด่านช้างไปประมาณ 50 กิโลเมตร
อุทยานมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลานกางเต็นท์ สนใจเดินทางไปอุทยานแห่งชาติพุเตย ติดต่อ ตู้ปณ. 19 อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) โทร. 0 3552 9215, หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เขาสน โทร 0 1934 2240

Source : tourismthailand.org