สถานที่ท่องเที่ยวในสุรินทร์

สถานที่ท่องเที่ยวสุรินทร์

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสุรินทร์

อำเภอเมือง
หลักเมืองสุรินทร์ เป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่นับถือคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร เดิมเป็นเพียงศาลไม่มีเสาหลักเมือง มีมานานกว่าร้อยปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้ ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ถนนสุรินทร์-ปราสาท เป็นบริเวณที่เคยเป็นกำแพงเมืองชั้นในของตัวเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลังอันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528
วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของจังหวัด คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม นอกจากนี้ผู้มาเยือนยังได้แวะนมัสการรูปเหมือนหลวงปู่ดูลย์ อตุโลอีกด้วย วัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200 ปี เท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520
ห้วยเสนง เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทาน มีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
วนอุทยานพนมสวาย อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ถนนราดยางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ในท้องตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด ยอดที่ 1 มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล
ปราสาทเมืองที ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ เส้นทางหลวงหมายเลข 226 จนถึงบ้านโคกลำดวน เลี้ยวซ้ายเข้าวัดจอมสุทธาวาส ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตู เนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม ตั้งอยู่ที่ตำบลตาอ็อง ทางตะวันออกของตัวเมือง ตามทางสายสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) ประมาณ กม.ที่ 12 ที่หมู่บ้านจันรมมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันเองแล้วนำมาทอเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายและสีแบบโบราณ
หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที อำเภอเมือง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 จากตัวเมืองไปทางอำเภอศรีขรภูมิประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้านจะมีอาชีพพิเศษด้วยการสานตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากหวายเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเป็นของที่ระลึกเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

อำเภอเขวาสินรินทร์
หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองสุรินทร์ ตามทางหลวงหมายเลข 214 (ทางสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร แยกขวามือไปอีก 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองและการผลิตลูกประคำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน ราคาย่อมเยา

อำเภอปราสาท
ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร (ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปราสาท 6 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปตามถนนลาดยางอีก 3 กิโลเมตร ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท 4 กิโลเมตรตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม (ทางหลวงหมายเลข 214) มีทางแยกซ้ายมือที่กม. 34-35ไปอีกราว 1 กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยวิธีอนัสติโลซิส คือการรื้อตัวปราสาทลง เสริมความมั่นคง และประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียวส่วนด้านอื่นอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้างในส่วนบนของปราสาท โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมจำหลักลายงดงามมาก แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน เดิมคงเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนมาก่อน ลักษณะของทับหลังที่พบส่วนมาก สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล มีซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านเหนือสลักเป็นรูปพระกฤษณะฆ่านาค สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นสำหรับพระอินทร์ นอกจากนี้ช่างมักสลักเป็นรูปสัตว์เรียงเป็นแนว เช่น ช้าง กระรอก หมู ลิง และวัว อยู่บนทับหลังสำหรับด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปพระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะและเช่นเดียวกัน มีรูปสลักเป็นรูปสัตว์เล็ก ๆ นอกกรอบหน้าบันอันน่าจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำต่าง ๆ อยู่มาก ที่ผนังด้านหน้ามีรูปทวารบาลยืนกุมกระบอง ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้คล้ายกับปรางค์น้อยบนเขาพนมรุ้ง ลวดลายเป็นลักษณะศิลปะขอมแบบบาปวน กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 จากลักษณะของฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทางด้านข้างขององค์ปรางค์เหลืออยู่มาก สันนิษฐานว่า แผนผังที่แท้จริงของปราสาทแห่งนี้น่าจะประกอบด้วยปรางค์สามองค์สร้างเรียงกัน แต่อาจยังสร้างไม่เสร็จหรืออาจถูกรื้อออกไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ ปราสาทหินบ้านพลวงเปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

อำเภอพนมดงรัก
โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 214 ผ่านอำเภอปราสาท แยกไปตามทางหลวงหมายเลข 2121 ที่จะไปอำเภอบ้านกรวดประมาณ 25 กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านตาเมียง ไปอีก 13 กิโลเมตร
ปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่า คือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนคร โปรดให้สร้างขขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย ปราสาทตาเมือนสร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียว กับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในดินแดนประเทศไทย มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้อยยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว 2-3 ชิ้น
ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพืทธศตวรรษที่ 18 ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ด้านหน้า คือ ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงด้านหน้ามีสระน้ำเช่นเดียวกับอโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ
ตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้ มีข้อความเช่นเดียวกับจารึกที่พบที่อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ คือ กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือ และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ เช่น แพทย์ ผู้ดูแลสถานพยาบาล ปัจจุบันจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี
ปราสาทตาเมือนธม อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำและที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน
เนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชาและสภาพถนนยังเป็นลูกรังขรุขระ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปชมควรคำนึงถึงความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว โดยสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่ก่อนเดินทางเข้าไปด้วย

อำเภอกาบเชิง
ตลาดการค้าช่องจอม ตั้งอยู่ที่บ้านด่านพัฒนา ตำบลด่าน ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 69 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวอำเภอกาบเชิง 13 กิโลเมตร เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทัน-ห้วยสำราญและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2538 ฝั่งตรงข้ามด้านกัมพูชาเป็นชุมชนโอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย
ช่องจอมเป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่และสะดวกที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา ทำให้มีการติดต่อสัญจรไปมาและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวไทยและกัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่มาของแนวความคิดในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ตลาดแห่งนี้เปิดทำการค้าขายและสัญจรไปมาเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00-16.00 น. (อนุญาตให้ข้ามแดนเฉพาะคนไทยเท่านั้น) ประเภทสินค้ามีทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และสิ่งประดิษฐ์จากไม้ เช่น ม้านั่ง หัตถกรรมไม้ เสื่อสานไม้ๆผ่ ตะกร้าสานต่าง ๆ

อำเภอศรีขรภูมิ
ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ จากลวดลายที่เสาและทับหลังขององค์ปรางค์ มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1650) และแบบนครวัด (พ.ศ. 1650-1700) จึงอาจกล่าวได้วา ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ปราสาทศีขรภูมิเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

อำเภอลำดวน
ปราสาทตะเปียงเตีย (แปลว่า หนองเป็ด) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลโชกเหนือ ภายในบริเวณวัดปราสาทเทพนิมิตร หลักกม. 33-34 ทางหลวงหมายเลข 2077 แยกเข้าทางลูกรังอีก 7 กิโลเมตร ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดปราสาท 5 ยอด เป็นรูปบัวตูม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ อยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโชกเหนือ อำเภอลำดวน เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดที่ขึ้นในที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ 625 ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ราบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

อำเภอสังขะ
ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และก่อศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อยสองสมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งตรงกลางและปราสาทที่มีฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้นั้นสร้างขึ้นในสมัยหลัง
ปราสาทภูมิโปนคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกายเช่นเดียวกับศาสนสถานแห่งอื่นในรุ่นเดียวกัน แม้ไม่พบรูปเคารพซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์อยู่ภายในปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนตร์ที่ต่อออกมาจากแท่นฐานรูปเครรพในห้องกลางติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง
ปราสาทยายเหงา ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ระหว่าง กม. 189-190 แยกไปตามทางลูกรังอีก 800 เมตร เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร จากลักษณะแผนผังของอาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ด้านหน้าปราสาท

อำเภอจอมพระ
ปราสาทจอมพระ ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลจอมพระ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก 1 กิโลเมตรปราสาทจอมพระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 1 เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ 1 องค์เช่นเดียวกัยที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอพิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. 1720-1780) ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม

อำเภอท่าตูม
หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม มีทางแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 ไปตามทางราดยางอีกประมาณ 22 กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง
ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมาต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านไม่สามรถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี การเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลางไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้าท่านได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังได้สัมผัสการดำรงชีวิตของชาวส่วย พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้ว และยังสามารถเดินทางไปชมบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนและชวนให้ศึกษาในเชิงธรรมชาติด้วย
นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับช้าง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง และให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับช้าง รวมทั้งมีการแสดงช้างให้ชมเป็นประจำในวันเสาร์และอาทิตย์ วันละ 1 รอบ เวลา 9.30-11.00 น. ที่บริเวณลานแสดงช้างของศูนย์คชศึกษา ค่าเข้าชม ชาวไทย 50 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท สอบถามรายละเอียดและจองการแสดงล่วงหน้าได้ที่ ศูนย์คชศึกษา โทร. (01) 910-4326
จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีช้างมากมาแต่โบราณ ชาวเมืองในอดีตหรือที่เรียกว่า “ส่วย” ได้จับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้เป็นพาหนะและขนส่งช้าง และการควบคุมบังคับขี่ช้างของชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ “การแสดงของช้าง” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดงานนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่สนามกีฬากลางจังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นงานประจำปีระดับชาติ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาร่วมชมงานนี้ เป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และจังหวัดสุรินทร์ การแสดงของช้างประกอบด้วยการแสดงคล้องช้าง การชักคะเย่อระหว่างคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรด ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง เช่น รำเรือมอัมเร เซิ้งบั้งไฟ ฯลฯ

Source : tourismthailand.org