สถานที่ท่องเที่ยวในหนองคาย

สถานที่ท่องเที่ยวหนองคาย

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวหนองคาย

อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

• อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวในจังหวัดหนองคาย เป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนความดีของผู้ล่วงลับไปแล้วในการปราบฮ่อ ในปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม รับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบฮ่อ เดิมตั้งอยู่ที่หลังสถานีตำรวจภูธร จังหวัดหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ทางจังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณให้เสริมสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อให้สง่างามสมกับเป็นอนุสาวรีย์ของผู้ที่ได้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองหนองคายสืบไป จึงย้ายมาสร้างใหม่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด มีคำจารึกที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ ทั้งภาษาไทย จีน ลาว และอังกฤษ ทางจังหวัดได้กำหนดให้มีการจัดงานบวงสรวงและฉลองอนุสาวรีย์เป็นประจำทุกวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี
• หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากองค์พระเบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวเมืองหนองคายนับถือมาก มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยหลายตอน เสด็จในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในประเทศล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนามพระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ พ.ศ. 2321 พระเจ้าธรรมเทววงศ์ได้อัญเชิญไปไว้ ณ เวียงจันทน์ และในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญมาฝั่งไทย แต่เกิดพายุ พระสุกจมน้ำอยู่ที่ปากงึ่ม (เวินพระสุก) ส่วนพระเสริมและพระใส ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยและวัดหอกล่อง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้อัญเชิญพระเสริมลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ทุกปีในวันเพ็ญกลางเดือน 7 ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญบั้งไฟบูชาพระใสที่วัดโพธิ์ชัยเป็นประจำ การเดินทางจากตัวเมืองหนองคายใช้เส้นทาง 212(ไปทางอ.โพนพิสัย) อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 2
• พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน เดิมพระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมเป็นเจดีย์สร้างด้วยอิฐเผา มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น ลักษณะเจดีย์เป็นรูปสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากรในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521 หลังจากที่องค์เดิมได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด พระธาตุองค์ปัจจุบันมีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร สูงถึงยอดฉัตร 34.25 เมตร รูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆังชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี และเหนือชั้นไปเป็นที่ตั้งฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือสัตตมหาสถาน ซึ่งหมายถึง สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จประทับเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน ซึ่งมีดังนี้ 1. พระรัตนบัลลังก์ เป็นรูปต้นโพธิ์มีบัลลังก์ หมายถึงสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ 2. พระอนิมิสเจดีย์ เป็นรูปเก๋งจีน หมายถึง สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์ 3. พระรัตนจงกรมเจดีย์ หมายถึง สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมเป็นเวลา 7 วัน 4. พระรัตนฆรเจดีย์ เป็นรูปเรือนแก้ว ทำเป็นเก๋งจีน หมายถึง สถานที่ซึ่งเทวดาเนรมิตให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรม 5. พระอัชปาลนิโครธ คือ ต้นไทรที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุติสุข 6. พระมุจลินทพฤกษ์ คือ ต้นจิกที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง และมีฝนพรำลงมา 7 วัน มีพญานาคเข้ามาขนดตัว 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้ามิให้ลมฝนถูกต้องพระวรกาย 7. พระราชายตนพฤกษ์ คือ ต้นเกตที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุติสุข
• สระพญานาค อยู่ในบริเวณใกล้ๆ องค์พระธาตุ ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล ในสมัยต่อมาสระพญานาคก็ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนกระทั่งชาวบ้านและประชาชนที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคและทำการบูรณะสระพญานาคเพื่อใช้น้ำในสระนี้นำไปประกอบพิธีมงคลต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกปีชาวจังหวัดหนองคายจะจัดงานนมัสการพระธาตุบังพวนขึ้นในเดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ การเดินทางห่างจากอำเภอเมืองหนองคาย ประมาณ 21 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ท่าบ่อ) ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 10 วัดจะอยู่ด้านขวามือ
• ท่าเสด็จ อยู่ในเขตเทศบาลเมือง เป็นท่าเรือโดยสารข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งลาว มีด่านตรวจคนเข้าเมืองและร้านค้าจำหน่ายสินค้าจากนานาประเทศที่ส่งผ่านเข้ามาจากฝั่งลาวสินค้าที่จำหน่ายได้แก่ เครื่องไม้ฝังมุก เครื่องไฟฟ้า นาฬิกา อาหาร ฯลฯ
• หาดจอมมณี ตั้งอยู่ที่บ้านจอมมณี หมู่ที่ 1 ตำบลมีชัย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำโขง หาดแห่งนี้จะมีความยาวประมาณ 200 เมตร ช่วงที่เหมาะในการไปเที่ยวคือเดือนเมษายน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดและจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พัทยาอีสาน” อีกทั้งทิวทัศน์ในบริเวณหาดทรายยังสามารถมองเห็นบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ได้อย่างชัดเจน
• สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ตั้งอยู่ซอย 1-2 บ้านจอมมณี ตำบลมีชัย เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่านาแล้ง แขวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว เป็นสะพานแห่งแรกที่สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ลาว และประเทศไทย นับว่าเป็นสะพานที่สร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ตัวสะพานมีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ
การเดินทางข้ามไปประเทศลาว
1. การเดินทางท่องเที่ยว สปป.ลาว อนุญาตให้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวด้วยตนเอง แต่ถ้าต้องการความสะดวกสบายสามารถซื้อโปรแกรมนำเที่ยวจากบริษัทที่ได้รับอนุญาต ตามกฏหมาย
2. เอกสารประกอบการเดินทาง ชาวไทยต้องทำบัตรผ่านแดนที่ศาลากลางจังหวัดหนองคาย โทร.(042) 411778โดยมีเอกสารประกอบการทำบัตรผ่านแดนคือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป ส่วนเด็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ให้ใช้สำเนาสูติบัตร พร้อมรูปถ่ายจำนวน 2 รูป ชาวต่างประเทศ จะต้องใช้หนังสือเดินทาง (Passport) และขอวีซ่าที่สถานฑูตลาวประจำประเทศไทย หรือที่สถานกงสุลลาว ถนนโพธิสาร ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร.(043) 223698 หรือขอ Visa on arrival ได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสปป.ลาว
3. การนำรถเดินทางเข้าไปในสปป.ลาว ต้องทำเอกสารนำรถออกและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย โทร. (042) 411518 , 421468-9 โทรสาร (042) 412654

อ.ท่าบ่อ
• หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) แล้วเข้าเส้นทางหมายเลข211(หนองคาย-ท่าบ่อ) ถึงอำเภอท่าบ่อตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดด้านซ้ายเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เลยตลาดท่าบ่อไปจะเห็นวัด รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 43 กิโลเมตร
• หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทอง ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างด้วยทองนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก จากหลักฐานศิลาจารึกได้บ่งไว้ว่า “พระเจ้าองค์ตื้อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2105 ผู้สร้างคือ พระไชยเชษฐา กษัตริย์นครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดา และบริวาร ช่วยกันหล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ” (มาตราโบราณของอีสาน) แต่หล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อมาพระอินทร์และเทพยดา 108 องค์ มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ ใช้เวลาในการสร้าง 7 ปี 7 เดือน และทางจังหวัดได้จัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
• หมู่บ้านประมงน้ำจืด อยู่ที่ตำบลกองนาง ตามเส้นทางท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืด มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นที่น่าสนใจในด้านวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง
• หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ อยู่บริเวณเส้นทางจากหนองสองห้องไปอำเภอท่าบ่อ เป็นหมู่บ้านทำแผ่นกระยอซึ่งเป็นแผ่นแป้งสำหรับใช้ทำปอเปี๊ยะ มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

อำเภอศรีเชียงใหม่
• วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท โดยอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย บริเวณโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพรรณ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขง ทัศนียภาพสวยงาม ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2523 การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) วัดหินหมากเป้งจะอยู่ทางขวามือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 64 ริมถนนด้านขวามือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวอำเภอศรีเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร

อำเภอสังคม
• น้ำตกธารทอง อยู่ในเขตบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลผาตั้ง การเดินทางใช้เส้นทางหนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม (ทางหลวงหมายเลข 211) ผ่านบ้านไทยเจริญ แล้วต่อไปบ้านผาตั้ง น้ำตกธารทองจะอยู่ริมทางด้านขวามือ บริเวณหลักก.ม.ที่ 74 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 11 กิโลเมตร น้ำตกธารทอง เป็นน้ำตก ที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร เป็นระยะลดหลั่นกันไป ตอนล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และลานหิน ในแอ่งน้ำสามารถลงไปเล่นน้ำและอาบน้ำได้ ช่วงที่เหมาะสมคือเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
• น้ำตกธารทิพย์ หรือน้ำตกตาดเสริม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกธารทอง ตามทางหลวงหมายเลข 211 บริเวณกิโลเมตรที่ 97-98 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร มีป้ายบอกที่ปากทาง ต้องเดินเท้าอีกประมาณ 100 เมตร รวมระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร
น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผา 3 ชั้น ชั้นที่ 1 สูงประมาณ 30 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 100 เมตร ต้องปีนขึ้นไปตามเส้นทางที่ทำไว้ ชั้นที่ 3 สูงประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และจะมีน้ำมากในฤดูฝน นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวแวะชมความงามอยู่เสมอ

Source : tourismthailand.org