สถานที่ท่องเที่ยวในอุตรดิตถ์

สถานที่ท่องเที่ยวอุตรดิตถ์

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอุตรดิตถ์

อำเภอเมือง
• หลวงพ่อเพชรวัดท่าถนน วัดท่าถนนเดิมชื่อ วัดวังเตาหม้อ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ถนนเกษมราษฎร์ ตำบลท่าอิฐ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน นั่งขัดสมาธิเพชร ตามประวัติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2436 ขณะหลวงพ่อด้วงเจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เดินทางกลับจากรับนิมนต์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล เมื่อผ่านวัดสะแกที่เป็นวัดร้าง ได้พบเนินดินเป็นจอมปลวกขนาดใหญ่มีเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดูพบว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามมาก จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าถนน มีคนมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร จึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อเพชร”
• วัดธรรมาธิปไตย ตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้สี่แยกจุดตัดของถนนอินใจมีกับถนนสำราญรื่น เดิมชื่อวัดต้นมะขาม ภายในวัดเป็นที่เก็บบานประตูของวิหารหลังใหญ่ และเก่าแก่มากของวัดพระฝาง บานประตูทำจากไม้ปรูขนาดกว้าง 2.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนา 16 เซนติเมตร แกะสลักในสมัยอยุธยาเป็นลายกนกก้านขด มีลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มมีกนกใบเทศขนาบสองด้าน กล่าวกันว่า เป็นบานประตูไม้แกะสลักที่มีความงามเป็นที่สองรองลงมาจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ที่กรุงเทพฯ
• วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ที่ถนนสำราญรื่น ตำบลท่าเสา อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟท่าเสา วัดนี้มีวิหารเก่าแก่ซึ่งมีบานประตูไม้แกะสลัก 2 บาน ตลอดจนลายไม้ที่วิหารด้านหน้า และมีหอไตรโบราณที่มีรูปแบบสีสันสวยงาม ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก
• อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ที่ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลอง สนามรบ และวิถีชีวิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ
• หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าและเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ “ยานมาศ” หรือ คานหามไม้แกะสลักโปร่ง 3 ชั้น กว้าง 73 เซนติเมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 1.45 เมตร เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ยานมาศนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเดินทางมาตรวจราชการ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444 ว่าทรงพบยานมาศแบบนี้ 4 คัน คันแรกทรงพบที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อีก 2 คัน พบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
• ครั้นมาถึงอุตรดิตถ์ก็พบอีกคันที่วัดท่าเสา ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ให้ประชาชนชมที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ หอวัฒนธรรมฯ จะเปิดให้ชมฟรีเฉพาะวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์เท่านั้น และช่วงเช้าตั้งแต่เวลาตีห้า จะมีชาวบ้านจากอำเภอต่าง ๆ นำของพื้นบ้านมาขาย สามารถชมวิถีชีวิตชาวบ้านได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมหอวัฒนธรรมฯ เป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้ามาก่อน ถึงสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ ถนนอินใจมี จังหวัดอุตรดิตถ์
• วัดกลาง อยู่ที่ตำบลบ้านแกะ ห่างจากตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร วัดกลางเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฎชื่อผู้สร้าง มีพระอุโบสถที่มีลวดลายรูปปั้นสวยงาม ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองมีพุทธลักษณะงดงามเป็นศิลปแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมศิลปะแบบลาวหลวงพระบาง และจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่หายากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพพระเวสสันดรชาดกและเทพชุมนุม
• วัดพระฝาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านพระฝาง ตำบลผาจุก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงทางหลวงหมายเลข 11 เลี้ยวขวาไปทางพิษณุโลก 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายจากทางแยกเข้าไป 14 กิโลเมตร วัดนี้มีชื่อเต็มว่า “วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช วัดพระฝางประกอบด้วยโบสถ์ วิหารและพระธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับบานประตูแกะสลักของพระวิหารเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย
• กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา อยู่ที่บ้านท่า หมู่ 5 ตำบลหาดกรวด ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางวังกะพี้ (ทางหลวงหมายเลข 1040) ขับตรงไปข้ามสะพานจนเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอตรอน ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเจอป้ายหมู่บ้านอุตสาหกรรมอยู่ทางขวามือเลี้ยวเข้าไปประมาณ 300 เมตร กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ร่วมกัน ทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา โดยได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาจากกลุ่มแม่บ้านบ้านท่ามีฝีมือการผลิตที่ปราณีตและรูปแบบที่ทันสมัย และที่สำคัญมีราคาย่อมเยามาก เหมาะที่จะซื้อมาเป็นของตกแต่งบ้านหรือของฝาก เช่น โคมไฟ แจกัน กระเป๋า ตะกร้า รองเท้า ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อคุณอุ่นเรือน โหมดพันธ์ ประธานกลุ่ม โทร. (055) 445354

อำเภอลับแล
• อำเภอลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง หมายเลข 1041 อีก 6 กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ ณ บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจาก จะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจกและไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
• อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ อยู่ตรงสี่แยกตลาดลับแล เดิมชื่อ ทองอิน เป็นนายอากรสุรา เชื้อสายจีน แต่ด้วยความรักในท้องถิ่นจึงพัฒนาเมืองลับแลมาโดยตลอด เป็นผู้นำชุมชนที่ชาวลับแลให้ความนับถือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิศาลจีนะกิจ และเลื่อนเป็นพระศรีพนมมาศ ในปี พ.ศ. 2451
• วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีตำนานเกี่ยวพันกับอีก 2 วัด ที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า วัดแห่งนี้เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ประกอบด้วยวิหารแบบล้านนาซึ่งอยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นพระบรมธาตุทุ่งยั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์เก่าแก่แบบลังกาทรงกลมฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นบริวารอยู่ 4 มุม ฐานชั้นที่ 3 มีซุ้มคูหา 4 ด้าน สันนิษฐานว่าได้บูรณะขึ้นภายหลัง
• วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อยู่เลยวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 500 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือของถนนใกล้ทางแยก ภายในมีมณฑปเป็นศิลปะแบบเชียงแสน ครอบรอยพระพุทธบาทคู่ที่ประดิษฐานบนฐานดอกบัวสูงประมาณ 1.5 เมตร ที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคลนี้ ยังมีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยเรียกกันว่า “หลวงพ่อพุทธรังสี” เดิมประดิษฐานอยู่ในมณฑปมีปูนพอกหุ้มไว้ทั้งองค์ ต่อมาได้กระเทาะปูนออกและนำไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่สร้างใหม่
• วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระแท่นศิลาอาสน์เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้น บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่เป็นไม้สักแกะสลักนั้น เดิมเคยเป็นบานประตูวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกมาก่อน นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่เดิมเป็นศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ มี 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตชาววัง - ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก-ก่อสร้าง เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณฝีมือช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปที่แกะจากต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น.
• วัดเจดีย์คีรีวิหาร อยู่ที่หมู่ 1 บ้านวัดป่า ตำบลฝายหลวง ห่างจากตัวจังหวัด 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1040-1043 เป็นบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอันงดงาม บานประตู และหน้าบันเป็นไม้แกะสลัก
• อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร อยู่หมู่ 7 บ้านท้องทับแล ตำบลฝายหลวง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จากอำเภอลับแล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 เป็นอนุสาวรีย์ของปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแล
• น้ำตกแม่พูล อยู่ที่หมู่ 4 บ้านต้นเกลือ ตำบลแม่พูล เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนให้น้ำไหลลดหลั่นจากบนเขาสูงลงมา ดูคล้ายน้ำตกธรรมชาติ สูงหลายชั้น สภาพโดยรอบร่มรื่น บริเวณใกล้ ๆกับน้ำตกเป็นสวนลางสาด บริเวณน้ำตกมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและที่จอดรถไว้บริการ
• การเดินทาง จากอำเภอเมืองถึงอำเภอลับแล ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1043 ประมาณ 12 กิโลเมตร หรือขึ้นรถสองแถวที่ถนนตุลาสถิตย์ ในตัวเมืองรถจะออกทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00–17.30 น. หรือจะเหมาแท๊กซี่ไปก็ได้

อำเภอท่าปลา
• อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน อยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วยป่านานาชนิดที่ยังคงความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 624,468 ไร่ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก เช่น เก้ง กวาง หมูป่า หมี และสัตว์ปีกจำนวนไม้น้อยกว่า 200 ชนิด ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จุดที่สูงที่สุดของอุทยานฯ คือ ยอดเขาภูพญาพ่อ สูงถึง 1,350 เมตร ซึ่งจะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี มีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
• อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 203 กิโลเมตร ภายในมีเกาะแก่งมากมาย เหมาะสำหรับการล่องแพชมวิวทิวทัศน์
• จุดชมวิว เส้นทางสายป่าแดง น้ำกราย นางพญา ซึ่งลัดเลาะตามริมเขา มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก เนื่องจากเส้นทางสายนี้ตัดผ่านป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาทำให้อากาศเย็นสบาย นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นพรรณไม้นานาชนิด เช่น กล้วยไม้ป่า พญาเสือโคร่ง และเฟิร์นพันธุ์ต่าง ๆ
• เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จะมี 2 เส้นทาง คือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 4 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะมีจุดชมวิวตลอดระยะทาง นอกจากนั้นยังมีสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์
• แก่งนางพญา จะเป็นแก่งหินน้อยใหญ่ลดหลั่นกันลงไป อยู่กลางลำน้ำนางพญา มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณแก่งดูสวยงามมาก
นอกจากนี้ในอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ยังมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเชิงทอง น้ำตกห้วยมุ่น และน้ำตกดอยผาหมอก ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เชิงทอง สามารถเดินทางจากจังหวัดแพร่สะดวกกว่า คือ จากตัวอำเภอแพร่ เข้ามาทางวัดพระธาตุช่อแฮ พอถึงวัดพระธาตุช่อแฮ ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 9 กิโลเมตร
• การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ 36 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ผ่านสามแยกร่วมจิต และสามแยกห้วยเจริญจะพบทางแยกซ้ายมือ ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
• เขื่อนสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่บ้านผาซ่อม ตำบลท่าปลา เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม สันเขื่อนยาว 800 เมตร กว้าง 12 เมตร สูง 113.6 เมตร บริเวณเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบใหญ่ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบสุริยันจันทรา มีทิวทัศน์สวยงาม เมื่อไปถึงบริเวณเขื่อน นักท่องเที่ยวควรไปติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวบริเวณเขื่อน การจองที่พัก การเช่าจักรยาน การให้เช่าเรือท่องทะเลสาบเหนือเขื่อน อัตราค่าเช่าเรือล่องในเขื่อนสิริกิติ์คือ เรือขนาด 150 คน ค่าเช่าชั่วโมงละ 1,700 บาท และเรือขนาด 30 คน ค่าเช่าชั่วโมง 1,400 บาท นอกจากนั้นยังมีสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ให้บริการ เขื่อนสิริกิติ์มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ราคา 500–1,200 บาท สอบถามสำรองที่พักได้ที่ โทร. (055) 412639 ต่อ 2501, 2503-5
• การเดินทาง จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (เขื่อนสิริกิติ์-ท่าปลา) ถึงเขื่อนสิริกิติ์ ระยะทาง 58 กิโลเมตร หรือนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปลงที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และต่อรถโดยสารสายอุตรดิตถ์-ฟากท่า-บ้านโคก รถจะจอดที่หอนาฬิกา ถนนสำราญรื่น หรือจะเหมารถแท๊กซี่บริเวณสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ก็ได้
• บ้านท่าเรือ เป็นหมู่บ้านริมทะเลสาบ ตั้งอยู่หมู่ 9 บ้านท่าเรือ เป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายปลา และมีแพสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะล่องแพเที่ยวชมอ่างเก็บน้ำ และทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งแบบค้างคืนหรือเช้าไปเย็นกลับก็ได้ มีอาหารพร้อม สามารถติดต่อได้ที่ เกษณี แพทัวร์ โทร. 01–605-6211 และแพสมบูรณ์พร้อม โทร. 01–971-2527, 01–280–9188
• การเดินทาง จากอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทาง 1145 ประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงสามแยกร่วมจิต แยกซ้ายอีก 10 กิโลเมตร (ไปทางอำเภอท่าปลาและเขื่อนดิน) ถึง อำเภอท่าปลา มีทางแยกซ้ายไปบ้านท่าเรืออีก 7 กิโลเมตร (ทาง รพช. บ้านสามร้อยเมตร-บ้านท่าเรือ ต่อด้วยทาง รพช. สายบ้านเลิศชัย-บ้านห้วยรกช้าง)
อำเภอน้ำปาด
• วนอุทยานต้นสักใหญ่ อยู่ที่หมู่ 4 บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีเนื้อที่ 22,000 ไร่ ภายในมีต้นสักใหญ่ ซึ่งได้ถูกพบเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 มีอายุประมาณ 1,500 ปี ความยาวรอบต้น 1007 เซนติเมตร วัดเมื่อ 18 มิถุนายน 2543 แม้ส่วนยอดถูกพายุพัดหัก ลำต้นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพเดิมโดยได้รับการดูแลรักษาให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ และในวนอุทยานต้นสักใหญ่ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร การจะเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000 โทร. (055) 258028 ต่อ 502
• การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์) ประมาณ 60 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1146 ประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านห้วยปูดเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 ประมาณ 10 กิโลเมตร
• อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ 149,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อปี 2537 ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงตามแนวชายแดนไทย-ลาว มียอดภูสอยดาวสูงที่สุด 2,102 เมตร จากระดับทะเล สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงที่ป่าปกคลุม เป็นป่าดิบเขาสลับทุ่งหญ้าและป่าสน เช่นป่าสนสามใบ อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีดอกไม้ป่าพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ดอกหงอนนาค ดอกไม้ดินต่าง ๆ ขึ้นอยู่กลางป่าสน
• ภูสอยดาว สามารถจะมาท่องเที่ยวได้ทั้งปี แต่ถ้าหากอยากดูดอกไม้สีสวย ๆ ที่มักจะขึ้นเพื่อรับความชุ่มชื้นในช่วงหน้าฝน ควรจะมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว
• สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
• น้ำตกภูสอยดาว อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี แต่จะมีน้ำมากในช่วงหน้าฝน
ลานสน การเดินทางสู่ยอดลานสนต้องขึ้นเขาลาดชันเกือบตลอดเส้นทาง และผ่านเนินต่าง ๆ ที่มีชื่อบอกถึงความยากลำบากในการเดินผ่านแต่ละเนิน เช่น เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ ที่มีความสูงชันมากที่สุด แต่เส้นทางที่เดินขึ้นไปนั้นไม่ยุ่งยากเพราะจะเดินไต่เขาขึ้นไปตามสันเขาไม่มีทางแยกไปไหน ระยะทางเดินเท้าขึ้นลานสนประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 5-6 ชั่วโมง บนลานสนจะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นสนสองใบ สนสามใบ ต้นหงอนนาค ที่มีสีม่วงตัดกับดอกสร้อยสุวรรณาที่มีสีเหลือง ออกดอกให้ดูสวยงาม และดอกไม้อีกนานาชนิดที่ขึ้นอวดความสวยงามและสร้างความสดขื่นสดใสให้กับลานสน บนลานสนเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามด้วย บนลานสนไม่มีบ้านพักและอาหาร หากต้องการจะขึ้นไปพักค้างแรมต้องเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง และหากนักท่องเที่ยวต้องการลูกหาบช่วยขนสัมภาระก็มีบริการ การจะขึ้นบนลานสนต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง และอุทยานฯ จะอนุญาตให้ขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 08.00–13.00 น.
• น้ำตกสายทิพย์ เป็นน้ำตกอยู่บนลานสน มี 7 ชั้น ทางไปน้ำตกเป็นหุบเขา ค่อนข้างลาดชัน
อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว และสามารถกางเต็นท์ได้บนยอดลานสน สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579–5734, 579–7223 หรือที่ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ 53110
• การเดินทาง จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1045 ผ่านเขื่อนสิริกิติ์ สู่อำเภอน้ำปาด ระยะทาง 68 กิโลเมตร ต่อจากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1239 ไปทางบ้านห้วยมุ่นอีกประมาณ 47 กิโลเมตร และจากบ้านห้วยมุ่นใช้เส้นทางหมายเลข 1268 อีก 18 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกภูสอยดาว ซึ่งเป็นจุดเริ่มเดินเท้าขึ้นสู่ยอดลานสน
• สำหรับรถโดยสารประจำทาง จากอุตรดิตถ์จะมีรถโดยสารปรับอากาศออกจากตลาดอำเภอเมือง (ตลาดต้นโพธิ์) ไปอำเภอน้ำปาดทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00–17.00 น. (แต่รถเที่ยวแรกจะเข้ามาที่สถานีขนส่ง เวลา 05.00 น.) ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง จากนั้นลงรถที่หน้าโรงพยาบาลอำเภอน้ำปาด จะมีท่ารถสองแถว ต้องเหมารถไปภูสอยดาวประมาณ 300 บาท ใช้เวลาเดินทางอีก 3 ชั่วโมง
• สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับทางอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ต้องเหมารถไป ราคาประมาณ 500 บาท ใช้เวลา 2 ชั่วโมง และต่อรถโดยสารไม่ปรับอากาศที่อำเภอชาติตระการ สายชาติตระการ-นครไทย-พิษณุโลก มีรถบริการระหว่างเวลา 05.00–17.30 น. ช่วงนี้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 43 บาท รถโดยสารจากพิษณุโลก กลับกรุงเทพฯ ควรจะไปซื้อตั๋วที่บริษัทในตลาดโดยตรงมากกว่าที่จะมาที่สถานีขนส่ง เนื่องจากมีโควต้าขายตั๋วน้อย

อำเภอทองแสนขัน
• บ่อเหล็กน้ำพี้ อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 เป็นโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งเหล็กกล้า ที่นำมาทำพระแสงดาบตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมมีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ มีบ่อหนึ่งเรียกว่า “บ่อพระแสง” ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยสงวนไว้ใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น และ “บ่อพระขรรค์” เป็นบ่อที่ในสมัยโบราณมีช่างทำพระขรรค์ถวายพระมหากษัตริย์ ได้นำแร่เหล็กน้ำพี้จากบ่อพระขรรค์ไปถลุงทำพระขรรค์ ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้ รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติเหล็กน้ำพี้ โดยจัดแสดงและจำลองให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการตีเหล็กน้ำพี้ ตั้งแต่การขุดแร่เหล็กน้ำพี้จนตีเป็นดาบที่มีความแกร่งและความคมเป็นเลิศ ดาบน้ำพี้จึงเป็นอาวุธคู่กายของขุนศึกและนักรบไทยในสมัยโบราณตลอดมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00–17.00 น.

เทศกาลและงานประเพณี
• งานเทศกาลลางสาด จัดประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ณ บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ในงานมีนิทรรศการทางวิชาการเกี่ยวกับลางสาด การประกวดลางสาด การประกวดธิดาลางสาด การประกวดรถผลไม้ การออกร้านสินค้าพื้นเมือง
งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด เป็นงานรำลึกถึงวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก และงานฤดูหนาวประจำปี ระหว่างวันที่ 7-16 มกราคม ของทุกปี บริเวณสนามกีฬาพิชัยดาบหัก ในงานจะมีการออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัด และกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ
• งานประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (อัฐมีบูชา) จัดในระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 บริเวณวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ในงานมีการจำลองพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า เป็นการน้อมจิตรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
• งานเทศกาลวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ในวันขึ้น 8-15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) ของทุกปี จะมีชาวบ้านทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาทำบุญและไหว้พระแท่นศิลาอาสน์กันเป็นจำนวนมาก

Source : tourismthailand.org