กิจกรรมในเชียงใหม่

กิจกรรมเชียงใหม่

ข้อมูลกิจกรรมเชียงใหม่

ทศกาลงานประเพณี
งานร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นประมาณเดือนมกราคมของทุกปี ที่บริเวณศูนย์หัตถกรรม ร่มบ่อสร้าง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากกระดาษสา โดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ประเพณีพื้นบ้าน และการประกวดต่างๆ
งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ ในงานจัดให้มีการประกวดสวนหย่อมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ภาคเช้าของงานจะจัดให้มีขบวนรถบุปผชาติ และนางงามบุปผชาติ แห่จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ ผ่านสะพานนวรัฐไปสู่สวนสาธารณะหนองบวกหาด จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประกวดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และมีขบวนรถบุปผชาติด้วย
งานประเพณีสงกรานต์ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่าง วันที่ 13-15 เมษายน โดยในวันที่ 13 จะเป็นวันมหาสงกรานต์ มีขบวนแห่ พระพุทธสิหิงค์ และขบวนแห่ นางสงกรานต์ โดยเริ่มจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร แห่ไปรอบเมืองเชียงใหม่ แล้วมีพิธีสรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน
งานประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี เป็นงานประเพณีที่น่าสนใจยิ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการปล่อยโคมลอยเพื่อเป็นการบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์มีการจุดดอกไม้ไฟ ประกวดกระทง ขบวนแห่นางนพมาศ ฯลฯ
งานประเพณีเข้าอินทขีล ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ชาวเชียงใหม่จะร่วมกันประกอบพิธีบูชาอินทขีล ซึ่งเป็นเสาหลักเมือง โดยจำนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ขันหรือถาดกราบไหว้บูชาอินทขีล
ประเพณีตานหลัวพระเจ้า เป็นประเพณีการนำฟืนมาเผาเพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดในเดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) จัดที่วัดยางหลวงหรือวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่มเท่านั้น
จุลกฐิน หลังจากผ่านเทศกาลออกพรรษาแล้วยังมีกฐินที่เรียกว่า จุลกฐิน หรือที่คนโบราณ เรียกว่า “กฐินแล่น” ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ใช่ถึงเวลาก็สามารถไปทอดที่วัดได้ หากแต่คิดจะร่วมจุลกฐินแล้วต้อง เตรียมตัวก่อนเข้าพรรษาด้วยซ้ำไป โดยเริ่มตั้งแต่ ปลูกฝ้าย ดูแลรักษาให้งอกงามจนต้นฝ้ายโตแตกเป็นปุย พอดี เมื่อถึงเวลาทอดกฐิน สาวพรหมจรรย์ 6 นาง นุ่งขาว ห่มขาว ฟ้อนรำจากวิหารออกไปสู่ไร่ฝ้าย เพื่อเก็บมาให้ชาวบ้านช่วยกัน ดีดฝ้ายจนฟู นำมาปั่นเป็นหลอดเป็นเส้นใย แล้วทอย้อมสีให้เสร็จ ผึ่งแดดให้แห้ง รีดให้เรียบเพียงชั่วข้ามคืน ตอนบ่ายตั้งขบวนด้วยความเริงรื่น ปลื้มใจที่ถวายกฐินเสร็จ จากนั้นแห่ผ่านทุ่งนา ด้วยกลองสะบัดชัย ตามด้วยการฟ้อนเจิง ศิลปะเก่าแก่ของพ่อเฒ่า มาถวายที่วัดยางหลวง วัดเก่าแก่ของ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
งานร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นประมาณเดือนมกราคมของทุกปีที่บริเวณศูนย์หัตถกรรม ร่มบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ทำจากกระดาษสา โดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง

แหล่งผลิตและจำหน่ายงานหัตถกรรมของเมืองเชียงใหม่
• เครื่องเขิน เป็นสินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งของเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวนิยมซื้อไปใช้และประดับบ้าน เป็นภาชนะเครื่องใช้ที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วยรัก เขียนลวดลายประดับตกแต่งด้วยชาด ทองคำเปลว หรือ เงินเปลว ส่วนมากแล้วในบริเวณตอนเหนือของไทยรอบๆ เชียงใหม่มีการผลิตกันเป็นศูนย์อุตสาหกรรม เครื่องเขินของไทยนั้นมีลักษณะเด่นแตกต่างจากเครื่องเขินประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น โดยมากมักจะ ทำเป็นรูปภาชนะเบาๆ เช่น ถ้วย ขัน กล่องบุหรี่ ถาด แจกัน เป็นต้น มีโรงงานอยู่แถวถนนนันทาราม ถนนเชียงใหม่ -สันกำแพง และถนนช้างคลาน และที่หมู่บ้านศรีปันครัว ต. ท่าศาลา อ. เมือง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำ ไม้ไผ่ขดโครง เครื่องเขิน
• เครื่องเงิน หมู่บ้านทำเครื่องเงิน อยู่บริเวณถนนวัวลาย ต. หายยา อ. เมือง ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก เครื่องเงินลวดลายประณีตบรรจง เช่น หีบบุหรี่ ช้อนส้อม ถาดผลไม้ เชี่ยนหมาก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงงาน ผลิตเครื่องเงินอยู่บริเวณเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง
• เครื่องจักสาน หมู่บ้านร้อยจันทร์ ต. หนองควาย อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการสานฝาลายอ่ำ
หมู่บ้านดอนแก้ว ต. ดอนแก้ว อ. สารภี เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการสานคุ
หมู่บ้านป่าบง ต. ป่าบง อ. สารภี จากทางหลวงหมายเลข 11 ไปตามทางเส้นสารภี เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการจักสาน ชาวบ้านผลิตเครื่องจักสานจากไผ่หลามมากันตั้งแต่ บรรพบุรุษ เครื่องจักสานที่สาน เช่น โคมไฟ ตะกร้า แซก (เครื่งมือหาปลา)
• เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบดินเผาสังคโลก เครื่องสังคโลกเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดพิเศษและมี ชื่อเสียงมาก มีลักษณะเป็นสีเขียวไข่กา ปั้นด้วยมือเคลือบน้ำยาแล้วเข้าเตาเผา เป็นวิธีเดียวกันกับที่ทำมาแล้วในสมัยโบราณ สินค้าสำเร็จรูปที่เป็นสังคโลกนี้นิยมกันแพร่หลายทั่วประเทศและ ทั่วโลก มีตั้งแต่ของใช้จนกระทั่งถึงโป๊ะตะเกียง แจกัน จาน ที่เขี่ยบุหรี่ ขันและเครื่องถ้วยชามอื่นๆ แหล่งผลิตอยู่แถวถนนเชียงใหม่-สันกำแพง และถนนโชตนา
หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง ต.หนองควาย อ.หางดง เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ เช่น หม้อแกง หม้อน้ำ แจกัน โดยเฉพาะน้ำต้น (คนโทใส่น้ำที่ชาวเหนือนิยมวางไว้หน้าบ้านให้ผู้ผ่านไปมาได้ดื่มดับกระหาย) นั้นเป็นที่นิยมทั่วไปแก่คนที่ พบเห็น ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีในการผลิตและรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีสีสันสดขึ้น บ้านเหมืองกุงอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่ -หางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร หรือจากถนนสายวงแหวน (ทางหลวงหมายเลข 11 สนามบิน) ประมาณ 6 กิโลเมตร โดยอยู่ก่อนถึงทางแยกตัดใหม่สายหางดง-สะเมิงเพียงเล็กน้อย
หมู่บ้านกวนหารแก้ว ต. หารแก้ว อ. หางดง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องปั้นดินเผา
โรงงานไทยศิลาดล เป็นโรงงานผลิตเครื่องเคลือบดินเผาแบบโบราณ ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร โรงงานเปิดจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00-17.00 น. โทร. 0 5321 3245, 0 5321 3541
• ไม้แกะสลัก
หมู่บ้านถวาย ต. ขุนคง อ. หางดง อยู่ถัดจากเหมืองกุงไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ประมาณ กม. 15 และมีทางแยกซ้ายเข้าหมู่บ้าน มีโรงงานผลิตไม้แกะสลัก ผลิตภัณฑ์เลียนแบบของเก่าเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง อำเภอหางดงจะจัดงานศิลปะหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวายเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะเริ่มเสาร์สุดท้ายของเดือนมกราคม สอบถามรายละเอียดได้ที่ อบต.ขุนคง โทร. 0 5344 1258
หมู่บ้านบ่อสร้าง ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำร่ม พัด ไม้แกะสลัก
หมู่บ้านต้นผึ้ง ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำร่ม ไม้แกะสลัก
• ผ้าไทย
หมู่บ้านหนองอาบช้าง ต. สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ (ทางหลวงหมายเลข 108 กม.ที่ 62 เลยทางขึ้นดอยอินทนนท์ไปอีก)
เก๊าไม้ล้านนารีสอร์ท ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ฮอด กม.ที่ 29 จากตัวเมืองเชียงใหม่ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 6 ถนนเชียงใหม่-ฮอด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง ลักษณะเด่นของรีสอร์ทแห่งนี้คือ การดัดแปลงเตาบ่มใบยาสูบมาเป็นที่พักและร้านอาหารในบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้ นานาพันธุ์ ห้องประชุมขนาด 50-60 คน และเรือนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายจากฝีมือของ กลุ่มแม่บ้านในอำเภอใกล้เคียง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5383 4470-5
บ้านไร่ไผ่งาม เป็นหมู่บ้านผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 69-70 ตามเส้นทางเชียงใหม่-ฮอด และเลี้ยวซ้ายเข้าไป หมู่บ้านอีกประมาณ 1 กม. ทางเข้าหมู่บ้านร่มรื่นด้วยเงาไม้ไผ่สองข้างทาง ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านซึ่งได้รับการถ่ายทอดการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ จากคุณป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ รวมกลุ่มกันผลิตที่บ้านป้าแสงดา ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำปิง ปัจจุบันได้ จัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา” เพื่อรำลึกถึงผลงานของท่าน และยังแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้าน ในสมัยก่อนด้วย ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 5336 1231 โทรสาร 0 5336 1230 สถานที่ติดต่อในเมืองเชียงใหม่ โทร. 0 5327 3625
หมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม อยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม เดินทางโดยใช้เส้นทางสายจอมทอง - อินทนนท์ ประมาณ กม. 38 มีทางแยกซ้ายเข้าอำเภอแม่แจ่ม ตำบลที่มีชาวบ้านทอผ้ามากที่สุด คือ ตำบลท่าผา ห่างจาก ตัวอำเภอ 3 กิโลเมตร
• กระดาษสา หมู่บ้านต้นเปา ต. ต้นเปา อ. สันกำแพง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำกระดาษสา
• ร่ม ร่มบ่อสร้าง เป็นสินค้าพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สาเหตุที่เรียกว่าร่มบ่อสร้างเพราะร่มนี้ผลิตกันที่บ้านบ่อสร้าง สมัยก่อนชาวบ้านจะทำร่มกันใต้ถุนบ้าน แล้วนำออกมาวางเรียงรายเต็มกลางลานบ้านเพื่อ ผึ่งแดดให้แห้ง สีสันและลวดลายบนร่มนั้นสะดุดตาผู้พบเห็น มีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ ร่มที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าฝ้าย และกระดาษสา แต่ละชนิดมีวิธีทำอย่างเดียวกัน ปัจจุบันถ้าหาก นักท่องเที่ยวประสงค์จะชมขั้นตอนการผลิตไปชมได้ที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม ไปตามถนน สายเชียงใหม่-สันกำแพง 9 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายมือเข้าไป
• เบ็ดเตล็ด
ศูนย์ผลิตตุ๊กตาเชียงใหม่ เป็นศูนย์ผลิตตุ๊กตาเชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาที่แต่งกายด้วยชุดพื้นบ้านชาวเขา และนาฏศิลป์ไทย นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาซึ่งได้ รวบรวมตุ๊กตาจากนานาประเทศ มีความสวยงามและน่าสนใจ ศูนย์ผลิตตุ๊กตาฯเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน โรงงานตั้งอยู่เลขที่ 187/2 หมู่ 9 บ้านดงขี้เหล็ก ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง หรือ ถ.เชียงใหม่ - ฮอด (ทางหลวง หมายเลข 108) และเลี้ยวซ้ายที่กิโลเมตร 23 (ถนนบ้านไร่) ไปอีก 5 กิโลเมตร หรือติดต่อสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5383 7229 เปิด 08.00-17.00 น. ปิดวันอาทิตย์
ศูนย์จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมชาวเขา หน้าวัดสวนดอก ถนนสุเทพ จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝีมือชาวเขา
ไนท์บาซาร์ ตั้งอยู่สองฝั่งถนนช้างคลาน เป็นแหล่งรวมร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าหลากชนิดทั้งเครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก ผลิตภัณฑ์กระดาษสา ผ้าไหม ผ้าฝ้าย อาหารพื้นเมือง ฯลฯ
ตลาดวโรรส หรือกาดหลวง เป็นตลาดใหญ่ที่จำหน่ายอาหารพื้นเมืองจำพวกแหนม หมูยอ น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว ฯลฯ เปิดตั้งแต่เช้าถึงเย็น ด้านหลังตลาดฝั่งแม่น้ำปิงคือตลาดดอกไม้ยามค่ำคืนจะมีดอกไม้ใหม่ๆ มาลงมาก

การแสดงทางศิลปวัฒนธรร และขันโตก
นครล้านนา 1296 ได้รวบรวมการแสดงที่ยิ่งใหญ่ของชนชาติไทยทั้ง 4 ภาค วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์หลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ การแสดงของชาวเขาเผ่าต่างๆ พร้อมทั้งบริการอาหารขันโตก ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00-21.15 น. ตั้งอยู่เลขที่ 84 ถ.ช้างคลาน อ.เมือง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 5381 8428-9
ละครหุ่นเชียงใหม่ ศิลปะการแสดงละครหุ่น นับเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเสนอวามงดงามทางศิลปะและความบันเทิงที่มีความแตกต่างจากนาฏศิลป์ฟ้อนรำ ทั่วไป ได้ทั้งสาระความบันเทิง ตื่นตา เร้าใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยคณะละครหุ่นฮอบบีฮัท (Hobby Hut Puppet Troupe) มีดนตรีซะล้อ ซอ ซึงประกอบการขับซอเป็น ดนตรีประกอบเรื่องที่แสดงหลักมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ สังข์ทอง เหยีนลี่ ปีศาจน้ำเต้า และกินรี ยูงคำ มีการพากย์สดด้วยภาษาพื้นเมือง
การแสดงละครหุ่นพื้นเมืองเชียงใหม่ มิได้จัดตลอด สนใจชมโปรดติดต่อ อ.วิลาวัณย์ เศวตรเศรณี เลขที่ 237/73 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. 0 5389 2450 E-mail : hobbyhut@chmai.loxinfo.co.th
ศูนย์ศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว มีกิจกรรมและการแสดงละครทั้งของไทยและต่างประเทศ สอบถามรายการการแสดงได้ที่ โทร. 0 5322 4333 ต่อ กาดศิลป์
ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-หางดง เป็นที่รวมศิลปะและวัฒนธรรมของ ล้านนารวมทั้งผ้าโบราณ มีหมู่บ้านชาวเขาให้เที่ยวชม ตอนกลางคืนมีบริการอาหารเย็นแบบขันโตก และ ชมการแสดงฟ้อนพื้นเมืองไปพร้อมๆกัน การแสดงมีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น. ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0 5327 5097
นอกจากนี้ยังสามารถชมการแสดงและรับประทานอาหารค่ำขันโตกดังกล่าวได้ที่ ลานนาขันโตก โรงแรมเพชรงาม โทร. 0 5327 0080-5 แม่ปิงขันโตก โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง โทร. 0 5327 3900 คุ้มแก้วพาเลส โทร. 0 5321 4315 ขันโตกบ้านร้อยจันทร์ โรงแรมปางสวนแก้ว โทร. 0 5322 4300 และ สิบสองปันนา โทร. 0 5381 0695 ได้ในเวลาเดียวกัน และอัตราค่าบริการใกล้เคียงกัน

Source : tourismthailand.org