สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่

สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่

• เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย มีทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนาที่สวยงาม สถานที่ท่องท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอันดับต้นๆ อาทิ
• ดอยอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะ 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ ขุนเขา ลมหนาวและพรรณไม้เมืองหนาว นานาชนิด
• ดอยอินทนนท์ ถ้าพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่สวยงามทางธรรมชาติที่ขึ้นนชื่อและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่ง ก็คืออุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
• พระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะแม เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และล้านนานไทยมาเป็นเวลานาน รวมทั้งเป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อ จนมีคำกล่าวว่า "หากมาเชียงใหม่ ไม่ได้ขึ้นดอยสุเทพ ก็เหมือนกับว่ามาไม่ถึงเชียงใหม่"
• ห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่แตง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อในเรื่องชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า
• ดอยหลวงเชียงดาว เป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สูงถึง 2275 เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่สวยงามด้วยธรรมชาติในรูปแบบกึ่งผจญภัย เดินป่า ปีนเขา เพราะการเดินทางสู่เขาสูงแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก
• สวนสัตว์เชียงใหม่ จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ใครๆก็รู้จัก เพราะเจ้าหลินปิง หลินฮุ่ยและช่วงช่วง หมีแพนด้าที่กลายเป็นดารานำเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว
• เวียงกุมกาม สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่แนวประวัติศาสตร์และโบราณคดี เวียงกุมกามสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย หลังจากพญามังรายยึดเวียงหริภุญชัยได้แล้วและทรงประสงค์จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่แทนที่เวียงหริภุญไชย
• โครงการหลวงวัดจันทร์ สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่เหมาะสำหรับคนรักธรรมชาติ ชมป่าสนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและสัมผัสวิถีชีวิตชาวกระเหรี่ยง...
• พระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บนเนินสูงที่เรียกว่า “ดอยจอมทอง” อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุจอมทองอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางใต้ประมาณ 58 กิโลเมตร พระธาตุจอมทองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่มีความสวยงามและเป็นสิริมงคลเพราะเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวด (ปีหนู)
• ออบหลวง อุทยานแห่งชาติออบหลวง สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศทุกประการ ออบหลวง เป็นช่องเขาที่ลำธารไหลผ่าน คำว่าออบเป็นภาษาเหนือแปลว่าช่องแคบที่มีน้ำไหลผ่าน
• สวนพฤษศาสตร์สิริกิติ์ สวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่มีขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมพันธ์ไม้ไทยเพื่อการอนุรักษ์ ขยายพันธ์ ศึกษาวิจัยและให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่าของประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการการศึกษาและทัศนนิเวศน์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดนทั้งให้ความรู้ ความเพลิดเพลินและความสดชื่นสวยงาม

เชียงใหม่-ฮอด
• โรงพยาบาลบรรเทาทุกข์โบราณภาคเหนือ เลขที่ 78/1 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา มูลนิธิหมอชีวกโกมารภัจจ์ ให้บริการตรวจรักษาโรคทุกชนิดตามหลักวิชาการแพทย์แผนโบราณ ใช้ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ การอบไอยาสมุนไพร และนวดไทยบำบัด นอกจากนั้นยังมีการอบรมสอนการแพทย์แผนโบราณสาขาเภสัชกรรม สาขาเวชกรรม และการนวดไทยพื้นฐานให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันพระ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โทร. 0 5327 5085
• อุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 484 ตารางกิโลเมตร หรือ 302,500 ไร่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สะเมิง หางดง แม่วาง และสันป่าตอง ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนและหินอัคนี ประกอบด้วยป่าประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ดิบเขา สนเขา ดิบแล้ง เบญจพรรณ และ เต็งรัง เป็นต้นกำเนิดน้ำแม่วาง น้ำแม่วิน และน้ำแม่ขาน และที่นี่เป็นแหล่งที่พบเอื้องมณีไตรรงค์แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งจะบานในช่วงเดือนมกราคม
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่
ออบขาน มีลักษณะคล้ายออบหลวง เป็นช่องหน้าผาชันแต่มีขนาดเล็กกว่าสูงประมาณ 30 เมตรซึ่งมีแม่น้ำแม่ขานไหลผ่านกลาง และมีลักษณะเว้าแหว่งเป็นรูปทรงต่าง ๆซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ
การเดินทาง จากเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนเลียบคลองชลประทาน ทางหลวงหมายเลข 121 เป็นทางลาดยาง ไปทางอำเภอหางดงประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามถนน รพช. สายน้ำแพร่-ออบขานไปอีก 10 กิโลเมตร(เป็นทางลาดยาง สลับทางลูกรังมีความชันและโค้ง) ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบขาน จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 450 เมตร จะถึงออบขาน
• ห้วยหญ้าไซ มีระดับน้ำค่อนข้างตื้น เหมาะสำหรับลงเล่นน้ำ บริเวณริมฝั่งมีหญ้าไซขึ้นปกคลุมเขียวขจีและออกดอกสวยงาม ถัดจากห้วยหญ้าไซไปเพียง 500 เมตร มีผาเตี้ย ๆ เรียกว่า ผาตูบ ลักษณะเป็นชะง่อนหินใหญ่ที่ถูกสายน้ำกัดเซาะจนมีรูปร่างแปลกตาน่าชม ห้วยหญ้าไซอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ห้วยโป่งที่อยู่ห่างจากที่ทำการไปประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถลงเล่นน้ำได้ ผาลาย น้ำตกขุนป๋วย น้ำตกแม่เตียน ถ้ำดอยโตน น้ำพุร้อนแม่โต๋ น้ำตกมรกต น้ำตกแม่มูด น้ำตกขุนวิน น้ำตกแม่วาง และ ถ้ำตั๊กแตน และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดไว้เหมาะสำหรับพาเด็กนักเรียนมาเข้าค่ายธรรมชาติ
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีจุดพักแรม และ บ้านพักบริการแต่ต้องติดล่วงหน้าที่ อุทยานแห่งชาติออบขาน ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 หรือ ศูนย์ประสานงานอุทยานแห่งขาติกลุ่มนครพิงค์ สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ โทร. 0 5381 8348 มีร้านค้าสวัสดิการให้บริการระหว่างเวลา 08.00-18.00 น.
• บ้าน 100 อัน 1,000 อย่าง (บ้านร้อยอันพันอย่าง) เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่รวบรวมงานแกะสลักไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้สัก งานแต่ละชิ้นได้รับการแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง เช่นไม้ขี้เหล็กสลักภาพครูบาศรีวิชัยไม้ขี้เหล็กเนื้อแข็งมากและแกะยากจนอาจทำให้เครื่องมือเสียได้ ผู้แกะใช้ไม้เนื้อนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ครูบาศรีวิชัยได้ต่อสู้ฝ่าฟันมา นอกจากนี้ยังมีไม้แกะพญางิ้วดำซึ่งเป็นไม้หายาก ค่าเข้าชม 100 บาท นักศึกษามาเป็นคณะ คนละ 50 บาท นักเรียนมาเป็นคณะคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 5335 5819, 0 5382 2649
การเดินทาง อยู่ในพื้นที่อำเภอหางดง ริมทางหลวงสาย 108 เชียงใหม่-สันป่าตอง-จอมทอง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 หากมาจากเชียงใหม่จะอยู่ฟากซ้ายมือ และจากประตูเชียงใหม่มีรถโดยสารสีเหลืองผ่านหลายสาย ได้แก่ สายทุ่งเสี้ยว, หนองตอง, จอมทอง, บ้านกาด, มะขามหลวง เป็นต้น
• เวียงท่ากาน บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง เป็นเวียงเก่าแก่เวียงหนึ่งในสมัยหริภุญชัย สันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 สมัยพระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์ผู้ครองแคว้นหริภุญชัยสืบต่อมาจนถึงสมัยพญามังรายช่วงก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานที่สำคัญอยู่บริเวณกลางเมืองในเขตโรงเรียน คือ วัดท่ากาน และวัดต้นกอก โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปดินเผา พระพิมพ์จำนวนมาก ไหเคลือบสีน้ำตาลบรรจุกระดูก เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1823-1911) และพระบุทองคำ
การเดินทาง ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 ประมาณ 34 กิโลเมตร ผ่านอำเภอสันป่าตองแล้วเลี้ยวซ้ายที่บ้านทุ่งเสี้ยว เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือโดยสารรถประจำทางสายโรงวัว-ท่าวังพร้าว คิวรถอยู่ข้างประตูเชียงใหม่ บริการระหว่างเวลา 05.00-08.00 น. ค่าโดยสาร 20 บาท
• วัดพระธาตุดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง ตามทางหลวงหมายเลข 108 ระหว่างกิโลเมตรที่ 43-44 หากมาจากเชียงใหม่จะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ตามประวัติว่าสร้างโดยพระนางจามเทวี เมื่อ พ.ศ. 1201 โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ พระบรมธาตุ โข่งพระ (กรุพระ) โบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปหินอ่อนแกะสลัก ทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่มากมาย บริเวณวัดตั้งอยู่บนภูเขาติดลำน้ำปิง มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบทุกทิศ มีบันไดนาคขึ้นไป 241 ขั้น
เส้นทางหางดง-สะเมิง-แม่ริม ทางหลวงหมายเลข 1269
• ตามเส้นทางสายหางดง-สะเมิง-แม่ริม มีรีสอร์ทหลายแห่งที่มีการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงามและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หรือไปแคมปิงได้ เช่น กฤษดาดอย อุทยานล้านนา สวนบัวธานี ยอดดอยรีสอร์ท บ้านกลางดอย เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ในเส้นทางนี้ ได้แก่
• โครงการหลวงห้วยผักไผ่ (ทุ่งเริง) บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง บนเส้นทางสายหางดง-สะเมิง ทางหลวงหมายเลข 1269 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 15-16 หากไปทางหางดงจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ แยกเข้าไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากเชียงใหม่ได้สองทาง คือ ตามทางสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง-หางดง ระยะทาง 32 กิโลเมตร และเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สะเมิง ระยะทาง 43 กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่ปลูกคือ กุหลาบหนูที่จะปลูกกันทั้งปี และยังมีผักยอดซาโยเต้ ลูกฟักแม้ว มะเขือม่วงก้านเขียว ถั่วแขก และมะระขาว เป็นต้น
• วัดต้นแกว๋น (วัดอินทราวาส) บ้านต้นแกว๋น ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงามมาก สิ่งที่น่าสนใจ คือศาลาจัตุรมุขซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ นอกจากนี้ ศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิมภายในวัดนี้ยังจัดว่าเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์และมีคุณค่ามาก สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อพ.ศ. 2532
การเดินทาง ใช้ทางหลวงสายหางดง-สะเมิง เมื่อเข้าเขตบ้านต้นแกว๋น ให้สังเกตทางเข้าวัดทางด้านซ้ายมือ ประมาณ กิโลเมตรที่ 37 เข้าไปประมาณ 70 เมตร หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางมีรถสองแถวสาย เชียงใหม่-หางดงลงบริเวณทางเข้าแยกสะเมิง แล้วต่อรถสายบ่อหลวงเข้าไป
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่-ดอยอินทนนท์

• ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ เหมาะสำหรับผู้ต้องการศึกษาธรรมชาติ หรือท่องเที่ยวเชิงการเกษตร มีพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิดที่พร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งยามหน้าหนาว ออกผลเต็มต้นให้เด็ดชิมในฤดูร้อน และยังมีนกในเทือกเขาอินทนนท์นานาชนิดให้ศึกษา รวมทั้งมีทิวทัศน์ที่เขียวชอุ่มโอบล้อมโดยรอบด้วยไม้ใหญ่เปลี่ยนสีสันตามฤดูกาล
• จุดท่องเที่ยวภายในศูนย์ ภายในพื้นที่ 450 ไร่ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวาง หลากลายด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวต่าง ๆ หากไปถึงในช่วงฤดูกาลผลไม้เมืองหนาวผลิดอกออกผล ไม่ว่าจะเป็นสาลี่ พลัม ท้อ แนคตารีน หรือสตรอเบอร์รี่ นักท่องเที่ยวก็สามารถเด็ดชิมได้จากต้นเลยทีเดียว หรือหากไปเยี่ยมชมในช่วงฤดูหนาว ก็จะได้สัมผัสบรรยากาศอีกรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอยจะออกดอกสีชมพูทั้งต้น ทำให้ดอยขุนวางกลายเป็นสีชมพูไปทั้งดอย
นักท่องเที่ยวสามารถเลือกชมศึกษาแปลงทดลองการเกษตรภายในศูนย์ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่นำชมตามเส้นทางที่กำหนด พาหนะที่ใช้ในการเดินทางภายในศูนย์ ควรเป็นรถปิกอัพ หรือ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ และจักรยาน โดยจุดที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้แก่ แปลงไม้ผลเมืองหนาว แปลงกาแฟ โรงกะเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์แมคคาเดเมีย ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวสามารถทดลองเก็บผล และชิมเนื้อสด ๆ ซึ่งมีรสชาติหอมหวานมัน หรือจะชิมแบบอบคั่วเกลือทางศูนย์ก็มีให้ชิม และยังมีการทดลองสกัดน้ำมันจากผลไปทำเครื่องสำอางด้วย
การเดินทาง โดยรถยนต์ส่วนตัวนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง
เส้นทางแรก จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอสันป่าตอง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1013 ไปอำเภอแม่วาง ผ่านอำเภอแม่วางไป จะมีทางแยกซ้ายมือให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นเส้นทางจะลัดเลาะขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ช่วงสุดท้ายของเส้นทางนี้จะเป็นถนนดินแดงประมาณ 5 กิโลเมตร หน้าฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เส้นทางนี้รวมระยะทาง 86 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
เส้นทางที่สอง จากจังหวัดเชียงใหม่ไปอำเภอจอมทองก่อนเข้าตัวอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 1009 ขึ้นดอยอินทนนท์ จนถึงกิโลเมตรที่ 31 เลี้ยวขวา เป็นถนนลาดยางไปประมาณ 17 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ตั้งศูนย์วิจัยเกษตรหลวงดอยขุนวาง รวมระยะทาง 115 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
- โดยรถโดยสารประจำทาง จากประตูเชียงใหม่ มาถึงจอมทอง จากนั้นต้องต่อรถสองแถวจากจอมทอง-แม่แจ่ม ลงตรงทางแยกขึ้นดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตร 31 จากจุดนี้ต้องเหมารถสองแถวให้เข้าไปยังขุนวางอีก 16 กิโลเมตร หรือเหมารถตั้งแต่ที่อำเภอจอมทอง
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวางเปิดทำการทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 4-8 คน มีที่กางเต็นท์ 2 จุด คือ บริเวณลานหญ้าหน้าอาคารสำนักงาน และบริเวณหุบรับเสด็จ ทั้งสองจุดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน มีอาหารบริการในราคากันเอง แถมกาแฟอาราบิกาให้ชิมฟรีตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ควรติดต่อไปล่วงหน้า โทร. 0 5343 2275, 0 5343 2207 โทรสาร 0 5343 2276
• สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง บ้านม้งขุนแม่วาง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม พืชพันธุ์ที่นำมาวิจัยที่นี่ต่างมีฤดูกาลติดดอก และพักตัวผลัดเปลี่ยนกันตลอดทั้งปี ไม่ว่าวันหยุดพักผ่อนจะเป็นเดือนไหน เมื่อมาที่นี่เป็นไม่เสียเที่ยว เพราะถึงจะพลาดชมความงามของดอกซากุระ นักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมสตรอว์เบอร์รี่ปลอดสารพิษสดจากไร่แทน หรือ ถ้ามาไม่ทันช่วงท้อติดผล ก็จะได้เห็นความงามของดอกสาลี่สีขาว และไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์พร้อมกับนั่งจิบชาทอดอารมณ์ ชมวิวบนยอดดอย ยิ่งบนดอยสูงอย่างที่แม่จอนหลวงนี้มีการปรับแต่งพื้นที่แบบขั้นบันได ช่วยขยายมุมมองทัศนียภาพโดยรอบได้กว้างยิ่งขึ้น
• สำหรับผู้ที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หากได้มาเยือนที่นี่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะซึมซับความรู้ในงานวิชาการและความงามทางธรรมชาติกลับบ้านไปพร้อมกัน
จุดท่องเที่ยวภายในสถานีฯ การเที่ยวชมงานภายในสถานีบริเวณใกล้ ๆ ที่พักซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันที่ถูกปรับแต่งให้เป็นทางเดินนั้นนักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าเที่ยวชมได้ ส่วนจุดที่ไกลออกไปจำเป็นต้องใช้รถในการเดินทางไปเที่ยวชม แปลงทดลองต่าง ๆ ได้แก่ แปลงสาลี่ แปลงไม้ดอกเมืองหนาว แปลงสตรอเบอร์รี่และผักปลอดสารพิษ แปลงชาพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะได้ชมกระบวนการแปรรูปชา ทั้งชาจีนและชาเขียวที่โรงแปรรูปชา สามารถซักถามรายละเอียดจากนักวิชาการที่ดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ลิ้มรสชาเขียวเท่านั้น อาจโชคดีได้ลองชิมยำใบชาสูตรพิเศษที่จะหาชิมได้ที่นี่แห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีแปลงทดสอบพันธุ์มะคาเดเมียนัท แปลงทดสอบพันธุ์เสาวรส แปลงเกาลัดจีน เป็นต้น
การเดินทางไม่มีรถประจำทางผ่านในเส้นนี้ นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องใช้พาหนะส่วนตัวซึ่งควรเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือเหมารถสองแถวจากปากทางขึ้นดอยอินทนนท์ โดยรถยนต์ส่วนตัวสามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง
- เส้นทางแรก ออกจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ไปบนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอจอมทองเลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 31 เลี้ยวขวาผ่านศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ผ่านทางลาดยางประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ให้เลี้ยวซ้ายผ่านศูนย์ขุนวางไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านทางดินลูกรังจึงถึงสถานีเกษตรที่สูงแม่จอนหลวงรวมระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
- เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอสันป่าตอง แยกขวาที่สันป่าตองเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1013 ไปอำเภอแม่วาง เมื่อผ่านอำเภอแม่วางไปจะมีทางแยกซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นเส้นทางจะลัดเลาะขึ้นภูเขา ผ่านบ้านหนองเต่า บ้านป่ากล้วย ป้านโป่งลมแรง แล้วเลี้ยวขวาไปอีก9 กิโลเมตรจึงถึงสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง (เส้นทางระหว่างบ้านหนองเต่าจนถึงสถานียังเป็นทางดินลูกรังราว 15 กิโลเมตร) ระยะทางรวม92 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว แบ่งเป็นเรือนพักชายและหญิง 2 หลัง มีสถานที่สำหรับประกอบอาหาร และมีเรือนรับรองหลังใหญ่ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 40-50 คน มีจุดชมวิวที่สามารถกางเต็นท์ได้สองจุด รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน ส่วนอาหารนักท่องเที่ยวสามารถเตรียมขึ้นมาประกอบเอง หรือแจ้งล่วงหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ของทางสถานีเพื่อให้จัดเตรียมให้
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• หมู่บ้านม้งแม่ขุนวาก จากสถานีทดลองเกษตรแม่จอนหลวง มีทางแยกไปทางเหนือเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่ขุนวาก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวสถานีโดยทางรถไปไม่ถึง 20 นาที นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้ง และชมงานปักผ้าของหญิงชาวม้งในหมู่บ้านได้
• น้ำตกสิริรัตน์ ออกจากเขตสถานีฯ ไปทางทิศตะวันตก จะพบทางแยกไปน้ำตกสิริรัตน์ รถเข้าไม่ถึง ต้องเดินเท้าไปประมาณ 10 นาที เส้นทางไปเที่ยวน้ำตกเป็น เส้นทางปรับแต่งแล้ว สะดวกต่อการเดินเท้า แต่ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสมต่อการเดินขึ้นเขาน้ำตกสิริรัตน์ไหลแรงมีน้ำตลอดปีเหมาะแก่การนั่งรับประทานอาหาร แต่อย่าลืมเก็บขยะออกมาทิ้งด้านนอกด้วยทุกครั้ง
• วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 58 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญคู่เมืองจอมทองและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วไป ประเพณีเด่นของวัดคือ “การแห่ไม้ค้ำโพธิ์” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาที่ถือว่าการเอาไม้มาค้ำโพธิ์เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา
• น้ำตกแม่เตี๊ยะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติออบหลวง น้ำตกแม่เตี๊ยะตั้งอยู่บริเวณกลางป่าลึก ตัวน้ำตกสูงประมาณ 80 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร น้ำตกมีทั้งหมด 4 ชั้น มีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีน้ำตลอดปี ชาวสบเตี๊ยะนำน้ำจากที่นี่ไปใช้ในการเกษตร เหมาะสำหรับเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ
การเดินทาง จากเชียงใหม่โดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ถึงอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาข้างที่ว่าการอำเภอ หรือเลี้ยวขวาข้างวัดสบเตี๊ยะ มีระยะทางโดยรวม 15 กิโลเมตร หรือโดยสารรถประจำทาง เชียงใหม่-จอมทอง จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
• อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา ดอยอินทนนท์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย
การเดินทาง ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตูเชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ
บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. 0 5335 5728, 0 5331 1608
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร
• น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด
• ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า “นมผา” สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้
• น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ “ตาดฆ้องโยง” น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้าไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด
การเดินทาง จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน
• น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า “เลาลึ” ตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก
• โครงการหลวงดอยอินทนนท์ หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่กะเหรี่ยงและม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ พืชผักและไม้ดอกเมืองหนาวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงปลูกดอกไม้ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ และยังสามารถแวะชมแปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯได้ด้วย
• พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม
• ยอดดอยอินทนนท์ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,599 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่
• ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว อยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางชีววิทยา ป่าไม้ สิ่งมีชีวิต ซึ่งบางชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทย ผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย
• น้ำตกห้วยทรายเหลือง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้น ๆ เข้าทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 16 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 1009 ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38 ไปตามทางหลวงหมายเลข 1192 สายอินทนนท์-แม่แจ่ม ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางดินแดงในช่วงหน้าฝนทางลำบากมากต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ
• น้ำตกแม่ปาน เข้าทางเดียวกับน้ำตกห้วยทรายเหลือง แต่อยู่เลยไปอีก 500 เมตร และจากจุดจอดรถต้องเดินต่อไปอีก 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่น น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณทำให้มีความชุ่มชื้น เบื้องล่างมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ สามารถพักผ่อนลงอาบเล่นได้
เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์
• กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย) มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม
การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาติให้เข้าไปท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2545 เพราะมีการจัดการที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการนำเที่ยว
• อ่างกาหลวง เส้นทางนี้สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานทุ่มเทให้กับอินทนนท์ และได้เสียชีวิตที่นี่ด้วยโรคหัวใจ
เส้นทางนี้มีระยะทาง 1,800 เมตร พื้นที่นี้เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อนที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่น พืชที่อาศัยเกาะติดต้นไม้ ลักษณะของต้นน้ำลำธาร และลักษณะของต้นไม้บนดอยอ่างกา เช่นต้นข้าวตอกฤาษีที่ขึ้นตามพื้นดิน (ข้าวตอกฤาษี เป็นพืชที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์สูง จะขึ้นในที่สูงกว่า 2,000 เมตรเท่านั้น และเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้น อากาศเย็น) กุหลาบพันปี เป็นต้น
ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อีกหลายเส้น เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิโลเมตรที่ 38 และ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกลุ่มน้ำตกแม่ปาน เป็นต้น แต่ละเส้นใช้เวลาในการเดินต่างกันตั้งแต่ 20 นาที – 7 ชั่วโมง และเหมาะที่จะศึกษาสภาพธรรมชาติที่ต่างกันด้วย ศึกษารายละเอียดเส้นทางได้จากที่ทำการอุทยานฯ และจะต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจากที่ทำการฯ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การใช้สถานที่เพื่อการพักค้างแรมหรือจัดกิจกรรมอื่น ๆนอกเหนือจากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต้องขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ เป็นลายลักษณ์อักษร
• กิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์
• ศูนย์บริการข้อมูลนกอินทนนท์ที่ร้านลุงแดง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 31 หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ให้บริการด้านข้อมูลนกในดอยอินทนนท์ เช่น สมุดบันทึกการพบนกในดอยอินทนนท์ ภาพวาดลายเส้นของนักดูนก แผนที่เส้นทางดูนกดอยอินทนนท์ ภาพถ่าย สไลด์เกี่ยวกับนก ฯลฯ ให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ เช่น นกปากซ่อมดง นกอุ้มบาตร นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมหลังเหลือง นกเด้าลมดง นกเด้าลมหัวเหลือง นกจาบปีกอ่อนเล็ก นกจาบปีกอ่อนหงอน นกจาบปีกอ่อนสีแดง นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ ทางศูนย์ฯจะบริการให้คำแนะนำตลอดจนเป็นสถานที่พบปะสนทนาระหว่างนักดูนก นักศึกษาธรรมชาติและบุคคลทั่วไป เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีต่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าในดอยอินทนนท์ ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่
อำเภอแม่แจ่มเป็นอำเภอเล็ก ๆ ในหุบเขามีวัฒนธรรมที่งดงาม ตามประวัติกล่าวว่าที่อำเภอแม่แจ่มในสมัยก่อนเป็นถิ่นอาศัยของชาวลัวะ และต่อมามีชาวไต-ยวนเข้ามา คนแม่แจ่มในปัจจุบันเป็นผู้คนที่ย้ายมาอยู่ตั้งแต่สมัยลัวะ และยังมี ปกากญอ และมอญ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่
การเดินทาง ไปอำเภอแม่แจ่ม ไปได้ 2 ทาง คือ 1) จากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ เมื่อถึงด่านตรวจอำเภอแม่แจ่ม กิโลเมตรที่ 38 แยกซ้ายไปประมาณ 22 กิโลเมตรจะถึงตัวอำเภอแม่แจ่ม 2) จากอำเภอฮอดทางหลวงหมายเลข 108 และแยกขวาเข้าทาง 1088ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร หรือหากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ใช้บริการจอมทอง-แม่แจ่ม รถวิ่งบริการระหว่างเวลา 08.00-18.00 น.
• หมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนจก อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร (ข้ามสะพานข้างที่ว่าการอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายตรงหมู่บ้านที่ 4-5 ตำบลท่าผา ชาวบ้านที่ตำบลนี้นิยมทอผ้าซิ่นตีนจกกันมาก ซึ่งทำกันถึง 150 ครอบครัว และแต่ละบ้านจะมีเครื่องทออยู่ใต้ถุนบ้าน ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะมีความสวยสดงดงามและลวดลายที่ออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะ หากต้องการวิทยากรนำชมติดต่อที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มล่วงหน้า โทร. 0 5348 5111 ต่อ ปกครองอำเภอ
• วัดป่าแดด ตำบลท่าผา สิ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วาดโดยช่างแต้มชาวไทยใหญ่ เป็นเรื่องพุทธประวัติ และชาดกต่าง ๆ วิหารหลังนี้สร้างขึ้น พร้อมกับการสร้างวัด เมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2400
• วัดพุทธเอิ้น ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ตามประวัติกล่าวว่า วัดพุทธเอิ้นก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว มีโบราณสถานซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วคือ “โบสถ์น้ำ” ลักษณะคือสร้างในสระสี่เหลี่ยมโดยปักเสาลงในน้ำล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง บริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพง เรียกว่า “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบก โบสถ์น้ำนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว คติการบวชในโบสถ์กลางน้ำนั้นถือว่าเป็นการบวชพระภิกษุสงฆ์ที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายลังกา ปัจจุบันการบวชกลางน้ำนี้ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว
บริเวณด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่ ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลไทยใหญ่ ปัจจุบันหลงเหลือเพียงภาพเดียว เหนือประตูทางเข้าด้านหลัง
วัดกองกาน อยู่ห่างจากวัดพุทธเอิ้นประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญของชาวแม่แจ่ม ภายในวิหารมีพระเจ้าตนหลวงซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะไปสรงน้ำองค์พระกันทุกปี พระเจ้าตนหลวงนี้เป็นแบบล้านนา และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม ตัววิหารเป็นไม้ และหลังคามุงแป้นเกล็ดแบบโบราณ
• วัดยางหลวง ตำบลท่าผา เส้นทางเดียวกับวัดป่าแดด ไม่ไกลกันมาก ชาวกะเหรี่ยง หรือ “ยาง” เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 24 สิ่งที่น่าสนใจ คือ กู่ปราสาท หรือ กิจกูฏ ซึ่งตั้งอยู่หลังพระประธานในวิหาร คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกิจกูฏ เป็นแบบพุกามจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน
• วัดกองแขก ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่ม ประมาณ 7 กิโลเมตร บนถนนสายฮอด-เม่แจ่ม ชุมชนบ้านกองแขกนับเป็นชุมชนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของแม่แจ่ม ซึ่งเป็นที่รวมของกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ เช่น ชาวแม่พริกจังหวัดลำปาง ชาวเชียงแสนจากเชียงราย ชาวน่าน เชียงคำ เป็นต้น เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น การก่อสร้างวัด และศาสนสถานก็เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะวิหารวัดกองแขกที่เก่าแก่ไม่น้อยกว่าร้อยปี เป็นฝีมือช่างชาวลำปางที่อพยพมาอยู่ด้วยกัน และที่สำคัญคือภาพจิตรกรรมฝาผนังคอสองของวิหารนั้น มีความแปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวแม่แจ่มก็ว่าได้ เพราะภาพแต่ละภาพนั้นจิตรกรได้ใส่อารมณ์ตวัดปลายภู่กันอย่างเฉียบคมยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปพุทธประวัติ รูปเทวดาฟ้อนรำ และรูปชาดกต่าง ๆ
• สวนป่าแม่แจ่ม เป็นสวนป่าอีกแห่งหนึ่งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2516 มีเนื้อที่ประมาณ 6,932 ไร่ ปัจจุบันสวนป่าแม่แจ่มได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลผ่านในเขตสวนป่า เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการล่องแพ ปั่นจักรยานเสือภูเขา หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และทางสวนป่าได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้มาเยือน อย่างครบครัน มีแคมป์ไฟ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลและอำนวยความสะดวกในยามค่ำคืน นอกจากนี้ทางสวนป่าแม่แจ่มยังสามารถที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กับนักเรียน หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการหาความรู้ และยังสามารถจัดประชุม หรือสัมมนาของภาครัฐและเอกชนได้อีกด้วย
การเดินทาง โดยทางรถยนต์จากเชียงใหม่มาตามทางหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง ถึงอำเภอฮอดเลี้ยวขวาไปทางอำเภอแม่สะเรียง ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวงประมาณหลักกิโลเมตรที่ 21 มีทางแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1088 ไป อำเภอแม่แจ่ม ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร สวนป่าแม่แจ่มอยู่ทางซ้ายมือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 16 จากทางแยกเข้ามา
สถานที่ติดต่อ สวนป่าแม่แจ่ม หมู่3 ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม โทร. 0 5322 8068, ออป.เชียงใหม่ โทร. 0 5324 2673, 0 5324 5356 ฝ่ายออป.ภาคเหนือ โทร. 0 5422 7623, 0 5322 7051 ออป. กรุงเทพฯ 0 2282 3243-7
• สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ฮอด-ดอยเต่า
• อุทยานแห่งชาติออบหลวง ออบหลวงเป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ในจุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น รอบ ๆ บริเวณงดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีสะพานเชื่อมช่องเขาขาดสำหรับนักท่องเที่ยวยืนชมความงดงามของทัศนียภาพออบหลวง และภายในบริเวณอุทยานฯ มีแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ทางอุทยานฯ มีสถานที่กางเต็นท์ และมีเต็นท์ให้เช่าพร้อมเครื่องนอนราคา 50 บาท/คืน รายละเอียดสอบถาม โทร. 0 53229272 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามทางหลวงหมายเลข 108 สายฮอด-แม่สะเรียง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 17 รวมระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร สภาพทางลาดยางตลอด และช่วงระหว่างฮอดจนถึงออบหลวงนั้น ถนนจะเลียบขนานไปกับแม่น้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหิน และเวียนวกไปตามไหล่เขา หากเดินทางโดยรถประจำทาง มีรถบัสสีฟ้าจอดที่ท่ารถตรงวงเวียนฮอด-แม่สะเรียง วิ่งทั้งหมด 3 เส้นทาง คือ ฮอด – แม่สะเรียง ฮอด-แม่แจ่ม ฮอด-อมก๋อย ซึ่งจะผ่านออบหลวงทั้งสามสาย
• สถานีทดลองปลูกพรรณไม้บ่อแก้ว (สวนสนบ่อแก้ว) อยู่บนเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง กิโลเมตรที่ 36 สถานีฯเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษ เป็นแปลงทดลองปลูกพืชจำพวกสน และยูคาลิปตัส ในเนื้อที่ทั้งหมด 2,072 ไร่ อากาศของที่นี่ชื้นและเย็นตลอดปี งามด้วยทิวสนที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบงามตาจึงทำให้บริเวณสถานีกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง
การเดินทาง หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถประจำทางสีฟ้าสายเชียงใหม่-ฮอด-ดอยเต่า มาลงที่หน้าสถานีฯ
• อุทยานแห่งชาติแม่โถ มีพื้นที่ประมาณ990 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอฮอด และ อำเภอแม่แจ่ม ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน โดยมีดอยกิ่งไร่ม้งเป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูง 1,715 เมตร จากระดับน้ำทะเล เทือกดอยเหล่านี้ปกคลุมด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่แจ่มและลำน้ำแม่ลิด สำหรับสัตว์ป่ายังคงพบเลียงผา เก้ง หมีควาย หมูป่า รวมทั้งนกนานาชนิด
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• จุดชมทิวทัศน์ อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มองลงมายังหุบเขาเบื้องล่างจะเห็นนาข้าวขั้นบันไดของชาวยาง(กะเหรี่ยง) เป็นเส้นคดเคี้ยวดูคล้ายแม่น้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝนนาข้าวจะเขียวขจีชุ่มชื้น หากอากาศปลอดโปร่งจะมองเห็นยอดดอยอินทนนท์ ตอนเช้าหมอกจะหนามาก และอากาศเย็นตลอดปี
• น้ำตกแม่แอบ เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามบรรยากาศโดยรอบร่มรื่นน่าเที่ยวชม หากต้องการมาพักแรมตรงที่ทำการฯ ต้องเตรียมเครื่องนอน และอาหารมาเอง สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ประสานงานอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานกลุ่มนครพิงค์ โทร. 0 5381 8384
การเดินทาง อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 160 กิโลเมตร ไปตามถนนสายฮอด-แม่สะเรียง ถึงกิโลเมตรที่ 55 แล้วแยกเข้าเส้นทางไปแม่โถอีก 16 กิโลเมตร ช่วงนี้สภาพถนนลาดยางสลับลูกรัง ลาดชันและคดเคี้ยวจึงควรใช้รถที่มีกำลังและสภาพดี
• ทะเลสาบดอยเต่า อำเภอดอยเต่า เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงภายหลังการสร้างเขื่อนภูมิพล เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล เคยใช้ในการเกษตรกรรม การประมง ในบริเวณอ่างเก็บน้ำ หากมีน้ำมากพอ ในเดือนตุลาคม-เมษายนจะมีบริการแพพัก ราคา 1,000-1,500 บาท และเรือนำเที่ยวไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก รายละเอียดติดต่อ บริษัท ท่องนที จำกัด โทร. 0 2457 6873-4, 0 2457 3428
การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ไปยังอำเภอฮอด ระยะทาง90 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 1103 ไปยังทะเลสาบดอยเต่าอีก 35 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ 125 กิโลเมตร
• วัดพระธาตุดอยเกิ้ง หมู่ 5 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า ห่างจากที่ว่าการอำเภอดอยเต่าประมาณ 60 กิโลเมตร พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุส่วนพระนลาฏ(หน้าผาก) ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.1200-1260 พระนางจามเทวีกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชยได้ทำการบูรณะ ต่อมา พ.ศ. 2462 ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆะบูชา จะมีพิธีสรงน้ำพระธาตุ ทุกปี
• ดอยม่อนจอง ขึ้นอยู่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องไพรมายังดอยม่อนจองก็คือ กวางผาหรือม้าเทวดาซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ที่นี่ และทิวทัศน์ที่สวยงามของทิวเขา และถ้ามาในเดือนธันวาคม-มกราคมจะได้พบดอกกุหลาบพันปีที่กำลังบาน ว่ากันว่าต้นนี้เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นกหายากที่พบที่นี่ ได้แก่ เหยี่ยวนกเขาท้องขาว นกอินทรีแถบปีกดำ นกอินทรีเล็ก นกเปล้าท้องขาว นกมุ่นรกคอแดง นกเดินดงคอดำ เป็นต้น
การเดินขึ้นดอยม่อนจอง สามารถไปเช้า-เย็นกลับได้ แต่จะเหนื่อยมาก ต้องเริ่มออกเดินตั้งแต่ 06.30 น. เป็นอย่างน้อย หากเดินแบบไม่เหนื่อยเกินไปนักควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินขึ้นดอยต้องติดต่อขออนุญาตจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยมูเซอซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯ
การเดินทาง ไปยังเขตรักษาพันธุ์ฯ (หน่วยมูเซอ) จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 แล้วแยกซ้ายจากอำเภอฮอดเข้าทางหลวงหมายเลข 1099 ไปจนถึงตัวอำเภออมก๋อย และตรงต่อไปตามทางหลวง 1099 ประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบหน่วยมูเซออยู่ทางด้านซ้ายมือ จากหน่วยฯไปยังจุดเริ่มเดินอีกประมาณ 16 กิโลเมตร ทางในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อและคนขับที่มีความชำนาญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพทางเป็นลูกรัง และแคบคดเคี้ยวริมผา
ผู้ที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จากอำเภอเมืองเชียงใหม่มีคิวรถจากประตูช้างเผือก มายังอมก๋อย รถออกประมาณ 08.00 น. สามารถติดต่อเช่ารถไปส่งที่จุดเริ่มเดินที่ คุณเดช เสริมมติวงศ์ โทร. 0 5346 7109 รับ-ส่ง ส่วนเสบียงข้าวของต่าง ๆ หาซื้อได้ที่ตัวอำเภออมก๋อย และค่าบริการลูกหาบ 150 บาท/วัน/คน

เชียงใหม่-ฝาง

• พิพิธภัณฑ์ชาวเขา ตั้งอยู่ในบริเวณสวนล้านนา ร.9 ถนนโชตนาริมถนนสายเชียงใหม่ - แม่ริม อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านชาติพันธุ์วิทยา จัดเก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐานวัฒนธรรมของชนเผ่าบนที่สูง หรือ “ชาวเขา” ประกอบด้วยกลุ่มชนจำนวน9 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ลีซอ อีก้อ มูเซอ ลัวะ ถิ่น ขมุ และกลุ่มชนเล็กที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งคือ มลาบรี หรือผีตองเหลือง มีลักษณะวัฒนธรรมของตนเองที่แตกต่างกันไป จัดเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวเขาที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้สนใจทั่วไป เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โทร. 0 5321 0872, 0 5322 1933
• พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ อาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ถนนโชตนา เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ จัดแสดงความสัมพันธ์ของเงินตรากับผ้า ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจตามลำดับ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดธนาคาร เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. โทร. 0 5393 1182-3
• พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม รูปแบบตัวอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเดิมพระตำหนักดาราภิรมย์เป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 ซึ่งปกครองระหว่าง พ.ศ. 2413-2440 เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองตามแบบเดิมก่อนเมืองเชียงใหม่จะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของไทย ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ โดยให้มีสภาพใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด อาทิเช่น ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงจานชาม เครื่องเสวย ของใช้ส่วนพระองค์ และเครื่องดนตรี เป็นต้น เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก/นักศึกษาในเครื่องแบบ 10 บาท พระสงฆ์และนักเรียนในเครื่องแบบเข้าชมฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 53299175
การเดินทาง ห่างไปจากเมืองเชียงใหม่ตามทางหลวงหมายเลข 107 ติดกับที่ว่าการอำเภอแม่ริมจะมีทางแยกซ้ายเข้าไปยังค่ายดารารัศมี
• บ้านควายไทย เลขที่ 300/2 ถนนเชียงใหม่-ฝาง ตำบลริมเหนือ อำเภอแม่ริม ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมกิจกรรมต่าง ๆ การใช้ประโยชน์ในงาน การฝึกฝนให้รู้จักการเชื่อฟัง เช่นการไถดะ การไถพรวนไปจนถึงงานนวดข้าว ฯลฯ นักท่องเที่ยว ยังสามารถชมพิพิธภัณฑ์บ้านชาวนา ที่แสดงถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวนาไทย เครื่องมือการเกษตรประเภทต่าง ๆ มีการแสดงเป็นรอบ เช้า-บ่าย รายละเอียดสอบถาม โทร. 0 5330 1628, 0 5384 4818, 0 5384 4914
• เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นเขื่อนที่กรมชลประทานสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 เสร็จในพ.ศ. 2528 ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอแม่แตง มีที่พักและร้านอาหารบนเรือนแพไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว
ป่าเกี๊ยะหรือแม่ตะมาน (เกี๊ยะ เป็นคำเมืองแปลว่า ต้นสน) ตั้งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเชียงดาว ขึ้นอยู่กับส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากหน่วยงานมองเห็นยอดดอยเชียงดาวและทะเลหมอกยามเช้า มีแปลงดอกไม้ และแปลงทดลองปลูกกาแฟ มีที่พักบริการแก่นักท่องเที่ยวแต่ควรเตรียมอาหารไปเอง ควรติดต่อขอใช้ที่พักล่วงหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ โทร. 0 2579 7587
การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ 67 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าหน่วยงานฯ อีกประมาณ 21 กิโลเมตรสภาพทางช่วงนี้ลำบากมากเป็นทางลูกรังและเป็นหลุมเป็นบ่อต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น
• สถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว เป็นหน่วยงานของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในทำเลที่มองเห็นเทือกดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างชัดเจนและสวยงาม มีนกหลายชนิดที่เห็นอยู่ตลอด เช่น นกเขียวก้านตองสีส้ม นกติ๊ดใหญ่ นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกะรองทองแก้มขาว และ อีกหลายชนิด
ช่วงฤดูหนาวจากที่พักในช่วงเช้าจะมองเห็นทะเลหมอกหนา กลางคืนจะเห็นดาวเต็มท้องฟ้าและแสงระยิบระยับจากเมืองเชียงดาว
การไปเยี่ยมชมควรติดต่อของอนุญาตจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียก่อน โดยติดต่อสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างน้อย 10 วันล่วงหน้า โทร. 0 5322 2014, 0 5394 4052
การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 107 จากเชียงใหม่ ผ่านแม่ริม แม่มาลัย (ที่ตลาดแม่มาลัยสามารถแวะซื้อเสบียงได้) แม่แตง ถึงบ้านแม่นะมีทางแยกซ้ายมือมีป้ายเขียนว่า “หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน” ประมาณ 21 กิโลเมตรจะพบทางแยกให้เลี้ยวขวาสภาพทางเป็นลูกรังจะค่อนข้างชัน ผ่านหมู่บ้านปางโฮ่งและปางฮ่าง ทางจะชันขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงด่านที่จะแยกไปหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด ตรงไป ขวามือจะพบทางแยกไปโรงเรียนบ้านสันป่าเกี๊ยะ จากนั้นจะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน ตรงไปอีกสัก 500 เมตรทางจะขึ้นสูงก็จะถึงสถานีวิจัยเกษตรที่สูงป่าเกี๊ยะดอยเชียงดาว ในขากลับไม่ต้องย้อนทางเดิมจากสถานีฯ มีเส้นทางกลับออกสู่ถนนหมายเลข 107 ที่บ้านแก่งปันเตาได้ จากสถานีมาสัก 12 กิโลเมตรจะถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายและขวา ด้านขวามือจะเขียนว่าไปบ้านปากเอียก (เส้นทางนี้ห้ามใช้โซ่พันล้อรถในหน้าฝน ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท) เส้นทางนี้จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาก็ได้เพราะจะไปออกถนนใหญ่เหมือนกัน แต่ถ้าเลี้ยวขวาจะผ่านเข้าไปในหมู่บ้านปากเอียก ผ่านไร่ชา และผ่านนิคมสงเคราะห์ชาวเขา ทางช่วงนี้จะเป็นทางคอนกรีตตลอด แต่ทางลงค่อนข้างชันจนกระทั่งถึงบ้านแก่งปันเตาและทางหลวงหมายเลข 107
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีเรือนพักซึ่งปกติเป็นที่พักของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาฝึกงาน มีห้องน้ำและห้องครัวพร้อมเครื่องครัว ประกอบอาหารได้ แต่ต้องนำอาหารขึ้นมาด้วย เสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 50 บาทต่อคืน อย่าลืมเตรียมถุงดำเพื่อใส่ขยะกลับลงมา เครื่องดนตรีไม่ควรนำไป ที่โรงเรียนบ้านสันป่าเกี๊ยะเด็ก ๆอยากได้หนังสือไว้อ่าน หากเอาติดรถไปบ้างก็ดี
• ถ้ำเชียงดาว อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 72 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าไปจนถึงถ้ำอีก 5 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจนถึงบริเวณถ้ำ มีบริเวณจอดรถกว้างขวาง ทางเข้าถ้ำเป็นบันไดมีหลังคามุงสังกะสี หน้าถ้ำมีธารน้ำไหลผ่านเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ หากต้องการชมบริเวณถ้ำ ติดต่อคนนำทางได้บริเวณหน้าถ้ำ
• ดอยเชียงดาว อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ยอดสูงสุดของดอยเชียงดาว เรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว (เพี้ยนมาจากคำที่ชาวบ้านในละแวกเปรียบเทียบดอยนี้ว่าสูง "เพียงดาว") มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนรูปกรวยคว่ำสูง 2,195 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นยอดดอยที่สูงอันดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก จากบนยอดดอยซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามรอบด้าน คือ ทะเลหมอกด้านอำเภอเชียงดาว ดอยสามพี่น้อง เทือกดอยเชียงดาว ตลอดจนถึงยอดดอยอินทนนท์อันไกลลิบ อากาศเย็น ลมแรง และสมบูรณ์ด้วยดอกไม้ป่าภูเขาที่หาชมได้ยากมากมายรวมทั้งนกและผีเสื้อด้วย (ไม่เหมาะที่จะขึ้นไปยืนบนยอดดอยทีละกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะจะไปเหยีบย่ำทำลายพันธุ์ไม้บนนั้นได้ แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม) การเข้าไปใช้พื้นที่ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อย่างน้อย 15 วัน ก่อนการเดินทาง รายละเอียด โทร. 0 2561-4836
การเดินทางสู่ยอดดอยเชียงดาว เริ่มที่ถ้ำเชียงดาว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถติดต่อคนนำทาง ลูกหาบ รวมทั้งรถไปส่งที่จุดเริ่มเดิน(เด่นหญ้าขัด)ได้ โดยค่าเช่ารถประมาณ900 บาท ค่าจ้างลูกหาบประมาณวันละ 300 บาทต่อลูกหาบหนึ่งคน บนดอยเชียงดาวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน อาหาร และน้ำ และอย่าลืมทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ดี เพื่อรักษาสภาพป่าให้อยู่ต่อไปอย่างถาวร
ส่วนทางลงนิยมใช้ทางสายบ้านถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำเชียงดาว เพราะมีทางสูงชันสามารถลงได้รวดเร็วกว่าแต่ไม่เหมาะกับการขึ้น
อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง และอำเภอไชยปราการ พื้นที่ทั้งหมด 1,155 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• น้ำตกศรีสังวาลย์ เป็นน้ำตกหินปูนที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง สูงประมาณ 20 เมตร ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ บรรยากาศบริเวณน้ำตกมีความร่มรื่นน่าพักผ่อน ตัวน้ำตกอยู่ห่างจากที่ทำการไป 150 เมตร นอกจากนี้ยังมีน้ำตกห้วยหกซึ่งเป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่กลางป่าลึก ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเข้าไปประมาณ 8 ชั่วโมง
ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง ผู้ที่ต้องการเห็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง สามารถเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เข้าไปในป่าประมาณ 2 ชั่วโมง จะพบกับขุนน้ำรูซึ่งมีลักษณะเป็นธารน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลออกมาจากภูเขา ชาวบ้านเชื่อว่าต้นน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนฤดูทำนาทุกปีจะจัดพิธีไหว้และบวชป่าชุมชนขึ้นที่นี่
• บ่อน้ำร้อนโป่งอาง เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ น้ำมีอุณหภูมิสูง 70-80 องศาเซลเซียส บ่อน้ำร้อนตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ถ้ำผาชัน ถ้ำดอยกลางเมือง น้ำตกทุ่งแก้ว น้ำตกห้วยหก ออบปิง ถ้ำผาชัน ถ้ำห้วยจะค่าน และถ้ำดอยกลางเมือง เป็นต้น
การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ถึง กิโลเมตรที่ 79 เข้าทางแยกซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1178 ประมาณ 24 กิโลเมตร ถึงบ้านนาหวาย เลี้ยวซ้ายไปอีก 150 เมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเชียงดาว
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ในอุทยานฯ มีบ้านพักบริการ 2 หลัง ติดต่อที่ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50180 โทร. 0 5381 8348 หรือ 0 1883 7371 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th ผู้ที่เข้าพักต้องเตรียมเสบียงมาเอง
• โครงการหลวงห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่95 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 200 เมตร โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล ได้แก่ ผักจำพวกผักสลัด แคนตาลูป ฯลฯ ไม้ดอก เช่น เบญจมาศ พีค็อก ฯลฯ ไม้ผล เช่น เสาวรส ทับทิม ฝรั่งคั้นน้ำ เป็นต้น ฤดูท่องเที่ยวของที่นี่จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากมีผลิตผลให้ชมและซื้อหาได้ รายละเอียด โทร. 0 5345 1116 ต่อ ศูนย์ห้วยลึก
• วัดถ้ำตับเต่า อำเภอไชยปราการ บนถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 122 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดร่มรื่น มีหอพระไตรปิฎกสร้างอยู่กลางน้ำ สิ่งสำคัญในวัดคือถ้ำตับเต่า มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว แต่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ถ้ำตับเต่านี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำผาขาว และถ้ำปัญเจค บริเวณหน้าถ้ำมีกุฏิและศาลาสำหรับพักผ่อน
• อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีน้ำตกให้ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เส้นทางยังไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างพัฒนาพื้นที่ น้ำตกที่เข้าถึงได้สะดวกที่สุดคือ น้ำตกห้วยทรายขาว ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะน้อยมาก จะมีน้ำเยอะช่วงเดือนพฤษภาคมแต่น้ำจะขุ่น น้ำจะใสช่วงหลังฝน ชั้นบนของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและมีทรายอยู่เนื่องจากน้ำพัดเอาทรายมาจากการกัดกร่อนของหินทราย ชั้นบน อากาศบริเวณน้ำตกชื้นจนทำให้มีมอสจับอยู่
มีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกแม่ฝางหลวง น้ำตกดอยเวียงผา น้ำตกห้วยหาน และจุดชมวิวดอยเวียงผา อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 583 ตารางกิโลเมตร สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังมีป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าสนเขา นกที่พบ เช่น นกกินปลี และนกพญาไฟ สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลางและสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก กระต่าย หมูป่า อีเห็น เก้ง เลียงผา เสือไฟ เม่น หมีควาย เป็นต้น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพัก 2 หลัง โดยติดต่อที่อุทยานโดยตรง
การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ไปประมาณ 125 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงตัวเมืองไชยปราการประมาณ 2 กิโลเมตร ให้สังเกต โรงเรียนศรีดงเย็นทางด้านซ้ายมือ ทางเข้าอุทยานอยู่ฝั่งตรงข้าม (ด้านขวามือ) เข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร
• ดอยอ่างขาง บนทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2512 มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง สามารถชมแปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ ท้อ บ๊วย พลัม สตรอว์เบอรี่ สาลี่ ราสเบอรี่ พลับ กีวี ลูกไหน เป็นต้น พืชผักเมืองหนาว เช่น แครอท ผักสลัดต่าง ๆ ฯลฯ แปลงไม้ดอก เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ แอสเตอร์ เบญจมาศ ฯลฯ จำหน่ายผลิตผลตามฤดูกาลที่ปลูกในโครงการฯ และมีที่พักบริการ
• สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
• หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็ก ๆประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว
• จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
• หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า
• หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ)
บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้ง ช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้าน โดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ด้วย
• หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่
• กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้เช่น เดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ขี่ล่อล่องไพร เป็นต้น
• อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีดอยสำคัญได้แก่ ดอยผ้าห่มปก ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยอ่างขาง สภาพป่าส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่มาก ทั้งป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณในระดับเชิงเขา ป่าดิบแล้งบริเวณริมลำห้วยลำธาร ป่าสนเขาและป่าดิบเขาบนยอดเขาสูง ป่าผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำฝาง มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน มะไฟป่า ตะแบก สัก จำปีป่า ฯลฯ รวมทั้งพันธุ์ไม้ที่หายากของไทย เช่น เทียนหาง กุหลาบพันปี เป็นต้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่ติดต่อกับป่าธรรมชาติในพม่า ทำให้มีสัตว์ป่าย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นประจำ ป่าแห่งนี้จึงชุกชุมด้วยสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า เลียงผา ฯลฯ
การเดินทาง ไปอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตัวเมืองฝางตรงไปจนพบสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไป9 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง เป็นถนนลาดยาง จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ มีรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง, เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึง อ.ฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝางอีกประมาณ 10 กม.
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ในอุทยานฯ ได้จัดเตรียมบ้านพัก ห้องอาบน้ำแร่ ห้องอบไอน้ำ ร้านอาหาร และ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และลานกางเต็นท์ พร้อมเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่าในราคา 250-800บาท / คืน (พักได้ 2-6 คน) และมีบริการให้เช่าชุดเครื่องนอนประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอนและชุดสนาม ในอัตรา 150 บาท/ชุด/คืน หรือชุดเครื่องนอนประกอบด้วยหมอนใหญ่ ที่นอน ผ้าห่มและชุดสนามในอัตรา 200 บาท/ชุด/คืน โดยติดต่อและชำระค่าธรรมเนียมได้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ตู้ ปณ.39 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50110 โทร. 0 5345 1441 ต่อ 302 กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร.0 2562 0760 www.dnp.go.th
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• โป่งน้ำร้อนฝาง เกิดจากพลังงานความร้อนใต้ผิวโลก น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง90-130 องศาเซลเซียส มีน้ำแร่ทั้งปี บริเวณกว้างโปร่งตา โป่งน้ำร้อนฝางมีห้องบริการอาบน้ำแร่ ทั้งห้องอาบน้ำและอบไอน้ำ รวมทั้งบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00-20.00 น. โป่งน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำการฯ นอกจากนี้จากที่ทำการอุทยานฯ ยังมีเส้นทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงโป่งน้ำร้อนระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 300 เมตรจะมี ห้วยแม่ใจ ซึ่งมีน้ำไหลมากตลอดปี
• น้ำตกโป่งน้ำดัง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็ก แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้น้ำตกขนาดใหญ่ มีถ้ำเล็ก ๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็ก ๆ ไปทั่ว การเดินทาง จากอำเภอฝางใช้ทางหลวงหมายเลข 107 สายฝาง-เชียงใหม่ ไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงวัดแม่สูนหลวงเลี้ยวขวาข้างวัดเข้าไปตามทางอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติ มฝ. 3 จากนั้นต้องเดินตามเส้นทางป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น
• ดอยผ้าห่มปก ตำบลม่อนปินแม่สาว อำเภอฝางและอำเภอแม่อาย ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 180 กิโลเมตร มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอยและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดอยผ้าห่มปก คือหนึ่งในเทือกเขาแดนลาวที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของยูนนานลงมาแบ่งชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอนจนไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย บนดอยผ้าห่มปกมีนก และผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น นกปีกแพรสีม่วง นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปกซึ่งพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง เป็นต้น การเดินทาง ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ฝาง 140 กิโลเมตร ฝาง-แม่อาย 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 20 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวตั้งแคมป์พักแรมได้ตรงบริเวณกิ่วลม เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติไม่อนุญาตให้พักแรมบนยอดดอยผ้าห่มปกซึ่งเป็นหน้าผาชันและอาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดดอยผ้าห่มปก ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินทางควรติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ค่าเช่ารถขึ้นจากอุทยานไปส่งที่ทางขึ้นดอยไปส่ง-รับประมาณ 1,500 บาท สอบถามรายละเอียดที่อุทยานฯ โทร. 0 5345 1441 ต่อ 302
การเดินทาง จากอำเภอฝาง ใช้ทาง รพช. สายฝาง-บ้านห้วยบอน ไปจนถึงบ้านห้วยบอน ให้ตรงไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกขวาขึ้นเขาชันไปประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวง ตรงไปจนพบสามแยก ถ้าตรงไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาวถ้าไปทางแยกซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงกิ่วลมซึ่งมีลักษณะเป็นเขาและมีลานสำหรับจอดรถได้ถ้าเดินทางต่อจากกิ่วลมไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงปางมงคล ผู้สนใจเดินทางขึ้นดอยผ้าห่มปกต้องติดต่อที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติก่อนการจะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยผ้าห่มปกนั้น ต้องเตรียมตัวอย่างดีเพราะต้องเดินป่าปีนเขาอย่างสมบุกสมบันและที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเอง
• ถ้ำห้วยบอน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 300 เมตร ภายนอกถ้ำอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่เมื่อเข้าไปถึงประมาณกลางถ้ำ จะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่าง ๆ ซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจมากถ้ำห้วยบอนเป็นถ้ำที่ยังมีการสะสมตัวของหินปูนสังเกตได้จากการมีน้ำหยดตามผนังถ้ำและหินงอกหินย้อยต่าง ๆ ตลอดเวลา การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปกิ่วลมเพื่อขึ้นดอยผ้าห่มปก
• ดอยปู่หมื่น ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 174 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีทัศนียภาพอันสวยงามรอบ ๆหน่วยงานขนบธรรมเนียมของชาวเขาเผ่ามูเซอ ชมยอดดอยผ้าห่มปกที่สวยงาม แปลงดอกไม้ และแปลงทดลองปลูกพืชเมืองหนาวพร้อมทั้งบ้านพักทั้งหมด 6 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50 คน
การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ 140 กิโลเมตร ฝาง-แม่อาย9 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าหน่วยงานอีก 14 กิโลเมตร ติดต่อที่พักได้ที่ ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ โทร. 0 2579 7586-7
• ท่าตอน-เชียงราย ท่าตอนเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอแม่อาย เป็นที่ซึ่งแม่น้ำกกไหลผ่านลงไปถึงตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แม่น้ำกกนี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญในการคมนาคมระหว่าง 2 จังหวัด ปกติแล้วจะมีเรือหางยาวบริการรับส่งผู้โดยสารจากท่าตอนล่องไปตามแม่น้ำกกจนถึงเชียงราย จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำกก ซึ่งเรือดังกล่าวออกจากท่าตอนเวลา 12.30 น. ไปถึงเชียงรายประมาณ 17.00 น. ชมรมเรือท่าตอน โทร. 0 53459427 โทรสาร 0 5337 7224
• วัดท่าตอน เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาต่อเนื่องกันหลายลูก มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดริมแม่น้ำกก เป็นวัดเก่าแก่ และเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติด และสงเคราะห์ชาวเขา และเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 ทางวัดได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างเจดีย์แก้วเฉลิมพระเกียรติไว้บนยอดเขา เป็นวัดที่มีทิวทัศน์งดงามด้านบนมีจุดชมวิวซึ่งจะมองเห็นชุมชน ทุ่งนา และแม่น้ำกกไหลคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง นอกจากวัดท่าตอนแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่นสวนส้มสายน้ำผึ้งหลายสวน มีผลผลิตแทบทั้งปี ยกเว้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

เชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง

การเดินทาง ตามเส้นทางสายนี้มีรถสองแถวสีเหลือง สายแม่ริม - สะเมิง ท่ารถอยู่ใกล้กับตลาดวโรรส บริเวณสี่แยกศรีนครพิงค์หลังร้านโอ้วจินเฮง รถแม่ริมวิ่งบริการจนถึงเย็น
• สวนกล้วยไม้และฟาร์มผีเสื้อ ตามเส้นทางนี้มีอยู่หลายแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชม โดยรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ที่แปลกและหาดูได้ยากไว้ด้วย อาทิ สายน้ำผึ้งพิพิธภัณฑ์กล้วยไม้ไทย ไปตามถนนสายแม่ริม-สะเมิง 2 กิโลเมตร และแยกซ้ายอีก 1 กิโลเมตร เป็น สวนกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ มีฟาร์มผีเสื้อ แมวไทย และสัตว์อื่นๆ ให้ชมด้วย โทร. 0 5329 7152, 0 5329 8771-2 ตรงกันข้ามเป็น สวนกล้วยไม้เมาท์เท่น ออร์คิด โทร. 0 5329 7343 แม่แรมออร์คิด ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 5.5 มีการปลูกพันธุ์กล้วยไม้นานาชนิด สาธิตการปลูกกล้วยไม้ และจัดเป็นฟาร์มผีเสื้อด้วย จำหน่ายสินค้าที่ระลึกประเภทเครื่องประดับ เช่น เข็มกลัด ต่างหู สร้อย ซึ่งทำจากกล้วยไม้ ใบไม้ และแมลงต่างๆ โทร. 0 5329 8801-2
• ฟาร์มงูแม่สา ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 3 เส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์งูที่มี ในเมืองไทยและศึกษาด้านการขยายพันธุ์ มีการแสดงของงูและการรีดพิษงูให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน แบ่งเป็นรอบๆ แต่ละรอบใช้เวลาแสดงประมาณ 30 นาที ค่าผ่านประตู เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 5386 0719
• พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 4 ริมถนนด้านขวามือ ตรงข้ามกับฟาร์มงูแม่สา เป็นแหล่งรวมของศิลปวัตถุโบราณและหายากยุคบ้านเชียงถึงปัจจุบัน บ้านสร้างด้วยไม้สักทองสวยสะดุดตา แวดล้อมด้วยพันธุ์พฤกษชาติและกล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ให้ความร่มรื่น รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร. 0 5329 8068 เปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท
• น้ำตกแม่สา แยกเข้าทางซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 7 เข้าเขตวนอุทยาน น้ำตกแม่สา เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่ริม แบ่งเป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามเชิงเขาถึง 8 ชั้น ชั้นที่สวยที่สุด คือ ชั้นที่ 5-7 ความสูงชั้นละประมาณ 6-8 เมตร ทั่วบริเวณปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ ทำให้ สภาพอากาศร่มรื่นเย็นสบายตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมมากทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวต่างถิ่น
• สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวน 3,500 ไร่ ทางเข้า อยู่ด้านซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12 สายแม่ริม-สะเมิง จัดทำเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทยและมีมาตรฐานระดับนานาชาติ เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่นและไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพื่อจัดปลูก ขยายพันธุ์ และ ศึกษาวิจัย
ลักษณะการจัดสวนของที่นี่จะแบ่งพันธุ์ไม้ตามวงศ์และความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งในและต่างประเทศ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ สามารถขับรถเที่ยวชมรอบๆ ได้ จุดที่ แวะชมได้ คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์เพาะกล้วยไม้ไทย อาคารพืชสมุนไพร พิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพรศูนย์วิจัย และอาคารเรือนกระจก และมีเส้นทาง เดินเท้าที่จัดไว้ 3 เส้น คือ 1. Rock Garden - Thai Orchid Nursery (สวนหิน - ศูนย์อนุบาลกล้วยไม้ไทย) ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที 2. Arboreta (เส้นทางศึกษาพรรณไม้) รวบรวมพรรณไม้ไว้มากกว่า 10 วงศ์ เช่น กล้วย ปาล์ม ไซแคด เฟิร์น ขิง เป็นต้น ใช้เวลา 45-60 นาที 3.Climber Collection (เส้นทางขึ้นเขา) ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.30 -17.00 น. ค่าธรรมเนียม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท รถรวมทั้งคนขับ 50 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ โทร. 0 5329 8171-5 ต่อ 4736, 4739 , 0 5329 9753-4 โทรสาร 0 5329 9754
• บ้านม้ง (แม้ว) แม่สาใหม่ เลี้ยวซ้ายมือตรงกิโลเมตรที่ 12 เข้าไปอีก 7 กิโลเมตร แต่สภาพทางเป็นลูกรังและสูงชัน ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณี การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ งานศิลปหัตถกรรมของชาวเขา
• อุทยานแห่งชาติขุนขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 397 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อ.สะเมิง และ อ.แม่แจ่ม ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนที่สูงตั้งแต่ 500-1,708 เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดดอยสูงสุด คือ ดอยปุ้งเกี้ย พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา และป่าดิบเขา
สถานที่น่าสนใจในอุทยาน ได้แก่ บ่อน้ำอุ่นธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงที่ทำการอุทยานฯ น้ำมีอุณหภูมิสูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส
การเดินทาง จากเชียงใหม่ไปอุทยานแห่งชาติขุนขาน สามารถไปได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-แม่ริม) แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 1096 จนถึง อ.สะเมิง อีกเส้นทางหนึ่งใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่-หางดง) แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 1269 จนถึง อ.สะเมิง จาก อ.สะเมิง ไปตามทาง รพช. สายสะเมิง-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางนี้มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ป่าผลัดใบสองข้างทางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือ สีส้ม สีแดง ละลานตาไปทั้งผืน
• บนเส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง ยังมีรีสอร์ทหลายแห่งที่ประดับด้วยดอกไม้และตกแต่งสวยงามพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและบางแห่งยังมีกิจกรรมเสริม เช่น แม่สาวาเลย์ (สาธิตการทำกระดาษสาวาดร่ม) แม่สารีสอร์ท (มีสนามกอล์ฟ 9 หลุม) ไร่กังสดาลเชียงใหม่ รีสอร์ท ไร่กังสดาล เอราวัณรีสอร์ท โป่งแยงแอ่งดอยรีสอร์ท แม่สารีสอร์ท ต้นตอง คันทรีโฮม และ ห้องอาหารต้นตอง เป็นต้น (ดูรายละเอียดในสถานที่พัก)
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่-แม่มาลัย-ปาย

• โป่งเดือดป่าแป๋ อยู่ในท้องที่ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง ห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็น น้ำร้อนที่พุ่งขึ้นมาจากพื้นดินในอดีตน้ำพุแห่งนี้สูงถึง 5 เมตร ปัจจุบันสูงเพียง 1 เมตร รอบๆ บริเวณซึ่งเป็นป่าทึบ จะอบอวลไปด้วยกลิ่นกำมะถัน บริเวณโดยรอบสะอาด และจัดนิทรรศการได้น่าสนใจ น้ำพุเกิดจากปริมาณน้ำใต้ดินที่ส่วนใหญ่ได้จากน้ำฝนที่ซับสู่ใต้ดิน หากดินมีความพรุนมาก ความพรุนของดินนี้เกิดจากต้นไม้ น้ำพุร้อนที่นี่คาดว่ามีการเกิดแบบน้ำพุร้อน กีเซอร์ (Geyser type) ลักษณะของน้ำพุ่งขึ้นจากระดับผิวดินเป็นครั้งคราวตลอดเวลา และคุณสมบัติของน้ำพุร้อนอย่างหนึ่งคือ ช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ
การเดินทาง ใช้ถนนสายแม่มาลัย-ปาย ไปประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางสีส้ม สายเชียงใหม่-ปาย ซึ่งจะวิ่งผ่าน ปากทางเข้า
• น้ำตกหมอกฟ้า อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เดินทางไปตามถนน สายแม่มาลัย-ปาย กิโลเมตรที่ 19 แยกซ้ายเข้าไปเป็นทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตรจึงจะ ถึงน้ำตก เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีและมีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ในตอนเช้าจะมีแสงแดดส่องถึงลงมาสะท้อนกับสายน้ำสีขาว ทำให้เกิดเป็นรุ้งประกายสวยงามมาก ที่หน้าผาจะมีมอส เฟิร์นเกาะสีเขียวชื้น และหากมา ในช่วงฤดูหนาวใบไม้ร่วง จะให้บรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ
จากถนนหลักเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังสลับคอนกรีต จากที่จอดรถเดินถึงตัวน้ำตกประมาณ 300 เมตร และบริเวณริมน้ำตกมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติประมาณ 400 เมตร และที่หน่วยฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ออกแบบได้กลมกลืนกับพื้นที่และ สวยสบายๆ มีบ้านพัก 4 หลัง และมีเต็นท์ให้เช่า ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ คนละ 20 บาท ผู้ที่เดินทางมาเองสามารถโดยสารรถสองแถวสายแม่มาลัย-สบเปิง
• อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง มีฝนตกชุกในเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศาเซลเซียส สถานที่ที่มีผู้นิยมมาท่องเที่ยว ได้แก่
• จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตั้งอยู่ที่ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วง เช้าตรู่ได้ และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก หมอกที่เกิดที่นี่ คือ หมอกที่เกิดขึ้นในหุบเขา (Radiation Fog) เนื่องจากเวลากลางคืนในหุบเขาอุณหภูมิ จะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ และปรากฏเป็นทะเลหมอกในเวลาเช้าหรือหลังฝนตกและใกล้ๆกับที่ทำการจะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีระยะทาง 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
การเดินทาง ไปยังอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 (สายเชียงใหม่-ปาย) อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทางจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ (สายเชียงใหม่-ปาย) อัตราค่าโดยสาร 40 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกห้วยน้ำดัง โป่งน้ำร้อนท่าปาย น้ำตกแม่เย็น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานฯมีบ้านพักบริการ รวมทั้งสถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร และ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ที่ 5 ต.กี๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 50300 โทร. 0 5347 1669 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 5734, 0 2561 4292-3 ต่อ 724, 725
• ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเชียงใหม่ - ห้วยน้ำดัง และ เลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 20 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7586-7
• ป่าสนบ้านวัดจันทร์ ผืนดินแห่งนี้กะเหรี่ยง มูเส่คี (หมายถึง ต้นน้ำแม่แจ่ม) ได้พึ่งพาอาศัยดำรงชีวิตมา นับร้อยปี พวกเขาช่วยกันดูแลรักษาผืนดินผืนป่าแห่งนี้อย่างดีเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวเลยก็ว่าได้ตามธรรมเนียมของพวกเขาเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ จะนำสายสะดือของเด็กไปผูกไว้กับต้นไม้กำหนดว่าเป็นต้นไม้ของครอบครัว ใครจะมาตัดไม่ได้ สนที่ขึ้นที่นี่เป็นสนเขาทั้งสนสองใบและสามใบที่จะขึ้นเฉพาะในที่สูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ยางสนนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น นำไปใช้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเป็นตัวช่วยให้ฝืดหรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันสนที่ใช้ผสมกับ สีน้ำมันช่วยให้สีแห้งเร็ว ห่างไปจากบ้านพัก ออป. คือโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ ตั้งอยู่ที่ บ้านวัดจันทร์ ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร ป่าไม้ ดิน และน้ำควบคู่กับการพัฒนาเกษตรกรรม บริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร ภายในโครงการจะมี การปลูกไม้เมืองหนาว เช่น ฟักทองญี่ปุ่น สลากแก้ว กะหล่ำม่วง เป็นต้น
บริเวณป่าสนบ้านวัดจันทร์จะมีที่ทำการ ออป. ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ออป. ซึ่งเป็นจุดที่บริการบ้านพัก ผู้สนใจมาหาประสบการณ์ชีวิตจากที่นี่นำจักรยานมาปั่นได้จะดีมากเพราะ อากาศที่นี่เย็นสบายตลอดปี ทิวทัศน์เป็นป่าสนสวยงาม หรือจะนำเรือยางมาพายในทะเลสาบที่นี่ก็ได้ กิจกรรมแบบนี้นอกจากไม่ก่อมลพิษแล้วเรายังได้อยู่กับ ธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วย มีบริการบ้านพัก เต็นท์และเครื่องนอนให้เช่าและอาหาร โดยต้องติดต่อจองล่วงหน้าที่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) บ้านวัดจันทร์ โทร. 0 5324 9349
การเดินทาง มีหลายเส้นทางให้เลือกแต่ไม่ว่าจะใช้ทางใดก็ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากมาใน ช่วงฤดูหนาว จะพบใบไม้เปลี่ยนสีในป่าสองข้างทาง เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือ สายแม่มาลัย-ปาย (ทางหลวง หมายเลข 1095) จาก1095สามารถเข้าได้สองทางซึ่งทั้งสองเส้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 40 กิโลเมตร คือ
1. ตามป้ายทางหลวง ประมาณ 80 กิโลเมตร จากแม่มาลัย หรือ
2. ทางเข้าตรงวัดพระธาตุ อยู่ถัดจากวัดพระธาตุมาประมาณ 500 เมตรแยกซ้ายเข้าตรงโค้งเล็กๆ แยกเข้าเส้นทาง จอมแจ้ง - บ้านเมืองแร่ - บ้านบ่อแร่ รวมระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร
เส้นทางอื่นๆ คือ สายสะเมิง-วัดจันทร์-บ้านบ่อแก้ว-บ้านดงสามหมื่น เป็นทางลูกรังเช่นกัน ระยะทาง 80 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร อีกสองเส้นทางที่ลำบากกว่าสองทางแรก คือ อำเภอแม่แจ่ม - บ้านวัดจันทร์ และ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน-บ้านวัดจันทร์ เส้นทางหลังจะมีความงามมาก
หรือสามารถโดยสารรถปะจำทางได้เป็นรถสองแถวสีเหลือง คิวรถบ้านวัดจันทร์อยู่ที่ถนนช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ รถออกทุกวัน เวลา 09.00 และ 11.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง รถจะวิ่งเส้นสะเมิง
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่-เวียงแหง
• พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ อยู่ที่บ้านเมืองงาย ประชาชน ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์เคยเสด็จมาประทับแแรมที่เมืองงายแห่งนี้ ก่อนที่จะกรีฑาทัพต่อไปยังเมืองอังวะของพม่า เป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม ที่ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ละด้านของฐานเป็นแผ่นศิลาสลักเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติ และประวัติ การสร้างพระสถูป ด้านหลังเป็นค่ายหลวงจำลอง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
• อำเภอเวียงแหง เป็นเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทยพม่า มีคนหลายเชื้อชาติอยู่ด้วยกัน อย่างสันติทั้งชาวเขา ไทยใหญ่ จีนฮ่อ แต่ละกลุ่มต่างก็ยังดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียมเดิม ของตนเอง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเพราะความเจริญยังแพร่มาไม่มากนัก เนื่องจากการสัญจรไปมาต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยวสูงชันเลาะขุนเขาหลายลูกกว่าจะเข้าถึงได้ และทางอำเภอมีนโยบายที่จะแบ่งเขตการพัฒนา โดยตำบลเมืองแหงเป็นที่อยู่อาศัยและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี โบราณสถาน ตำบลแสนไหเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตร ตำบลเปียงหลวงเป็นพื้นที่ธุรกิจ การค้าขายชายแดน อำเภอนี้มีสิ่งที่น่าชมหลายอย่าง ได้แก่ พระบรมธาตุแสนไห อยู่ที่ตำบลเมืองแหง จาก บ้านเมืองายเข้ามา 55 กิโลเมตร เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแต่มาได้รับการบูรณะใน พ.ศ. 2457 เป็น ศิลปะผสม ระหว่างพม่าและล้านนาไทย ซึ่งสร้างทับพระธาตุเดิมที่มีขนาดเล็ก โดยของใหม่มีสัณฐาน 8 เหลี่ยม สันนิษฐานว่าที่นี่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยกทัพไปยังเมืองอังวะของพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2147 หลังจากประชุมพลที่เมืองงาย จึงเสด็จไปทางเมืองห้างหลวงซึ่งน่าจะเป็นเมืองแหงในปัจจุบันเพราะมีคูเมืองล้อมยาวกว่า 2 กิโลเมตร และเป็นเมืองเดียวที่อยู่ระหว่างเมืองงายกับเมืองอังวะของพม่า เชื่อว่า พระองค์น่าจะเสด็จมาพักทัพที่พระบรมธาตุแห่งนี้และสร้างบ่อน้ำใช้ส่วนพระองค์และช้างศึกตรงบริเวณด้านหน้าเนินเขาที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำช้าง ประเพณีที่สำคัญของวัดนี้ คือ งานสรงน้ำพระบรมธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี
• วัดฟ้าเวียงอินทร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยใหญ่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย หอสวดมนต์ หอฉัน ศาลาจำศีล และกุฏิสงฆ์ เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน มีเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุ วัดนี้ตั้งอยู่ที่บ้านหลักแต่งตรงชายแดนไทย-พม่าพอดี สมัยก่อนบริเวณบ้านหลักแต่งนี้ถือเป็นเขตอิทธิพลของขุนส่า อาณาเขตของวัดนี้จึงนับเป็นดินแดน เดียวกันแต่เมื่อขุนส่ามอบตัวแก่รัฐบาลทหารพม่า ดินแดนวัดจึงถูกแยกเป็น สองส่วน มีเจดีย์ สีเหลืองทองอร่ามอยู่ในแดนไทยและจะมองเห็นหลังคาโบสถ์สีแดงทรงไทยใหญ่อยู่ในฝั่งพม่า ด้านหลังเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ชาวบ้านให้ความเคารพมาก และที่เชิงเขา ด้านหลังเป็นสุสานนายพลโมเฮงอดีตผู้นำชาวไทยใหญ่ที่นี่
การเดินทาง หากจะเดินทางมาที่อำเภอนี้โดยรถยนตร์ส่วนตัวใช้ทางหลวง 107 และแยกซ้ายที่เมืองงาย เข้าทางหลวง 1322 ระยะทาง 72 กิโลเมตร แต่หากมาโดยรถประจำทางขึ้นรถที่ท่ารถถนนช้างเผือก สายดาวทอง (เวียงแหง-เปียงหลวง) เป็นรถสองแถวสีขาว 6 ล้อ รถออก เวลา 08.00, 12.00 และ 15.00 น. จากเวียงแหงรถออกตรงหน้าตลาด เวลา 07.00, 08.00 และ 15.00 น. ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง
• บ้านเปียงหลวง อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า มีด่าน“ช่องหลักแต่ง” เป็นด่านชั่วคราวที่เปิดการค้าขายชายแดนในระดับท้องถิ่นในยามเหตุการณ์สงบ ด่านจะเปิดให้ชาวบ้านในละแวกข้ามมาค้าขายกันได้ ชาวบ้านในตำบลนี้ เป็นจีนฮ่อและไทยใหญ่ โดยชาวจีนฮ่อนั้นอพยพเข้ามาในสมัยเจียงไคเช็คเป็นประธานประเทศ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิม ทุกคนจะเรียนภาษาจีนเพิ่มเติมตอนเย็นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน
การเดินทาง ใช้ทางหลวง 107 และแยกซ้ายที่เมืองงายเข้าทางหลวง 1322 ระยะทาง 72 กิโลเมตร แต่หากมาโดยรถประจำทางขึ้นรถที่ท่ารถถนนช้างเผือก สายดาวทอง (เวียงแหง-เปียงหลวง) เป็นรถสองแถวสีขาว 6 ล้อ มีบริการ 2 เที่ยว ช่วงเช้า ประมาณ 7-8 โมงเช้า จากเวียงแหงรถออกตรงหน้าตลาด ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง

เส้นทางเชียงใหม่-พร้าว ทางหลวงหมายเลข 1001

• อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยสัตว์ป่าและสภาพป่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมเนื้อที่ป่าแม่งัด ป่าแม่แตง และป่าเชียงดาว ในท้องที่อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเชียงดาว รวมเนื้อที่ 652,000 ไร่ ลักษณะเป็นป่าดิบเขา ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวเหนือใต้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ไหลสู่แม่น้ำปิง
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• น้ำตกม่อนหินไหล ตั้งอยู่บริเวณป่าแม่งัด อำเภอพร้าว ใช้ถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ประมาณ 85 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าน้ำตก 14 กิโลเมตรซึ่งเป็นทางลูกรังจึงต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น น้ำตกมี9 ชั้น เป็นตาดหินลาดเขาตรง น้ำไหลตลอดปี แต่ละชั้นมีลักษณะเด่นที่แปลกตา และบนชั้นที่9 คือยอดดอยม่อนหินไหลเป็นจุดชมวิวมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอพร้าว มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติประมาณ 1 กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตกห้วยแม่ระงอง น้ำตกห้วยป่าพลู ถ้ำผาแดง เทือกเขาหินปูน เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณดอยแม่วะห่าง (จากที่ทำการประมาณ 4 กิโลเมตร)
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง และแยกขวาเข้าเส้นทางสู่เขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล ประมาณ 12 กิโลเมตร ที่อุทยานฯ ยังไม่มีบ้านพักแต่มีจุดพักแรมห้วยกุ่ม ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงติดกับหน่วยพิทักษ์ที่ ศล.6 ห้วยกุ่ม ประมาณกิโลเมตรที่ 260 เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150
• น้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี(น้ำพุเย็น น้ำตกเย็น) ตั้งอยู่บริเวณแยกกิโลเมตรที่ 42 สายเชียงใหม่-พร้าว ตำบลหอพระ อำเภอแม่แตง เป็นน้ำแร่ซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วไหลเป็นลำธารและน้ำตกขนาดเล็ก มีพื้นดินที่ใต้ลำธารแข็งสีขาวเป็นประกาย เพราะมีแคลเซียมคาร์บอเนตเคลือบอยู่ ดูแปลกตา
• วัดดอยแม่ปั๋ง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว ไปตามถนนสายเชียงใหม่-แม่โจ้-พร้าว ทางหลวงหมายเลข 1001 กม.ที่ 76 วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นวัดที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยจำพรรษาตั้งแต่พ.ศ. 2505 จนถึงมรณภาพในพ.ศ. 2528 ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ วิหารไม้ กุฏิหลวงปู่แหวน กุฏิไม้ที่เรียกว่า “โรงย่างกิเลส” หรือ “โรงไฟ” และวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่แหวนเท่าองค์จริง
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เพื่อศึกษาด้านการพัฒนาป่าไม้และด้านการเกษตรที่เหมาะกับบริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ ในศูนย์แห่งนี้ประกอบด้วย งานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ ปศุสัตว์และโคนม ประมง งานปลูกหญ้าแฝก และการดำเนินงานหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ห้วยฮ่องไคร้ นับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาเกี่ยวกับนิเวศน์วิทยาได้เป็นอย่างดี ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. หากต้องการวิทยากรนำชมติดต่อล่วงหน้าที่ โทร. 0 5324 8004, 0 5324 8483 และที่นี่มีบ้านพักรับรอง หรือกางเต็นท์พักแรมได้แต่ต้องนำอุปกรณ์มาเองโดยติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า
การเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย ประมาณ 23 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าศูนย์อีกประมาณ 1 กิโลเมตร
• ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่-สันกำแพง
• สันกำแพง สันกำแพงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก 13 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนเชียงใหม่ มักจะไปเที่ยวที่อำเภอสันกำแพง เพราะผ้าไหมและผ้าฝ้ายซึ่งทอมาจากอำเภอนี้ มีคุณภาพดี ราคาถูก เหมาะสำหรับเป็นของที่ระลึกแก่ญาติสนิทมิตรสหาย นอกจากนั้นยังมีโรงงานทอผ้าให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิธีการทอ รวมทั้งการเลี้ยงตัวไหมให้ชมด้วย และระหว่างเส้นทางจากอำเภอเมืองถึงอำเภอสันกำแพง ระยะทาง 13 กิโลเมตร ยังมีโรงงานและร้านค้าของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เครื่องเขิน เครื่องหนัง เครื่องปั้นดินเผา และผ้าฝ้าย ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและเลือกซื้ออีกด้วย
• กาดดารา เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมโอเรียนเต็ล ดาราเทวี ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ พื้นที่การค้ากว่า 1,500 ตารางเมตร อาคารร้านค้าก่อสร้างแบบล้านนา ล้านช้าง สิบสองปันนา และมัณฑเลย์ เรียงขนานไปตามแนวถนน มีพื้นที่โล่งเพื่อจัดกิจกรรมกลางแจ้ง มีร้านค้าชื่อดังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายร้าน จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้าไหม ผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับตกแต่ง สินค้าแบบโบราณ สตูดิโอถ่ายภาพแบบล้านนา และร้านอาหาร เบเกอรี่ ทุกร้านเดินต่อกันได้ จัดมุมพักผ่อนเป็นซุ้มไม้ บ่อน้ำเล็ก ๆ บรรยากาศมีชีวิตชีวาแบบล้านนาไทยผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ โทร. 0 5385 0111
• วัดบวกครกหลวง บ้านบวกครก ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง เลยจากทางแยกเข้าสันกำแพง ทางหลวงหมายเลข 1006 มาประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเข้าวัดอยู่ทางขวามือ มีป้ายบอกชัดเจน แต่เดิมชื่อว่าวัดม่วงคำ ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างที่แน่นอน สันนิษฐานว่าตัววิหารน่าจะสร้างประมาณรัชกาลที่ 5 แล้วมีการซ่อมแซมบูรณะเรื่อยมา พ.ศ.2468 สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปีที่มีการบูรณะวิหารหลังใหญ่ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นพุทธประวัติและสะท้อนประเพณีของชาวไทยใหญ่
• บ้านจ๊างนัก เลขที่ 56/1 หมู่ 2 ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง เป็นสถานที่นำเสนอผลงานหลากหลายของศิลปิน และกลุ่มช่างฝีมือพื้นบ้านแห่งล้านนาไทย โดยได้ถ่ายทอด สร้างสรรค์จากจินตนาการที่งดงาม ลงการแกะสลักไม้รูปช้างในหลากหลายท่วงท่าและอิริยาบถ คุ้มค่าต่อการเดินทางไปชื่นชมความงามที่ศิลปินได้ถ่ายทอดลงสู่ลายไม้ได้เหมือนจริงอย่างยิ่ง การเดินทาง ใช้ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ข้ามสะพานแม่น้ำออนแล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดแช่ช้าง วัดดอนปิน และวัดบวกค้าง บ้านจ๊างนักติดอยู่กับวัดบวกค้าง โทร. 0 5333 2578
• อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ใน จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน มีพื้นที่ทั้งหมด 354.7 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสูง 400-2,030 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสภาพป่าหลายประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนขา เป็นป่าต้นน้ำของห้วยแม่ตะไคร้ ห้วยแม่ออน ห้วยแม่ทา และห้วยแม่กวง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ในพื้นที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ตั้งแต่นกชนิดต่าง ๆไปจนถึงเก้ง กวาง ชะนี หมูป่า
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเบญจพรรณและป่าไผ่ มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติรอบอ่างเก็บน้ำ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทาง จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 1006 ไปทางอำเภอแม่ออน เมื่อถึงทางแยกหน้าโรงเรียนวัดเปาสามขา ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1229 ไปอีก 4 กิโลเมตร จนถึงจุดตรวจที่ 1 เดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางบ้านห้วยแก้วประมาณ 800 เมตร จะถึงอ่างเก็บน้ำ
• น้ำตกตาดเหมย เป็นน้ำตกสูงประมาณ 15 เมตร ในฤดูฝนมีความสวยงามมาก น้ำตกอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ประมาณ 16 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามทางลูกรังขรุขระและเส้นทางชันพอสมควร ระหว่างทางมีจุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นทิวเขาในอำเภอแม่ออน และอำเภอสันทราย ในช่วงฤดูร้อนที่ฟ้าใสจะมองเห็นไกลไปถึงตัวเมืองลำพูน เชียงใหม่ ดอยสุเทพ และแม้กระทั่งดอยอินทนนท์ซึ่งทะมึนขวางขอบฟ้าไกล ๆเมื่อเดินทางถึงจุดตรวจที่ 3 ต้องเดินผ่านป่าดิบแล้งซึ่งมีต้นไม้ให้ชมมากมาย เช่น ตะเคียน ยางนา ยางแดง ฯลฯ รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรจะถึงน้ำตก
• น้ำตกแม่ตะไคร้ เป็นน้ำตกชั้นเดียว อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าซึ่งมีพืชพันธุ์หลากหลายชนิด เช่น เห็ด มะไฟ ฯลฯ ในบางฤดูมีดอกไม้ป่าออกดอกสวยงามให้ชม
• จุดชมทิวทัศน์ มี 2 จุด จุดที่ 1 สำหรับชมทิวทัศน์ของป่า ตัวเมืองเชียงใหม่ และดอยสุเทพ ทั้งสองจุดอยู่บนเส้นทางสายแม่ตะไคร้-ห้วยแก้ว จุดที่ 1 ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 6 เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมทิวทัศน์ ของเทือกเขาที่กั้นระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำปาง ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างไปประมาณ 600 เมตร จุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถชมวิวของภูเขาเป็นแนวยาว รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองและดอยสุเทพที่ไม่สามารถหาชมได้ที่ใด อีกทั้งในยามค่ำคืนนักท่องเที่ยวยังสามารถชมความสวยงามตระการตาของดาวบนดินได้จากจุดชมวิวนี้
• ดอยลังกา หรือภูลังกาหลวงมีความสูงถึง 2,030 เมตร จากระดับน้ำทะเล สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีป่าหญ้าปกคลุมยอดเขาเป็นบริเวณกว้างโดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้นกุหลาบพันปีจะออกดอกบานสะพรั่ง ภูลังกาหลวงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปประมาณ 50 กิโลเมตร เดินทางด้วยรถยนต์ไปถึงหมู่บ้านกำแพงหิน แล้วเดินเท้าขึ้นยอดดอยระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นภูลังกาหลวงจากทางด้านอุทยานแห่งชาติขุนแจ หรือจะใช้เส้นทางกลับกันได้ การขึ้นดอยลังกาหลวงใช้เวลา 2 คืน
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นลานกางเต็นท์ บริเวณรอบอ่าง 2 จุด สภาพโดยรอบเป็นป่า และมีลมพัดโชยจากอ่างเก็บน้ำตลอด เหมาะสำหรับพักแรมแบบลูกเสือ และบริเวณรอบอ่างยังเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ รายละเอียดติดต่อที่ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50130 หรือ ศูนย์อุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ 50000 โทร.0 5381 8348
• วัดป่าตึง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง เดิมเป็นวัดร้าง คู่กับวัดเชียงแสน ก่อนที่จะสร้างวัดนี้ขึ้นมาได้พบพระบรมสารีริกธาตุ และของมีค่ามากมายหลายอย่าง อาทิ วัตถุโบราณ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยชามสังคโลก ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ใน พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยชาม ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด ในศาลาการเปรียญเป็นที่ตั้งศพของเกจิอาจารย์ชื่อดัง คือหลวงปู่หล้าซึ่งไม่เน่าเปื่อย ให้ผู้ที่มีศรัทธาได้บูชา
• บ่อน้ำพุร้อน ตามเส้นทางนี้มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่สองแห่งตกแต่งสถานที่ด้วยสวนดอกไม้สวยงาม มีห้องอาบน้ำแร่ ที่พัก สถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร ได้แก่ น้ำพุร้อนสันกำแพง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 34 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 ทางด้วยกัน คือ เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-สถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้สัก-น้ำพุร้อน (เส้นทางนี้จะผ่านถ้ำเมืองคอน ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำพุร้อน 4 กิโลเมตร) หรือเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง-หมู่บ้านออนหลวย-น้ำพุร้อน หากเดินทางโดยรถประจำทางขึ้นรถสายดอยสะเก็ด – น้ำพุร้อนสันกำแพง จากตลาดวโรรส ด้านทิศเหนือติดแม่น้ำปิงไปยังสันกำแพง และเช่าเหมารถสองแถวจากสันกำแพงไปน้ำพุร้อนในราคาประมาณ 200 บาทต่อคัน สำรองที่พักล่วงหน้าที่ ธุรกิจน้ำพุร้อนสันกำแพงหมู่บ้านสหกรณ์ โทร. 0 53929077 และรุ่งอรุณน้ำพุร้อน รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 5324 8475

อัศจรรย์น้ำพุร้อนกีเซอร์ใหญ่ที่สุดใน เมืองไทยมากมายด้วยสรรพคุณ เพื่อการบำบัดรักษา ท่ามกลางธรรมชาติเขียวสด ของหมู่ไม้โป่งเดือดป่าแป๋ จึงกลาย เป็นหนึ่งในจุดหมาย ในใจของคนรักสุขภาพ
เส้นทางซากุระ สีหวานความงาม ที่ยิ่งใหญ่บนขุนเขา ในวันที่ม่านหมอก สลายไปพร้อมกับแสงสีทองของ พระอาทิตย์เบื้องหน้าเป็นยอดดอย หลวงเชียงดาวข้างๆ เป็นต้นซากุระ สีหวานกับสายลมเย็นยามเช้า ช่วยทำให้ห้วงเวลาบนสันป่าเกี๊ยะ ยิ่งใหญ่และน่าจดจำ
มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอย และมีอากาศหนาวเย็น ตลอดทั้งปี ยอดดอยฟ้าห่มปก ต้องเดินเท้าจากจุดกางเต็นท์ ข้ามเขาไปอีกหลายลูก กว่าจะถึงจุดสูงสุดของ ยอดดอยฟ้าห่มปก ..อ่านต่อ..
ดอยหลวงเชียงดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่สวยงาม หลายท่านเคยไปมาแล้ว ยังต้องกลับไปอีกทั้งๆ ที่การเดินทางสู่เขาสูงแห่งนี้ ค่อนข้างลำบาก
ชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเล หมอกสีขาวอันกว้งไกลสุดสายตา แผ่คลุมอยู่ในหุบด้าน ล่าง มีเทือกดอยหลวงเชียงดาวตั้งเด่น ตระหง่านท้าทายสายลมหนาว เหนือทะเล หมอกอยู่ ทุกโมงยาม และในช่วงปปลายฤดูหนาว ดอกไม้นานาชนิดกำลังบานสวยงาม
เทือกเขาสูง ยอดหญ้าเหยียดฟ้า อลังการวิวดอย ไม่ว่าจะเป็นวิวสันดอยวิวเทือกเขา วิวทะเลหมอก วิวท้องฟ้า วิว หนๆ ก็สวยไปหมด ที่ดอยม่อนจอง เส้นทางเดินแสนสวยสุดโรแมนติก บนริมสันเขา... ความมหัศจรรย์ของเทือกเขา ยามท้องฟ้าอาบแสงสีทอง
ดอยอินทนนท์มีชื่อว่า ดอยหลวง หรือ ดอยอ่างกา ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ มีระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย บริเวณผืนป่าอินทนนท์ ที่เป็นที่สุดของป่าในประเทศไทย ซึ่งมีสภาพนิเวศน์ที่หาดูได้ยากยิ่ง
Source : tourismthailand.org