ดอยฟ้าห่มปก

ดอยฟ้าห่มปก

ดอยฟ้าห่มปกเป็นดอยที่สูงอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูงประมาณ 2,285 เมตร จาก ระดับน้ำทะเล ปานกลาง บนยอดดอยสูงสุดเป็นทุ่งโล่งอันเกิดจาก สภาพธรณีวิทยา ที่มีชั้นดินตื้น ชั้นหินเป็นหินแกรนิต ประกอบกับอากาศมีลมกรรโชกแรงตลอดทั้งปี จากยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ทะเลหมอก และถนนบนสันเขา ขนานกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งถือเป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่วนสภาพป่าเป็นป่าต้นน้ำ ป่าดิบเขา ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่สมดุลและ หลากหลายทางชีวภาพ ดังเช่นจะพบพันธุ์พืช สัตว์ป่าหายากและที่น่าสนใจนานาชนิด อาทิ เทียนหาง บัวทอง ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง และนกปีกแพรสีม่วง เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ เส้นทางขึ้นดอยผ้าห่มปกมี 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางกิ่วลม ทางปางมงคล และทางหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาว ผู้สนใจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก (แม่ฝาง) มีพื้นที่ประมาณ 327,500 ไร่ ครอบคลุมอำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า อันจะเห็นได้จากการพบพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงามน่าสนใจ คือ ดอยผ้าห่มปก ดอยสูงอันดับสองของประเทศไทย บ่อน้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ ถ้ำห้วยบอน น้ำตกโป่งน้ำดัง น้ำตกตาดหลวง ความเป็นมา : เมื่อปี พ.ศ. 2511 สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจและตกแต่งให้เป็นสถานที่พักผ่อน ต่อมา ปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้อนุมัติจัดตั้งให้เป็น "วนอุทยาน" โดยใช้ชื่อว่า "วนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง" มีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำฝาง 31 ตารางกิโลเมตร หรือ 19,375 ไร่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2531 กองอุทยานแห่งชาติในขณะนั้นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของกองอุทยานแห่งชาติมารับ งานวนอุทยานบ่อน้ำร้อนฝาง เพื่อดำเนินการสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 97 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2543 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 81ก ลงวันที่ 4 กันยายน 2543 โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแม่ฝางเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว มีระดับความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยผ้าห่มปก ซึ่งมีความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ทิศเหนือและทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนม่าร์ ทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ในเขตท้องที่ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอฝาง คือ ตำบลเวียง ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลม่อนปิ่น ตำบลแม่สูน ตำบลแม่งอน พื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอแม่อาย คือ ตำบลมะลิกา ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ตำบลท่าตอน และพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอไชยปราการ คือ ตำบลหนองบัว และตำบลปงตำ

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพ ภูมิอากาศโดยทั่วไป มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายนประมาณ 39.1 องศาเซลเซียส และฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 1,183.5 มิลลิเมตร มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 14-19 องศาเซลเซียส ยอดดอยมีอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส สำหรับในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 14 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
พืชพรรณ : สภาพป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง สามารถจำแนกโดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และชนิดพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ ได้ 5 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขา ส่วนชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ เช่น มณฑาดอย ลำดวนดอย นางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ส่วนไม้พุ่มและไม้ล้มลุก เช่น พิมพ์ใจ บัวทอง หนาดขาว เทียนคำ เทียนดอย หรีดเขา ไม้เถาเลื้อย เช่น นมตำเรีย สะบ้าลิง พาลี และหนามไข่ปู ส่วนพืชเกาะอาศัย เช่น ว่านไก่แดง บีโกเนีย และกล้วยไม้ชนิดต่างๆไม่ต่ำกว่า 70 ชนิด พืชกาฝาก เช่น ดอกดินแดง ขนุนดิน เป็นต้น

สัตว์ป่า : เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์สูง จึงสามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้หลากหลาย ชนิด โดยเฉพาะ “นก” ซึ่งพบกว่า 307 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นหายาก เช่น นกติ๊ดหัวแดง นกขัติยา นกกระรางอกลาย และนกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเดินดงสีน้ำตาลแดง นกเดินดงอกเทา และนกเดินดงสีคล้ำ เป็นต้น ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะพบเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากจะพบเพียงรอยเท้า และร่องรอยการหากิน เช่น เสือไฟ หมาไม้ หมีควาย เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า เพียงพอนเส้นหลังขาว และสัตว์ที่มีรายงานการพบใหม่ในประเทศไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่ดอยผ้าห่มปก คือ เพียงพอนยุโรป (Least Weasel) ผีเสื้อ และแมลงเป็นสัตว์ป่าที่พบได้บ่อยในพื้นที่เนื่องจากมีความหลากหลายสูง อีกทั้งสามารถพบเห็นผีเสื้อหายากบางชนิดอีกด้วย ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อถุงทองป่าสูง และแมลงชนิดต่างๆ เช่น ด้วงคีมยีราฟ กว่างซาง ด้วงคางคกผา เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กิ้งก่าชนิดต่างๆ งูชนิดต่างๆ และเต่า เช่น เต่าปูลู เต่าหก เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบ เช่น อึ่งอ่างบ้าน กบหนอง อึ่งแม่หนาว อึ่งกรายห้วยเล็ก ปาดตีนเหลืองเหนือ และกระท่าง เป็นต้น

การเดินทางโดยรถยนต์ :

รถยนต์ จาก ตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่ - ฝาง) ถึงอำเภอฝางแล้วไปตามถนนฝาง - ม่อนปิ่น ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. 4054 อีก ประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงบริเวณบ่อน้ำร้อนฝาง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก รวมระยะทางจากเชียงใหม่ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จากเชียงใหม่-ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ประมาณ 160 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2ชั่วโมง 30 นาที สำหรับเส้นทางไปดอยฟ้าห่มปกนั้น ควรเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ตามถนนสายฝาง – บ้านห้วยบอน ไปจนถึงบ้านห้วยบอน แล้วตรงไปตามถนนลูกรังอีก 5 กิโลเมตร และแยกขวาอีกประมาณ 17 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวงและแยกซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงที่ตั้งแคมป์พักแรมกิ่วลม เดินเท้าขึ้นยอดดอยประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นและลง

การเดินทางโดยรถประจำทาง :

รถ ประจำทางมีรถประจำทางปรับอากาศของบริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง , เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึงอำเภอฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อีกประมาณ 10 กิโลเมตร

อร่อยประจำถิ่น

อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก 224 หมู่ 6 ต.โป่งน้ำร้อน อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ 50110 โทรศัพท์ 053-453517 โทรสาร 05 3453 517 อีเมล doiphahompok.np@hotmail.com