สถานที่ท่องเที่ยวในเพชรบุรี

สถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรี

อำเภอเมือง เพชรบุรี
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 เลยจากแยกอำเภอเขาย้อย มาทางตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าโรงเรียนบ้านวัง เข้าไปประมาณ 150 เมตร ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนามเหนือ มีความรู้ความชำนาญในการทอผ้าและจักสาน นิยมแต่งกายด้วยสีดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ชาวลาวโซ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นที่เก็บรวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชาวลาวโซ่งให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน บ้านจำลอง อักษรดั้งเดิม สาธิตการทอผ้า และขายสินค้าของที่ระลึก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ และทุกวันเสาร์จะมีการฝึกสอนฟ้อนรำ การเป่าแคนแก่ลูกหลาน เปิดให้ชมฟรี ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีงานประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นงานรื่นเริงสังสรรค์ของชาวลาวโซ่ง โดยจะหมุนเวียนกันจัดไปตามหมู่บ้านต่างๆ นอกจากนั้นหากนักท่องเที่ยวมาเป็นหมู่คณะและต้องการจะชมการแสดงประเพณีพื้นบ้าน เช่น พิธีเสนเรือน (เซ่นผีบ้าน) พิธีแต่งงาน การอิ้นคอน การเล่นลูกช่วง เพื่อการหาคู่ของหนุ่มสาว การฟ้อนรำแคน สามารถติดต่อล่วงหน้าโดยเสียค่าใช้จ่าย และหากต้องการจะพักค้างแรมศึกษาวิถีชีวิตของชาวลาวโซ่ง เสียค่าพักแรมคืนละ 200 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กำนันประนอม สืบอ่ำ โทร (032) 499208 โทรสาร (032) 439796
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า “เขาสมน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้
ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ พระที่นั่งสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพัจน์ ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ศาลาด่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบองครักษ์ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมธตรฐป้องปกทางทิศตะวันออก ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรูปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30-16.15 น. ทุกวัน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)ได้โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ) เสียค่าบริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (032) 425600
วัดพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา
วัดเขาบันไดอิฐ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 3171 ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง สมเด็จพระเจ้าเสือเคยเสด็จมาฝากตัวเป็นศิษย์ของวัดนี้ ในอดีตวัดเขาบันไดอิฐมีชื่อเสียงมากทางวิทยาคมในช่วงที่หลวงพ่อแดง พระเกจิชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าอาวาส ทำให้มีผู้ให้ความเคารพและเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านความงามของศิลปะปูนปั้นชั้นครูที่ฝากผลงานไว้เหนือหน้าบันพระอุโบสถ นอกจากนั้นบริเวณวัด ยังมีถ้ำให้ชมอีกหลายแห่ง ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ ถัดจากถ้ำนี้เข้าไปทางด้านใต้จะมีถ้ำพระพุทธไสยาสน์ จะมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำทั้งสามนี้แล้ว ยังมีถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ ถ้ำพระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊คซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค (Braunschweig) ประเทศเยอรมัน ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมีความสูง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น ถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดในเมืองเพชร ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จประพาสมาและทรงโปรดถ้ำแห่งนี้มาก ทั้งยังทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามพระอุโบสถวิหารหลวง รวมถึงศาลาภายในวัดล้วนเป็นฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
วัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า 300 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส
วัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ที่ถนนพระทรง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่
หาดเจ้าสำราญ เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปีพ.ศ. 2461 ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” บริเวณหาดมีที่พักและร้านอาหารบริการด้วย
การเดินทาง อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3177 ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปประมาณ 13 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสองแถวที่วิ่งระหว่างตัวเมือง-หาดเจ้าสำราญ รถจะจอดบริเวณข้างธนาคารกรุงไทย ถนนวัดท่อใกล้หอนาฬิกา มีบริการตั้งแต่เวลา 07.30-18.15 น.
พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล
พระรามราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทร. (032) 428506-10 ต่อ 259

อำเภอเขาย้อย
ถ้ำเขาย้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย ใกล้ที่ว่าการอำเภอเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวงและวัดถ้ำเขาบันไดอิฐที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว และต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จธุดงค์มาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน
วัดกุฏิ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม ตามทางหลวงหมายเลข 4 ก่อนถึงทางเข้าที่ว่าการอำเภอเขาย้อย 6 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันโบสถ์ทิศตะวันออก แกะสลักเป็นเหรียญตรามงกุฎ สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านหลังทางทิศตะวันตก แกะสลักเป็นรูปเหรียญกษาปณ์ ราคา 1 บาท พร้อมตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่งแกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยฝีมือช่างชั้นครู

อำเภอบ้านแหลม
แหลมหลวง หรือ แหลมผักเบี้ย อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นหาดทรายมีปลายแหลมยื่นยาวออกไปในทะเลถึง 2 กิโลเมตร สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก นักท่องเที่ยวสามารถจะนั่งเรือหางยาวไปที่ปลายแหลม ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ค่าเช่าเรือ 500 บาท นั่งได้ 10-15 คน โดยติดต่อที่ องค์การบริหารส่วนตำบล โทร. (032) 441209 หรือ คุณเสรี มานิตย์ โทร. (032) 441204
วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก จากตัวเมืองเพชรบุรี ข้ามทางรถไฟ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3176 ระยะทาง 10 กิโลเมตร จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติว่า หลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่า ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง จนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลมปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
บางขุนไทร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 3178 เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพจับหอยแครง หอยเสียบ และหอยลาย โดยใช้กระดานถีบเลื่อนไปบนผิวเลนในช่วงน้ำลง และนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะนั่งเรือชมการเก็บหอย หรืออยากจะเก็บหอยด้วยตนเอง ด้วยวิธีนั่งแพ (แพ 1 ลำ นั่งได้ 3 คนและการจะออกไปเก็บหอย ต้องดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลง) สามารถติดต่อได้ที่ กำนันเสน่ห์ บูรณารมย์ โทร. (032) 481245 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล บางขุนไทร โทร. (032) 501254

อำเภอท่ายาง
หาดปึกเตียน อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาย 2 ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียนเป็นหาดทรายขาว สะอาด สามารถเล่นน้ำได้ และมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร สุดสาครและม้ามังกร ศาลเจ้าแม่กวนอิมและเกาะเต่า นอกจากนั้นยังมีที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก

อำเภอแก่งกระจาน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือยอดเขางะงันนิกยวงตอง อยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
ทะเลสาบ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร มีเกาะกลางแม่น้ำอยู่มากมายหลายเกาะ นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะล่องเรือชมทิวทัศน์เพื่อพักผ่อนหรือตกปลาน้ำจืดในทะเลสาบ ก็สามารถเช่าเรือได้ที่ร้านอาหารหรือชมรมเรือที่อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ
เขาพะเนินทุ่ง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯในเขตประเทศไทยอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 50 กิโลเมตรเป็นภูเขาสูง มีบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในระดับความสูง 960 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณโดยรอบเป็นป่าดิบเขา มีสัตว์ป่าชุกชุม มีทิวทัศน์งดงาม จากยอดเขาสามารถเห็นทะเลหมอกในช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาว การเดินทางต้องใช้เวลา 2 วัน พักค้างแรม 1 คืนระหว่างทาง และติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง อาหารและเต็นท์สำหรับพักค้างแรมไปเอง
พะเนินทุ่งแคมป์ หรือ กม. 30 เป็นจุดชมวิวที่สามารถชมทะเลหมอกในตอนเช้าได้สวยจุดหนึ่ง และสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ การเดินทางต้องใช้รถที่มีกำลังสูง สามารถเหมารถปิกอัพได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ อุทยานฯ จึงได้กำหนดเวลาในการขึ้น-ลง คือ เวลาขึ้นช่วงเช้า 05.00-09.30 น. ช่วงบ่าย เวลา 14.30-15.00 น. เวลาลง ช่วงเช้า 12.00-13.00 น. ช่วงบ่าย 16.30-18.00 น. สำหรับผู้ที่ต้องการจะขึ้นเขาพะเนินทุ่งต้องติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อขอใบอนุญาตผ่านทาง โดยเสียค่าธรรมเนียม คือ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท รถยนต์สี่ล้อ 30 บาท รถกระบะ 40 บาท รถตู้ 50 บาท รถยนต์มากกว่าสี่ล้อ 70-80 บาท และผู้ที่ต้องการจะขึ้นเขาพะเนินทุ่ง เวลา 05.00 น. ต้องทำใบขออนุญาตล่วงหน้า 1 วัน
น้ำตกทอทิพย์ อยู่ห่างจากเขาพะเนินทุ่ง 15 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์ และเดินทางเท้าเข้าถึงตัวน้ำตกประมาณ 4 กิโลเมตร มีความสูง 9 ชั้น ชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่สวยที่สุด แต่ละชั้นสวยงามแปลกตา สภาพโดยรอบเป็นป่าไม้ร่มรื่น ทั้งนี้การเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า ควรขอคำแนะนำและคนนำทางจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อน นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้ต้องมีกำลังเครื่องดีเพราะเส้นทางผ่านหุบเขาลาดชัน
สำหรับเส้นทางดูนก – ผีเสื้อ จะเริ่มจากที่กิโลเมตรศูนย์คือ บริเวณด่านตรวจเขาสามยอดถึงกิโลเมตรที่ 18 จะพบผีเสื้อได้ตามสองข้างทางตามโป่งดินกิโลเมตรที่ 10 –12 และจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถดูนกได้คือ บริเวณตั้งแต่อ่างเก็บน้ำห้วยสามยอด เลยด่านตรวจมาไม่ไกล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด ส่วนเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้นนับตั้งแต่กิโลเมตรที่ 18 ขึ้นไป และบริเวณกิโลเมตรที่ 18-27 อาจจะพบเห็นนกกระลิงเขียดหางหนาม ซึ่งเป็นนกที่พบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เดียวในประเทศไทย
แค้มป์บ้านกร่าง เป็นจุดพักค้างแรมกางเต็นท์ สำหรับผู้สนใจดูนกและผีเสื้อเนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย อยู่บริเวณกม.15 มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง มีไม้ที่พบมากคือ ไม้ตะเคียนทอง ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้หอมหรือไม้กฤษณา และเป็นป่าที่ชุ่มชื้นจึงมีเฟิร์น กระโถนฤาษี หนุมาน หวาย ขึ้นอย่างสมบูรณ์และยังมีสัตว์ป่ามากมายเช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง หมีและสัตว์ป่าสงวน เช่น เลียงผา เก้งหม้อ สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน มีผีเสื้อมากกว่า 150 ชนิดให้ศึกษา โดยเฉพาะในหน้าแล้งจะเห็นฝูงผีเสื้อลงไปกินดินโป่งเป็นจำนวนมาก และราวเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน จะพบนกได้หลายชนิดสร้างรังวางไข่เลี้ยงลูกอ่อน เช่น นกกก นกกาฮัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของป่าดงดิบ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว และมีสถานที่กางเต็นท์บริเวณอ่างเก็บน้ำ บริเวณเขาพะเนินทุ่ง และบริเวณแค้มป์บ้านกร่าง อุทยานฯ มีเต็นท์ให้เช่าราคาหลังละ 100 บาท/คืน ค่าธรรมเนียมในการใช้สถานที่กางเต็นท์ 30 บาท/คืน สามารถติดต่อจองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแก่งกระจาน โทร. (032) 459293
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถึงอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านแยกเข้าตัวเมืองเพชรบุรี จะถึงสี่แยกท่ายาง เลี้ยวขวาเข้าอำเภอท่ายาง จากนั้นวิ่งไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน ตามทางหลวงหมายเลข 3499 ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอแก่งกระจาน จากปากทางเข้าอุทยานฯ อีก 4 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จะมีรถสายกรุงเทพฯ-ท่ายาง ลงที่ตลาดท่ายาง จากนั้นต่อรถสองแถวไปตลาดแก่งกระจาน และต่อรถรับจ้างหรือจักรยานยนต์ไปอีก 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 58 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2509 เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 53 กิโลเมตร และห่างจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

Source : tourismthailand.org