สถานที่ท่องเที่ยวในเพชรบูรณ์

สถานที่ท่องเที่ยวเพชรบูรณ์

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเพชรบูรณ์

อำเภอเมือง
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่บนถนนนิกรบำรุง ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สูงประมาณ 3 วา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่องาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ อยู่ที่ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองเป็นเสาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาจากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2447 เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดีและขอม คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11–12 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17–18 จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เยื้องตรงข้ามเสาหลักเมือง จะมองเห็นมะขามยักษ์สีทอง ผลไม้สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งอยู่สวยงาม
วัดไตรภูมิ ตั้งอยู่บนถนนเพชรรัตน์ ในตัวเมือง เป็นวัดเก่าแก่ ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปสมัยลพบุรี ชาวบ้านพบบริเวณหน้าวัดในแม่น้ำป่าสัก จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปและมีผู้พบอยู่ในแม่น้ำบริเวณที่พบครั้งแรก จึงถือกันเป็นประเพณีของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย จะมีการแห่ทำพิธีอุ้มพระดำน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง เดิมมีสามวัดตั้งอยู่เรียงกันคือวัดพระสิงห์อยู่ทางทิศเหนือ วัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง และวัดพระเสืออยู่ทางทิศใต้ โบราณสถานสำคัญที่น่าชมคือ พระเจดีย์ในวัดพระสิงห์ และพระปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดพระแก้ว มีการขุดพบพระพุทธรูปที่กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าสร้างมานานกว่าเจ็ดร้อยปี นอกจากนี้ยังพบกรุ โอ่ง พระพุทธรูปและของสำคัญต่างๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปทองคำเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเงิน แผ่นทองคำ และพระผงดินเผา แบบสุโขทัย
บริษัท จุลไหมไทย จำกัด (ไร่นายจุล คุ้นวงศ์) ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 202 ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ 21 กิโลเมตร ใกล้สามแยกวังชมภู เป็นสถานที่ผลิตเส้นใยไหมสำหรับทอผ้า กรรมวิธีการผลิตยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก เริ่มจากการฟักไข่ไหมเป็นตัวหนอนและตัวดักแด้ จากนั้นจึงนำมาสาวใยไหมออกเป็นเส้น มีการปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีสวนสละ ส้ม ส้มโอ และมีการเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิด ผลิตภัณฑ์ทั้งสดและแปรรูปมีนำมาวางขายที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ด้านหน้าไร่ทุกวัน นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าชมกิจการภายในไร่ ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึงผู้จัดการบริษัท หรือ โทร. 0 5677 1101-6 โทรสาร 0 5677 1100
เขารัง เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ตั้งอยู่บนเส้นทางสายเพชรบูรณ์-ตะพานหิน ถนนสายนี้สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดสู่เมืองเพชรบูรณ์ การก่อสร้างถนนเต็มไปด้วยความยากลำบาก ผู้คนที่สร้างทางจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
สวนรุกขชาติหนองนารี (สวนรุกขชาติผาเมือง) ตั้งอยู่ริมถนนนารีพัฒนา หมู่ที่ 5 ตำบลสะเตียง ข้างสนามกีฬาเทศบาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณสวนเป็นบึงบัวขนาดใหญ่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ สามารถขับรถเที่ยวรอบบึง บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหารบริการ
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยป่าแดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นแหล่งพักผ่อนริมน้ำที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นห้วยป่าแดงในเขตตำบลป่าเล่า อ่างเก็บน้ำนี้แวดล้อมด้วยทัศนียภาพของขุนเขาและสายน้ำที่งดงามโดยเฉพาะในยามเช้าตรู่และยามเย็น ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นลง ประชาชนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ นั่งรับประทานอาหาร สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ในบริเวณมีร้านขายอาหารบริการ อาหารที่ขึ้นชื่อคืออาหารจำพวกปลาน้ำจืดเช่น ปลาเผา ปลาทอด
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปทางตะวันออกเพียง 37 กิโลเมตร มีอาณาเขตทั้งสิ้นประมาณ 290 ตารางกิโลเมตร ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำป่าสักและลำน้ำชีและเป็นพื้นที่ป่ากันชนให้กับผืนป่าสามแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ ภายในบริเวณมีน้ำตกที่สวยงามสองแห่ง ได้แก่
น้ำตกตาดหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1,800 เมตรตามเส้นทางเดินเท้า เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียวไหลลงมาจากหน้าผาสูงเด่น มีความสูงไม่น้อยกว่า 200 เมตร ดูสวยงามและยิ่งใหญ่มาก
น้ำตกสองนาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่น่าชมอีกแห่งหนึ่งของอุทยานนี้ มีความสูง 12 ชั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมน้ำตกได้ทั้ง 12 ชั้น ภายในหนึ่งวัน แต่ละชั้นมีความสูงระหว่าง 5–100 เมตร
อุทยานแห่งชาติตาดหมอกไม่มีบริการบ้านพัก สามารถกางเต็นท์พักแรมภายในอุทยานฯได้ ควรเดินทางมาท่องเที่ยวเมื่อหมดฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม-พฤษภาคมเพราะเส้นทางค่อนข้างลื่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตู้ป.ณ.4 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 67000
การเดินทาง จากหน้าศาลากลางจังหวัด ไปตามถนนเพชรเจริญผ่านบ้านเฉลียงลับ (ทางหลวงหมายเลข 2271) ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงทางแยกให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2275 (สายน้ำร้อน-ห้วยใหญ่) ประมาณ 200 เมตร จะเห็นป้ายทางเข้าอุทยานฯ ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 20 กิโลเมตร เป็นทางลัดเลาะไปตามไหล่เขาถึงที่ทำการอุทยานฯ

อำเภอหนองไผ่
สวนรุกขชาติซับชมพู จากเพชรบูรณ์เดินทางไปทางใต้ตามทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณกิโลเมตรที่ 156–157 ถึงอำเภอหนองไผ่ แล้วแยกเข้าทางสายบ้านโภชน์-วังปลาไปอีก 7 กิโลเมตรจะถึงสวนรุกขชาติน้ำตกซับชมพู บรรยากาศเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มครึ้มเขียวขจี ภายในสวนสามารถเดินเล่นชมลำธารน้ำไหลและมีน้ำตกขนาดเล็กให้เล่นน้ำ เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดของชาวเพชรบูรณ์

อำเภอวิเชียรบุรี
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่เลยตลาดอำเภอวิเชียรบุรีไปเล็กน้อย เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอและประชาชนใกล้เคียงเป็นอันมาก ปีพ.ศ.2125ระหว่างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชได้เสด็จมากรีฑาทัพอริราชศัตรู ณ ที่นี้ ชาววิเชียรบุรีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจึงได้ร่วมใจกันสร้างศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์ ทุกปีทางอำเภอจัดงานเฉลิมฉลองศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นในวันกองทัพไทย เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม

อำเภอศรีเทพ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ประจำปี 2543 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมและรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเตอร์เนตดีเด่น อุทยานมีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า "เมืองอภัยสาลี" สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เมืองโบราณศรีเทพมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองส่วนใน มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 8 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบซากโบราณสถานกว่า 70 แห่ง บางแห่งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว และ เมืองส่วนนอก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน ขนาดเป็น 2 เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 7 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน
โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยานฯ
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อย ศาลเจ้าพ่อศรีเทพเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3
ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยสันนิษฐานจากการค้นพบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
ระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง"
นอกจากโบราณสถานดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีโบราณสถานย่อยๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทิศใต้ของเขาคลังในพบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง มีการพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ นอกจากนี้ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่าสระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก ทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำไปประกอบพิธีถือว่าพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00–16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 0 5679 1787 website: htttp://www.srithep.fineart.go.th
การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

อำเภอเขาค้อ
ไร่ บี เอ็น จากทางหลวงหมายเลข 12 กิโลเมตรที่ 100 บริเวณบ้านแค้มป์สน แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2196 ประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นป้ายชี้ทางเข้าไร่ไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวมักแวะมาซื้อหาพืชผักและผลไม้เมืองหนาวสด ๆ นานาชนิด เช่น บรอคคอรี่ ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ น้อยหน่า อโวคาโด ลูกพลับ ผลไม้แปรรูปทั้งอบแห้ง กวน แช่อิ่ม และแยม รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 08.30–17.00 น. โทร. 0 5675 0419 โทรสาร 0 5675 0420
เขาค้อ เป็นชื่อเรียกรวมทิวเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเขาค้อ เหตุที่เรียกกันว่า เขาค้อ เป็นเพราะป่าบริเวณนี้มีต้นค้อขึ้นอยู่มาก เนื่องจากภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดปี ค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาวและมีทัศนียภาพสวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์
เขาค้อประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ยอดเขาค้อ มีความสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่าสูง 1,290 เมตรและเขาใหญ่ สูง 865 เมตร นอกจากนั้นยังมีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทราย และเขาอุ้มแพ ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้เป็นป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง
สถานที่น่าสนใจบนเขาค้อ
อนุสาวรีย์จีนฮ่อ เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ ตั้งอยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย
ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) อยู่เลยกิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงหมายเลข 2196 (ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์สวยงามและเคยเป็นฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ จัดแสดงปืนใหญ่ ซากรถถัง และอาวุธที่ใช้สู้รบกันบนเขาค้อ มีห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ อยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ อยู่เลยฐานอิทธิ ไปอีก 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2525 โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมสูง 24 เมตร หมายถึง การปฎิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหารในปีพ.ศ. 2524 ผนังภายในบันทึกประวัติอนุสรณ์สถานและรายชื่อวีรชนผู้เสียสละไว้ด้วย
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ ตั้งอยู่บนยอดเขาที่บ้านกองเนียม ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในวันสำคัญทางศาสนาเช่น วันมาฆบูชาจะมีประชาชนเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำพิธีเวียนเทียน เป็นประจำ
หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและ ภาษาต่างประเทศ ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ”โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด
พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนเขาย่า จากสี่แยกสะเดาพงบนทางหลวงหมายเลข 2258 มีป้ายบอกทางไปพระตำหนักอีก 4 กิโลเมตร ทางขึ้นค่อนข้างสูงชัน พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริและทรงตรวจเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อและใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลมมีทั้งหมด 15 ห้อง รูปทรงแปลกตาไปจากพระตำหนักอื่น สามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้
น้ำตกศรีดิษฐ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2196 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตรแล้วแยกขวาเข้าน้ำตก น้ำตกศรีดิษฐ์เป็นน้ำตกหินชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เคยเป็นที่อยู่ของ ผกค. มาก่อน สิ่งที่น่าสนใจคือ ครกตำข้าวพลังงานน้ำตกที่ ผกค.สร้างไว้
สวนสัตว์เปิดเขาค้อ ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีทั้งสัตว์ที่ปล่อยตามธรรมชาติและสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในกรง หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าโครงการสวนสัตว์เปิดเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
เนินมหัศจรรย์ อยู่ที่บริเวณ กิโลเมตรที่ 17.5 ถนนสายนางั่ว-สะเดาะพง (ทางหมายเลข 2258) เมื่อขับรถมาถึงตรงนี้ และดับเครื่องรถจะถอยหลังขึ้นเนินได้เอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาพลวงตา เพราะในความเป็นจริงเมื่อวัดระดับความสูงของพื้นที่สองจุดแล้ว ความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็นทางขึ้นเนิน
การเดินทาง จากเพชรบูรณ์ไปเขาค้อใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีก 30 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน ควรใช้รถปิคอัพหรือรถตู้สภาพดี
นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถเช่ารถสองแถวได้ที่ปากทางขึ้นเขาค้อ บริเวณแคมป์สน กิโลเมตรที่ 100 ในราคาวันละประมาณ 600 บาท มีรถจอดคอยให้บริการตั้งต่เวลา 08.00-17.00 น. หรืออาจเช่ารถสองแถวที่บริเวณตลาดเทศบาล ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ ราคาวันละประมาณ 800 บาท
ที่พักบนเขาค้อ มีให้เลือกหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตำบลทุ่งสมอและแคมป์สน ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวบนเขาค้อประมาณ 30 กิโลเมตร ที่พักที่อยู่ใกล้ที่สุดได้แก่ บ้านพักทหารม้า กิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงสาย 2196 กองพลทหารม้าที่ 28 และเรือนพักผู้ติดตามอยู่ใกล้กับพระตำหนักเขาค้อและเขาย่า นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางขึ้นเขาค้อ

อำเภอหล่มสัก
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง (สี่แยกหล่มสัก) พระรูปทำด้วยโลหะในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น พ่อขุนผาเมือง(เจ้าเมืองราด) ผู้ทรงร่วมสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 1800 ได้ทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางพระสหายนำไพร่พลทำสงครามขจัดอำนาจการปกครองของขอมให้พ้นจากดินแดนสุโขทัย และได้ทรงสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ถวายพระนามว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่สักการะของชาวเพชรบูรณ์และผู้เดินทางผ่านไปมาบนเส้นทางนี้
วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบุ่งน้ำเต้า จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 สายเพชรบูรณ์-หล่มสัก ประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงบริเวณบ้านบุ่งน้ำเต้า แยกซ้ายไปตามทางสายบ้านบุ่ง-น้ำเต้า-ทุ่งสมอ อีก 4 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือไปวนอุทยานอีก 1.5 กิโลเมตร
บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก เนื้อที่ประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร มีน้ำตกที่สวยงามได้แก่ น้ำตกธารทิพย์ อยู่ห่างจากที่ทำการไป 1,400 เมตร รถยนต์เข้าถึงได้ น้ำตกมีความสูง 30 เมตร ห่างจากที่ทำการไป 1,400 เมตร รถยนต์เข้าถึงได้ และน้ำตกขั้นบันได ต้องเดินเท้าตามทางเลียบลำธารไปอีก 3 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแก่งน้ำและลานหินในลำธารที่สวยงามมากมาย บริเวณริมลำธารยังพบพืชพันธุ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ หญ้าถอดปล้อง เฟิร์นรังนก เฟิร์นก้านดำ รวมทั้งยังพบนกและผีเสื้อที่สวยงามมากมายหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อที่ทำการอุทยานฯเพื่อขอข้อมูลการเดินทางและขออนุญาตกางเต็นท์พักแรมได้
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีต ที่เกิดจากความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับภูเขาสูงของจังหวัดเลยเช่น ภูกระดึงและภูเรือ เนื่องจากมีความสูงในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส แม้ในฤดูร้อนอากาศก็ยังเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ
พิพิธภัณฑ์การสู้รบ เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต มีสภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมสำหรับบรรยายสรุปหรือประชุมสัมมนา
โรงเรียนการเมืองการทหาร ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 เป็นหมู่อาคารไม้ภายใต้ร่มเงาของป่ารกครึ้ม เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี2513 และต่อมาในปีพ.ศ.2520 ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนซึ่งให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการกับการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่
โรงพยาบาลรัฐ อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร เคยเป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลครบครัน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลและผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2522 ได้เพิ่มแผนกทำฟัน และวิจัยยา เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมือง มีการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและใช้สมุนไพรด้วย
ลานอเนกประสงค์ เป็นบริเวณลานหินกว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐ ใช้เป็นที่พักผ่อนและสังสรรค์ในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในโอกาสสำคัญต่างๆ
สุสาน ทปท. เป็นสถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้บริเวณลานอเนกประสงค์
ที่หลบภัยทางอากาศ เป็นสถานที่หลบซ่อนตัวจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของทหารฝ่ายรัฐบาล ลักษณะพื้นที่เป็นหลืบหินหรือโพรงถ้ำใต้แนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทางอากาศ สถานที่หลบภัยมีอยู่หลายแห่งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ มีซอกหลืบสลับซับซ้อน จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ เป็นหลืบขนาดใหญ่สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน
หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชนแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอำเภอหล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบางๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหินซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่ม เป็นปม ขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นคนไข้ของโรงพยาบาล เนื่องจากอยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล จะสวยงามมากในยามพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. ขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียวทุกครั้งที่รบชนะฝ่ายรัฐบาล
น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตกร่มเกล้า ประมาณ 400 เมตร หากเดินลงไปอีก 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดรซึ่งมีลักษณะคล้ายกันและอยู่บนลำธารเดียวกัน น้ำตกภราดรมีความสูงน้อยกว่าแต่กระแสน้ำแรงกว่า
น้ำตกศรีพัชรินทร์ ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีแอ่งขนาดใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้
น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตก 32 ชั้นในห้วยน้ำหมันซึ่งมีน้ำตลอดปี ต้นน้ำเกิดจากยอดเขาภูหมัน น้ำตกแต่ละชั้นตั้งชื่อคล้องจองกันตามสภาพลักษณะที่สวยงามแปลกตา ห้อมล้อมด้วยป่าดงดิบอันสมบูรณ์
การเดินทาง จากที่ทำการอุทยานใช้เส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า ถึงหลักกิโลเมตรที่ 18 มีทางแยกซ้ายเป็นทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางผ่านป่าร่มครึ้มมีกล้วยไม้ป่า ต้นเมเปิ้ล และทุ่งหญ้า
น้ำตกผาลาด ตั้งอยู่ด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ เข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก เป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนักแต่มีน้ำตลอดปี
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงมาก ทางเข้ายังไม่สะดวกนักต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจึงไปตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ถึงด้านบนของน้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็กๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือเรียกชื่อพื้นเมืองว่า “น้ำตกด่าน-กอซาง” ซึ่งหมายถึงด่านตรวจของ ผกค. ที่มีกอไม้ไผ่ซาง
ธารพายุ เป็นจุดชมวิวบริเวณกิโลเมตรที่ 32 เส้นทางภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขาและทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม มีสวนรัชมังคลาภิเษกสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทางและที่พัก การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีหลายเส้นทาง แต่ที่นิยมกันคือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ถึงสามแยกบ้านแยง มีป้ายบอกทางแยกขวาผ่านบ้านห้วยตีนตั่ง-บ้านห้วยน้ำไซ-ฐานพัชรินทร์ สู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากเพชรบูรณ์ตามทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาล บ้านเหมืองแบ่ง บ้านแม้วทับเบิก ถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง ค่อนข้างสูงชันและคดเคี้ยวมาก ควรใช้รถสภาพดีมีกำลังสูงและใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีรถสองแถวบริการขึ้นภูหินร่องกล้าทุกวัน วิ่งวันละ 7 เที่ยว ออกเวลา 08.00, 09.30, 11.00, 12.30, 14.00, 15.30 และ 17.00 น. รถจะจอดอยู่บริเวณตลาดสมใจ (ท่ารถนครไทย) ค่าโดยสารคนละ 20 บาท หรือเช่าเหมาคันละประมาณ 550 บาท ถ้าค้างแรมประมาณ 750 บาท
ติดต่อจองที่พัก อาหาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานบริการบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 7223 และ 0 2579 5734

อำเภอหล่มเก่า
วัดศรีมงคล (วัดนาทราย) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านนาทราย ตำบลวังบาล ความน่าสนใจของวัดนี้อยู่ที่ผนังภายในโบสถ์ทั้งสี่ด้าน ซึ่งมีภาพเขียนสวยงามตามแบบโบราณ เกี่ยวกับประวัติพระเจ้าสิบชาติ ภาพนรก-สวรรค์ และภาพที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของสังคมท้องถิ่นในอดีต เช่น การประกอบอาชีพ การค้าขายทางเรือ การเดินทาง ใช้ทางหลวงสายหล่มเก่า-วังบาล ระยะทางจากอำเภอหล่มเก่าประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าหมู่บ้านนาทรายอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

อำเภอน้ำหนาว
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางที่ชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ครอบคลุมพื้นที่ป่ารอยต่อสองจังหวัดคือเพชรบูรณ์และชัยภูมิ มีเนื้อที่รวม 603,750 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่างๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ
ถ้ำผาหงษ์ ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม บริเวณนี้เป็นเขาสูง มีทางเดินเท้าขึ้นยอดเขาไปอีกประมาณ 100 เมตร สามารถชมวิวทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็นได้
สวนสนบ้านแปก ทางเข้าอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบ ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก
สวนสนภูกุ่มข้าว ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) มีทางลูกรังจากแยกไปอีกเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสามใบ ลำต้นขนาดสูงใหญ่ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เมื่อยืนอยู่บนเนินเขาภูกุ่มข้าวจะเห็นยอดสนอยู่ในระดับสายตาเป็นแนวติดต่อกันทั้งสี่ด้านส่วนทางทิศใต้จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์
น้ำตกซำผักคาว เป็นน้ำตกเล็ก ๆ ตอนบนของลำห้วยสนามทราย มีทางเดินเท้าเข้าไปตรงกิโลเมตร 64 ถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ น้ำตกมีความสูงประมาณ 3 เมตร
น้ำตกทรายทอง เป็นน้ำตกที่มีความกว้างที่สุดคือ ประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะสำหรับนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ มีทางเดินเท้ามาทางน้ำตกเหวทราย ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร
น้ำตกเหวทราย ทางเข้าอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดที่เกิดขึ้นจากห้วยสนามทรายซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติระหว่างอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ มีความสูง 20 เมตร บริเวณลำห้วยใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำ สามารถเล่นน้ำได้ ใต้น้ำตกมีชะง่อนหินเป็นเพิง สามารถหลบฝนหรือพักแรมได้ บรรยากาศตามบริเวณลำน้ำห้วยน่าเดินเล่น เพราะมีต้นไม้ปกคลุมตลอด
น้ำผุด จากน้ำตกทรายทองไปไม่ไกล จะพบกับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่สวยงาม คือมีน้ำไหลผุดมาตามก้อนหินมองดูคล้ายกับบ่อน้ำพุร้อน
น้ำตกตาดพรานบา ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตรที่ 20 ไปตามทางหลวงหมายเลข 2211 สายบ้านห้วยสนามทราย - อำเภอหล่มเก่า รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปีน้ำไหลลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่าง แบ่งเป็นสองชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สาเหตุที่มีชื่อว่าตาดพรานบานั้นมาจากพรานบาเป็นผู้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก
ถ้ำใหญ่น้ำหนาว (ภูน้ำริน) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ไปตามทางหลวงหมายเลข 2211 สายบ้านห้วยสนามทราย อำเภอหล่มเก่า เมื่อเดินทางถึงบ้านหินลาด มีทางลูกรังเข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ถ้ำใหญ่น้ำหนาวอยู่บนเขาสูงประมาณ 955 เมตร ลักษณะเป็นถ้ำใหญ่ในภูเขาหินปูน มีความวิจิตรพิสดารของหินงอกหินย้อยและแปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลภายในถ้ำ จะเห็นปล่องธรรมชาติที่แสงแดดสามารถส่องเข้าไปภายในถ้ำเป็นช่วงๆ ในถ้ำเป็นที่อาศัยของฝูงค้างคาว ถ้ำแห่งนี้มีความลึกมากยังไม่มีผู้ใดเข้าไปทำการสำรวจอย่างทั่วถึง
การเดินทางและที่พัก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 50 ทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) การเดินทางจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสี่แยกหล่มสักประมาณ 39 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวโทร. 0 5672 9002 อุทยานฯมีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดติดต่อส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 7223, 0 2579 5734

Source : tourismthailand.org