เขาคิชฌกูฏ

เขาคิชฌกูฏ

ข้อมูลเขาคิชฌกูฏ

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาท ท้องที่อำเภอมะขาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขา ทิวทัศน์ที่งดงาม มียอดเขาสูงสุดอยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตร มีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกกระทิง และปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะในด้านความเชื่อถือทางศาสนาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ มีเนื้อที่ประมาณ 58.31 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,444.05 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2501 นายกนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เสนอให้รักษาป่าเขาคิชฌกูฏ ท้องที่จังหวัดจันทบุรี ไว้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงให้ป่าไม้เขตศรีราชาประสานงานกับป่าไม้จังหวัดจันทบุรีดำเนิน การ และได้มีคำสั่ง ที่ 852/2517 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2517 ให้นายสมพล วรรณกุล นักวิชาการป่าไม้เอก ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งผลการสำรวจ ตามรายงานการสำรวจลงวันที่ 16 มิถุนายน 2518 พบว่า สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสภาพทางธรรมชาติสวยงาม ประกอบด้วย ถ้ำ น้ำตก และมีสัตว์ป่าชุกชุม เหมาะกับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2518 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏให้เป็นอุทยานแห่ง ชาติ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนป่าเขาคิชฌกูฏ ซึ่งมีสถานภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 49 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2508 ออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติก่อน โดยมีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 108 ลงวันที่ 7 กันยายน 2519 ต่อมาดำเนินการจัดตั้งป่าเขาคิชฌกูฏเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาคิชฌกูฏ ในท้องที่ตำบลตะเคียนทอง ตำบลฉมัน ตำบลพลวง และตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 36,687 ไร่ หรือ 58.70 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 38 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 14 ของประเทศไทย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเนื้อที่บางส่วน จำนวน 242.95 ไร่ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 ก.ย.2541 จึงคงเหลือพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 36,444.05 ไร่ หรือ 58.31 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะ ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน เนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลก หินฐานเป็นหินอัคนีพวกหินแกรนิต ยุคจูแรสสิค มีอายุประมาณ 135-180 ล้านปี ทางด้านทิศตะวันออกจะมีความลาดชันมาก แนวสันเขาวางตัวไปในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เชิงเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้มีความลาดชันน้อย มียอดเขาพระบาทเป็นภูเขาสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,085 เมตร มีที่ราบอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย บนเขาพระบาทมีหินก้อนใหญ่ลักษณะกลมเกลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณรอยพระพุทธบาทมีหินก้อนใหญ่มาก สามารถมองเห็นได้จากพื้นราบนอกเขตอุทยานแห่งชาติ เทือกเขาสูงในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่ สำคัญ เช่น คลองกระทิง คลองตะเคียน คลองทุ่งเพล คลองพลวง เป็นต้น ลำน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำจันทบุรี
ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะ ภูมิอากาศบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวัน ออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยช่วงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมจะมีความชื้นในอากาศสูง เกิดเมฆและฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 2,900 มิลลิเมตร ช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า

ระบบ นิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎสามารถแบ่งออกได้หลักๆ 2 ประเภท คือ ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ยางแดง กระบาก หย่อง มะก่อ บุนนาค ลูกดิ่ง สารภี เนียนดำ มะไฟ จิกดง มะซาง ดีหมี เลือดควาย สำรอง กระบกกรัง ฯลฯ และป่าดิบเขา จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไป หรือจะพบเฉพาะบริเวณยอดเขา เช่น เขาพระบาทพลวง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ มะก่อ กระบกกรัง สารภี บุนนาค ทำมัง พิมเสนป่า พลอง คอเหี้ย ชันใบใหญ่ รง พลับ อบเชย และดีหมี เป็นต้น

ในส่วนของสัตว์ป่า เนื่องจากสภาพป่าอยู่ในเขตเทือกเขาสูงชัน และประกอบกับราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติไม่ลักลอบ ล่าสัตว์ เพราะมีอาชีพที่เป็นหลักแหล่งและทำรายได้ดีอยู่แล้ว คือ การทำสวนผลไม้ สัตว์ป่าจึงยังมีชุกชุม ได้แก่ ช้าง กระทิง เสือปลา หมีควาย กวางป่า เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ อีเห็นข้างลาย พังพอนเล็ก กระต่ายป่า กระแต กระรอกหลากสี ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง นกกระทาทุ่ง ไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูรณ์ ไก่ป่า นกกวัก นกเขาเปล้า นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกกก นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกกางเขนดง นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง จิ้งจกหางหนาม ตุ๊แกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ ตะกวด จิ้งเหลนบ้าน งูหลาม งูเขียวหางไหมท้องเหลือง คางคกบ้าน กบบัว ปาดบ้าน อึ่งอ่าง ฯลฯ ตามลำห้วยลำธารต่างจะพบปลาตะเพียนทราย ปลาซิวหางแดง ปลาสร้อยนกเขา ปลาชอนทราย ปลาติดหิน ปลากดเหลือง ปลาแป้น ปลาหมอไทย ปลาบู่ ปลากระทิง และปลากระทุงเหว เป็นต้น

1. ตำนานศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องลือ

อย่างที่บอกว่าที่เขาคิชฌกูฏ มีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขานั่นคือ รอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ว่ากันว่าใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏก็เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่ ประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง และเชื่อกันว่าหากได้มาอธิษฐานขอพรแล้วจะสมหวังดั่งใจปรารถนา
ผู้คนหลั่งไหลไปไหว้สักการะพระพุทธบาท

โดยมีตำนานเล่าถึงรอยพระพุทธบาทว่า ชายหนุ่มชื่อนายติ่งกับพวกมีอาชีพหาของป่า วันหนึ่งก็ได้ออกไปหาของป่ากันอย่างเคย จนไปหยุดพักเหนื่อยอยู่ที่ลานหินบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พอหายเหนื่อยแล้วก็พากันเดินกลับที่พัก แต่เดินกันไปมาก็ปรากฏว่าได้วกกลับมาที่ลานหินเดิมนั้นอีก เป็นที่น่าอัศจรรย์ ชายคนหนึ่งในกลุ่มได้ถอนหญ้าที่ลานหินนั้น เพื่อจะนอนก็ปรากฏว่าพบแหวนนาคขนาดใหญ่วงหนึ่ง ทำให้ทุกคนก็เข้าใจว่า ที่ตรงนี้คงจะมีทรัพย์สมบัติมากจึงได้ช่วยกันถอนหญ้าบนลานหินนั้นจนหมดแต่ก็ ไม่พบอะไรอีก นอกจากลานหินซึ่งมีรอยเท้าขนาดใหญ่ของมนุษย์

ต่อมาที่วัดพลับ ตำบลบางกะจะ ซึ่งเป็นเมืองเก่าของจังหวัดจันทบุรีได้มีงานเทศกาลปิดทองรอยพระพุทธบาท นายติ่งได้ไปปิดทองรอยพระบาท และรู้สึกแปลกใจมากที่รอยพระพุทธบาทนี้ช่างเหมือนกับที่แกเห็นอยู่บนลานหินยอดเขาคิชฌกูฏ ต่อมาทางเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีทราบเรื่องเข้า ท่านเจ้าคณะจังหวัดจึงเรียกไปสอบถาม และให้พระภิกษุ 2 รูปตามนายติ่งไปดู เมื่อพิจารณาแล้วได้ลงความเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทอันแท้จริง อีกทั้งบนลานหินนั้นมีหินก้อนใหญ่โตมาก ลักษณะคล้ายบาตรพระตะแคง ตั้งลอยอยู่เรียกว่า "ลูกบาตร" ต่อมาเมื่อเรื่องกระจายออกไปจึงมีผู้คนมาไหว้สักการะไม่ขาดสาย

2. กิจกรรมที่นักแสวงบุญไม่ยอมพลาด

จากตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันเขาคิชฌกูฏมีชื่อเสียงโด่งดังจากการที่ผู้คนเดินทางมาแสวงบุญจำนวนมาก ซึ่งรอยพระพุทธบาทดังกล่าว มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กิโลเมตร ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี หรือช่วงช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม - เดือนมีนาคม ซึ่งในปี 2558 ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆ เช่น ช่วงวันตรุษจีนหรือวันมาฆบูชาก็มีประชาชนนิยมเดินขึ้นเขาไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทจำนวนมากเช่นกัน

ผู้อยากจะขึ้นไปสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขานั้นจะต้องมีจิตศรัทธาที่แรงกล้า เนื่องจากต้องเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาอีกราว 3 กิโลเมตร ท่ามกลางผู้คนที่มีศรัทธาเดียวกันมากมายที่เบียดเสียด เพราะงานนี้มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ใครไปเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะได้เห็นภาพพลังความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากมายจากหลายที่ต่างถิ่น พร้อมใจกันมาสักการบูชาเพื่อที่จะได้อานิสงส์แรงกล้า ปัจจุบันมีรถบริการเพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น
พลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธา

3. เส้นทางการเดินป่าที่สวยงาม

นอกจากเรื่องการกราบไหว้สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ณ ที่แห่งนี้ยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีธรรมชาติอันสวยงาม น่าเดินทางมาท่องเที่ยว โดยอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏครอบคลุมพื้นที่อำเภอมะขาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏ ทั้งยังเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำจันทบุรี และมันมีเสน่ห์ตรงที่ การเดินป่า ใครที่ชื่นชอบเที่ยวผจญภัยแบบเดินทางกับแก๊งเพื่อน รับรองว่ามันส์แน่นอน โดยเส้นทางเดินทางการท่องป่าภายในเขตอุทยานฯ มีหลากหลายเส้นทางขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นไปเที่ยวน้ำตก หรือไปส่องสัตว์ หรือจะไปชมวิว แต่ทั้งหมดนั้นมีธรรมชาติสองข้างทางที่สวยงาม เต็มไปด้วยพืชสายพันธุ์ต่างๆ เช่น มอส เฟิร์น ต้นไม้ผลัดใบสีเหลืองแกมแดง เป็นต้น

4. จุดชมวิวสุดทรหด

หากต้องการไปชมวิวบนยอดเขาสูง แนะนำให้ปีนเขาไปที่ ยอดเขาพระบาท การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนลูกรังที่ลาดชันและคดเคี้ยวมากระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีจุดแวะพักให้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏ เช่น ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาทหลวง หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ จากนั้นเดินต่อไปถึงเขตผ้าแดงจนเจอลานพระบาท และขึ้นเขาต่อจากลานพระบาทไปอีก 800 เมตร ก็จะถึงบนยอดเขาพระบาท ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน
เที่ยวศึกษาเส้นทางธรรมชาติก็น่าสนใจ

5. น้ำตก 13 ชั้น (น้ำตกกระทิง)

ถ้าชื่นชอบการเล่นน้ำตกล่ะก็ อุทยานฯ แห่งนี้ก็มีให้ได้สัมผัสเช่นกัน และมีน้ำตกที่น่าสนใจหลายแห่งด้วย เริ่มจากแห่งแรก แนะนำให้ไปเที่ยว น้ำตกกระทิง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาคิชฌกูฏ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มี 13 ชั้น ใช้เวลาเดินไป-กลับ 3 ชั่วโมง เล่นน้ำได้ แต่ละชั้นห่างกันราว 20 เมตร ชั้นที่ 8-9 เป็นชั้นที่สวยงามที่สุด ระหว่างทางจะผ่านป่าไผ่และพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีชายหาดขนาดใหญ่ริมธารน้ำตกที่เกิดจากทรายที่ถูกน้ำป่าพัดลงมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2542 โดยลำธารชั้นล่างของน้ำตกอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 100 เมตร

6. น้ำตกคลองช้างเซ

น้ำตกอีกแห่งที่น่าสนใจ คือ น้ำตกคลองช้างเซ ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นเขาพระบาท ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โดยเริ่มจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เดินเป็นวงกลมแล้ววนกลับมาที่เดิม ระหว่างทางจะมีคำบรรยายเขียนไว้ ใช้เวลาในการเดินประมาณ 3 ชั่วโมง ระยะทาง 4 กิโลเมตร

7. น้ำตกคลองไพบูลย์

น้ำตกแห่งนี้มีระดับชั้นเล็กๆ ในลำธารกว้าง น้ำใสไหลเย็น มีแก่งหินน้อยใหญ่มีทั้งแก่งลึกแก่งตื้น มีต้นน้ำมาจากเขาคิชฌกูฏเช่นเดียวกับน้ำตกกระทิง น้ำตกคลองไพบูลย์อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกันกับอุทยานฯ ถึงทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานฯ ให้ตรงไปอีก 6 กิโลเมตร เลยสะพานข้ามคลองกระสือน้อยไป มีแยกเลี้ยวขวาเข้าน้ำตกคลองไพบูลย์ มีป้ายบอกทาง
ทางขึ้นเขาสวยงาม

8. ป่าไม้นานาพรรณ

สภาพป่าในบริเวณนี้มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีสมุนไพรและกล้วยไม้ป่านานาชนิด รวมทั้งมีพันธุ์ไม้หายากคือ ไม้กฤษณาระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏแบ่งได้ 2 ลักษณะเด่นๆ คือ ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ในส่วนของป่าดิบชื้นจะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ ยางแดง กระบาก หย่อง มะก่อ บุนนาค ลูกดิ่ง สารภี เนียนดำ มะไฟ จิกดง มะซาง สำรอง เป็นต้น ส่วนป่าดิบเขาจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไป หรือจะพบเฉพาะบริเวณยอดเขา เช่น เขาพระบาทพลวง พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ มะก่อ กระบกกรัง สารภี พิมเสนป่า พลอง ชันใบใหญ่ รง พลับ อบเชย ดีหมี เป็นต้น

9. สัตว์ป่าน่าชม

เนื่องจากที่นี่เป็นป่าในเขตเทือกเขาสูงชัน จึงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด ได้แก่ ช้าง กระทิง เสือปลา หมีควาย กวางป่า เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะนี เม่นใหญ่ อีเห็น พังพอน กระต่ายป่า กระรอก กระแต ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง นกกระทาทุ่ง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า นกกระปูด นกปรอด ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อย ปลาหมอไทย ปลาบู่ กิ้งก่าหัวแดง เป็นต้น หากต้องการไปส่องสัตว์ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อความปลอดภัย

10. แคมปิ้งแสนสนุก

นอกจากเดินป่าสนุกๆ แล้ว การได้กางเต็นท์ตั้งแคมป์พักแรม ก็เป็นกิจกรรมสนุกๆ เหมาะกับคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวแนวผจญภัย โดยในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ก็มีพื้นที่เตรียมไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้กางเต็นท์พักแรมกันด้วย โดยเต็นท์สำหรับเช่าพักแรม พักได้ 3-6 คน ราคา 250-500 บาท แต่ถ้าในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเอง จะเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ประมาณ 30 บาท ต่อคน ต่อคืน หรือถ้าไม่อยากพักที่เต็นท์ก็พักที่บ้านพักได้ ทางอุทยานฯ มีอยู่ 6 หลัง พักได้ 2-8 คน ราคา 600-1,800 บาท


กำลังโหลดแผนที่...