สถานที่ท่องเที่ยวในชัยนาท

สถานที่ท่องเที่ยวชัยนาท

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวชัยนาท

อำเภอเมือง
สวนนกชัยนาท เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพลอง หมู่ที่ 4 ตำบลเขาท่าพระ ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ก่อนถึงตัวเมือง 4 กิโลเมตร สวนนกชัยนาท มีพื้นที่ 248 ไร่ มีกรงนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครอบคลุมพื้นทื่ 26 ไร่ โดยปล่อยพันธุ์นกต่าง ๆ ให้อยู่อย่างธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกรงนกขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 63 กรง มีสวนหย่อม สวนงู สวนกระต่าย สวนสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง เลียงผา กวางดาว เนื้อทราย มีศาลากลางน้ำ อาคารจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก และมีพิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืดเป็นปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยา 63 ชนิด เช่น ปลาเสือตอ ปลาตองลาย ปลาเสือสุมาตรา ปลากดหิน เป็นต้น ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเวลา 08.00–17.00 น. สำหรับสวนนกชัยนาท เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 08.00–18.00 น. อัตราค่าเช้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (056) 411413
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 32 ถึงสี่แยกถนนสายเอเชีย ช่วงชัยนาท-ตาคลี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 7 กิโลเมตร สวนนกชัยนาทจะอยู่ทางขวามือ
วัดธรรมามูลวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองชัยนาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่ เขาธรรมามูล ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลธรรมามูล ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 288-289 เข้าทางโรงเรียนธรรมานุกูล ภายในวิหารของวัดมี หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติประทับบนฐานรูปดอกบัว เป็นศิลปะประยุกต์สมัยเชียงแสนตอนปลายถึงสุโขทัยตอนต้น ผสมกับสมัยอยุธยา มีรูปพระธรรมจักรปรากฎอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความคิดของช่างสมัยนั้นที่ตั้งใจสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ให้มีเครื่องหมายแห่งมหาปุริสลักษณะ (เป็นลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ตามคติอินเดีย เช่น ในฝ่าเท้ามีจักรลักษณะ มีลายตาข่ายในฝ่ามือฝ่าเท้า ข้อเท้าเหมือนสังข์ที่ตั้งขึ้น คางเหมือนคางราชสีห์ เป็นต้น) และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ใบเสมา เป็นศิลาทรายสีแดงตั้งรายรอบพระอุโบสถ สลักลวดลายแบบสมัยอยุธยา ทุกปีจะมีงานนมัสการหลวงพ่อธรรมจักรเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 4- 8 ค่ำ เดือน 6 และ แรม 4-8 ค่ำ เดือน 11
วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง มีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 4 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 จนถึงสี่แยกตัดกับเส้นทางหลวงหมายเลข 3183 ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – วัดสิงห์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นบนจัดแสดงพระพิมพ์สมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปสังคโลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้รับมอบจากท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี (นวม) สุทตฺโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเก็บรักษาและได้มอบให้กรมศิลปากร ในภายหลังกรมศิลปากรจึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนีเปิดให้ชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (056) 411467 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร

อำเภอวัดสิงห์
วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลมะขามเฒ่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 25 กิโลเมตร ไปทางอำเภอวัดสิงห์ประมาณ 20 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3183 กิโลเมตรที่ 36–37 เนื่องจากเดิมมีต้นมะขามเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีทิวทัศน์ที่สวยงามน่ารื่นรมย์ และมีชื่อเสียงด้านพระเครื่องด้วย
หลวงปู่ศุขแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นพระที่มีชื่อเสียงทางเวทมนต์คาถา ได้สร้างพระเครื่องที่เรียกว่า “หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า” ซึ่งประชาชนนิยมนำไปสักการะบูชา กุฏิของท่านเป็นแบบทรงไทยโบราณ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้คือ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อยู่ในพระอุโบสถติดอยู่ตามผนังของพระอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติ แต่พระองค์มิได้เขียนเองทั้งหมด คงมีข้าราชบริพารร่วมเขียนด้วย ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอมผนังด้านใต้มีภาพเขียนบอกเวลาไว้ในปี พ.ศ. 2433
ฟาร์มจระเข้วสันต์ (ร้านอาหารสวนสัตว์) ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ต.มะขามเฒ่า จากอำเภอเมืองชัยนาท มาตามถนนสายชัยนาท-วัดสิงห์ (ทางหลวงหมายเลข 3183) กิโลเมตรที่ 24 ตั้งอยู่ทางขวามือ ในฟาร์มจะมีสัตว์หลายชนิด เช่น จระเข้ เสือ ปลาช่อนอะเมซอน ปลากระเบน นกชนิดต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร. (056) 461104

อำเภอสรรพยา
วัดอินทาราม (ตลุก) เป็นวัดโบราณอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลตลุก ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทาน กิโลเมตรที่ 48 ในวัดมีถาวรวัตถุที่มีคุณค่า คือ หอระฆังคู่
เก๋งจีนโบราณอายุกว่า 100 ปี และหอพระไตรปิฎก กว้าง 8 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างไว้กลางสระน้ำลักษณะเป็นทรงไทยโบราณ ประดับกระจกสีเป็นลวดลายสวยงามรายรอบไม้ฝาและเชิงชาย ช่อฟ้าหน้าบรรณ อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกทำจากใบลานจารึกอักษรขอมโบราณจำนวนมาก
เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนขนาดใหญ่สร้างเป็นแห่งแรกของประเทศ ตั้งอยู่ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลวง ลักษณะของเขื่อนมีความยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร เขื่อนมีช่องระบาย 16 ช่อง มีประตูเรือติดกับเขื่อนด้านขวากว้าง 14 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2500 เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บริเวณเขื่อนมีความสวยงามตามธรรมชาติ ช่วงเดือนมกราคม จะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวมาอาศัยหากินอยู่ในแม่น้ำบริเวณเหนือเขื่อน เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ทางด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย และยังผลิตไฟฟ้าใช้ภายในจังหวัดด้วย เขื่อนเจ้าพระยา มีบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวไว้บริการ จำนวน 19 ห้อง ราคา 100 บาท/คน/วัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (056) 411559 ต่อ 302
การเดินทาง เขื่อนเจ้าพระยาจากเมืองชัยนาท ตามเส้นทาง 304 และเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางไปอำเภอสรรพยา ประมาณ 6 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – อ.วัดสิงห์ จะผ่านบริเวณหน้าเขื่อน และรถประจำทางสาย 1061 ชัยนาท-โพธิ์นางตำ
วัดกรุณา เป็นวัดที่อยู่ใกล้เขื่อนเจ้าพระยา ตรงข้ามบ้านรับรองเขื่อนเจ้าพระยา ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชัยนาทเคารพนับถือมากคือ พระพุทธมหาศิลาหรือหลวงพ่อหินใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาท

อำเภอสรรคบุรี
อนุสาวรีย์ขุนสรรค์ ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ขุนสรรค์ “วีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย” เป็นหนึ่งในผู้นำชาวบ้านบางระจันที่ต่อสู้กับพม่าด้วยความกล้าหาญ เพื่อรักษาแผ่นดินไทยรบชนะพม่าถึง 7 ครั้ง เป็นไทยอาสาป้องกันชาติคนแรกของอำเภอสรรคบุรี เมื่อ 223 ปีก่อน อนุสาวรีย์มีขนาดสูง 2.50 เมตร ในวันที่ 19 มกราคม 2526 เป็นวันกระทำพิธีเปิดพร้อมงานสมโภช อำเภอสรรคบุรีจึง ถือให้วันที่ 19 มกราคม เป็นวันกระทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณขุนสรรค์เป็นประจำทุกปี
วัดพระมหาธาตุ เดิมชื่อว่าวัดพระธาตุ หรือวัดหัวเมือง เป็นวัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชา อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 20 กิโลเมตร จากอำเภอเมือง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 ถึงทางแยกเข้าอำเภอสรรคบุรี จากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี บริเวณหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 เมตร เมื่อ พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสและทรงมีลายพระหัตถ์บันทึกไว้ มีโบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระปรางค์กลีบมะเฟือง (พูมะเฟือง) สร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ องค์พระธาตุมีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม (ฐานเขียง) เป็นศิลปะสมัยลพบุรี กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ศิลปะแบบลพบุรีและแบบอยุธยาตอนต้น ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของโบราณต่าง ๆ
วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่เลยวัดมหาธาตุไปประมาณ 300 เมตร ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เป็นพี่น้องกัน เจ้าสามยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมือง สร้างปรางค์แด่เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แด่เจ้ายี่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา 600 ปี
วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีโบราณสถานที่สำคัญวัดหนึ่ง มีองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่มีความงดงาม ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลแพรกศรีราชา ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 23 กิโลเมตร ภายในวัดมีเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์ทวาราวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยกับสมัยศรีวิชัยผสมผสานกัน บริเวณด้านหน้าเจดีย์มีวิหารหลวงพ่อฉาย ด้านหลังองค์หลวงพ่อฉายมี “ทับหลัง” แกะสลักติดอยู่ เป็นภาพจำหลักบนศิลาทรายภาพที่เห็นเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างเอราวัณอยู่ในซุ้มเรือนแก้วเป็นศิลปขอมมีอายุเป็นพันปีขึ้นไป เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง คงจะมีผู้นำโบราณวัตถุชิ้นนี้มาจากที่ใดที่หนึ่งในอาณาจักรขอมและนำแท่งศิลาทรายที่มีภาพจำหลักพระอิศวรทรงช้างเอราวัณแกะเป็นพระพุทธรูป แต่ได้หงายเศียรช้างเอางวงขึ้นด้านบน สันนิฐานว่าคงจะบอกเป็นปริศนาธรรมว่า “ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฎิบัติตนทวนกระแสแห่งโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขในชีวิต”
สวนลิง อยู่ในบริเวณวัดธรรมิกาวาส (วัดคังคาว) ตำบลโพงาม เป็นวัดที่มีป่ายางสูงสลับซับซ้อน มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดมีแม่น้ำน้อยไหลผ่านทำให้บรรยากาศร่มรื่น และมีรูปหล่อหลวงพ่อเฒ่า เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเคารพนับถือ สวนลิงอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรีประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท เลียบถนนคลองชลประทาน(สายใน) จะมีทางแยกเข้าวัดธรรมิกาวาส ประมาณ 500 เมตร

อำเภอหันคา
วัดไกลกังวล (เขาสารพัดศรีเจริญธรรม) ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ห่างจากตัวเมืองชัยนาท 48 กิโลเมตร ใช้เส้นทางตามทางหลวง 3211 ถึงสี่แยกหันคา เลี้ยวซ้ายไป 4 กิโลเมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าวัดไป 1.7 กิโลเมตร วัดไกลกังวลเป็นวัดโบราณสมัยลพบุรี แต่ต่อมาตกอยู่ในสภาพร้างได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2510 บนยอดเขาของวัดยังคงปรากฏซากการสร้างโบสถ์และรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ และมีการสร้างรั้วคอนกรีตรอบบริเวณเขตพื้นที่ของวัดยาวประมาณ 5,000 เมตร หากยืนอยู่บนยอดเขาแห่งนี้จะเห็นทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม ทุกปีช่วงหลังออกพรรษาจะมีงานประเพณีตักบาตรเทโว
วัดพิชัยนาวาส (วัดบันเชี่ยน) เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ห่างจากตัวเมืองชัยนาท 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3211 กิโลเมตรที่ 2-3 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ภายในพระอุโบสถซึ่งสร้างไว้กลางสระน้ำ มีพระประธานคือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ปั้นด้วยปูนสอ ประทับนั่งห้อยพระบาท สูง 4 เมตร 54 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าระหว่างสร้างพระประธานองค์นี้ บ้านเมืองเกิดระส่ำระส่ายจากสงคราม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพจากพม่าเดินทางผ่าน วัดกำหนดจัดงานนมัสการปิดทองสมโภชระหว่างเทศกาลวันเพ็ญเดือนสาม และเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นประจำทุกปี

Source : tourismthailand.org