สถานที่ท่องเที่ยวในนครปฐม

สถานที่ท่องเที่ยวนครปฐม

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวนครปฐม

อำเภอเมือง นครปฐม

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจตีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานแบบโอคว่ำและมียอดปรางค์อยู่ข้างบน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4 เนื่องจากรูปร่างของเจดีย์แบบโอคว่ำ มีลักษณะคล้ายกับสาญจีเจดีย์ในอินเดียซึ่งสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช การก่อสร้างเจดีย์ครอบองค์ใหม่เสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2413 รวมเวลาก่อสร้าง 17 ปี พระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 3 เส้น 1 คืบ 6 นิ้ว (หรือประมาณ 120.45 เมตร) ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 16 วา 3 ศอก (หรือประมาณ 233.50 เมตร) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่า วัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และภายในวัดพระปฐมเจดีย์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆให้ชม เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 แล้วอัญเชิญ ไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” และที่ ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้าม พระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆในนครปฐมทั้ง สมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ และยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลและโต๊ะหมู่บูชาซึ่งใช้ในพิธีศพของ ย่าเหลซึ่งเป็นสุนัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานมากและ ถูกคนลอบยิงตาย พระองค์ทรงเสียพระทัยมากได้โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้อาลัย พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวันยกเว้น วันจันทร์ อังคาร ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศใต้เป็นอาคาร ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น เป็นที่เก็บศิลปะวัตถุและวัตถุโบราณซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่ขุดพบ ในจังหวัดนครปฐม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 3424 2500 หรือสำนักงานจัดประโยชน์และ รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ โทร. 0 3424 2143 พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.
พระราชวังนครปฐม อยู่ทางทิศตะวันออกไม่ห่างจากวัดพระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครนครปฐม สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเหตุที่สร้างพระราชวังแห่งนี้ไว้ในหนังสือเรื่องตำนานวังเก่าว่า เนื่องมาจากในช่วงที่มีการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ การไปมาระหว่างกรุงเทพฯและนครปฐมไม่สะดวก ต้องค้างคืนกลางทางหนึ่งคืน จำเป็นต้องสร้างที่ประทับแรมขึ้นในบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ทำนอง เดียวกับพระราชวังที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาทรงสร้างบริเวณริมพระพุทธบาท และทรงพระราชทานนามว่า ‘พระนครปฐม’” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์และคลองเจดีย์บูชา ทำให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังนครปฐมสะดวกขึ้น
เนินวัดพระงาม ตั้งอยู่ที่วัดพระงาม(วัดโสดาพุทธาราม) ตำบลนครปฐม ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครปฐม เป็นสถานที่ๆค้นพบพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่สมัยทวาราวดี และยังขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูปศิลาหักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และพระพิมพ์ดินเผาซึ่งเป็นของเก่าแก่ฝีมืองดงามมาก ยากจะหาที่อื่นเทียบได้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ที่เรียกว่า วัดพระงาม นั้นเพราะพระพุทธรูปดินเผาที่ขุดได้จากบริเวณวัดนี้งามเป็นเลิศนั่นเอง ปัจจุบันบางส่วนเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหลายชิ้นเก็บไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้ล้วนแต่เป็นวัตถุเก่าสมัยทวาราวดีซึ่งเป็นสมัยเดียวกับวัตถุที่ ค้นพบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชวังสนามจันทร์) ตั้งอยู่ในตัวเมือง ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา พระราชวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2450 โดยหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาเลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง พระที่นั่งเมื่อแรกสร้างมีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2454 และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์ ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2466 การสร้างพระราชวังแห่งนี้มีมูลเหตุจูงใจมาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์ องค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งทำให้พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับประทับพักผ่อนเนื่องจากมีภูมิประเทศที่งดงาม ร่มเย็น นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสำหรับต้านทานข้าศึกซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้ และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับเป็น เมืองหลวงที่สองหากประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติ
พระราชวังสนามจันทร์ มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบ และมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นรวมกัน อยู่ส่วนกลางของพระราชวังเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ อาคารก่ออิฐถือปูน เป็นตึก 2 ชั้นแบบตะวันตก ทรงใช้เป็นที่ประทับตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ บนพระที่นั่งมีห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย ห้องภูษา ฯลฯ และในพระที่นั่งพิมานปฐมนี้เองที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด 2 เมตร ชื่อว่า “พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์” ขณะนี้ทางการได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมนั้นในปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐม
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม ขณะนี้ใช้เป็นที่ทำการของศาลากลางจังหวัดนครปฐม
พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นตึก 2 ชั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาซ้อน มียอดปราสาท มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็น ที่บรรทมเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัด
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นศาลาโถงทรงไทย ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร และ มีอัฒจันทร์ลง 2 ข้าง พระที่นั่งองค์นี้อยู่ถัดจากพระที่นั่งวัชรีรมยาเชื่อมต่อกันด้วยพระทวาร แต่เดิมใช้เป็น ท้องพระโรงเวลาที่ ร.6 เสด็จออกขุนนาง รวมทั้งเป็นที่ประชุมข้าราชการ และเหล่าเสือป่า นอกจากนี้ยังใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขนอีกด้วย พระที่นั่งมีลักษณะพิเศษก็คือ ตัวแสดงจะออกมาปรากฏกายภายนอกฉาก บนเฉลียงถึง 3 ด้าน มิใช่แสดงอยู่เพียงบนเวทีเท่านั้น โรงละครที่มีลักษณะดังกล่าวมีอีก 2 แห่ง คือ โรงละครสวนมิสกวัน และที่หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธ ปัจจุบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ใช้เป็นหอประชุมของจังหวัดนครปฐม หรือใช้ในพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตึก 2 ชั้น สร้างแบบตะวันตกฉาบสีไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง พระตำหนักหลังนี้ใช้เป็น ที่ประทับเวลาเสือป่าเข้าประจำกอง หรือในกิจพิธีเกี่ยวกับเสือป่า
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น แบบตะวันตกทาสีแดง อยู่คนละฝั่งกับพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักทั้งสองนี้เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยทางเดิน มีลักษณะคล้ายสะพานแต่มีหลังคา มีฝา และหน้าต่างทอดยาวจากชั้นบน
พระตำหนักทับแก้ว เป็นตึกหลังเล็กซึ่งเคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว ปัจจุบัน ได้ปรับปรุง และตกแต่งสวยงาม ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม ภายในอาคาร ยังมีเตาผิงสำหรับให้ความอบอุ่น และมีภาพเขียนขาวดำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบนแผ่นหินอ่อนสีขาวที่ผนังห้อง อนึ่งที่ดินบริเวณเบื้องหลังทับแก้วประมาณ 450 ไร่ ได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนทรงไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้สักทองจำนวน 7 หลัง ตั้งหันหน้า เข้าหากันบนชานรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางนอกชานมีต้นจันทน์ขึ้นมาแผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็น ใช้เป็นที่ต้อนรับ ชาวบ้านที่มาเข้าเฝ้า นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับบำเพ็ญกุศล และบางครั้งก็จัดให้มีการแสดงของไทยเดิม
เทวาลัยคเณศวร์ หรือเรียกว่า ศาลพระพิฆเนศวร์ สร้างขึ้นให้เป็นที่สถิตของพระพิฆเนศวร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ศาลนี้ตั้งอยู่กลางสนามใหญ่หน้าพระที่นั่ง เป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก จนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์
อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทาง เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม พระองค์ทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯ ตรวจเรือนจำ จึงนับว่าเป็นโชคของย่าเหลที่ทรงพอพระราชหฤทัย และทรงนำย่าเหลมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ด้วยความที่ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาด และจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจนเป็นที่โปรดปรานมาก เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยา และลอบยิงย่าเหลตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้าอาลัยย่าเหลมาก ทรงโปรดเกล้าฯให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหลไว้ที่แท่นใต้รูปนั้นด้วย
นอกจากนี้ ภายในพระราชวังสนามจันทร์ยังมีบ้านพักข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในที่ ตามเสด็จ บ้านพักเหล่านี้ บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม แต่หลายหลังยังอยู่ในสภาพดีที่เห็นได้ก็คือ บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า “ทับเจริญ” ปัจจุบันนี้ได้ใช้เป็นสถาบัน วัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก
พระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไป ประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้อยู่เนืองๆ โดยเสด็จฯแปรพระราชฐานให้ตรงกับฤดู การซ้อมรบของพวกเสือป่า พระองค์จึงทรงถือโอกาสออกตรวจตรา และบัญชาการซ้อมรบของพวกเสือป่าด้วยพระองค์เองเสมอ ปัจจุบันก็ยังมีอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้นเพื่อกิจการ ของเสือป่าเหลืออยู่ให้เห็น เช่น อาคารที่พักของเสือป่าม้าหลวง และเสือป่าพรานหลวง กับโรงพยาบาลเสือป่า เป็นต้น
ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์บางส่วนอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดนครปฐม เปิดให้เข้าเข้าชมเฉพาะวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท ถ้าเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือขออนุญาตจาก มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โทร. 0 3425 3840-4 ต่อ 2140, 0 3424 2649
เนินธรรมศาลา อยู่ที่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม มีสภาพเป็นเนิน เข้าไปด้านในเป็นโพรงซึ่งเชื่อว่าเป็นอุโมงค์จากวัดพระเมรุมาถึงวัดธรรมศาลา เล่าลือกันว่าภายในอุโมงค์มีขุมทรัพย์ เช่น ถ้วยโถโอชาม แต่ไม่สามารถที่จะนำออกมาได้ เนื่องจากมีปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไว้
วัดพระเมรุ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม บริเวณสวนอนันทอุทยาน ตำบลห้วยจระเข้ ห่างจาก พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก วัดนี้เป็นวัดร้างปัจจุบันสภาพที่เห็นเหลือแต่ซากเนินใหญ่ปรากฏอยู่ เนินหนึ่ง วัตถุที่ค้นพบบริเวณนี้มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระกร พระเพลา พระหัตถ์ของพระพุทธรูปศิลา เทพยักษ์ เทพสิงห์ดอกบัว และลวดลายประดับองค์พระเจดีย์ที่หักพังลง บางส่วนนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์และบางส่วนไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในสมัยรัชกาลที่6 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำ พระบาทขนาดโต 2 คู่จากวัดพระเมรุมาไว้ตรงชั้นนอกพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ และกรมศิลปากรได้ ร่วมมือกับนักโบราณคดีฝรั่งเศสทำการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2481 ค้นพบวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์องค์มหึมาก่อเป็นชั้นๆ ย่อมุมขึ้นไปสูงมากเพราะซากฐานที่หักพังเหลืออยู่ในขณะที่ทำการขุดสูงถึง 12 เมตร มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาทประจำ 4 ทิศ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดพระปฐมเจดีย์ สันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยทวาราวดีมีอายุเท่ากับพระปฐมเจดีย์เดิม ซึ่งไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ขึ้นไป
พระประโทณเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในวัดพระประโทณเจดีย์ ตำบล พระประโทน อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปตามถนนเพชรเกษมทางทิศตะวันออกเป็น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รูปทรงเดิมของพระประโทณเจดีย์ เป็นทรงโอคว่ำ ตามลักษณะของเจดีย์สมัยทวารวดี เนื่องจากวัดพระประโทณตั้งอยู่กลางเมืองโบราณ นครชัยศรี ในบริเวณมีการขุดพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์
เนินพระ หรือ เนินยายหอม อยู่ที่วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม จากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร จะเห็นสามแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนเศรษฐกิจ 2 (บ้านแพ้ว-ดอนยายหอม) เข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงเนินพระหรือเนินยายหอมซึ่งอยู่ด้านซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 150 เมตร อยู่กลางทุ่งนาใกล้กับถนนสายนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มาก เมื่อ พ.ศ.2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปพบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสาญจีเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง เสาศิลานี้ตอนบนมีง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์วัดพระงาม วัดพระประโทณ และแบบพระราชวังสนามจันทร์ ปัจจุบันเสาศิลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า เดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่า และตัวเนินคงจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ที่อยู่ภายในบริเวณวัด ตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนหน้านั้น และ มีอายุกว่า 1,000 ปี มาแล้ว ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ

อำเภอพุทธมณฑล
พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ พุทธมณฑลเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึง 2,500 ปี บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระประธานของพุทธมณฑลมีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 15.875 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” รอบองค์ พระประธานเป็นสถานที่จำลองของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ตำบลอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุมทางกิจการพระพุทธศาสนา ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน พิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา สวนไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ และในปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสฬหบูชา เป็นต้น ผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้ง ความจำนงได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล โทร. 0 2441 9012-3
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทาง โดยใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน (อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน (อักษะ)เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (วิทยาลัยในวัง) ตั้งอยู่ริมถนนศาลายา-บางภาษี ตำบลศาลายา เป็นงานศิลปะไทยโบราณ “ช่างสิบหมู่” เป็นศิลปะไทยที่ล้วนถูกสร้างสรรค์ มาจากภูมิปัญญา และความชำนาญที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษไทย “ช่างสิบหมู่” หมายถึง กลุ่มช่างผู้ทำงานด้วยมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยโบราณ เช่น ช่างเขียน ช่างเกาะ ช่างสลัก ช่างปั้น ช่างปูน ช่างรัก ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างกลึง และช่างหล่อ ซึ่งภายในศูนย์ได้ จัดแสดงผลงานของนักศึกษาเพาะช่างไว้ให้ชม และยังมีสินค้าของที่ระลึกที่ทำจากนักศึกษา ฝีมือของนิสิต-นักศึกษา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3429 7264-6
สวนศิลปะ มีเซียม ยิบอินซอย ตั้งอยู่เลขที่ 38/9 ถนนพุทธมณฑล สาย 7 ทางเข้าอยู่ตรงข้ามโรงเรียน ภปร. เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมประติมากรรม ของคุณมีเซียม ยิบอินซอย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและจัดสร้างสวนนิทรรศการชั่วคราวในรูปของ หอศิลปะและสวนศิลปะกลางแจ้ง เพื่อให้การสนับสนุนศิลปินซึ่งต้องการเผยแพร่ผลงานของตน สอบถาม รายละเอียดเพิ่มได้ที่กรุงเทพฯโทร. 0 2639 8056-7 กด 0

อำเภอสามพราน
ตลาดดอนหวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระทึก หลังวัดดอนหวาย เป็นตลาดที่ยังเหลือสภาพตลาดเก่า ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 6 ให้เห็นลักษณะตัวอาคารเป็นอาคารไม้เก่า ๆ ที่อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน มีพ่อค้า แม่ค้า พายเรือนำสินค้า และอาหารมาจำหน่ายในบริเวณวัดดอนหวาย มีตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรที่วัดดอนหวายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. และมีเรือบริการนำเที่ยวชมทิวทัศน์ของสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน
การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม (สายเก่า) ทางเข้าตลาดดอนหวายจะอยู่เยื้องกับทางเข้าของลานแสดงช้าง และฟาร์มจระเข้สามพราน ใช้ทางเข้าทางเดียวกับวัดไร่ขิงแล้วตรงไปประมาณ 10 กิโลเมตร ผ่านวัดไร่ขิง วัดท่าพูด ตลาดดอนหวายจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ
เส้นที่สอง จากถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (สายใหม่) เข้าทางพุทธมณฑล สาย 5 ซ้ายมือมีป้ายบอก ทางไปวัดไร่ขิง เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร ไม่ไกลนักจะมีป้ายวัดไร่ขิง ป้ายที่ 2 ให้เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางสามแยกไปตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดจะอยู่ทางซ้ายมือ
นอกจากนั้นที่ตลาดดอนหวายมีบริการเรือล่องแม่น้ำท่าจีนด้วยเรือเอี้ยมจุ้น และเรือกระแชง โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแรก จากวัดดอนหวาย ผ่าน วัดท่าพูด วัดไร่ขิง และวังปลา เส้นทางที่สอง จากวัดดอนหวาย ผ่านวัดไร่ขิง วังปลา ลอดใต้สะพานโพธิ์แก้ว ร.ร. ภปร.ราชวิทยาลัย วัดสรรเพชร วัดเดชา และสวนสามพราน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สวัสดิ์ โทร. 0 3432 1038, 0 1448 8876, 0 1659 5805
ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมกิโลเมตรที่
30 ห่างจากสวนสามพราน 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 62 ไร่ เป็นสวนสัตว์นานาชนิด มีการแสดงโชว์ของช้าง นั่งช้างท่องอุทยาน การแสดงช้างประกอบเสียง การจับจระเข้ด้วยมือเปล่า
และการแสดงมายากลทุกวัน เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2284 0273, 0 2284 1873, 0 2295 2938-9,
การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่ รถยนต์ ใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ประมาณกิโลเมตรที่ 30 ก็จะพบป้ายของลานแสดงช้าง และฟาร์มจระเข้สามพรานอยู่ทางซ้ายมือ
รถประจำทาง มีรถประจำทางสาย 123 (รถธรรมดา) ออกจากท่าช้าง มาลงที่หน้าลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพรานหรือนั่งรถโดยสารจากสถานีขนส่งสายใต้เส้นสายเก่าถนนเพชรเกษม (กรุงเทพฯ -อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) ใช้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ หรือรถโดยสารธรรมดาสายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี
สวนสามพราน เป็นสถานที่พักผ่อนตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร อยู่ติดแม่น้ำนครชัยศรี มีเนื้อที่ประมาณ 137.5 ไร่ ภายในจัดแต่งเป็นสวนดอกไม้นานาชนิด หมู่บ้านไทย และบางส่วนเป็นโรงแรม ที่พัก และสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ชมในช่วงบ่ายเป็นประจำทุกวัน สวนสามพรานเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2295 3261-4
การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่ รถยนต์ ใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ประมาณกิโลเมตรที่ 32 ก็จะพบป้ายของสวนสามพรานอยู่ทางซ้ายมือ
รถประจำทาง มีรถประจำทางสาย 123 (รถธรรมดา) ออกจากท่าช้าง มาลงที่หน้าลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน หรือนั่งรถโดยสารจากสถานีขนส่งสายใต้ สายเก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) ใช้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ หรือรถโดยสารธรรมดาสายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี
วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ที่ตำบลไร่ขิง ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ตั้งชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูป จากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะเป็นสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนา และล้านช้าง ตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมา และอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน
วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระราชทานนามว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่า วัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อ วัดไร่ขิง ไปในที่สุด วัดไร่ขิงเป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกเสาร์-อาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหาร และผลไม้จำหน่ายหน้าวัด ที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัดเป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงอาหารปลาได้อีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ของเก่าที่ทางวัดรวบรวมไว้ เช่น ถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดจัดแสดงไว้ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังของจิตรกรสมัยปัจจุบัน เช่นภาพวัดพระธาตุพนม โลหะปราสาท วัดราชนัดดา และวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น การเดินทาง มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานีตำรวจ โพธิ์แก้ว, ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 สอบถามรายละเอียดก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ที่ โทร. 0 3431 1384, 0 3432 3056

อำเภอนครชัยศรี
ดินแดนแห่ง ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย เอกลักษณ์เหล่านี้แม้จะมี มานานแต่ก็ยังคงความเด่นอันเป็นลักษณะเฉพาะไว้ได้ที่นครชัยศรี นอกจากจะมีส้มโอ และข้าวสารแล้ว ปัจจุบันยังมีไร่องุ่น และโรงงานทำเหล้าองุ่น
นอกจากนั้น กิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอำเภอนครชัยศรี ได้แก่ การล่องเรือเที่ยวในแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) โดยมีเรือออกจากท่าเรือหน้าอำเภอ นครชัยศรี เป็นเรือเช่า เรือรับจ้าง และตามร้านอาหารยังมีเรือเช่า หรือเรือบริการ เช่น ไปชมฟาร์มกุ้ง สวนผลไม้ ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ 1-2 ชั่วโมง สอบถามได้ที่ ท่าเรือหน้า ที่ว่าการอำเภอนครชัยศรีหรือตามร้านอาหารที่มีบริการเรือให้เช่า
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ตั้งอยู่เลขที่ 43/2 หมู่ 1 ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี กม.ที่
31 ตำบลขุนแก้ว เป็นสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสซึ่งมีความสวยงามและเหมือนจริงให้ความรู้สึก นุ่มนวล ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของคุณดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ และกลุ่มศิลปินไทย โดยมีวัตถุประสงค์ ในอันที่จะส่งเสริมเผยแพร่ และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของไทย ประกอบด้วยหุ่นชุดต่าง ๆ ได้แก่ ชุดพระอริยสงฆ์ ชุดพระบรมรูป พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี และชุดมุมหนึ่งของชีวิต ชุดหมากรุกไทย ชุดครอบครัวไทย ชุดเลิกทาส เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด (จันทร์-ศุกร์ เปิดตั้งแต่เวลา 09.00-17.30 น. วันเสาร์ -อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 08.30-18.00 น.) อัตราค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3433 2061, 0 3233 2109, 0 3433 2607
วัดกลางบางแก้ว เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลนครชัยศรี ภายในมีโบสถ์ วิหาร และพระประธานเก่าแก่ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก จัดแสดงเรื่องราวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่บุญ (พระพุทธวิถีนายก บุญ ขันธโชติ) และหลวงปู่เพิ่ม (พระพุทธวิถีนายก เพิ่ม ปุญญวสโน) นอกจากนี้ยังมีพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล และพระบูชาของหลวงปู่ อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นเรื่องของยาไทย สมุนไพร ยารักษาโรค และเครื่องช่างสารพัด รูปแบบ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3433 1462, 0 3433 2182
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านของคุณลุงเริงชัย และคุณป้าพยอม แจ่มนิยม ตั้งอยู่ที่บ้านลานแหลม หมู่ที่ 4 ตำบลวัดละมุด ได้เก็บรวบรวม เครื่องมือ เครื่องใช้ของชาวนาไทยแสดงไว้ในบ้านส่วนตัว และภายในบริเวณบ้านยังได้ ทำเป็นสถานที่ฝึกหัดการผลิตหัตกรรมผักตบชวาของอำเภอนครชัยศรี ควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชมได้ที่ โทร. 0 3429 6086
อุทยานปลา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยพลู จะมีปลามาอยู่รวมกันโดยธรรมชาติ ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาตะเพียน ปลาหางแดง ซึ่งอยู่ในแม่น้ำท่าจีน อุทยานปลา อยู่ห่างจากทางแยกเข้าที่ทำการอำเภอนครชัยศรีประมาณ 11 กม.

อำเภอบางเลน
ตลาดน้ำวัดลำพญา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดลำพญา ริมแม่น้ำท่าจีน ตลาดน้ำลำพญาแห่งนี้ริเริ่มโดย สภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา ร่วมกับทางวัดลำพญา เป็นแหล่งรวมพืชผักผลไม้ ผลิตผลทางการเกษตรเช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ ผ้าย้อม และอาหารราคาถูก มีอาหารไทยจำหน่าย อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ขนมหวาน ขนมเปี๊ยะ ห่อหมก ผัก และผลไม้ บริเวณหน้าวัดมีปลานานาชนิดเช่น ปลาสวาย ปลากระแห ปลาแรด ปลาเทโพ
นอกจากนี้ทางวัดมีบริการเรือล่องแม่น้ำท่าจีน โดยมีเรือบริการหลายประเภท อาทิ
1. เรือแจวโบราณ ล่องลำน้ำท่าจีน ออกจากหน้าวัดลำพญาไปนมัสการศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็น ศาลศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบลลำพญา อัตราค่าโดยสาร คนละ 20 บาท ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
2. เรือลาก ล่องแม่น้ำท่าจีนไป - กลับ ออกจากหน้าวัดลำพญาไปวัดสุขวัฒนาราม ที่บริเวณหน้าวัด ลำพญามีวังปลาชุกชุมสามารถให้อาหารปลาได้ อัตราค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท
3. เรือกระแชง ออกจากหน้าวัดลำพญาไปวัดบางพระ (วัดหลวงพ่อเปิ่น) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง อัตราค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดลำพญา สภาวัฒนธรรมตำบลลำพญา โทร. 0 3439 1626, 0 3439 1985, 0 3439 2022
หมู่บ้านไทยโซ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะแรด ตำบลบางปลา อยู่ห่างจากอำเภอบางเลนมาทางทิศใต้ ตามเส้นทางสายบางเลน-ดอนตูม ประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายโซ่ง หรือไทยทรงดำ (เนื่องจากชาวไทยโซ่งชอบใช้เครื่องแต่งกายสีดำ) หรือลาวโซ่ง ซึ่งอพยพมาจากบ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีวัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นอกจากนั้นภายในหมู่บ้านมีหัตถกรรม ที่น่าสนใจ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องจักสานต่าง ๆ

อำเภอกำแพงแสน
สวนป่าสมุนไพร วัดปลักไม้ลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งขวาง ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปตามถนน สายมาลัยแมน ประมาณ 20 กิโลเมตร ทางเข้าวัดจะอยู่ด้านซ้ายมือ เป็นสวนป่าที่มีสมุนไพรไทยประมาณ 500 ชนิด ในเนื้อที่ประมาณ 92 ไร่ บรรยากาศภายในร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อนกับธรรมชาติในป่าสมุนไพร นอกจากนั้นภายในวัดยังมีการนวดไทยแผนโบราณ การอบสมุนไพร การรับประทานอาหารประเภทสมุนไพร ตลอดจนการ อบรมจิต และการปฏิบัติธรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 3420 4044, 0 3420 4470
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (สวนพฤกษศาสตร์) ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 21 กิโลเมตร ภายในมหาวิทยาลัยมีโครงการ ต่าง ๆ ที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ได้แก่ โครงการจำลองเทคโนโลยีเกษตร ระบบชลประทาน ตามโครงการพระราชดำริ, อุทยานแมลง ภายในมีผีเสื้อพันธุ์ต่าง ๆ ตัวอย่างแปลงปลูกพืชต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี สวนแสนปาล์ม ที่รวบรวมพันธุ์ปาล์มประดับไว้นานาชนิด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน นครปฐม โทร. 0 2942-8010 ต่อ 3104
เมืองเก่ากำแพงแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งขวาง เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีอายุเท่ากับเมืองนครชัยศรี แต่มีขนาดเล็กกว่า อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 24 กิโลเมตร ตามถนนมาลัยแมน ปัจจุบันใช้เป็นค่ายลูกเสือของจังหวัด เมืองเก่ากำแพงแสนสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยเมืองนครชัยศรี เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าตามคูคลอง เพื่อส่งเสริมการเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าทางทะเลของเมืองนครชัยศรีดังนั้นความเจริญและความเสื่อมของเมืองกำแพงแสนจึงน่าจะ เป็นไปพร้อมๆ กับเมืองนครชัยศรี การเที่ยวชมโบราณสถานแห่งนี้ จะเน้นไปในลักษณะของคูน้ำและคันดิน ที่ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างชัดเจนโดยไม่มีซากโบราณสถานใด ๆ สภาพภายในตัวเมืองมีเนินดิน สระน้ำ ต้นไม้ใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาพันธุ์

Source : tourismthailand.org