กิจกรรมนราธิวาส

ข้อมูลกิจกรรมนราธิวาส

เทศกาลงานประเพณี
งานของดีเมืองนรา เป็นงานที่รวบรวมสิ่งที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดนราธิวาส เช่น งานแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพิเศษ งานวันกระจูด งานประชันเสียงนกเขาชวา งานวันลองกอง และงานแข่งเรือกอและหน้าพระที่นั่งกำหนดจัดงานประมาณเดือนกันยายนของทุกปี
การแข่งเรือกอและ-เรือยาวหน้าพระที่นั่ง โดยจัดให้มีการแข่งเรือกอและขึ้นในลำน้ำบางนรา บริเวณตรงข้ามกับศาลาประชาคม การแข่งเรือนี้จัดเป็นเทศกาลประจำปีในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
งานเสื่อกระจูด เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ-เรือยาวหน้าพระที่นั่งบริเวณ ศาลาประชาคม เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูด อันเป็นงานหนึ่งของโครงการศิลปาชีพในจังหวัดนราธิวาส เช่น จากหมู่บ้านทอน และบ้านพิกุลทอง เป็นต้น กิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการผลิตตั้งแต่การ เตรียมวัตถุดิบ คือต้นกระจูดอันเป็นวัชพืชในเขตป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังของจังหวัดนราธิวาส ไปจนถึงการนำไปสานเป็นเสื่อลวดลายสวยงามต่าง ๆ และดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่งดงามแปลกตา อาทิ หมวก กระเป๋าถือ ที่ใส่จดหมาย ฝาชี โคมไฟ นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดอีกด้วย
งานสมโภชเจ้าแม่โต๊ะโมะ เป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอสุไหงโกลก ประกอบด้วยขบวนแห่เจ้าแม่ รถบุปผชาติ ขบวนเชิดสิงโตและมังกร การเข้าทรงแสดงอภินิหาร กำหนดจัดงานประมาณวันที่ 23 เดือน 3 ของจีนประจำทุกปี สำหรับภาคมหรสพมีการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
ลองกอง เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดนราธิวาส พันธุ์ที่มีชื่อ คือ ลองกองบ้านซีโป อำเภอระแงะ เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด มีเปลือกหนาและไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า อีกพันธุ์หนึ่งที่รสชาติดี คือ ลองกองตันหยงมัส ซึ่งเป็นลองกองซีโปที่นำมาปลูกที่บ้านตันหยงมัส ลองกองจะออกผลประมาณกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมสวนลองกองพร้อมวิทยากรบรรยาย และหาซื้อลองกองกลับบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอระแงะ โทร. 0 7367 1290 และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส โทร. 0 7351 5079
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากกระจูดและใบปาหนัน เรือกอและจำลอง และผลิตภัณฑ์เซรามิค ผ้าบาติก คำว่า บาติก เป็นภาษาชวา ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปะทางด้านฝีมือ และเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการทำผ้าบาติกมาใช้กันมาประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว การทำผ้าเป็นศิลปหัตถรรมที่น่าสนใจ หลักการทำผ้าบาติกอาศัยเทคนิคง่ายๆ คือ “การวันสีด้วยเทียน” โดยใช้ “วันติ้ง” เป็นเครื่องมือที่จุ่มเทียนไขเหลวเพื่อวาดลวดลายลงบนผืนผ้าก่อนลงสีในส่วน ที่ไม่ต้องการให้ติดสีที่ย้อม เมื่อนำไปย้อมสี สีก็จะติดเฉพาะส่วนที่ไม่ลงเทียนไว้และจะติดซึมไปตามรอยแตกของเทียนเกิดลวด ลายสวยงามแปลกตาอันเป็นสัญลักษณ์ของผ้า ปัจจุบันการทำผ้านิยมใช้วิธีพิมพ์ลายผ้ามากกกว่าวิธีเขียนลายด้วยมือเพราะ เร็วและสะดวกกว่า ผ้าบาติกนี้นอกจากส่งขายตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ในไทยแล้ว ยังส่งออกไปขายในมาเลเซียด้วย
ปลากุเราเค็ม เป็นปลาเค็มแห้งที่มีเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อยที่สุดและแพงที่สุดในประเทศไทย ได้รับการยกย่อง และความนิยมจากนักชิมทั่วไป ผลิตที่ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ
สะตอหรือลูกตอ เป็นผลิตผลจากพืชเศรษฐกิจของภาคใต้มีลักษณะเป็นฝักแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ถี่เรียงกันยาวไปตามฝัก กลุ่มของเมล็ดฉุนและอมหวาน เป็นที่นิยมของผู้บริโภค สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงกะทิ ต้มกะทิ ผัดเผ็ด ผัดจืด (ใส่กะปินิดหน่อย) นอกจากนี้ยังใช้ต้ม เผาหรือรับประทานดิบ ๆ กับน้ำพริก, แกงเผ็ด ทุกชนิด และขนมจีน ส่วนสะตอดองเปรี้ยวสามารถเก็บรักษาไว้ได้เป็นแรมปี

อาหารพื้นเมือง
ไก่ฆอและ ก็คือไก่ปิ้งที่นำมาใส่เครื่องปรุงประกอบด้วยแกงซึ่งมีพริกแห้ง ขิง ขมิ้น หัวหอม กระเทียม กะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล ส้มแขก หรือส้มมะขามเปียก เป็นอาหารที่จัดว่าเป็นอาหารจานพิเศษ เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีความอร่อย นิยมใช้ต้อนรับแขกมาเยือน หรืองานเลี้ยงต่าง ๆ
ข้าวยำใบพันสมอ หรือเรียกกันว่า ข้าวยำนราธิวาส เป็นอาหารอย่างหนึ่งของชาวนราธิวาส นิยมหุงด้วยข้าวเก่าค้างปี เพราะหุงแล้วข้าวจะแห้งและร่วนดี สำหรับเครื่องปรุงประกอบด้วย น้ำบูดูสด มะพร้าวคั่ว ปลาย่างฉีกฝอย พริกไทยป่น มะม่วงหรือมะขาม ผักต่าง ๆ เช่น ตะไคร้ ดอกกาหลา ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ยอดตาเป็ด ลูกไตเบา (กระถิน) ยอดหมักแพ ยอดแหร (มะม่วงหิมพานต์) ยอดราม เป็นต้น ผักทุกชนิดจะหั่นฝอย
บูดู เป็นอาหารคาว มี 2 ชนิด คือบูดูแบบเค็ม สำหรับปรุงแล้วใช้ผักสดจิ้มรับประทานกับข้าวสวย และบูดูแบบหวาน ที่เรียกว่า “น้ำเคย” ใช้สำหรับคลุกกับยำปักษ์ใต้ บูดูทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้จากการหมักปลา
รอเยาะ เป็นอาหารพื้นเมืองประเภทอาหารคาวที่ปรุงจากผักและผลไม้สดมีน้ำแกงราด เป็นที่นิยมของชาวไทยมุสลิม รับประทานเป็นอาหารว่าง หรือบางทีก็รับประทานกับข้าว
ละแซ หรือ ละซอ เป็นอาหารคาวซึ่งมีเส้นแบนยาวเป็นแถบ ๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ราดด้วยน้ำแกงและผสมผักใช้รับประทานเหมือนขนมจีน ลักษณะของน้ำแกงเป็นน้ำข้น ๆ สีขาวนวล
ผักที่นิยมใช้รับประทาน คู่กับละแซ คือ หัวปลี ถั่วงอก ดอกกาหลา ใบจันทน์หอม ถั่วฝักยาว แตงกวา ยอดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

Source : tourismthailand.org