สถานที่ท่องเที่ยวในน่าน

สถานที่ท่องเที่ยวน่าน

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าน

อำเภอเมือง
• เมืองน่านในอดีตเป็นเมืองเล็กงดงามด้วยสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา ยังสะท้อนให้เห็นการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทั้ง ด้านการเมือง การปกครอง ศาสนา รวมทั้งวิทยาการด้านต่าง ๆ กับกรุงสุโขทัย ล้านนา พุกาม และล้านช้าง โดยยังคงเอกลักษณ์ของความเป็น พื้นถิ่นน่านไว้ได้อย่างสง่างาม วิถีชีวิตของคนเมืองน่านยังดำเนินอยู่บนครรลองของพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากงานบุญประเพณีรวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตลอดปี
• วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจาก เมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 1897 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจาก เจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประต ูทางเข้า พระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดพระธาตุแช่แห้งได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.
การเดินทาง วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 3 กิโลเมตร โทร 0 5475 1846
• วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียง ในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของ เมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือ ว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เ ป็นชาดกในพุทธศาสนาแต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพเช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลง ปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกเรือนมีชานเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็น อิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิง เป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างพระวิหารหลังนี้ จำลองไว้ด้วย
• วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ลักษณะสถาปัตยกรรมของ วัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และภายในวิหาร ประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย สูง 145 เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัย ตอนปลาย ส่วนผสมของทองคำ 65 % พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ถนนผากอง ตรงข้ามกับวัดพระธาตุช้างค้ำ ใกล้กับวัดภูมินทร์ เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับ สถาปัตยกรรม ท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น “หอคำ” ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาใน พ.ศ. 2517 อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็น สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติน่าน ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์จะใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง น่าน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร 0 5471 0561, 0 5477 2777 หรือwww.thailandmuseum.com
• วัดพระธาตุเขาน้อย ตำบลไชยสถาน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อ พ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน จากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทาน-พร บนฐานดอกบัวสูง9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
• วัดมิ่งเมือง ถนนสุริยพงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 ลักษณะเด่นคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน มีความวิจิตรงดงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน และบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน เสาหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
• วัดสวนตาล ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัณฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.1992 เป็นพระพุทธรูปทองสำริด องค์ใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน
• วัดพญาวัด บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนข้ามสะพานเข้าเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเขตศูนย์กลางเมืองน่านในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้งมาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี ลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เป็นทรงซุ้มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐาน พระพุทธรูปยืน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยดังพบที่สถูปเจดีย์วัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัย ยอดซุ้มก่ออิฐวงโค้งเป็น รูปแบบการก่อสร้าง สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่ง นครเชียงใหม่แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ได้เข้ามาแทนที่ศิลปะสุโขทัยแล้ว ในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระเจ้าฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าสายฝน” ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังมีธรรมาสน์แกะสลัก ฝีมือช่างพื้นเมือง น่านที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24
• แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบบ้านบ่อสวก บ้านบ่อสวก ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง คาดว่าเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาจากบ้านบ่อสวกเคยได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะได้ขุดพบตามแหล่งฝังศพของคนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบเทือกเขาในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงจังหวัดตาก และกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวกเริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ.2071-2102) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่ง ความรุ่งเรืองของ เมืองน่าน วิทยาการเตาเผาและเครื่องเคลือบเมืองน่านได้รับจากล้านนา เช่น จากกลุ่มสันกำแพง กลุ่มกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาใกล้นครเชียงใหม่ เตาเผาแห่งนี้ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชนอยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ 10 ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต.มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตาอยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน 2 เตาได้รับการบูรณะ และก่อสร้างอาคารถาวรคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จ่ามนัสจัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา การขุดค้นศึกษาแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการทำงานวิจัยทาง “โบราณคดีชุมชน” โดยการร่วมมือระหว่างชาวบ้าน องค์กรเอกชน ส่วนราชการในท้องถิ่น และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความงอกงาม ทางความรู้และความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมกัน ในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนโบราณคดีชุมชนบ้านบ่อสวก และนำเงินจากกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น การฟื้นฟูอาชีพเครื่องปั้นดินเผา การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมู่บ้าน และการอบรมมัคคุเทศก์ชุมชน
• วนอุทยานถ้ำผาตูบ ตำบลผาสิงห์ ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่9-10 สามารถเข้าถึงได้ทุกฤดูกาล
• สถานที่น่าสนใจในวนอุทยานถ้ำผาตูบ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้ที่ควรศึกษาและหาดูได้ยาก เช่น ต้นจันทน์ผาและเอื้องผึ้งซึ่งจะผลิดอกประมาณปลายฤดูฝน ทางเดินศึกษาธรรมชาติมีอยู่หลาย เส้นทาง ด้วยกัน คือ จะเริ่มจากเส้นทางเดินเท้าถึงถ้ำบ่อน้ำทิพย์ เส้นทางจากหน้าที่ทำการฯ ถึงจุดชมวิว และเส้นทางเดินรอบที่ทำการฯ
ถ้ำพระ เป็นถ้ำใหญ่ ลานพื้นกว้าง เนื้อที่ราว 50 ตารางวา มีปล่องเพดานด้านหนึ่งซึ่งปล่อยให้ลมพัดเข้ามา และให้แสงสว่าง มีหินงอกหินย้อยงดงาม ห่างจากที่ทำการประมาณ 200 เมตร
ถ้ำบ่อน้ำทิพย์ ภายในถ้ำเป็นห้องโถงกว้างประมาณ 30 ตารางวา มีปล่องเพดานให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ มีหินย้อยรอบผนังถ้ำด้านหนึ่ง มีซอกเว้าลึกเป็นโพรงมีแอ่งน้ำรูปไข่ น้ำขังตลอดปี ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของถ้ำนี้ ทางขึ้นถ้ำบ่อน้ำทิพย์ต้องปีนตามหน้าผาหินตลอด อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 1,200 เมตร หน้าฝนมีน้ำในถ้ำ จะเข้าไม่ได้
ถ้ำขอน เป็นถ้ำที่มีรูปลักษณะยาวคล้ายกับท่อนซุง ด้านในมีหินงอกหินย้อยงดงาม และด้านหน้าบริเวณปากทางขึ้นถ้ำมีหน้าผาเหมาะสำหรับพักผ่อน และมองเห็นทิวทัศน์บริเวณหนองน่าน
ถ้ำเจดีย์แก้ว เป็นถ้ำขนาดเล็ก ด้านหน้าของถ้ำจะมีหินรูปร่างคล้ายเจดีย์ตั้งอยู่
จุดชมวิว ตั้งอยู่บนป่าซางติดกับเขาบ่อน้ำทิพย์ ทางด้านทิศใต้สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบ ๆ และมองเห็นอำเภอเมืองน่านได้ถนัด อยู่ห่างจากที่ทำการ วนอุทยานฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินไป-กลับ ประมาณ 2 ชั่วโมง
กิจกรรม ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 (เหนือ) ราษฎรชาวบ้านผาตูบจัดงานประเพณีปิดทองพระเขาถ้ำพระ เรียกงานนี้ว่า “งานถ้ำผาตูบ” ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร กลางวันมีดนตรี และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านผาตูบ มีการจัดงานขึ้นที่ถ้ำผาตูบเป็นประจำทุกปี
การเดินทาง จากอำเภอเมืองน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปในเขตวนอุทยานถ้ำผาตูบประมาณ 200 เมตร หรือนั่งรถโดยสารประจำทาง สายน่าน-ปัว หรือ น่าน-ทุ่งช้าง ซึ่งผ่านวนอุทยานถ้ำผาตูบ

• กิ่ง อ.ภูเพียง

• วัดพระธาตุแช่แห้ง (พระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ) อยู่ที่ ตำบล ม่วงติ๊ด อำเภอ ภูเพียง ห่างจากตัวเมืองน่าน 2 กิโลเมตร พระธาตุแช่แห้ง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญมีอายุกว่า 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองปิดทองคำเปลวหมดทั้งองค์
• สถานที่ท่องเที่ยว อ.บ้านหลวง จ.น่าน

อำเภอบ้านหลวง

อุทยานแห่งชาตินันทบุรี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอบ้านหลวง รวมทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาว-น้ำสวก และป่าสงวนแห่งชาติถ้ำพุเตย เป็นป่าผสมผลัดใบ ดิบแล้ง ดิบเขา มีไม้ประเภท สัก ประดู่ ตะแบก ฯลฯ และในเขตอุทยานฯ นี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่ามลาบรี หรือ ผีตองเหลือง
• สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ คือ
ดอยผาจิ การเดินทางจากน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1091 ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอบ้านหลวงใช้ทางหลวงหมายเลข 1172 เข้าบ้านพี้เหนือสู่ดอยผาจิ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร การเดินทางสู่ดอยผาจิต้องเดินเท้าจากอุทยานแห่งชาตินันทบุรี เขตติดต่อน่าน-พะเยา ดอยผาจิ เป็นดอยที่มีความสวยงาม มีธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ทั้งน้ำตก ต้นไม้นานาพันธุ์ ดอยผาจินี้เคยเป็นพื้นที่ตั้งฐานกำลังของฝ่าย ผกค. ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ท่อประปา อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง และเย้าตั้งอยู่
ดอยวาว อยู่ในการดูแลของหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำค้าง เป็นจุดชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม อำเภอท่าวังผาเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมมาก ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูโดยทางหน่วยจัดการต้นน้ำฯได้ปลูกพันธุ์ไม้เดิม เช่น แอปเปิ้ลป่า เมเปิ้ล สนสามใบ ก่อนถึงดอยวาวจะผ่านดอยติ้วซึ่งเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองน่าน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี หมู่บ้านม้งที่บ้านดอยติ้ว และบ้านสบขุ่น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปอีกราว 4 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปถึงหน่วยจัดการต้นน้ำฯ แล้วเดินเท้าขึ้นสู่ยอดดอย ตลอดเส้นทางเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นถิ่นอาศัยของนกบนที่สูงนานาชนิด ได้แก่ นกมุ่นรกตาแดง นกหางรำหางยาว นกติ๊ดแก้มเหลือง นกเสือแมลงปีกแดง นกระวังไพรปากแดงยาว ฯลฯ และฤดูหนาวจะมีนกอพยพมาพำนัก สถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตกสันติสุข น้ำตกสองแคว น้ำตกห้วยพริก น้ำตกตาดฟ้าร้อง น้ำตกดอยหมอก น้ำพุร้อน
สถานที่พัก อุทยานฯ มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อได้ที่ ตู้ ปณ.3 อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 55140 โทร. 0 1602 7286
การเดินทาง จากอำเภอท่าวังผาใช้ทางหลวงหมายเลข 1082 สายท่าวังผา-สบขุ่น ไปประมาณ 27 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปประมาณ 500 เมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรืออีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ไปท่าวังผาจากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1148 สายท่าวังผา-สองแคว ประมาณ 1.5 กิโลเมตร แยกไปตามถนนสายยายหนุน-สบขุ่น ถึงหลักกิโลเมตรที่ 27 แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร
• พระธาตุเมล็ดข้าว อยู่บ้านนาหวายใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าคาหลวง ห่างจากอำเภอประมาณ 2 กม. มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เจ้าผู้ครองนครน่านเสด็จไปรับช้างเผือกที่ นครเชียงราย ขากลับได้มาพักแรมในตำบลสวด และได้ทำพิธีสมโภชช้างเผือก ที่ได้รับมอบมาโดยให้นิมนต์พระสงฆ์มารับบิณบาต ราษฎรที่มาร่วมพิธี ได้นำข้าวปลาอาหารมาถวายแด่พระสงฆ์ เป็นจำนวนมาก จนพอกพูนล้นบาต ข้าวที่ล้นออกมาได้นำมาปั้นเป็นรูปเจดีย์ ต่อมาชาวบ้านที่ศรัทธา ได้ช่วยกันเอาอิฐก่อหุ้มโดยรอบ จนกลายเป็น องค์เจดีย์ขึ้นมาได้เคยมีผู้เห็นแสงสว่างไสวออกมาจากพระธาตุในเวลากลางคืนทุกปีจะมีการทำบุญนมัสการ พระธาตุเมล็ดข้าว ในวันสงกรานต์ เพื่อเป็นสิริมงคล ความยึดมั่นศรัทธาของชาวอำเภอบ้านหลวงตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ภู่เขาเขียว อยู่ที่บ้านป่าคา หมู่ 1 ตำบลป่าคาหลวง ห่างจากอำเภอประมาณ 3 กม. ไม่ปรากฏ ผู้สร้าง แต่ประมาณอายุแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ปี จากการเล่าลือ สืบต่อกันมาว่า มีพระอรหันต์รูปหนึ่งได้ธุดงค์ผ่านมาบริเวณ ณ บ้านป่าคา โดยแปลงร่างเป็นนกเขาเขียว ได้บินร่อนลงบริเวณเนินเขา แห่งหนึ่งแล้วหายไป กลายเป็นกู่ (เจดีย์) อยู่ที่นั้น ซึ่งก็คือ “กู่เขาเขียว” ในปัจจุบัน

• อำเภอท่าวังผา
• ที่ราบลุ่มน้ำน่านทางทิศเหนือของจังหวัด ในอำเภอท่าวังผาและอำเภอปัว เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ คำว่า “ท่าวังผา” บ่งบอกให้เห็นสภาพภูมิประเทศซึ่งมีลักษณะเป็น “วัง” อุดมด้วยปลานานาชนิด สองฝั่งแม่น้ำน่านขนาบด้วยหน้าผาสูงชัน สายน้ำสายนี้ในอดีตเคยเป็นเส้นทางขนส่งของป่า อาทิ ต๋าว,ตาว (ซึ่งมีเนื้อในเมล็ดอ่อน เรียกว่าลูกชิด เชื่อมกินได้) หวาย และเกลือ จากดอยสูงด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและแหล่งน้ำ เมืองปัวและเชียงกลางจึงเป็นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของไทลื้อมาหลายร้อยปี วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวไทลื้อ คือ การทอผ้าลายน้ำไหลซึ่งสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อ ฝีมือเชิงช่าง และจินตนาการทางศิลปะของชุมชนชาวไทลื้อเป็นอย่างดี
หมู่บ้านไทลื้อหนองบัว บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จากตัวเมืองน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ระยะทาง 41 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอท่าวังผามีทางแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองที่สวยงาม เรียกว่า “ผ้าลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน นับเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย
วัดหนองบัว หมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา ไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 เลี้ยวซ้ายกิโลเมตรที่ 40 ข้ามสะพานแล้วเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร วัดหนองบัวเป็นวัดเก่าแก่ของหมู่บ้าน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดไทลื้อแห่งนี้สร้างราว พ.ศ. 2405 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์เล่าเรื่องในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนโดย “ทิดบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ (เจ้าเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2395-2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง นอกจากนั้นยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนจนเสร็จ และยังมีภาพของเรือกลไฟ และดาบปลายปืนซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหล หรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม นับว่ามีคุณค่าทางศิลปะและความสมบูรณ์ของภาพใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน นอกจากภาพจิตรกรรมแล้วที่ฐานพระประธานยังประดิษฐานพระพุทธรูปล้านนาองค์เล็กอยู่หลายองค์ และยังมีบุษบกสมัยล้านนาอยู่ด้วย นอกจากนี้มีบ้านจำลองไทลื้อ (เฮือนไทลื้อมะเก่า) มีอุปกรณ์การประกอบอาชีพของชาวไทลื้อจัดแสดงไว้
ศูนย์จำหน่ายผ้าลายน้ำไหลไทลื้อ ตั้งอยู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าวังผา ประมาณ 5 กม. เป็นศูนย์การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าลายน้ำไหลไทลื้อที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานานของจังหวัดน่าน ฝีมือถักทอปราณีตสวยงามเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
บ่อน้ำร้อนโป้งกิ แหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อนโป่งกิ ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ล้อมรอบด้วยภูเขา อยู่ที่บ้านน้ำกิ หมู่ที่ 5 ตำบลผาทอง สถานที่ท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อนโป่งกิมีที่อาบน้ำ เช่น ที่อาบน้ำแบบแช่ จำนวน 2 หลัง ที่อาบน้ำ แบบตักอาบ จำนวน 4 ห้อง รวมถึงบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว 2 หลัง และศาลาพักร้อน 6 หลัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ที่น่าสนใจเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดียวใน จังหวัดน่านที่มีบ่อน้ำพุร้อน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ - มอเตอร์ไซด ์ส่วนฤดูฝนควรใช้รถยนต์ชนิดขับเคลื่อนสี่ล้อ จากอำเภอท่าวังผาไปยังทางอำเภอสองแคว ประมาณ 17 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย เข้าบ้านปางสา ผ่านบ้านน้ำลักใต้จนถึงบ้านน้ำกิ ระยะทางรวมจากอำเภอท่าวังผา ถึงแหล่งท่องเที่ยว 35 กิโลเมตร
ดอยวาว ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ต้นน้ำคาง ตำบลผาทอง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ธรรมชาติงดงามล้อมรอบด้วยขุนเขา ป่าสน ต้นไม้ขนาดใหญ่และต้นดอกซากุระ อากาศหนาวเย็นตลอดปี สามารถมองเห็นทัศนียภาพ อำเภอท่าวังผาได้ชัดเจนและสวยงาม มีบ้านพักรับรอง 3 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 50 คน ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าวังผาประมาณ 33 กม. ถนนลาดยาง 29 กม. ลูกรัง 4 กม.
น้ำตกสันติสุข อยู่บ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลแสนทอง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม มีทั้งหมด 3 ชั้น มีป่าไม้ที่อนุรักษ์ไว้ในบริเวณ ประมาณ 150 ไร่ โดยได้ใช้งบประมาณ ขององค์การบริหารส่วนตำบลแสนทอง เข้าไปดำเนินการในปีงบประมาาณ พ.ศ. 2541 โดยได้ทำการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็น แหล่งท่องเที่ยว และมีห้องน้ำห้องส้วมไว้บริการให้นักท่องเที่ยว ด้วยระยะทางจากอำเภอท่าวังผา ไปถึงน้ำตกสันติสุขมีระยะทาง ประมาณ 15 กิโลเมตร มีถนนคอนกรีตเข้าไปถึงตัวน้ำตกและทางองค์การบริหารส่วนตำบลแสนทองก็ได้จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบล
ดอยติ้ว ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีภูมิ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ธรรมชาติงดงามอากาศเย็นสบาย สามารถมองเห็นทัศนียภาพ อำเภอท่าวังผา ได้ชัดเจนและสวยงาม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าวังผา 20 กม. ถนนลาดยาง ตลอดสาย
ร้านของฝาก-ช้อปปิ้ง
จันสมการทอ อยู่ที่หลังวัดหนองบัวในหมู่บ้านหนองบัว มีร้านผ้าไทยลื้อแบบต่างๆมากมายครับ
ร้านข้าวหลาม อยู่ระหว่างเส้นทางในเขต อ.ท่าวังผา มีร้านขายข้าวหลามอยู่หลายร้าน มีไส้เผือก ไส้สังขยา ไส้ถั่ว ถ้าเดินทางผ่านก็อย่าลืมแวะซื้อนะครับ รสชาดหวาน มัน อร่อยครับ

อำเภอปัว
ต้นดิ๊กเดียม ในวัดบ้านปรางค์ ตำบลปัว เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษคือใบไม้จะไหวสั่นทุกครั้งที่ถูกคนสัมผัส ชื่อพื้นเมืองคือ ดิเดียม ดีบเดียม และดิกดอย ประโยชน์คือ ใช้ทำยาสมุนไพร การเดินทาง จากจังหวัดน่านเดินทางด้วยตามหลวงหมายเลข 1080 และ 1256 สู่อำเภอปัว ก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อยมีสามแยกตรงข้ามตลาดเทศบาล 1 ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1 กิโลเมตร เข้าสู่วัดบ้านปรางค์
วัดพระธาตุเบ็งสกัด ไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 ทางเข้าตรงข้ามโรงเรียนวรนคร เข้าไปประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร ณ บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลวรนคร ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณหรือเมืองวรนครเพื่อให้ เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครองซึ่งปัจจุบันเป็นที่ว่าการอำเภอปัว คำว่าเบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารเป็นทรงตะคุ่มแบบพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า “ทรงเตี้ยแจ้” วิหารเป็นหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) เป็นศิลปะไทลื้อ พื้นเมือง มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง มีการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ องค์พระประธานเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านประดิษฐานบนฐานชุกชี และด้านหลังองค์พระประธานติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ และบานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน
วัดต้นแหลง (วัดโบราณไทยล้านนา) ที่ตั้ง หมู่ 2 ตำบลไทยวัฒนา สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ. 2127 วิหารทรงตะคุ่มหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน 3 ชั้น ลักษณะเดียวกับบ้านเรือนแบบเดิมของชาวไทลื้อแถบสิบสองปันนา ผนังเจาะช่องหน้าต่างเล็กๆ เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น ประตูทางเข้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อให้แสงแรกของวันสาดส่องมาต้ององค์พระประธาน และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในวิหารมุ่งความสนใจไปที่องค์พระประธาน ทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบนิ่งเหมาะกับการน้อมจิตสู่สมาธิ
การเดินทาง จากอำเภอเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 เมื่อเริ่มเข้าเขตตัวเมืองปัวให้สังเกตธนาคารกสิกรไทย สาขาอำเภอปัว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยก่อนถึงธนาคาร ขับตรงเข้าไปจนถึงวงเวียนให้เลี้ยวขวาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ทั้งหมด 1,065,000 ไร่ หรือ ประมาณ 1,704 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอในจังหวัดน่าน คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข และอำเภอแม่จริม อุทยานแห่งชาติดอยภูคาเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มีทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เทือกเขาดอยภูคาประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน สูงถึง 1,980 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดอยภูคาเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว และลำน้ำว้า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา ดร.จงพันธ์ จงลักษณ์มณี นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สรุปว่า เป็นซากหอยที่มี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ประกอบด้วยป่า 6 ประเภท ป่าดงดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนธรรมชาติ และทุ่งหญ้า เป็นแหล่งของพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์และพรรณไม้เฉพาะถิ่น ได้แก่ ต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinesis Hemsl.) ซึ่งเป็นพืชหายากในประเทศไทยจะพบเพียงแห่งเดียวที่ป่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร ออกดอกเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม ในเขตป่าดิบเป็นแหล่งต้นเต่าร้างยักษ์ เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นปาล์มลำต้นเดียวปาล์มดึกดำบรรพ์ เมเปิ้ลใบห้าแฉก ต่างจากเมเปิ้ลที่อื่นซึ่งมีสามแฉก และกระโถนพระฤาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งนกเฉพาะถิ่นที่หายากสองชนิด คือ นกมุ่นรกตาแดง นกพญาไฟใหญ่ และนกพงใหญ่พันธุ์อินเดียช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือ ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 15-27 องศาเซลเซียส
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
ชมพูภูคา ดอยภูคานับเป็นบ้านแห่งสุดท้ายของต้นชมพูภูคาพันธุ์ไม้หิมาลัย ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมป่าไม้ เป็นผู้สำรวจพบเป็นครั้งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ชมพูภูคาจะผลิดอกตามปลายกิ่งเป็นช่อสีชมพูยาว 30-35 เซนติเมตร เมื่อบานจะทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงาม ชมพูภูคาเป็นพันธุ์ไม้ที่เคยมีการสำรวจพบตามหุบเขาแถบมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางเหนือของเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบพืชชนิดนี้อีก พื้นที่ป่าดิบเขาดอยภูคาจึงอาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของชมพูภูคา ซึ่งเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก จุดชมต้นชมพูภูคาที่เข้าถึงง่ายที่สุดอยู่ริมถนนห่างจากที่ทำการไป 5 กิโลเมตร
เส้นทางศึกษาธรรมชาติชมพูภูคา จัดไว้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอกชมพูภูคามีทั้งเส้นรอบใหญ่ มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมง และเส้นทางรอบเล็ก มีระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน ประมาณ 1.5 ชั่วโมง ซึ่งจะพบพันธุ์ไม้ที่หายากและพันธุ์เฉพาะถิ่นสมุนไพร เป็นต้น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดึกดำบรรพ์ (ดอยดงหญ้าหวาย) มีระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแหล่งดูนก ที่มีนกไต่ไม้สีสวยที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและนกชนิดอื่น ๆ ด้วย
น้ำตกศิลาเพชร บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร น้ำตกลงมาจากหน้าผาหลายชั้นลดหลั่นกันไป เหมาะกับการเล่นน้ำ และมีผีเสื้อสีสวยให้ชมด้วย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 71 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41-42 มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1170 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร เดินไปอีกประมาณ 10 เมตร
ถ้ำผาแดง อยู่ที่บ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลงอบ เป็นถ้ำที่มีความสวยงามและยาวมากที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ยังมีน้ำตกและลำธารขนาดใหญ่ภายในถ้ำอีกด้วย ในอดีตถ้ำผาแดงเป็นฐานที่ตั้งหลบภัยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายในถ้ำยังปรากฏร่องรอยของที่พัก เตียงนอนของทหาร เตียงนอนคนไข้ บางเตียงยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ หลุมที่ฝังซ่อนอาวุธ เศษถาดอาหาร (ถาดหลุม) และเครื่องใช้ การเดินทาง ต้องเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง ลัดเลาะเนินเขา ซึ่งจะได้ชมความสวยงามของธรรมชาติ พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าต่าง ๆ บ้านของชาวเผ่าม้งที่อาศัยอยู่อย่างธรรมชาติกลางหุบเขา
ถ้ำผาฆ้อง ต้องเดินเท้าผ่านป่าร่มรื่นเข้าไปประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางบริเวณปากถ้ำจะมีขนาดเล็ก ในถ้ำมีคูหาซึ่งมีหินงอกหินย้อย มีทางน้ำไหลผ่าน พื้นถ้ำเป็นดินเหนียวลื่นมาก ไม่ควรเข้าชมในช่วงฤดูฝนเพราะอาจมีน้ำท่วมในถ้ำ ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง การเดินทางห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนที่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงแยกบ้านเต๋ย ขับรถเข้าอีกประมาณ 800 เมตร เดินต่ออีกประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นทางเดินลาดชัน น้ำตกต้นตองเป็นน้ำตกหินปูน
ขนาดกลางมี 3 ชั้น สูงประมาณ 60 เมตร บนโตรกผามีพืชชุ่มน้ำ เช่น ตะไคร่น้ำ เฟิร์นเกาะเขียวขจี ในหน้าน้ำน้ำตกจะสีขุ่นแดง
ยอดดอยภูแว เป็นยอดดอยที่มีความสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเล 1,837 เมตร เป็นเทือกเขาเดียวกับภูเขาอัลไต มีลักษณะโดดเด่น คือปราศจากต้นไม้ใหญ่ เป็นทุ่งหญ้าบนดอย อีกทั้งยังมีลานหินและหน้าผาสูงชัน เช่น ผาแอ่น ผาผึ้ง ดอยภูแว ค้นพบสุสานหอยซึ่งเป็นหอยทะเลอายุประมาณ 218 ล้านปี ที่บริเวณบ้านค้างฮ่อ อำเภอทุ่งช้าง การเดินทางโดยรถยนต์จากที่ทำการอุทยานฯ ไปถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยภูคาที่ 9 (บ้านด่าน) ระยะทางประมาณ 63 กิโลเมตร และเดินทางเท้าขึ้นยอดดอยภูแวประมาณ 8 กิโลเมตร และมีลูกหาบไว้บริการ
น้ำตกภูฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สูงประมาณ 140 เมตร มีทั้งหมด 12 ชั้น ใช้เวลาไป-กลับ และชมน้ำตกประมาณ 2 วัน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง
สิ่งอำนวยความสะดวก ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และลานดูดาวซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ตามถนนสายปัว-บ่อเกลือ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์ทั้ง 2 แห่งนี้ มีห้องน้ำ และห้องสุขาไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว จองบ้านพักที่งานบ้านพักสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ สามารถจองล่วงหน้าได้ 60 วัน ห้องพักราคา 800 บาทต่อคืน โทร 0 1960 0477, 0 2562 0760, 0 5462 6770 และ www.dnp.go.th
การเดินทาง จากตัวเมืองน่าน ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข1080 (น่าน-ทุ่งช้าง) ระยะทาง
59 กิโลเมตร จากนั้นแยกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) อีกประมาณ 25 กิโลเมตร
ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ผ้าทอไทลื้อ แหล่งผลิตอยู่ที่บ้านดอนไชย หมู่ที่ 3 ตำบลศิลาแลง และที่บ้านเก็ต หมู่ที่ 2 ตำบลวรนคร

อำเภอเชียงกลาง
วัดหนองแดง ตำบลเปือ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน องค์พระประธานสร้างโดยครูบาสิทธิการ พระวิหารบูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 และบูรณะต่อมาในปี พ.ศ. 2538 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539 ภายในวัดมีลานกว้างร่มรื่น ช่อฟ้าพระอุโบสถสลักรูปนกหัสดีลิงค์ (เป็นนกในวรรณคดีมีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ เชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อ องค์พระประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียกว่า นาคบัลลังก์ จากความเชื่อที่ว่านาคเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างาม ความดี และเป็นอารักษ์แห่งพระพุทธศาสนา วัดหนองแดงได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม (ภาคเหนือ) รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2547
การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง เลยที่ว่าการอำเภอฯ ไป 2 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกรัชดา และเห็นป้อมตำรวจบ้านรัชดาให้เลี้ยวซ้ายไป 1 กิโลเมตร
น้ำตกตาดม่าน ตั้งอยู่บ้านวังทอง หมู่ที่ 3 ตำบลพระพุทธบาท ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 11 กิโลเมตร มีทางรถยนต์ซึ่งเป็นถนนคอนกรีต สภาพน้ำตก มีลักษณะเป็นชั้นหิน สลับซับซ้อนลดหลั่นเป็นชั้น ๆ เป็นจำนวน 6 ชั้น บริเวณน้ำตกชั้นที่ 1 มีความสูงประมาณ 30 เมตร มีแอ่งน้ำ ที่เหมาะแก่การแหวกว่ายเล่นน้ำชั้นที่ 2 มีความสูงประมาณ 50 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก สำหรับน้ำตกทั้ง 6 ชั้น มีชื่อเรียกกันตั้งแต่อดีตดังนี้ ตาดม่าน ผาคันไถ ผาหัวช้าง ผาจ้อม ตาดลิง และตาดหมอก (ห้วยหก)
พระพุทธบาทจำลอง (พระบาทตากผ้า) ตั้งอยู่บ้านเหล่า หมู่ที่ 8 ตำบลพระพุทธบาท ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานเก่าแก่เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะราษฎรตำบลเชียงคนและตำบลพระพุทธบาท มีขาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร เดิมทำมาจากไม้ประดู่ มีอายุประมาณ 200 ปีเศษ
แก่งสะม้าเก้าบั้ง ตั้งอยู่บ้านตึ๊ด หมู่ที่ 10 ตำบลพระพุทธบาท ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 11 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นโขดหิน ลานหินขวางกั้นลำน้ำน่าน ลดหลั่นกันไปถึง 9 ขั้น มีระยะทางยาวถึง 3 กิโลเมตร มีชื่อที่ใช้เรียกกันมาแต่อดีต ดังนี้ 1. แก่งพลายเหล้า 2. แก่งคด 3.แก่งเสือเต้น 4. แก่งผาวัว 5. แก่งสองห้อง 6. แก่งเตา 7. แก่งลืมรอย 8. แก่งผาเสียม และ 9. แก่งผานาง สองฟากฝั่งลำน้ำน่านมีลักษณะเป็นภูเขา และป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน ตั้งแคมฟ์ค้างแรม สำหรับผู้นิยมการผจญภัย การเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ ทางรถยนต์ สามารถนำรถไปจอดไว้ที่จุดพักแก่งพลายเหล้าแล้วเดินทางต่อ และ ล่องแพ ทางลำน้ำน่านไปหยุดพักตรงจุดพัก
พระธาตุดอนแก้ว ตั้งอยู่บริเวณบ้านดอนแก้ว หมู่ที่ 1 ตำบลพระธาตุ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่เคารพนับถือเก่าแก่ ของชาวบ้านอำเภอเชียงกลาง โดยเฉพาะราษฎรตำบลเปือและพระธาตุ
ไร่จุฑามาส ริสอร์ท ตั้งอยู่บ้านน้ำอ้อ หมู่ที่ 3 ตำบลเปือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่พักของเอกชน (สวยครับ) โทร. 054-797-044

อ.สองแคว
ถ้ำเวียงแก อยู่ที่บ้านเวียงแก หมู่ที่ 1 ตำบลนาไร่หลวง ห่างอำเภอประมาณ 9 กม. ถนนลาดยางตลอดสาย สามารถนำรถไปถึงได้ ถึงหน้าถ้ำ ปากถ้ำอยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน ลักษณะปากถ้ำกว้างและค่อยๆ แคบเข้าไปข้างใน ช่องถ้ำค่อยๆ สูงขึ้นไปประมาณ 1.50 ม.อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้สวยงาม เหมาะสำหรับการชมวิว ถ่ายรูป
น้ำตกห้วยตาด อยู่ที่บ้านใหม่ หมูที่ 4 ตำบลนาไร่หลวง ห่างจากอำเภอประมาณ 4 กม. ถนนลาดยาง 1.5 กม. และเดินทางอีก 2.5 ม. สูง 12 ม. เป็นน้ำตกชั้นเดียว มีโขดหินสลับรับน้ำตกอย่างสวยงาม มีแอ่งน้ำสำหรับลงเล่นน้ำได้ มีน้ำตลอดปี
น้ำตกห้วยหาด อยู่ที่บ้านยอด หมู่ที่ 2 ตำบลยอด ห่างจากอำเภอประมาณ 19 กม. ถนนลาดยางตลอดสายเดินเท้าเข้าไป 400 ม. น้ำตกกว้าง 6 ม. สูง 12 ม. เป็นน้ำตกสองชั้น มีโขดหินเป็นชั้นเล็กๆ ซ้อนกันอย่างสวยงาม มีแอ่งน้ำสำหรับลงเล่นได้ มีน้ำตลอดปี ถ้ำหลวง อยู่ที่บ้านสะเกิน หมู่ที่ 1 ตำบลยอด ห่างจากอำเภอประมาณ 33 กม. ถนนลาดยาง 30 กม. ลูกรัง 3 กม. รถยนต์สามารถ เข้าถึงหน้าถ้ำ ใช้เส้นทางสายท่าวังผา-เชียงคำ (ทางหลวงหมายเลข 1148) ระหว่างเดินทาง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ เป็นภูเขา สลับซับซ้อน ได้อย่างสวยงาม มีจุดพักสำหรับชมวิว ถ่ายรูป เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีหินงอกย้อยสวยงาม ปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นดิน 20 ม. ถ้ำลึกเข้าไป 400 ม. เป็นที่อยู่อาศัยของค้างค้าวจำนวนมาก
ถ้ำพระ อยู่บ้านสะเกิน หมู่ที่ 1 ตำบลยอด ห่างจากอำเภอประมาณ 32 กม. ถนนลาดยาง 30 กม. ลูกรัง 2 กม. รถยนต์สามารถ เข้าไปถึงหน้าถ้ำ ลักษณะถ้ำพระปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นดิน 10 ม. เป็นถ้ำกว้าง ลึกเข้าไปข้างใน 50 กม. มีหินงอกย้อยสวยงาม เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุ
จุดผ่อนปรนการค้าขายชายแดนไทย-ลาว อยู่บ้านใหม่ชายแดน หมู่ที่ 9 ตำบลชนแดน ห่างจากอำเภอประมาณ 25 กม. ถนนลาดยาง 11 กม. ลูกรัง 14 กม. อยู่ห่างจากเมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี สปป.ลาว 4 กม. สามารถเข้าไปเที่ยว สปป.ลาวได้ โดยติดต่อขอบัตรผ่านแดนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอสองแคว เปิดให้ทำการค้าขายทุกวันที่ 5,10,15,20,25,30 ของทุกเดือน

อำเภอทุ่งช้าง
อนุสาวรีย์วีรกรรม พลเรือน ตำรวจ ทหาร และ พิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรชน ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดและวางพวงมาลา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2519 จึงถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลแก่วีรชน สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ทุ่งช้าง หลักกิโลเมตรที่ 84 และ พิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารให้ศึกษาหาความรู้
โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) บ้านมณีพฤกษ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร มีโครงการทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาว สามารถไปแวะชมได้ นอกจากนั้นยังมีดอกเสี้ยวขาวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ต้นนางพญาเสือโคร่ง บริเวณโครงการเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง และ เผ่าลั๊วะ สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการนี้ ตั้งอยู่บนเทือกดอยภูคาจึงพบต้นชมพูภูคาอยู่หลายกลุ่มแต่ต้นที่สมบูรณ์และนักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้อยู่ห่างจากศูนย์ฯ บริการนักท่องเที่ยว 3-4 กิโลเมตร รถเข้าถึงปากทาง จากนั้นต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 30 เมตร
สถานที่น่าสนในบริเวณบ้านมณีพฤกษ์ ได้แก่
ถ้ำผาผึ้ง อยู่ระหว่างเส้นทางไปหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1 ห่างจากสำนักงาน พมพ. ประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากจากถนน 100 เมตร สภาพป่าระหว่างเส้นทางที่เดินเข้าไปยังสมบูรณ์มาก เป็นป่าดิบ มีต้นเต่าร้างขึ้นอยู่ตลอดทาง ปากถ้ำผาผึ้งกว้างประมาณ 40 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ต้องเดินลงไปอีก 25 เมตรจึงถึงพื้นถ้ำ ช่วงต้นของถ้ำจะเป็นโถงขนาดใหญ่มากสูงประมาณ 20 เมตร จะมีน้ำย้อยไหลลงมาจากเพดานถ้ำตลอด จนเกิดเป็นชั้นหิน มองดูเหมือนน้ำตก ไหลต่อลงไปเรื่อย ๆ และยังมีหินย้อยที่สวยงาม เดินเข้าไปข้างในจนสุดถ้ำเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ยังมีอากาศหายใจอยู่ บริเวณปลายถ้ำจะมีช่องซึ่งกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ภายใต้ช่องจะได้ยินเสียงน้ำไหลผ่านลึกลงไปอีกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกมาก ในสมัยก่อนถ้ำผาผึ้งแห่งนี้ ใช้เป็นที่หลบภัยของชาวบ้าน สามารถจุคนได้หลายร้อยคน
ดอยผาผึ้ง อยู่บริเวณหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 3 เป็นภูเขาหินปูนสูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร ซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่มากนัก ส่วนมากจะเป็นทุ่งหญ้าคา มีลักษณะเหมือนดอยภูแว สามารถชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้อย่างสวยงาม ชมทัศนียภาพของอำเภอบ่อเกลือ อีกทั้งยังสามารถเห็นสันดอยภูแวและดอยช่อได้ จากปากทางต้องเดินเท้า 20 นาทีเลาะไปตามไหล่เขาเป็นธรรมชาติที่งดงาม
นอกจากนี้ยังมี จุดชมวิวภูหัวล้าน สามารถมองเห็นอำเภอต่าง ๆได้แก่ เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ ถ้ำภูหัวล้าน เป็นถ้ำที่ใช้อยู่กินของทหารไทยสมัยก่อนอยู่บริเวณใกล้ ๆ ฐานปฏิบัติการ
การเดินทางไปยังสำนักงาน พมพ. ไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 จากบ้านนาหนุน กม.ที่ 77-78 แยกขวาเข้าเส้นทางสู่บ้านมณีพฤกษ์ สภาพเส้นทางเป็นทางลาดชันคดเคี้ยวตามไหล่เขา เป็นทางลูกรังสลับลาดยาง ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อสภาพดี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
ต้นชมพูภูคา บ้านมณีพฤกษ์ ตำบลงอบ
ถ้ำผาแดง อยู่ที่บ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 11 ตำบล ในอดีตเป็นฐานที่ตั้งและที่หลบภัยของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบ ทางยุทธศาสตร์ ลักษณะเป็นภูเขาสูง และป่าทึบ อากาศขึ้นหนาวเย็นมากในช่วงฤดูหนาว ปัจจุบันสภาพป่ายังเหมือนสมัยที่มีการสู้รบ เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนา ภายในถ้ำยังปรากฏร่องรอยของที่พัก เตียงนอนของทหารป่า เตียงนอนคนไข้ บางเตียงยังอยู่ในสภาพ ที่ใช้ได้ หลุมที่ฝังซ่อนอาวุธ เศษถาดอาหาร(ถาดหลุม)และเครื่องใช้การเดินทางท่องเที่ยวต้องเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง ลัดเลาะ ตามเนินเขาซึ่งจะได้ชมความสวยงามของธรรมชาติ พันธุ์ไม้และสัตว์ป่าต่าง ๆ บ้านของชาวเขาเผ่าม้ง ที่อาศัยอยู่ อย่างธรรมชาติ กลางหุบเขา

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
อำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นเขตรอยต่อชายแดนไทย-สปป.ลาว มีเทือกเขาหลวงพระบางเป็นพรมแดนธรรมชาติ จุดสูงสุดอยู่ที่ดอยภูแว มีถนนบนภูเขาที่สูงเสียดฟ้าจนได้ชื่อว่า ถนนลอยฟ้า สามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามสองข้างทาง พบทะเลหมอกในฤดูหนาว ผู้คนจากสองแผ่นดินเดินทางไปมาหาสู่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมานาน แม้ช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์จะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง จนก่อให้เกิดการสู้รบตามแนวชายแดนประเทศไทย-สปป.ลาว ก็ตาม แต่ขณะนี้สายสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศกระชับมั่นดังเดิม โดยผ่านการค้าและการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากน่านสู่หลวงพระบาง
อนุสรณ์สถานยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋นเก่า เดิมเคยเป็นฐานปฏิบัติการของกองพันทหารราบที่ 3
ในบริเวณฐานปฏิบัติการยังคงรักษาสภาพเดิมไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา มีสนามเพลาะ แนวกับระเบิด
คลังอาวุธ และจุดที่ทหารไทยเสียชีวิต ในบริเวณเดียวกับยุทธภูมิยังมี ฐานสู้รบเหล่าผู้กล้า ฐานทหารเก่าที่บ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น เป็นสมรภูมิการสู้รบในอดีต เมื่อวันที่9 เมษายน 2518 ผกค. ได้เข้าโจมตี ทำให้ทหารในสังกัดทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ฐานแห่งนี้ 69 นาย เสียชีวิต 17 นาย ฝ่าย ผกค. บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายทหารสามารถรักษาฐานปฏิบัติการแห่งนี้ไว้ได้ ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของลัทธิการปกครองที่แตกต่างกัน
ตลาดชายแดนบ้านห้วยโก๋น อยู่บริเวณด่านผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น ด่านตรงข้ามคือเมืองน้ำเงิน
แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว อยู่ห่างจากเมืองน่าน 138 กิโลเมตร ตลาดจะมีทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่เช้าถึงประมาณใกล้เที่ยง สินค้าที่จำหน่าย ได้แก่ ผ้าทอลายน้ำไหล ฝีมือชาวไทลื้อ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ของป่า ลูกต๋าว (ลูกตาว) เป็นต้น อนุญาตให้ประชาชนไทย-ลาว เข้าออกด่านนี้ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
ขั้นตอนการผ่านแดนไทย-สปป.ลาว
การผ่านแดน ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว และบุตรที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หนังสือนี้ใช้ผ่านแดนได้เพียงครั้งเดียว อนุญาตให้พำนักได้เพียงครั้งเดียวให้อยู่ในพื้นที่แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ไม่เกิน 3 วัน
เอกสารที่ต้องใช้ ค่าธรรมเนียมและแบบฟอร์ม 30 บาท สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน
และรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป ทำหนังสือผ่านแดน ผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้มีชื่อร่วมอยู่ในหนังสือผ่านแดนนี้ได้ด้วย โดยใช้หลักฐานสูจิบัตร ทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป ได้ที่ด่านห้วยโก๋น หรือที่ศาลากลางจังหวัดน่าน ทุกวันในเวลาราชการ
ระเบียบและค่าธรรมเนียมผ่านแดนที่ด่านไทย ค่าผ่านแดน 10 บาทต่อคน ค่ายานพาหนะ 4 ล้อ
ขึ้นไป คันละ 50 บาท คู่มือจดทะเบียนหรือหนังสือมอบอำนาจกรณีรถยืม หรือรถเช่า
ระเบียบและค่าธรรมเนียมผ่านแดนที่ด่านลาว ค่าแบบฟอร์มและค่าธรรมเนียม 60 บาท
ค่ายานพาหนะ 4 ล้อขึ้นไป เข้า สปป.ลาว คันละ 250 บาท และต้องทำประกันภัยรถกับ สปป.ลาว
น้ำตกวังเปียน บ้านห้วยทรายขาว หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยโก๋น ห่างจากอำเภอประมาณ 11 กม. มีทางรถยนต์ซึ่งเป็นถนนคอนกรีต เข้าถึง สภาพน้ำตกมีลักษณะเป็นหินสลับซับซ้อนลดหลั่นเป็นชั้น ๆ จำนวน 6 ชั้น ชั้นที่หนึ่งมีความสูงประมาณ 30 ม. มีแอ่งน้ำ ที่เหมาะแก่การเล่นน้ำ ชั้นที่สองมีความสูงประมาณ 50 ม. เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก สำหรับน้ำตกทั้งหกชั้น มีชื่อเรียกกัน ตั้งแต่อดีตดังนี้ ตาดม่าน ผาคันไถ ผาจ้อม ตาดลิง และตาดหมอก (ห้วยหก)

อำเภอบ่อเกลือ
บ่อเกลือสินเธาว์ พื้นที่บนยอดเขาสูงเสียดเมฆอย่างอำเภอบ่อเกลือ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแหล่งเกลือที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เมืองน่านเป็นแหล่งเกลือขนาดใหญ่ ส่งเป็นสินค้าออกในภาคเหนือ และแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ชุมชนผลิตไม่ได้ จากกองคาราวานจีนฮ่อจากยูนนาน กวางสี และมณฑลอื่น ๆ ในจีน โดยใช้เส้นทางสิบสองปันนา รัฐฉาน สู่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เมืองสา (อำเภอเวียงสาในปัจจุบัน) และแพร่ รวมทั้งพ่อค้าไทเขินจากเชียงตุง และพ่อค้าวัวชาวไทลื้อจากอำเภอท่าวังผา ในอดีตท้าวพญาในเค้าสนามหลวงได้รับส่วนแบ่งจากส่วยเกลือ นอกจากค่าธรรมเนียม และค่าปรับอื่น ๆ พระยาติโลกราชแห่งเชียงใหม่ยกทัพมาตีน่านก็มุ่งหวังครอบครองบ่อเกลือซึ่งถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญสมัยนั้น
บ่อเกลือสำคัญในน่านมี 2 แห่ง คือบริเวณต้นน้ำว้า ซึ่งมีบ่อเกลือใหญ่ 2 บ่อ อีกแห่งคือบริเวณต้นน้ำน่าน มีบ่อใหญ่ 5 บ่อและมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีกจำนวนมาก ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม โดยตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก ก่อนจะนำน้ำเกลือมาต้มในกะทะใบบัวขนาดใหญ่เคี่ยวจนน้ำงวดแห้ง ใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน เกลือเมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเลจึงต้องมีการเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค บ่อเกลือสินเธาว์ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน 80 กิโลเมตร ชาวอำเภอบ่อเกลือนอกจากจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้วยังมีอาชีพทำเกลือสินเธาว์อีกด้วย มีแหล่งเกลือสินเธาว์อยู่บนภูเขา (บ่อเกลือจะปิดช่วงเข้าพรรษาเพราะเป็นฤดูฝน)
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง ตำบลภูฟ้า ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลดงพญา ครอบคลุมเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาภูฟ้า เทือกเขาขุนน้ำว้าน้อย เทือกเขาน้ำว้ากลาง และเทือกเขาผีปันน้ำ โดยมียอดผีปันน้ำ ตำบลดงพญา เป็นยอดดอยที่สูงที่สุด ประมาณ 1,745 เมตร จากระดับน้ำทะเล และน้ำตกภายในอุทยานฯ จะมีน้ำตลอดทั้งปี
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
น้ำตกสะปัน หมู่ 1 บ้านสะปัน ตำบลดงพญา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 1081 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางสูง 3 ชั้น มีน้ำตลอดปี สภาพร่มรื่น ป่าไม้สมบูรณ์ สวยงาม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ่อเกลือ 10 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงสะดวก แล้วเดินต่อไปอีก 700-800 เมตร
น้ำตกห้วยห้า หมู่ 14 บ้านนาบง ตำบลบ่อเกลือใต้ เป็นน้ำตกขนาดกลาง ชั้นที่ 1, 2, 3 สูงประมาณ 8, 12 และ 50 เมตร ตามลำดับ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ชั้นที่ 3 (ชั้นผาแดง) น้ำตกเป็นขั้นบันได กระจายสวยงาม
การเดินทาง รถประจำทาง: จากอำเภอเมืองน่าน นั่งรถสายน่าน-ปัว แล้วต่อรถสายปัว-บ่อเกลือ ลงที่อำเภอบ่อเกลือ แล้วต่อรถสายบ่อเกลือ-เฉลิมพระเกียรติ รถผ่านหน้าอุทยานฯ แล้วเดินเท้าเข้าอีก 500 เมตร รถยนต์ส่วนตัว : จากสามแยกบ่อเกลือ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงสาย 1081ไปประมาณ 5 กิโลเมตร อุทยานฯ อยู่ขวามือ เข้าไปอีก 500 เมตร ทางเข้าเป็นถนนลูกรัง ทั้งนี้ จุดชมวิวสามารถเดินจากอุทยานฯ ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติขุนน่าน มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อที่ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่าน 55220 โทร. 0 1960 5507 หรือ www.dnp.go.th หรือ E-mai : reserve@dnp.go.th

อำเภอนาน้อย
อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ประมาณ 583,750 ไร่ หรือ934 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น เทือกเขาสลับซับซ้อนที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ขนานกันทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออกแบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก สองฝั่งแม่น้ำเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ในเขตเทือกเขาประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา พบสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น นกยูงซึ่งมีอยู่หลายฝูง เสือดาว เสือดำ หมี กวาง หมาป่า และหมาใน มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่สำคัญ คือ ช้างป่า วัวแดง และกระทิง ซึ่งจะอพยพไปมาระหว่างเขตติดต่อประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
ผาชู้ บริเวณเชิงผาชู้เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ ในฤดูหนาวสามารถมองเห็นทะเลหมอกได้จาก ยอดผาชู้ และเมื่อหมอกจางลง จะมองเห็นลำน้ำน่านทอดตัวคดเคี้ยวอยู่ที่ปลายผืนป่า เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ช่วงใกล้ขึ้นถึงยอดจะเป็นหินแหลมคม จึงต้องเตรียมรองเท้าผ้าใบที่ใส่กระชับไปด้วยเพื่อความสะดวกในการปีนป่าย ใช้เวลาในการเดินไป-กลับ ประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ที่ประสงค์จะเดินขึ้นยอดผาชู้ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่อุทยานฯ ตามตำนานที่เล่ากันมาเกี่ยวกับผาชู้กล่าวว่า เจ้าเอื้องผึ้งซึ่งเป็นคู่รักกับเจ้าจันทน์ผา จำใจต้องแต่งงานกับเจ้าจ๋วง เจ้าเอื้องผึ้งเสียใจที่ไม่ได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรัก จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากหน้าผา เจ้าจันทน์ผาตามมาพบว่าเจ้าเอื้องผึ้งได้กระโดดหน้าผาไปแล้ว จึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายตามคนรักตกไปอยู่ใกล้กัน และเจ้าจ๋วงได้เห็นหญิงที่ตนรักกระโดดหน้าผาไป จึงรู้สึกเสียใจและตัดสินใจกระโดดหน้าผาตามลงไปด้วยแต่กระเด็นห่างออกไป ด้วยความรักแท้ระหว่างเจ้าเอื้องผึ้งและเจ้าจันทน์ผา ในชาติต่อมาเจ้าเอื้องผึ้งจึงเกิดเป็นดอกกล้วยไม้เกาะอยู่ใต้ต้นจันทน์ผา และเจ้าจ๋วงก็เกิดเป็นต้นสน ณ จุดที่ตกไปนั้นเอง ( “จ๋วง” เป็นภาษาเหนือแปลว่าต้นสน “เอื้องผึ้ง” แปลว่ากล้วยไม้) หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เสาดินนาน้อย (ฮ่อมจ๊อม) และคอกเสือ ตำบลเชียงของ ห่างจากตัวเมืองน่าน 60 กิโลเมตร จากอำเภอนาน้อยมีทางแยกไปตามทางหลวงหมายเลข 1083 ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นเสาดินมีลักษณะแปลกตาคล้าย “แพะเมืองผี” จังหวัดแพร่ จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่าเสาดินนาน้อยเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 10,000-30,000 ปีมาแล้ว เคยเป็นก้นทะเลมาก่อน และจากหลักฐานการค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคหินเก่า
นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ แก่งหลวง ห่างจากอำเภอนาน้อยประมาณ 35 กิโลเมตร เส้นทางเข้าถึงแก่งหลวงลำบากมาก เป็นเกาะแก่งตามธรรมชาติ เกิดจากกระแสแม่น้ำน่าน ไหลผ่านโขดหินที่กระจายอยู่กลางแม่น้ำ ในหน้าน้ำจะได้ยินเสียงน้ำกระทบโขดหินดังกึกก้อง ยามหน้าแล้งจะมองเห็นแนวโขดหิน และหาดทรายสีขาวเป็นแนวยาวตามริมฝั่งแม่น้ำน่าน ลงเล่นน้ำได้ช่วงหน้าแล้งเดือนเมษายนเท่านั้น เพราะหน้าฝนน้ำจะเชี่ยวมากและเป็นอันตรายอาจทำให้จมน้ำได้ ผาหัวสิงห์และดอยเสมอดาว อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 16 สายนาน้อย-ปางไฮ เป็นจุดชมทิวทัศน์บนยอดหน้าผาสูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ 360 องศา มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา สำหรับพักผ่อนและดูดาว ดูพระอาทิตย์ตก หากจะเดินขึ้นไปบนผาสิงห์ (เป็นหน้าผาที่มีรูปร่างคล้ายหัวสิงห์) ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางจากอุทยานฯ เส้นทางมีระยะ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางจะพบต้นจันทน์ผาซึ่งเป็นไม้เด่น และเมื่อท้องฟ้าแจ่มใส จากผาสิงห์สามารถมองเห็น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และแม่น้ำน่านได้
บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพักรับรอง และเต็นท์ให้เช่า แต่ต้องเตรียมอาหารไปเอง ติดต่อและสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตู้ปณ. 14 ตำบลศรีสะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150 โทร. 0 5470 1106, 0 1224 0800 หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
การเดินทาง อุทยานแห่งชาติศรีน่านอยู่ห่างจากตัวอำเภอนาน้อย 20 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1083 สายนาน้อย-ปางไฮ ระหว่างทางมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเทือกเขาที่อยู่ในเขตอุทยานฯ และแม่น้ำน่านที่ไหลคดเคี้ยวได้อย่างชัดเจน แม่น้ำน่านไหลผ่านอุทยานฯ ไปจนถึงอำเภอปากนาย และป่าที่นี่ส่วนหนึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ ฉะนั้นในเดือนกุมภาพันธ์จะเห็นป่าเปลี่ยนสีสวยงามมาก หรือหากเดินทางโดยรถประจำทาง ใช้รถสายกรุงเทพฯ-น่าน ลงที่อำเภอเวียงสา แล้วต่อรถประจำทาง สายเวียงสา-นาน้อย-นาหมื่น ลงที่สามแยกบ้านใหม่ แล้วเหมารถสองแถวเข้าอุทยานฯ

• สถานที่ท่องเที่ยว อ.นาหมื่น : อ.แม่จริม จ.น่าน

อำเภอนาหมื่น
หมู่บ้านประมงปากนาย ปากนาย เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ หมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อน เช่น ปลากด ปลาบู่ ปลาคัง ปลาแรด ปลาทับทิม เป็นต้น และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย สามารถนั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และมีแพขนานยนต์ข้ามฟากไปยัง อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
การเดินทาง อยู่ที่ตำบลนาทะนุง ห่างจากตัวจังหวัด96 กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย มีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว 20 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1339 เป็นทางลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 25 กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย
ที่พัก / ร้านอาหาร
มีบ้านพักของ อบต.นาหมื่นจำนวน 8 หลัง (อยู่ริมเขื่อน)
มีแพพักของเอกชนหลายแพ อาทิ แพสองบัว, แพสินไทย และแพอื่นๆอีกนับสิบแพ

อำเภอแม่จริม
อุทยานแห่งชาติแม่จริม (ล่องแก่งลำน้ำว้า) อยู่ในเขตอำเภอแม่จริม ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1168 และ 1243 มีพื้นที่ 270,000 ไร่ หรือ 432 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำที่ไหลไปลงแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสา สภาพป่าเป็นป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่าหลายชนิด
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
ภาพเขียนสีโบราณที่เขาหน่อ การเดินทางเริ่มต้นที่บริเวณบ้านน้ำปุ๊ช่วงแรกต้องเดินข้ามแม่น้ำว้า จากนั้นเดินเลียบไปตามสันเขา ผ่านป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ต้องปีนขึ้นผาหน่อซึ่งเป็นภูเขาหินปูนสูงชัน ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูหนาว ฤดูฝนอาจพบอันตรายจากดินพังทลายและเส้นทางลื่นมาก ควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้เป็นผู้นำทาง รวมระยะทาง 8.7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง
เส้นทางเดินป่าเลียบลำน้ำแปง เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านร่มเกล้า-บ้านห้วยทราย เป็นเส้นทางหาของป่าของชาวบ้าน เริ่มจากบ้านร่มเกล้า-ปากน้ำแปง บริเวณแก่งหลวง ผ่านป่าชนิดต่าง ๆ ระยะทาง9 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง
เส้นทางชมทะเลหมอกบ้านน้ำพาง-บ้านร่มเกล้า บนทางหลวงหมายเลข 1259 ระหว่างหมู่บ้าน น้ำพางและบ้านร่มเกล้า เหมาะสำหรับการขี่จักรยานเสือภูเขาหรือขับรถชมทิวทัศน์สองข้างทาง โดยเฉพาะในฤดูหนาวชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้น ในช่วง 10 กิโลเมตรแรกเป็นถนนลาดยาง เส้นทางที่เหลือเป็นทางลูกรัง ผ่านไหล่เขาสูงชัน
เส้นทางเดินป่าบ้านร่มเกล้า ต้องเดิน 3.8 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บ้านน้ำพาง จากนั้นเดินลัดขึ้นสันเขาผ่านป่าต่าง ๆ ตามระดับความสูงจากน้ำทะเล คือ ป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมสน ป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ สภาพป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ ระยะทางจากบ้านน้ำพางถึงบ้านร่มเกล้ารวม9.6 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง แต่ถ้าให้รถไปส่งที่จุดทางแยกเข้าป่าจะใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง เป็นเส้นทางที่ไม่ยากลำบากนัก แต่ต้องมีสุขภาพร่างกายที่พร้อม ฤดูกาลที่เหมาะสมคือ ฤดูหนาวและฤดูร้อน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้เป็นผู้นำทางหลากหลายกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม
ล่องแก่งแม่น้ำว้าตอนกลาง แก่งน้ำระดับ 3-5 ความยาว 100 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และ อุทยานแห่งชาติแม่จริม
ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนล่าง เส้นทางล่องแก่งลำน้ำว้าเดิมเป็นเส้นทางล่องไม้สัก ที่ถูกลักลอบตัดจาก
ผืนป่าในเขตอำเภอแม่จริมและอำเภอเวียงสา ตลอดลำน้ำว้าไหลผ่านหุบเขา สองฝั่งเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนผ่านแก่งต่าง ๆ กว่า 22 แก่ง ซึ่งมีระดับความยากง่ายอยู่ที่ระดับ 3-5 (ระดับ 3 เป็นระดับปานกลาง ระดับ 4 เป็นระดับยาก ระดับ 5 เป็นระดับยากมาก) แก่งที่ใหญ่ที่สุดและยากที่สุด คือแก่งหลวง บางจุดของลำน้ำเป็นหาดทรายที่สามารถจอดแพเพื่อให้ลงเล่นน้ำ บางแห่งเป็นจุดปางช้างสำหรับขึ้นช้างต่อไปที่บ้านหาดไร่ ช่วงเวลาที่ปริมาณน้ำขึ้นสูงสุดคือ เดือนสิงหาคม และช่วงที่ปริมาณน้ำน้อยที่สุดคือ เดือนเมษายน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการล่องแก่งน้ำว้า คือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
เส้นทางล่องน้ำว้ามี 2 เส้นทาง คือ
-เส้นทางล่องเรือยาง เริ่มจากบ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม สิ้นสุดที่บ้านหาดไร่ ตำบลส้านนาหนอง อำเภอเวียงสา รวมระยะทาง 19.2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง หากเริ่มลงแพที่หน้าที่ทำการอุทยานฯ จะเหลือระยะทาง 15 กิโลเมตร
- เส้นทางล่องแพไม้ไผ่ เริ่มจากบ้านน้ำว้าขึ้นที่บ้านน้ำปุ๊ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ
4 ชั่วโมง
ติดต่อทัวร์ล่องน้ำว้า แจงแอนเจทัวร์ 0 1765 4194, 0 54769259 (บอกแนะนำจากคุณโจ้ื โอเชี่ยนสไมล์ ได้ราคาพิเศษครับ)
ปั่นจักรยานเสือภูเขา - เดินป่าลำน้ำแปง – ล่องแก่งลำน้ำว้า เริ่มที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่จริม (บ้านใหม่) บริเวณบ้านน้ำพางปั่นจักรยานไปตามทางหลวงหมายเลข 1259 สู่บ้านร่มเกล้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเดินเลียบลำน้ำแปงสู่ลำน้ำว้าบริเวณแก่งหลวง ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และล่องแพจากแก่งหลวงไปบ้านหาดไร่ ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถใช้เวลาภายใน 1 วัน หรือจะพักค้างคืนในหมู่บ้านร่มเกล้า และเช้าวันรุ่งขึ้นเดินป่าตามลำน้ำแปง และล่องแก่งลำน้ำว้าในตอนบ่าย
ขับรถชมวิว - เดินป่าเลียบลำน้ำแปง - ล่องแก่งลำน้ำว้า เริ่มที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่จริม (บ้านใหม่) บริเวณบ้านน้ำพาง นั่งรถชมทัศนียภาพตามทางหลวงหมายเลข 1259 สู่บ้านร่มเกล้าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเดินเลียบลำน้ำแปงไปลำน้ำว้า บริเวณแก่งหลวง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง จากนั้นล่องแพจากแก่งหลวงไปบ้านหาดไร่ ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง รวมใช้เวลาทั้งหมด 7 ชั่วโมง
เดินป่าบ้านน้ำพางสู่บ้านร่มเกล้า – เดินป่าเลียบลำน้ำแปง - ล่องแก่งลำน้ำว้า เริ่มที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่จริม (บ้านใหม่) บริเวณบ้านน้ำพาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1259 สู่บ้านร่มเกล้า ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร ใช้เวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นเดินเลียบลำน้ำแปงไปลำน้ำว้า บริเวณแก่งหลวง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง จากนั้นล่องแพจากแก่งหลวงไปบ้านหาดไร่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ใช้เวลาทั้งหมด 11 ชั่วโมง เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา 2 วัน 1 คืน
ปีนเขาหน่อ - ดูภาพเขียนสี – ล่องแก่งลำน้ำว้า เริ่มที่บ้านน้ำปุ๊ ไปยังผาหน่อ จากนั้นเดินมาทางแก่งหลวง ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง แล้วล่องแก่งน้ำว้า ขึ้นที่บ้านหาดไร่ 2 ชั่วโมง อาจใช้เวลา 1 วัน หรือพักค้างคืนในป่าบริเวณบ้านห้วยหาดค้อม บริเวณเชิงผาหน่อ
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่จริม 35 หมู่ 5 บ้านห้วยทรายมูล ต.น้ำปาย อ.แม่จริม จังหวัดน่าน 55170 โทร 0 54779402-3 E-mail: reserve@dnp.go.th

Source : tourismthailand.org