สถานที่ท่องเที่ยวในพังงา

สถานที่ท่องเที่ยวพังงา

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวพังงา

• เมืองพังงา เมืองที่สงบเงียบดูเรียบง่าย เป็นอำเภอที่มีภูเขารูปลักษณะสวยงามแปลกตาตลอดเส้นทาง ภูเขาเหล่านี้มีต้นไม้เขียวครึ้มขึ้นปกคลุม ทำให้ดูชุ่มชื้นและเย็นสบาย มีถนนหนทางที่สะอาด ตึกสองข้างทางยังเป็นตึกเตี้ย ๆ ที่ไม่บดบังความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเรียบง่ายในการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติไม่มีแสงสี และก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองพังงา จะมองเห็น “เขารูปช้าง” สูงตระหง่านแต่ไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพังงาที่น่าสนใจ
• สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถนนเขาช้าง ริมถนนเพชรเกษม เยื้องศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีรูปหล่อโลหะของ “สมเด็จย่า” ในท่าทรงประทับยืนอยู่กลางสวน ช่วงเย็นๆ จะมีประชาชนมาออกกำลังกายและพักผ่อนกันมาก
• ถ้ำฤาษีสวรรค์ และถ้ำลูกเสือ อยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถ้ำฤาษีสวรรค์ จะอยู่ด้านหน้าถ้ำลูกเสือ ภายในจะมีธารน้ำใส เย็นสบาย มีหินงอกหินย้อย สามารถเดินจากด้านหน้าถ้ำทะลุไปด้านหลังถ้ำได้ จากนั้นจึงเดินไปยังถ้ำลูกเสือ ที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำฤาษีสวรรค์ ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่ประปราย และมีฝูงลิงอยู่ด้านหน้าถ้ำด้วย
• วนอุทยานสระนางมโนห์รา อยู่ตำบลนบปริง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาทอยนางหงษ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 180 ไร่ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศใต้ เป็นป่าประเภทป่าดงดิบหรือป่าฝน วนอุทยานฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีลำธารไหลจากป่าต้นน้ำที่อยู่บนสันเขาผ่านหุบเขาทั้งพื้นที่ราบ และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกขนาดเล็ก มีไม้ทางเศรษฐกิจคือ ไม้หลุมพอ ตะเคียน จำปาป่า สัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา ลิง ค่าง หมูป่า ปลาเสือ ปลาพลวงหิน ตะพาบน้ำ ที่มาของชื่อวนอุทยาน “สระนางมโนราห์” ตามความเชื่อเล่าว่ามีนางกินรี 7 ตน บินจากเขาไกรลาศมาเล่นน้ำในสระ แล้วพรานบุญใช้บ่วงบาศจับน้องสุดท้อง ที่ชื่อว่ามโนราห์ไว้ได้ เพื่อนำไปถวายพระสุธน ชาวบ้านจึงใช้เรียกชื่อสระนี้
สถานที่น่าสนใจภายในเขตวนอุทยานสระนางมโนราห์ ได้แก่
• น้ำตกสระนางมโนราห์ มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดกลาง และมีน้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
• ถ้ำเปลือกหอย อยู่ห่างจากที่ทำการ 1,300 เมตร เป็นถ้ำขนาดกลางที่มีสุสานหอยอยู่ภายใน เส้นทางเดินเป็นทางลาด เดินสบาย
• ถ้ำขี้ค้างคาว อยู่ห่างจากที่ทำการ 2,300 เมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำเปลือกหอย มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก ทางเดินไม่ลาดชันสามารถเดินเที่ยวได้เอง
• ถ้ำแก้ว อยู่ห่างจากที่ทำการ 3 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำขี้ค้างคาว อยู่ห่างจากถ้ำขี้ค้างคาวประมาณ 1,500 เมตร ในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม การเดินเที่ยวถ้ำแก้วจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
• นอกจากนี้วนอุทยานฯ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งมีป้ายสื่อความหมายแสดงความเป็นอยู่ร่วมกันของพืชและสัตว์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถเดินได้เอง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
• ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวต้องนำเต็นท์ และเครื่องนอนพร้อมอุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และทางวนอุทยานฯ มีบริการร้านอาหาร เปิดตั้งแต่เวลา 09.00 น.–16.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ หัวหน้าวนอุทยานสระนางมโนราห์ ตำบลนบปริง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000
• การเดินทาง จากตัวเมืองพังงาใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลนบปริง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร จะมีป้ายวนอุทยานฯ เลี้ยวขวาเข้าไป 4 กิโลเมตร
• สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา อยู่ริมถนนเพชรเกษม ตำบลตากแดด จากตัวเมืองพังงา อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 33 (เยื้ององค์การโทรศัพท์จังหวัดพังงา) มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกปรอดหัวโขนเคราแดง นกแก็บ นกแสก เหยี่ยวแดง ไก่ฟ้าสีทอง นกยูงไทย-อินเดีย นอกจากนี้ยังมีเลียงผา เม่น ชะนี ลิง ค่างดำ หมี เป็ด เปิดให้เข้าโดยไม่เสียค่าเข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา โทร. 0 7641 3261
• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต อยู่ตำบลสองแพรก มีพื้นที่ 100,000 ไร่ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มีน้ำตกโตนปริวรรต หรือชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกสองแพรก” ห่างจากเขตรักษาพันธุ์ฯ 100 เมตร เป็นน้ำตกไม่สูงนักเบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำที่ยังมีเศษแร่ตกค้างอยู่ ช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลแรง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางสามารถจะเห็น บัวผุด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นพืชกาฝากเกาะกินรากไม้เถาชื่อ ย่านไก่ต้ม กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีน้ำตาลแดง เป็นพืชที่หาดูได้ยากจะเกิดเฉพาะป่าที่มีความสมบูรณ์ ออกดอกปลายหน้าฝนประมาณเดือนตุลาคม นอกจากนั้นตามเส้นทางจะสังเกตุเห็น เหมืองเก่าร่องรอยแห่งอดีต จุดดูนก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่า ผ่านน้ำตกหินเพิง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นต้น การเดินศึกษาต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งนั่งช้างผ่านป่าชมธรรมชาติสองข้างทางของลำธารซึ่งยังคงความบริสุทธิ์ของป่าที่ยังไม่มีใครเข้าไปรุกราน และล่องแก่ง ที่นี่มีเกาะแก่งมากทำให้สนุกสนานและตื่นเต้นเหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย โดยใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 45 นาที และสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี
• ที่พัก มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง และมีที่กางเต็นท์โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต หมู่ 2 ตำบลสองแพรก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000
• การเดินทาง รถยนต์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 เลี้ยวขวาที่บ้านสองแพรกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร รถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-พังงา มาลงที่สถานีเดินรถโดยสารประจำทางจังหวัดพังงาแล้วทางเจ้าหน้าที่เขตฯ จะมารับ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า
• อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพังงาที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
• เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ
• เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย
• เขาพิงกัน เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น “เขาตะปู” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะเจมส์บอนด์” มีลักษณะเหมือนตะปู อยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท เพราะเป็นเกาะที่อยู่บนหาด
• เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เขาหมาจู เป็นภูเขาหินมีลักษณะคล้ายรูปสุนัขแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหางเป็นพู่
เขาเขียน หรือ ภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา
• เกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม
• การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
• ทางรถยนต์ อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4144 เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือท่าด่านศุลกากร สามารถเช่าเรือจากบริเวณท่าเรือได้ หรือเดินทางโดยรถสองแถว มีรถออกจากตัวเมืองไปท่าเรือท่าด่านศุลกากรทุกวัน
• การเช่าเรือล่องอ่าวพังงา มีเรือบริการนำเที่ยวออกจากท่าเรือต่าง ๆ ดังนี้
• ท่าเรือท่าด่านศุลกากร ใกล้โรงแรมพังงาเบย์ รีสอร์ท มีเรือนำเที่ยวหลายขนาดให้เช่า เรือสำหรับ 5 คน ราคา 650 บาท 15 คน ราคา 1,500 บาท 40–50 คน ราคา 2,500 บาท 80 คน ราคา 3,500 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง
• ท่าเรือสุระกุล หรือ ท่าเรือกะโสม ในอำเภอตะกั่วทุ่ง มีเรือให้เช่าหลายขนาด เรือสำหรับ 1–10 คน ราคา 1,000 บาท 11–20 คน ราคา 1,200 บาท 21–30 คน ราคา 1,500 บาท
• ท่าเรือในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีเรือหลายขนาดไว้บริการนักท่องเที่ยว เรือสำหรับ 2-4 คน ราคา 800 บาท 10–15 คน ราคา 1,500 บาท 40 คน ราคา 3,500 บาท 41–60 คน ราคา 4,500 บาท 61–80 คน ราคา 5,500 บาท* ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง (อัตราค่าเรืออาจเปลี่ยนแปลงได้)
• ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง พักได้ 4 คน ราคา 500 บาท พักได้ 15 คน ราคา 900 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า พักได้ 1-2 คน ราคา 200 บาท พักได้ 5 คน ราคา 250 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าอาบน้ำคนละ 20 บาท
• สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่ 1 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000 โทร. 0 7641 1136, 0 7641 2188 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2920-1

อำเภอท้ายเหมือง
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60–140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ยาง ตะเคียนทอง กระบาก เฟิร์น หวาย ไผ่ มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูง 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ อีเห็น กวางป่า ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา ส่วนในทะเลและชายหาดจะพบ ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาบิน ปลาดาว และปะการังกลุ่มเล็ก
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
หาดท้ายเหมือง อยู่ในเขตสุขาภิบาลท้ายเหมือง มีทางแยกขวาเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเข้าถนนเลียบชายหาดไปอีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ชายหาดท้ายเหมืองเป็นหาดทรายสะอาดขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินมีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร น้ำทะเลใส เล่นน้ำได้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จึงมีกิจกรรมเดินดูเต่าไข่ในตอนกลางคืนเดือนหงาย และช่วงที่ไข่เต่าฟักเป็นตัวจะมีการปล่อยเต่าลงทะเล เรียกว่า ประเพณีปล่อยเต่า มีในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
ทุ่งเสม็ด ทางตอนกลางของหาดท้ายเหมือง เป็นป่าเสม็ดขาวล้วน ในพื้นที่ 1,000 ไร่ สภาพดินเป็นทรายขาวละเอียด
น้ำตกโตนไพร เป็นน้ำตกที่มีความสูงใหญ่ เกิดจากเขาโตนย่านไทร สภาพป่าโดยรอบร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 28-29 ให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร
น้ำตกลำปี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี ในฤดูฝนจะมีประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมาก การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 32–33 จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวา เข้าไป 2 กิโลเมตร
ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้ 5–10 คน ราคา 800-1,000 บาท เต็นท์ ให้เช่าสำหรับ 2-5 คน ราคา 100–200 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ คนละ 20 บาท/คืน นักท่องเที่ยวจะต้องนำอาหารมาเอง ทางอุทยานฯ ไม่มีร้านค้าสวัสดิการ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2918-22
การเดินทาง จากตัวเมืองพังงาใช้เส้นทางสายพังงา-ท้ายเหมือง ระยะทาง 56 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกตลาดท้ายเหมืองประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่หากเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมผ่านอำเภอตะกั่วป่าแล้วใช้เส้นทางสายตะกั่วป่า-ท้ายเหมือง ประมาณ 66 กิโลเมตร ก็จะถึงสี่แยกตลาดท้ายเหมือง
บ่อน้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน อยู่ตำบลบ่อดาน ห่างจากตัวเมืองพังงา 43 กิโลเมตร ตามเส้นทางพังงา -โคกกลอย เมื่อถึงสี่แยกโคกกลอย ขับตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบ่อน้ำพุร้อนให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระเหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณ และเส้นผม เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00–21.00 น. อัตราค่าบริการ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7658 1115, 0 7658 1360
ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น ฐานทัพเรือพังงาตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การฉายสไลด์มัลติวิชั่นเกี่ยวกับใต้ทะเลอันดามัน ศูนย์ฯ แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. และทางศูนย์ฯ มีบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7644 3299–300
บ่ออนุบาลเต่ากองทัพเรือภาค3 อยู่ใกล้ ๆ ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ เป็นบ่ออนุบาลและเพาะเลี้ยงเต่าทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอันดามัน มีทั้งเต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า เปิดให้เข้าชมในวัน และเวลาราชการ

อำเภอตะกั่วทุ่ง
วัดสุวรรณคูหา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระโสม ตามทางหลวงหมายเลข 4 (พังงา-ภูเก็ต) ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 30 จะมีถนนลาดยาง แยกเข้าขวามือไปอีก 1 กิโลเมตร วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า “วัดถ้ำ” เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี บริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย ถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว โดยถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายคราม และเบญจรงค์ ถ้ำใหญ่นี้ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ มีความงดงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น จปร. ปปร. ภปร. รพ. เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณหน้าถ้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมากที่ลงมาหาอาหาร เก็บค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ คนละ 10 บาท
วนอุทยานน้ำตกรามัญ อยู่ตำบลกระโสม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาโตนดิน มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ วนอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหตุที่มาของชื่อน้ำตกรามัญ คือ เมื่อสงครามเก้าทัพ ได้มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งหนีทัพพม่าขึ้นไปตั้งชุมชนตรงชั้นบนสุดของน้ำตกแห่งนี้ ชาวบ้านจึงรียกว่า “น้ำตกรามัญ” บริเวณต้นน้ำมีลักษณะเป็นเทือกเขาเรียงรายติดต่อกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นป่าดงดิบ วนอุทยานฯ ในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วยธารน้ำขนาดกลางไหลจากป่าต้นน้ำผ่านหุบเขา และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกชั้นต่าง ๆ หลายชั้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ตะพาบน้ำ ปลาซิว ปลาพรวงหิน ปลาเสือ วนอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วย นอกเหนือจากน้ำตกรามัญ ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น โตนใต้ เป็นน้ำตกชั้นล่างสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตีนล่าง โตนขอนปัก มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดกลาง มีความลึกพอสมควร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ โตนไอ้จุ่น มีลักษณะเหมือนชั้นที่ 2 สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี โตนกลาง เป็นชั้นที่มีธารน้ำตกสูงพอสมควร มีความสวยงาม และเหมาะสำหรับเล่นน้ำใต้ธารน้ำตก โตนหินราว เป็นชั้นน้ำตกที่มีความลึกมาก โตนสาวงาม เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่มีความสวยงามเช่นกัน
ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะต้องนำเต็นท์ เตรียมเครื่องนอน-อุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และมีบริการร้านค้าสวัสดิการ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.30 น.
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองพังงาไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลกระโสม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 11 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าสู่วนอุทยานฯ อีก 6 กิโลเมตร หรือจากอำเภอตะกั่วทุ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่วนอุทยานฯ รถประจำทาง สามารถจะเช่าเหมาได้จากตลาดในอำเภอเมืองไปวนอุทยานฯ ได้
ชายทะเลท่านุ่น อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน - สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

อำเภอคุระบุรี
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก ( เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายาก เช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
เกาะสิมิลัน หรือ เกาะแปด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ลักษณะอ่าวเป็นรูปโค้งเหมือนเกือกม้า มีหาดทรายขาวละเอียดเนียนนุ่มน้ำทะเลใสน่าเล่น ใต้ทะเลมีปะการังสวยงามหลายชนิด ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังใบไม้ ปะการังสมอง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ กัลปังหา พัดทะเล กุ้งมังกร และปลาประเภทต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามมากมาย เป็นเกาะที่สามารถดำน้ำทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และทางด้านเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างแปลกตา เช่น หินรูปรองเท้าบู๊ท หรือรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก ตอนบนที่ตรงกับแนวหาดมีหินรูปเรือใบ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่จะมองเห็นความสวยงามของท้องทะเลได้กว้างไกล
เกะบางู หรือ เกาะเก้า เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีโขดหินรูปลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จุดดำน้ำ กองหินคริสมาสพอยต์เป็นกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามสลับซับซ้อนกันเป็นบริเวณกว้างจะมีแนวปะการัง และกัลปังหาที่สมบูรณ์ และยังเป็นที่อยู่ของปลาหลากชนิด เช่น ปลาไหลริบบิ้น ฉลามครีบเงิน ปลาเก๋า ปลาบู่ กั้งตั๊กแตน
เกาะหัวกะโหลก-หินปูซา หรือเกาะเจ็ด เป็นเกาะที่มีลักษณะเหมือนรูปหัวกะโหลก สภาพใต้น้ำสวยงามเหมือนหุบเขาใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหารูปพัดหลากสีสัน ฝูงปลานานาพันธุ์ และยังสามารถพบปลากระเบนราหู หรือฉลามวาฬได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสิมิลัน
เกาะหูยง หรือ เกาะหนึ่ง เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในเก้าเกาะ มักจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เห็นร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดคล้ายกับรอยตีนตะขาบเล็ก ๆ
เกาะเมี่ยง หรือเกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองจากสิมิลัน เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีแหล่งน้ำจืด ชายหาดที่เกาะสี่จะมีสีขาวละเอียดเนียนสวยงามน่าสัมผัส น้ำทะเลใส บนเกาะสี่จะมีสัตว์ที่หาดูได้ยาก เช่น ปูไก่ ที่มีลำตัวเป็นสีแดงสด มีก้ามสีดำเหลือบน้ำเงิน เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ จะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำที่มันออก0หากิน นกชาปีไหน เป็นนกประจำถิ่นขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกับนกพิราบป่า มีสีสันและลวดลายบนตัวที่งดงาม จะพบได้ตามริมชายหาด หรือร้านอาหารหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ ปูเสฉวน ที่มีมากมายหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่
นอกจากนั้นรอบ ๆ อุทยานฯ ยังมีบริเวณดำน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีก ทั้ง จุดดำน้ำลึก ได้แก่ เกาะตาชัย อยู่ทางตอนเหนือสุดของอุทยานฯ จะพบปลาสาก ปลาค้างคาว ปลากระเบนราหู ฉลามวาฬ เกาะบอน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน จะพบฉลามครีบขาว ปลากระเบนราหู ฉลามกบ กองหินคริสต์มาสพอยต์ จะพบปลาไหลริบบิ้นสีฟ้า กั้งตั๊กแตน กองหินแฟนตาซี อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะแปด เป็นจุดรวมของหินดอกไม้ ปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำหลากชนิด และ จุดดำน้ำตื้น ได้แก่ อ่าวลึก อ่าวกวางเอง เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่สนใจกิจกรรมดำน้ำสามารถติดต่อบริษัทดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตและพังงา
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
- ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพังงา-ตะกั่วป่า และเป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯที่สุด ประมาณ 40 กิโลเมตร จากท่าเรือทับละมุใช้เวลาในการเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลันประมาณ 3-4 ชั่วโมง มีเรือให้เช่าหลายขนาด สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน สามารถติดต่อบริษัททัวร์ ที่ท่าเรือได้
การเดินทางไปท่าเรือทับละมุ สามารถไปได้หลายเส้นทาง คือ
- จากกรุงเทพฯ นั่งรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ระนอง และกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ลงที่สามแยกลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์มาท่าเรือทับละมุ
- จากตัวเมืองพังงา มีรถประจำทางสายพังงา-ท่าเรือทับละมุ ออกจากสถานีขนส่งพังงา หรือนั่งรถประจำทางกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี หรือ กรุงเทพฯ –ระนอง ลงที่สามแยกลำแก่น จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
- จากอำเภอท้ายเหมือง มีรถสองแถวสายท้ายเหมือง-ทับละมุ รถโดยสารประจำทางสายภูเก็ต-ตะกั่วป่าหรือ ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ขึ้นที่ตลาดถนนเพชรเกษม มาลงที่สามแยกลำแก่นจากนั้นให้นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
- ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี อยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลัน 70 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุระบุรี กรีนวิว รีสอร์ท
- ท่าเรือหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ก็สามารถเดินทางไปอุทยานฯได้ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวของบริษัทเอกชน
ที่พัก อุทยานฯ มีบริการบ้านพักเป็นเรือนแถว พักได้ห้องละ 4 คน จำนวน 10 ห้อง ราคา 600 บาท พักได้ 2 คน จำนวน 5 ห้อง ราคา 1,000 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า หลังละ 100–300 บาท สำหรับ นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์คนละ 40 บาท/คืน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าขึ้นเกาะ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่ 1 ทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 โทร. 0 7642 1365 สำนักงานบนฝั่ง โทร. 0 7659 5045 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2920-1

อำเภอเกาะยาว
เกาะยาว มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เกาะยาวนี้ประกอบด้วยเกาะ 2 เกาะ คือ เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ล้อมรอบด้วยเกาะเล็ก ๆ มีชายหาดและอ่าวที่น่าสนใจ ได้แก่
หาดป่าทราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาว บนเกาะยาวน้อยประมาณ 7 กิโลเมตร หาดทรายขาวสะอาด มีทิวไม้ร่มรื่น สามารถลงเล่นน้ำได้โดยปลอดภัย สามารถมองเห็นทิวทัศน์เกาะต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่
หาดท่าเขา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาวน้อย 5 กิโลเมตร หาดทรายมีหินเล็ก ๆ หลากลวดลาย ห่างจากฝั่งออกไปเล็กน้อยมีเกาะเล็ก ๆ ยามน้ำแห้งสามารถเดินไปเที่ยวเกาะเหล่านี้ได้สะดวก บนเกาะมีไม้ป่า และกล้วยไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป
อ่าวตีกุด อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ เป็นอ่าวที่มีหาดทรายขาวสะอาด ทางทิศเหนือของอ่าวเป็นแหลมที่มีทิวทัศน์สวยงาม ชายฝั่งร่มรื่นด้วยทิวสน
อ่าวคลองสน อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ หาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นไปด้วยทิวสน ทางด้านซ้ายมือมีโขดหิน และก้อนหินเล็ก ๆ หลากสีสวยงาม อ่าวนี้เล่นน้ำ และดำน้ำชมปะการังได้
อ่าวหินกอง อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดร่มรื่นด้วยไม้เคียม มีลูกปลากระเบนอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ ที่อ่าวนี้ยังมีชาวบ้านมุสลิมทำอาชีพหาปลาอาศัยอยู่
อ่าวล้าน อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำได้ ทางทิศเหนือของแหลมเป็นหน้าผาชัน เดินทางทางเรือสะดวกที่สุด
อ่าวทราย อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายขาวละเอียด สามารถเล่นน้ำได้
เกาะโละปาแรด อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ เป็นหาดทรายที่ร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว หาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวเหยียด ทางเหนือของอ่าวมีแหลมที่มีโขดหินสวยงาม ลงเล่นน้ำทะเลได้
แหลมนกออก ตั้งอยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายที่มีโขดหิน และก้อนหินหลากสีสวยงาม สามารถเล่นน้ำได้
นอกจากนั้นบนเกาะยาวใหญ่มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เช่น การออกไปจับปลา จับหอยแครง ขี่จักรยานเที่ยวศึกษาเส้นทางธรรมชาติ สอบถามข้อมูลได้ที่ ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกาะยาวน้อย โทร. 0 7659 7428, 0 7659 7244 และบนเกาะมีที่พักเอกชนบริการอีกด้วย เช่นเดียวกับเกาะยาวน้อยก็มีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ สอบถามได้ที่ คุณสำเริง ราเขต โทร. 0 7659 7244 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย โทร. 0 7659 7122
การเดินทาง ไปเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ สามารถเดินทางได้ทั้งจากจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ แต่การเดินทางจากจังหวัดภูเก็ตจะสะดวกที่สุด
การเดินทางไปเกาะยาวน้อย
จังหวัดภูเก็ต เที่ยวไป มีเรือออกจากท่าเรือบางโรง ตำบลป่าคลอก-เกาะยาวน้อย (ท่าเรือสุขาภิบาล) เวลา 11.00 น. 12.00 น. 13.00 น. 14.30 น. และ 17.00 น. เที่ยวกลับ เรือออกจากเกาะยาวน้อย-ท่าเรือบางโรง เวลา 07.00 น. และ 07.30 น. อัตราค่าเรือคนละ 40 บาท/เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที หรือเช่าเหมาเรือหางยาว ราคา 800-1,000 บาท และมีเรือเร็วขนาดต่าง ๆ ราคาเช่าเหมาลำละ 4,000-6,000 บาท/เที่ยว
จังหวัดกระบี่ เที่ยวไป จากท่าเรือท่าเลน-เกาะยาวน้อย มีเรือออกวันละ 3 เที่ยว เวลา 12.00 น. 13.00 น. (เรือจอดท่าเรือท่าเขา) และ 15.00 น. (เรือจอดท่าเรือมาเนาะ) เที่ยวกลับ จากเกาะยาวน้อย -ท่าเรือท่าเลน มีเรือเมล์วันละ 2 เที่ยว เวลา 07.30 น. (เรือจอดท่าเรือท่าเขา) และเวลา 08.30 น. (เรือจอดท่าเรือมาเนาะ) ใช้เวลาในการเดินทาง 30 นาที ค่าเรือเที่ยวละ 50 บาท และจากท่าเรือท่าเลนนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถสองแถวมาขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สถานีขนส่งกระบี่ ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ 30 บาท
จังหวัดพังงา เที่ยวไป จากท่าเรือท่าด่านศุลกากร-เกาะยาวน้อย (ท่าเรือมาเนาะหรือท่าเรือสุขาภิบาล ขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลง) มีเรือออกวันละ 1 เที่ยว เวลา 12.00 น. เที่ยวกลับ จากเกาะยาวน้อย-ท่าเรือท่าด่านศุลกากร มีเรือออกเวลา 07.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ 80 บาท และมีเรือให้เช่าเหมาลำ ราคา 1,000-1,500 บาท สามารถเช่าเรือได้ที่ท่าเรือท่าด่านศุลกากร
การเดินทางไปเกาะยาวใหญ่
จังหวัดภูเก็ต เที่ยวไป จากท่าเรือเทียนสิน ถนนศรีสุทัศน์ จังหวัดภูเก็ต-เกาะยาวใหญ่ (ท่าเรือโล๊ะจาก) มีเรือออกเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ใช้เวลา 1 ชั่วโมง และ เที่ยวกลับ เรือออกจากท่าเรือโล๊ะจาก-ท่าเรือเทียนสิน เวลา 12.00 น. ค่าโดยสารคนละ 50 บาท/เที่ยว
นอกจากนั้นจากเกาะยาวน้อยสามารถเดินทางมาเกาะยาวใหญ่ได้ จากเกาะยาวน้อย ขึ้นเรือที่ท่าเรือมาเนาะ ถึงเกาะยาวใหญ่ ขึ้นเรือที่ท่าเรือบ้านช่องหลาด หรือท่าเรือคลองเหีย ค่าโดยสารคนละ 10 บาท ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที
เกาะไข่ เป็นเกาะเล็ก ๆ สามเกาะ เรียกว่า เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน และเกะไข่นุ้ย ทั้งสามเกาะมีหาดทรายขาวน้ำทะเลใสมีปลาหลากชนิดสีสันสวยงามว่ายอยู่ใกล้ ๆ ชายหาด มีปะการังสวยงาม การเดินทางไปเกาะไข่สามารถซื้อทัวร์ได้จากบริษัทนำเที่ยว หรือเช่าเรือได้จากท่าเรือเกาะสิเหร่ ท่าเรือแหลมหิน หรืออ่าวฉลอง ในจังหวัดภูเก็ต

Source : tourismthailand.org