กิจกรรมสิงห์บุรี

ข้อมูลกิจกรรมสิงห์บุรี

งานวันวีรชนค่ายบางระจัน จัดขึ้นเป็นประจำในระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ของทุกปี ที่บริเวณอนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน ประกอบไปด้วยพิธีสักการะรูปจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ และวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน การแสดงละครประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรกรรมวีรชนค่ายบางระจัน ประกอบแสง สี เสียง การละเล่นพื้นบ้าน มหรสพ การแสดงนิทรรศการของดีเมืองสิงห์ต่าง ๆ มากมาย
ประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวนที่บ้านบางน้ำเชี่ยว และหมู่บ้านโภคาภิวัฒน์ อำเภอพรหมบุรี จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ โดยชาวบ้านจะช่วยกันตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) และข้าวจี่ ข้าวหลาม ไว้สำหรับทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น พิธีจะมีในตอนเย็น ชาวบ้านจะนำข้าวสารเหนียว ไข่ น้ำตาล ไปเข้ามงคลในพิธีเจริญพุทธมนต์ กลางคืนจะมีมหรสพแสดงกันเป็นที่สนุกสนาน ตกดึกจะพากันนึ่งข้าวเหนียว ทำขนม ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันกำฟ้า ชาวบ้านก็จะนำไทยทานและอาหารที่เตรียมไว้ไปร่วมทำบุญที่วัด เมื่อพ้นกำฟ้า 7 วันแล้ว จะต้องกำฟ้าอีกครึ่งวัน และนับต่อไปอีก 5 วัน จะมีการจัดอาหารถวายพระ เสร็จแล้วนำไฟดุ้นหนึ่งไปทำพิธีเลียแล้ง โดยการนำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง ถือเป็นการบูชาและระลึกถึงเทพเจ้า เป็นอันเสร็จพิธีกำฟ้า
ประเพณีตีข้าวบิณฑ์ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ทำกันอยู่แห่ง เดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี นิยมทำในช่วงวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดงมาหุงหรือนึ่งพอ สุกนำมาใส่ใบตองพับเป็นรูปกรวย นำไปถวายหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ วัดพระนอนจักรสีห์ด้วยการนำพานใส่กรวยข้าวเหนียวที่เตรียมวางไว้ด้านหน้า องค์พระนอน เพื่อทำพิธีถวายข้าวเหนียว เมื่อเห็นว่าเวลาผ่านไปพอสมควรจะทำพิธีลาข้าว ทุกคนจะตรงไปที่พานข้าวของตน แบ่งข้าวเหนียวในกรวยใส่กระทง แล้วนำไปวางไว้ที่หน้าองค์พระนอนพอเป็นสังเขป จากนั้นชาวบ้านจะแยกกันนั่งเป็นวงๆ ละ 6-7 คน แบ่งกันรับประทานข้าวที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นข้าวบิณฑ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาสนี้ มักจะจัดขึ้นที่หมู่บ้านวัดกุฎีทอง บ้านโภคาภิวัฒน์ วัดอุตมะพิขัย อำเภอพรหมบุรี วันทำพิธีกวนข้าวทิพย์มิได้กำหนดไว้เป็นที่แน่นอนมักจะทำกันในช่วงข้าวกำลัง เป็นน้ำนมโดยการปลูกปะรำพิธีแล้วใช้ด้ายสายสิญจน์วนรอบปะรำพิธี นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์แล้วให้หญิงสาวพรหมจารีย์นำเครื่องปรุงข้าว ทิพย์ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้9 สิ่งได้แก่ ถั่ว งา นม เนย น้ำตาล มะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และน้ำที่คั้นได้จากข้าวน้ำนมใส่ลงในกระทะที่ติดไฟด้วยฟื้นไม้ชัยพฤกษ์ และไม้พุทรา ขณะใส่ของต่างๆ ลงในกระทะพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง ย่ำกลอง จากนั้นจึงช่วยกันกวนข้าวทิพย์ใช้เวลากวนประมาณ 6 ชั่วโมง เสร็จแล้วตักใส่ภาชนะเตรียมถวายพระในวัดรุ่งขึ้น
การแข่งเรือยาวประเพณี การแข่งขันเรือยาวจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ริมเขื่อนหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งมีเรือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดต่างๆ ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นับเป็นงานประเพณีที่ตื่นเต้นสนุกสนานและเร้าใจ ตลอดจนได้เพลิดเพลินกับความสวยงามของเรือแต่ละลำที่ตกแต่งลวดลายและประชันฝีพายกันอย่างเต็มที่
งานเทศกาลกินปลาและงานกาชาดจังหวัดสิงห์บุรี จัดขึ้นประมาณปลายเดือนธันวาคมของทุกป ีเนื่องจากจังหวัดสิงห์บุรีมีลำแม่ลาเป็นลำน้ำธรรมชาติที่มีปลาชุกชุม และมีชื่อเสียงมากคือ ปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารจานเด็ดของสิงห์บุรี นอกจากนี้สิงห์บุรียังเป็นถิ่นกำเนิดของแม่ครัวหัวป่า ต้นตำรับอาหารคาว-หวาน ที่มีชื่อเสียง ดังนั้นงานเทศกาลกินปลา จึงเป็นที่รวบรวมอาหารรสเด็ดนานาชนิดของสิงห์บุรี
Source : tourismthailand.org