สถานที่ท่องเที่ยวในสิงห์บุรี

สถานที่ท่องเที่ยวสิงห์บุรี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสิงห์บุรี

อำเภอเมือง
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ จากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 3032) ประมาณ 4 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ ลักษณะแบบสุโขทัยมีความยาว 47.4 เมตร นอกจากนี้ยังมีพระกาฬและพระแก้ว ซึ่งเป็นพระศิลาลงรักปิดทอง และพระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชร อันศักดิ์สิทธิ์ และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ด้านหน้าพระอุโบสถมีต้นสาละลังกาใหญ่ ต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาผลิดอกบานสะพรั่งหลายต้น เปิดให้เข้าชมและ นมัสการทุกวัน
วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตหมู่บ้านพลับ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่าวัดหัวเมือง สันนิษฐานว่า สถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ภายหลังมีการเสริมแต่ง เป็นสถาปัตยกรรม แบบอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแแ0ต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วย อิฐย่อมุมทรงปรางค์ มีกลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียง-รายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรม แบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
ศาลากลางจังหวัดและศาลจังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่บนถนนวิไลจิตต์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทรงยุโรป สร้างขึ้นในปี ร.ศ. 130 มีความสวยงามและมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมาก และศาลจังหวัดสิงห์บุรีสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 129 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานที่สำคัญ ของชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2533
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี วัดนี้ยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และยังสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว แบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชุด คือชุดศึกใหญ่ ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลพ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุญจำบัง นอกจากนี้ยังมีเรือหางยาวอันเก่าแก่ที่เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือของจังหวัดสิงห์บุรี เช่นเรือหงษ์ทอง ที่ทางวัดได้เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชมอีกด้วย
วัดประโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระบือ อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีไปตามเส้นทางสิงห์บุรี – ชัยนาท (สายเก่า) ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ ที่มีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ พุทธลักษณะ งดงามศิลปแบบสุโขทัยขนาดใหญ่ 2 องค์ คือ หลวงพ่อทรัพย์ และหลวงพ่อสิน ซึ่งมีพุทธ ลักษณะที่งดงาม เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
วัดกระดังงาบุปผาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลบางกระบือ อยู่เลยจากวัดประโชติการามไปเล็กน้อย มีโบสถ์รูปทรงสมัยใหม่ที่งดงามไม่เหมือน โบสถ์แห่งไหน สร้างอยู่บนฐานศาลาการเปรียญหลังเก่า และวัดนี้ยังมีเจดีย์โบราณทรงระฆังคว่ำคล้ายเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้น ฐานเป็นชั้น มีซุ้มทรงระฆังตั้งแต่ปล้องไฉนขึ้นไป เจดีย์องค์นี้นับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดที่มีอยู่ในสมัยเดียวกันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้ว
นอกจากนี้ด้านหน้าเจดีย์ยังมีวิหารเก่าแก่หลังคามุมด้วยกระเบื้องดิน บานประตูโบสถ์เป็นไม้แกะสลักลวดลายสวยงามมาก

อำเภอพรหมบุรี
วัดกุฎีทอง ตั้งอยู่หมู่ 3ในเขตตำบลบางน้ำเชี่ยว บริเวณกิโลเมตรที่ 17 จากตัวเมืองบนเส้นทางสาย 32 ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 400 เมตร ในวัดมีมณฑปลักษณะเหมือนเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดและภายในมณฑปนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทโลหะจำลองไว้เป็นที่เคารพสักการะ นอกจากนั้นในบริเวณวัดกุฎีทองยังมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวไทยพวน ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่างๆ ของชาวไทยพวน เครื่องมือทำนา ดักสัตว์ จับปลา ตลอดจนยวดยานพาหนะต่างๆ ทั้งทางบกทางน้ำเป็นของเก่าแก่ไว้ให้ชมอีกด้วย ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ พระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง และ น.อ. เถลิง อินทร์พงศ์พันธุ์ ผู้ดูและรักษาศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านวัดกุฎีทอง ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี หรือ ติดต่อคุณวลัยวรรณ สุทธิโพธิ์ ในเวลาราชการ โทร (036) 512230 เสาร์-อาทิตย์ โทร (036) 511902
วัดพระปรางคมุนี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ประมาณกิโลเมตรที่ 8 (ทางไปอำเภอพรหมบุรี) ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือชาวบ้านเขียนโดยนายเพ็ง คนลาว เมื่อราวปี พ.ศ. 2462 แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนรก สวรรค์ แต่ยังคงความงดงามไม่แพ้ที่อื่น
คูค่ายพม่า ตั้งอยู่หมู่ 1 บ้านเจดีย์หัก ตำบลบ้านแป้ง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 13 กิโลเมตร ตามหลวงหมายเลข 32 เป็นแหล่งชุมชนโบราณ มีลักษณะเป็นเนินดินแนวยาวรูปร่างคล้ายตัว L กว้างประมาณ 5-15 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2127 ครั้งที่พม่ายกกองทัพมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราเพื่อรวบรวมกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยามาเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

อำเภอค่ายบางระจัน
อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันและอุทยานค่ายบางระจัน อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3032 มีพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ เป็นสวนรุกขชาติพักผ่อนหย่อนใจ และมีอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง 11 คน ซึ่งสร้างโดยกรมศิลปากร ปรากฏสวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในสวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2308 ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลาถึง 5 เดือน จึงเอาชนะได้เมื่อวันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2309 ค่ายบางระจันในปัจจุบันได้สร้างจำลองโดยอาศัยรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง
วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง ตั้งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจัน ได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านพม่าที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2308 ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณมีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น และชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย ในบริเวณวัดมี “วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ” ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่งของชาวบ้านบางระจัน และใกล้ๆ กันก็มี “สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ” มีปลาอยู่ชุกชุมเพราะชาวบ้านถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์จึงไม่จับไปรับประทาน ส่วนหน้าวัดได้มีการจำลองค่ายบางระจันตามประวัติศาสตร์ไว้ด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498

อำเภออินทร์บุรี
วัดสุทธาวาส หรือ วัดใหม่ ตั้งอยู่ตำบลทับยา เลยจากวัดกระดังงาบุปผารามไปประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภออินทร์บุรีประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีวิหารหลังเก่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระจุฬามณี วาดด้วยช่างฝีมือชั้นครู ด้านทิศตะวันตก เป็นภาพตอนพระพุทธองค์ทรงออกบรรพชา ทิศเหนือเป็นภาพตอนผจญมาร ทิศตะวันตกเป็นภาพตอนพระพุทธองค์ฉันอาหารที่นายจุนนะถวาย ทรงประชวรแล้วเสด็จไปประทับ ณ ต้นรังคู่ เสด็จสู่ปรินิพพาน ทางทิศใต้ คือเรื่องราวของการถวายพระเพลิง การแจกจ่ายพระอิฐธาตุแก่เหล่ากษัตริย์และเทวดา บนหน้าบันเป็น ภาพบรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าลอยในน้ำ นับเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามและมีคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง
วัดโบสถ์ ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท (สายเก่า) ประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวง เดิมเป็นวัดร้างมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระอุโบสถเป็นเพียงแห่งเดียวที่สร้างโดยใช้รางรถไฟเป็นแกนกลาง และที่น่าสนใจคือการแกะสลักบานประตูหน้าต่างโบสถ์ โดยช่างที่มีฝีมือแกะสลักของเมืองสิงห์บุรี คือช่างชื่น หัตถโกศล ภายในโบสถ์มีพระประธานที่เก่าแก่ พุทธลักษณะที่งดงามมาก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโบสถ์ มีโบราณวัตถุที่สำคัญและเป็นที่รวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เช่น โบราณวัตถุที่ขุดพบได้จากแหล่งโบราณบ้านคูเมือง เครื่องประดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ พัดยศ เครื่องถ้วยศิลปะไทย-จีน เครื่องดนตรีไทย พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ เป็นต้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรีนี้จะเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท
เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ในเขตตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวอำเภอตามเส้นทางสายอินทร์บุรี-ชัยนาท ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร เข้าไปตามทางแยกวัดหนองสุ่มอีกประมาณ 8 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน กว้าง 650 เมตร ยาว 750 เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู และเหรียญเงินมีคำจารึกว่า ”ศรีทวาราวดีศวรปุญยะ” แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัย อยู่ในบริเวณนี้ติดต่อ กันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมืองปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติมีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม
วัดม่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรีริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนสายเอเซีย ห่างจากตัวตลาดอินทร์บุรีมีทางเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณปี พ.ศ. 2365 เดิมนั้นมีต้นมะม่วงอยู่มากจึงเรียกว่า “วัดม่วง” ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่เป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ามีมุขยื่นออกมาที่หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่างๆ ในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีรูปฐานสิงห์ มีฐานบัวขนาดใหญ่รองรับ เพดานประดับด้วยลายเขียนรูปดาว มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้านสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตลอดจนแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมของสังคมโบราณในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

อำเภอบางระจัน
วัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) ตั้งอยู่หมู่ 7 บ้านโคกหม้อ ตำบลเชิงกลัด ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรค์บุรี ประมาณ 16 กิโลเมตร ห่างจาก ตลาดชัณสูตร ประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดมีพระปรางค์ศิลปแบบอยุธยา สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์ปรางค์สูง ประมาณ 15 เมตร ก่อด้วยอิฐแบบปรางค์ไทยสูงชะลูดคล้ายฝักข้าวโพด ฐานเตี้ยภายในกลวงมีคูหาสี่เหลี่ยมจตุรัสบนผนังคูหา และร่องรอยภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังมีวิหารเก่าแก่แบบอยุธยา หน้าบันเป็นลายแกะสลักไม้รูปตัวสิงห์และคันทวยต่างๆ มีภูเขาและรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขา นอกจากนั้นยังปรากฎร่องรอยของเตาเผาแม่น้ำน้อยประมาณ 3-4 เตา วัดพระปรางค์ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวัดที่ 8 มีนาคม 2478
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ที่ขุดได้บริเวณแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สามารถชมได้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิค อันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 ประมาณ9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลา คำว่า “แม่ลา” เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลา โดยรอบ ๆ บริเวณอาคารทางการได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนผู้แวะเข้ามาเยี่ยมชม

อำเภอท่าช้าง
วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารไปประมาณ9 กิโลเมตร ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยโมเสดทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค รอบ ๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่าง ๆ ด้านหนึ่งของวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ และเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีสวนธรรมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศสงบร่มรื่น

Source : tourismthailand.org