กิจกรรมสุราษฎร์ธานี

ข้อมูลกิจกรรมสุราษฎร์ธานี

 ประเพณีชักพระหรือลากพระ จัดขึ้นในวันออกพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) แต่ละวัดจะทำบุษบกหรือพนมพระ ตกแต่งอย่างสวยงาม ตรงกลางบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ตามคติทางพุทธศาสนาแล้วให้ประชาชนลากไป เมื่อเสร็จพิธีลากพระ (ทั้งบนบกและในน้ำ) จะนำพระไปทำความสะอาดแล้วมีพิธีสงฆ์สมโภชพระลากในตอนค่ำ โดยจะมีพระสงฆ์มาเทศน์เกี่ยวกับการเสด็จของพระพุทธเจ้า จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่โลกมนุษย์
งานวันเงาะโรงเรียน จัดขึ้นประมาณต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อนำผลิตผลเงาะโรงเรียน และผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ มาแสดงและจำหน่าย

กีฬาพื้นเมือง
กีฬาชนควาย ที่เกาะสมุยมีลักษณะคล้ายกับกีฬาชนวัวของจังหวัดสงขลา จะจัดขึ้นในโอกาสที่มีงานมงคล หรือ เทศกาลต่างๆ เช่นตรุษสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่

ของฝากจากสุราษฎร์ธานี
ไข่เค็มไชยา ที่อำเภอไชยา เป็นไข่เค็มที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป การทำไข่เค็มไชยา ใช้ไข่เป็ดจากอำเภอไชยา มีไข่แดงมากและไม่คาวเหมือนไข่เป็ดทั่วไป จากนั้นเอาดินจากจอมปลวกมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะที่ละเอียด แยกเอากรวด ทราย ออกให้หมด คลุกด้วยน้ำและเกลือให้ดินค่อนข้างเหนียว แล้วเอาดินนี้หุ้มไข่เป็ด หลังจากนั้นนำไปคลุกกับขี้เถ้าแกลบ แล้วนำมาบรรจุหีบห่อเพื่อจำหน่าย มีฉลากบอกระยะเวลาไว้ว่าเมื่อใดเหมาะสำหรับทอดไข่ดาว เมื่อใดเหมาะสำหรับต้ม
ขนมจั้ง นิยมทำกันมากในอำเภอไชยา ประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำ และน้ำด่าง โดยนำข้าวเหนียวแช่น้ำด่างประมาณ 3-5 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบไผ่แนะ แล้วนำจั้งไปต้มจนกว่าจะสุก รับประทานกับน้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิก็ได้
ผ้าไหมพุมเรียง เป็นงานหัตถกรรมที่ทำกันในหมู่บ้านไทยมุสลิม เข้าใจว่าแต่เดิมคงเป็นพวกแขกที่อพยพ หรือถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี พร้อมๆ กับช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช บ้างก็สันนิษฐานว่า ไทยมุสลิมที่พุมเรียงอาจจะเป็นชาวปัตตานี เพราะอารยธรรมสูงกว่าที่อื่น แล้วมาอาศัยอยู่ที่ตำบลพุมเรียง การทอผ้าพุมเรียง ชาวบ้านไม่ได้เลี้ยงไหมเอง ไหมที่ใช้ทอเป็นไหมจากญี่ปุ่น และสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ นิยมทอผ้าด้วยกี่กระตุก ลวดลายต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นของชาวบ้านพุมเรียง มี 5 ลาย ได้แก่ ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลาบดอกโคม ลายนพเก้า และลายยกเบ็ด
หมวกพุมเรียง หมวกพุมเรียงเป็นงานหัตถกรรม ที่ชาวพุมเรียงทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าทำกันมากในกลุ่มของชาวพุทธ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา การทำหมวกพุมเรียงทำจากวัสดุหลายอย่างด้วยกันคือ ปอแก้ว ใบลาน หรือใบตาล ลักษณะของหมวกพุมเรียงที่แปลกไปจากหมวกสานของที่อื่นคือ การสานจะเป็นลักษณะเส้นยาวก่อนแล้วจึงนำมาเย็บเป็นรูปทรงหมวกภายหลัง ซึ่งหมวกลักษณะนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า หมวกรานี
ผลิตภัณฑ์จากใบยางพารา ที่อำเภอบ้านนาสาร ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผีเสื้อ ดอกไม้ เป็นต้น มีจำหน่ายที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอบ้านนาสาร สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านนาสาร โทร. 0 7734 1110
ผลิตภัณฑ์จากกระจูด โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน มีผลิตภัณฑ์หลายแบบ เช่น กระเป๋า หมวก แฟ้มใส่เอกสาร
หอยขาวพุมเรียง เป็นอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยา สามารถหาบริโภคได้เฉพาะที่พุมเรียงเท่านั้น
หอยนางรม หอยนางรมสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักบริโภคว่า สด ตัวใหญ่ รสหวาน เนื้อในขาว มีคุณค่าทางอาหารสูง หอยนางรมเริ่มเพาะเลี้ยงประมาณปี 2504 ทดลองเลี้ยงที่แหลมซุย อำเภอไชยา ต่อมาได้เพาะเลี้ยงที่บริเวณปากคลองท่าทอง และปากคลองกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ หอยนางรมมี 2 ชนิดคือ ชนิดพันธุ์เล็ก เรียกว่าหอยเจาะ ชนิดพันธุ์ใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม ลักษณะเป็นหอย 2 ฝา พบทั่วไปบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง หอยนางรมจะออกวางไข่ตลอดปี แต่จะมีมากในเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หอยนางรมจะวางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 1-9 ล้านฟอง
เงาะพันธุ์โรงเรียน ของอำเภอนาสารเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรสชาติหวานและกรอบ ผลโต เนื้อแห้ง เปลือกบาง
ขนมจีน เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของสุราษฎร์ธานีอีกชนิดหนึ่ง หารับประทานได้ง่ายบริเวณตลาดวัดไทร ในตอนกลางคืน
ขนมจิ้นแด้ เป็นขนมที่ทำจากแป้ง ปั้นเป็นลูกกลม ๆ ข้างในมีไส้ถั่วเหลืองนำไปทอดและคลุกงา รสชาติอร่อย หาซื้อได้บริเวณตลาดวัดไทรในช่วงตอนกลางคืน
สะตอ เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะที่อำเภอคีรีรัฐนิคม จะมีมากในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

Source : tourismthailand.org