สถานที่ท่องเที่ยวในอ่างทอง

สถานที่ท่องเที่ยวอ่างทอง

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอ่างทอง

อำเภอเมือง
• ศาลหลักเมือง ของจังหวัดอ่างทองอยู่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน (ศาลหลักเมืองแห่งแรกที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังคือ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ) ภายในศาลมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสวยงามมาก ศาลหลักเมืองอ่างทองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดนี้ไม่ควรพลาดการไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองแห่งนี้
• วัดอ่างทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด ชื่อ วัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามว่า วัดอ่างทอง วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
• วัดมธุรสติยาราม ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เลยสี่แยกสายเอเชียเข้าอ่างทองไปประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาเข้าปั้มน้ำมันไปประมาณ 30 เมตร เดิมชื่อวัดกุฏิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประคำทองซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเก่ามาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญเหลือให้เห็นคือ กำแพงแก้วพระอุโบสถเจดีย์และวิหาร ซึ่งวางจัดกลุ่มได้เหมาะสม มีรูปทรงที่งดงาม พระอุโบสถเจดีย์เป็นรูปโค้งสำเภาก่อ
อิฐถือปูนกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร หลังคาสูง 6 เมตรมุงด้วยกระเบื้องดินเผา สิ่งที่เป็นศิลปะชั้นเยี่ยมของพระอุโบสถได้แก่ หน้าบัน ทางด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถเป็นหน้าบันไม้แกะสลักลายอย่างวิจิตรพิศดาร เป็นลายดอกบัวอยู่กลาง ก้านขด ปลายลายเป็นช่องหางโต แปลกตรงที่ลายดอกบัวมีลักษณะคล้ายจะเป็นเทพนมอยู่ยอดดอกบัว
• วัดจันทรังษี ตั้งอยู่ที่บ้านนา หมู่ 9 ต.หัวไผ่ มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า หลวงพ่อโยก และวัดจันทรังษี กำลังดำเนินการก่อสร้างพระวิหารหลวงพ่อสดซึ่งองค์หลวงพ่อสดเป็นพระพุทธรูปโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร องค์ใหญ่ที่สุดในโลก
• วัดต้นสน อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งมีชื่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ ขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรก และมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง
• วัดราชปักษี อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกจากอำเภอเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกแต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานว่าเป็น พระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยาเดิมองค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เป็น วัดที่น่าไปเที่ยวชมและนมัสการยิ่งวัดหนึ่ง
• วัดสุวรรณเสวริยาราม อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกในท้องที่ตำบลตลาดกรวด จากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนคลองชลประทาน 3 กิโลเมตร ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดองค์พระยาวประมาณ 10 วา และยังมีโบราณวัตถุต่างๆที่มีอายุราว 100 ปี
บ้านทรงไทยจำลอง ส่วนประกอบบ้านทรงไทย เครื่องเรือนไม้ตาล ตามเส้นทางสายอยุธยา-ป่าโมก และตำบลโพสะ เป็นแหล่งทำส่วนประกอบของบ้านทรงไทยแบบต่างๆ ด้วยฝีมือเชิงช่างที่ละเอียดอ่อนเชี่ยวชาญสืบทอดจากบรรพบุรุษอันคงความเป็นเอกลักษณ์แบบไทย นอกจากนี้ยังมีบ้านทรงไทยจำลองและสินค้าเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ตาลประเภทต่างๆจำหน่าย

อำเภอป่าโมก
• วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง หมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา ภายในวัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจาก พระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจาก กระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง และนำไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาด ห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ นอกจากพระพุทธไสยาสน์และตัวพระวิหารแล้วยังมี วิหารเขียน มณฑปพระพุทธบาท 4 รอยเป็นต้น
• วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดท่าสุทธาวาส ประมาณ 200 เมตร ตามถนนเลียบคลองชลประทาน หากเดินทางมาจากอยุธยาตามเส้นทาง อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือห่างจากอยุธยาประมาณ 15 กิโลเมตร วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2242 เดิมชื่อวัดสระแก เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีเด็กอยู่ในความดูแลมาก จึงได้จัดตั้งคณะลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้วเพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวัดแห่งนี้ ภายในวัดสระแก้วยังมีอาคาร“สามัคคีสมาคาร” ซึ่งเป็นอาคารศูนย์โครงการทอผ้าตามพระราชประสงค์ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2524 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กระทรวงอุตสาหกรรม ภายในอาคารมีสินค้าผ้าทอคุณภาพดีเช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศูนย์วัฒนธรรมอำเภอป่าโมก ภายในมีสาธิตการทอผ้า การทำเครื่องประดับเงิน การปั้นตุ๊กตาชาววัง เป็นการเผยแพร่งานฝีมือของชาวอำเภอป่าโมกซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและมีจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ทั้งสองแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. (035) 661169 หรือที่โรงเรียนวัดสระแก้วโทร. (035) 661950-1
• วัดท่าสุทธาวาส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกเขตตำบลบางเสด็จ หากใช้เส้นทางสาย อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงตัวจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กิโลเมตร หากมาจากกรุงเทพฯห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 14 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ สมัยอยุธยาตอนต้นในเวลาศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ สร้างพระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณ และโบราณวัตถ ุต่างๆ รวมทั้งสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ส่วนภายในพระอุโบสถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเรียนในโครงการศิลปาชีพเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณวัดแห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และทัศนียภาพสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
• ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 จากอยุธยาไปประมาณ 16 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือ เข้าสู่บ้านบางเสด็จ อยู่ติดกับวัดท่าสุทธาวาส ตำบลนี้เดิมชื่อบ้านวัดตาลต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ผู้ประสบอุทกภัยในปีพ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ
โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2519 เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังสามารถชมการปั้นตุ๊กตาชาววังจากบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง นอกจากนี้มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์โดยมีศูนย์กลาง อยู่ที่หน้าวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังพร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมดินเหนียว ที่สวยงามแสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยต่างๆเช่น การปั้นเป็นรูปการละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิดซึ่งล้วนมีความสวยงามน่ารักและเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง
• หมู่บ้านทำกลอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลองได้แก่ ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว เราสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึง กลองขนาดใหญ่เช่น กลองทัด ซึ่งเราจะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงามและยังสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน
• อิฐอ่างทอง เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศไทย ส่วนมากจะใช้ในการทำอิฐโชว์แนวประดับอาคาร บ้านเรือน ผู้สนใจจะติดต่อซื้อได้จากโรงอิฐโดยตรง เฉพาะที่อำเภอป่าโมกจะมีโรงอิฐมากกว่า 42 แห่ง

อำเภอไชโย
• วัดไชโยวรวิหาร ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฏร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีความสำคัญขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโต องค์เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณ วัดแห่งนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นในปี พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่าง การลงรากพระวิหาร ทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร สูง 22.65 เมตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” มีการจัดงานฉลองซึ่งนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้น องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสาย ติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามหันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามสมบูรณ์ยิ่ง
• วัดสระเกศ วัดนี้เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กิโลเมตร ตำบลชัยภูมินี้เดิมชื่อ บ้านสระเกศ ขึ้นอยู่กับแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสระเกศ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถได้รุกไล่ตีทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จนแตกพ่าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเคยเสด็จพระราชดำเนินมาวัดสระเกศ เมื่อปีพ.ศ. 2513 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชวัดโพธิ์หอม (วัดป่าหัวพัน) ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ (ตำบลโตนด) อยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-สิงห์บุรี แล้วมีทางแยกเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะเริ่มสร้างเป็นวัดใหม่เมื่อประมาณ 10 ปี สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ รูปพรหมสี่หน้าปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวน 2 เศียรที่ขุดได้ภายในวัด ประดับอยู่บนพานด้านหน้าฐานพระอุโบสถเดิม ลักษณะศิลปะเป็นแบบขอม ซึ่งเดิมอาจใช้เป็นส่วนยอดของประตูวัดหรือพระอุโบสถเหมือนกับที่พบว่าใช้เป็นยอดของประตูพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา

อำเภอโพธิ์ทอง
วัดขุนอินทประมูล อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทยมีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนมานานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์
ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯในปีพ.ศ. 2421 และ 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปีพ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูล ยังมีโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ด้านหน้าพระนอนมีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูล ซึ่งตามประวัติเล่ากันว่า เป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่า เอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดขุนอินทประมูล
การเดินทางไปสามารถใช้เส้นทางได้ 3 สายคือ สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง 3064) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 8 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร
หมู่บ้านจักสาน งานฝีมือจักสานอันลือชื่อของอ่างทองส่วนมากจะเป็นฝีมือของชาวอำเภอโพธิ์ทอง แทบทุกครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในละแวกเดียวกัน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสาน เครื่องหวาย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เช่น กลุ่มตำบลองครักษ์ กลุ่มตำบลบางเจ้าฉ่า กลุ่มตำบลบางระกำ กลุ่มตำบลพลับ และกลุ่มตำบลอินทประมูล เป็นต้น
บ้านบางเจ้าฉ่า ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงคลองชลประทานยางมณี จากนั้นเลี้ยวขวาเลียบคลองไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปตามทางเข้าวัดยางทอง แหล่งหัตถกรรมจะอยู่บริเวณหลังวัด ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือน และได้พระราชทาน คำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ งานจักสานของบ้านบางเจ้าฉ่านี้มีความประณีตสวยงามเป็นพิเศษ และสามารถพัฒนางานฝีมือตามความต้องการของตลาด ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าจนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ
ศูนย์เจียระไนพลอย อยู่ในบริเวณเดียวกับแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่บางเจ้าฉ่า เป็นศูนย์รวมการเจียระไนพลอยของหมู่บ้านและมีพลอยรูปแบบต่างๆ ที่สวยงามเป็นจำนวนมาก
ศูนย์ผลิตเครื่องใช้ประดับมุก อยู่ที่วัดม่วงคัน ตำบลรำมะสัก มีการผลิตเครื่องใช้ประดับมุกฝีมือประณีตซึ่งมีทั้งชุดโต๊ะเครื่องแป้ง แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น ในบริเวณนั้นมีการทำหัตถกรรมในครัวเรือนอีกหลายแห่งเช่นกัน
วัดโพธิ์ทอง อยู่ที่บ้านโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด ตรงข้ามทางเข้าบ้านบางเจ้าฉ่า ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทองประมาณ 9 กิโลเมตร นามวัดโพธิ์ทองในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นวัดที่กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) เสด็จมาผนวช วัดโพธิ์ทองแห่งนี้ รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาประทับร้อนเมื่อคราวเสด็จประพาสลำน้ำน้อย ลำน้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ. 2459
พระตำหนักคำหยาด อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร บนถนนสายเดียว สภาพปัจจุบันมีเพียงฝนัง 4 ด้าน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรมเช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดง ปูพื้นกระดาน ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าเมื่อ พ.ศ.2451 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบายไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อจำพรรษาเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้วพระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่าไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดังนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน ขณะที่กรมขุนพรพินิต(ขุนหลวงหาวัด) ผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทอง และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานไว้แล้ว
ค้างคาวแม่ไก่วัดจันทาราม วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นจึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ค้างคาวแม่ไก่และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ค้างคาวแม่ไก่เหล่านี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีดำพรืดมองเห็นแต่ไกลซึ่งผู้สนใจสามารถจะไปชมได้ในทุกฤดูกาล
วังปลาวัดข่อย อยู่บริเวณแม่น้ำน้อยหน้าวัดข่อย หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์รังนก อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ก็จะพบป้ายวังปลาวัดข่อย จากนั้นเลี้ยวขวาลัดเส้นทางคลองส่งน้ำชลประทานไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ปลาที่วัดข่อยนี้มีจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยพระครูสุกิจวิชาญ (หลวงพ่อเข็ม) เป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ต่อมาในปีพ.ศ. 2528 พระครูสรกิจจาทรเป็นเจ้าอาวาสได้ปรับปรุงสถานที่และร่วมกับสำนักงานประมงอำเภอโพธิ์ทองประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษามิให้ปลาถูกรบกวน ปัจจุบันมีปลานานาชนิดอาศัยอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัวเช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาเทโพ ปลาแรด ปลาบึก ฯลฯ ทางวัดมีอาหารปลาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับการให้อาหารปลา มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มไว้บริการ
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดข่อยยังมี มณฑป วิหาร เจดีย์ พระอุโบสถ กุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญไม้สักทรงไทยโบราณเสา 8 เหลี่ยม ใต้ถุนศาลาการเปรียญเป็นที่เก็บของเก่าประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงโบราณจากกรุงวอชิงตัน นาฬิกาโบราณจากปารีส และตู้พระไตรปิฎกไม้สักสมัยรัชกาลที่ 5จากจีน มีเรือประเภทต่างๆเช่น เรือบด เรือแจว เรือสำปั้นและเรือประทุน มีเปลกล่อมลูกแบบโบราณ มีเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำนาได้แก่ เกวียน ล้อ คันไถ อุปกรณ์เครื่องมือการจับสัตว์น้ำ ไซดักปลา และชาวบ้านยังมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตข้าวซ้อมมือขึ้นเป็นสหกรณ์เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน

อำเภอแสวงหา
บ้านคูเมือง อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไผ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากค่ายบางระจันเพียง 3 กิโลเมตรเศษ ที่บ้านคูเมืองนี้นักโบราณคดีได้สำรวจพบซากเมืองโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนสมัยทวาราวดี มีร่องรอยเหลือเพียงคูเมืองขนาดกว้างกับเนินดิน ขุดพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา กระดูกสัตว์ ลูกปัดและหินบดยา
วัดบ้านพราน ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏแต่ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพระพุทธรูปศิลาแลงที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบที่วัดบ้านพรานเพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร พระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อไกรทอง” เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการะบูชา
วัดยาง อยู่ในท้องที่ตำบลห้วยไผ่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ยังคงมีซากโบราณสถานให้เห็นคือ พระอุโบสถซึ่งมีฐานโค้ง พระพุทธรูปศิลาทราย พระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดและใบเสมาหิน ห่างไปทางทิศใต้ของวัดประมาณครึ่งกิโลเมตรมีเนินดินซึ่งเคยพบพระเครื่องจำนวนมาก จากการที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านบางระจันมากนัก จึงสันนิษฐานว่า บริเวณนี้คงเป็นสถานที่ซ่อนสมบัติของมีค่าของคนไทยในสมัยนั้น
สวนนกธรรมชาติ อยู่ในบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านริ้วหว้า ตำบลบ้านพราน ระยะทางห่างจากจังหวัดอ่างทอง 24 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหา 18 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าที่บ้านตำบลหนองแม่ไก่ ถึงโรงเรียนหนองแม่ไก่แล้วเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดริ้วหว้าซึ่งมีนกท้องนาปากห่าง นกกระสา นกกาน้ำ นกกระเต็น นกอีเสือ ฯลฯ บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์และหาชมได้ยากในท้องถิ่นอื่น

อำเภอวิเศษชัยชาญ
วัดม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพาน ระยะทางจากจังหวัดถึงวัดม่วง ประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกลีบบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ มีแดนเทพเจ้าไทย แดนนรก แดนสวรรค์ และแดนเทพเจ้าจีนซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้
อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 ตามเส้นทางสายศรีประจันต์-วิเศษชัยชาญ เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ทั้งสองท่านยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปีพ.ศ. 2310 อนุสาวรีย์แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520
วัดเขียน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง อยู่ที่หมู่ 8 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ใกล้กับวัดวิเศษชัยชาญห่างจากอำเภอเมือง 12 กิโลเมตร ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝาผนังที่งดงามแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะภาพคล้ายกับภาพเขียนในพระอุโบสถวัดเกาะและวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
วัดอ้อย เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ห่างจากวัดเขียนไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถมีลักษณะสวยงามคล้ายกับพระอุโบสถวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ของวัดอ้อย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้เปิดบ้านสำหรับให้ที่พักพิงแก่เด็กมีปัญหา เด็กเร่ร่อนติดยา หรือเคยประพฤติผิดกฏหมายชื่อว่า “บ้านเด็กใกล้วัด” เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้สัมผัสธรรมชาติและมีพระสงฆ์คอยช่วยเหลือบำบัดทางด้านจิตใจ
วัดสี่ร้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า “หลวงพ่อโต” ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยาที่มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่ง

อำเภอสามโก้
อำเภอสามโก้ อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 25 กิโลเมตร แม้เป็นอำเภอเล็กๆ ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอวิเศษชัยชาญ ได้ยกฐานะเป็นอำเภอและเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2508 ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ปรากฏในพงศาวดารว่า เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพจากด่านเจดีย์สามองค์ผ่านเข้ามาตั้งค่ายพักแรมก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถเคยเสด็จนำทัพหลวงผ่านบ้านสามโก้แห่งนี้เพื่อทรงทำสงครามยุทธหัตถี ที่ตำบลตระพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน สามโก้เป็นอำเภอที่น่าสนใจมากอำเภอหนึ่งในแง่ประเพณี และศิลปะพื้นบ้าน กล่าวคือ สามโก้มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทำนาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรด้านอื่นเช่น การทำนาบัว การทำสวนมะพร้าวพันธุ์ดี และการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเกษตรกรรู้จักพัฒนาอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณจนสามารถทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้สามโก้ยังเป็นถิ่นแดนของเพลงพื้นเมืองที่มีพ่อเพลงและแม่เพลงที่มีบทบาทในการฟื้นฟูการละเล่นและอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอีกด้วย

Source : tourismthailand.org