สถานที่ท่องเที่ยวในแพร่

สถานที่ท่องเที่ยวแพร่

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวแพร่

อำเภอเมือง
• วัดหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ ซอย 1 ตำบลในเวียง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ วัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซม หลายยุคหลายสมัย สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ วิหารหลวงพลนคร วิหารเก่าแก่สร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือพระเจ้าแสนหลวง สร้างโดยเจ้าเมืององค์หนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2057
• พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี
• พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ เป็นสถานที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี และโบราณวัตถุต่าง ๆ ของเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมี คุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณ
• หอวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย
• วัดพระนอน อยู่ใกล้วัดหลวงบนถนนพระนอนเหนือ มีพระอุโบสถแบบเชียงแสนคือไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็นช่องรับแสงแทน ส่วนหน้าบันแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายก้านขด มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ ส่วนวิหารตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นยาว 9 เมตร ลงรักปิดทองตลอดองค์
• วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนเจริญเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2498 โดยรวมวัดโบราณ 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง ปัจจุบันวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด และมี พระเจดีย์มิ่งเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ภายใน และเป็นที่ตั้งของมูลนิธิยาขอบอนุสรณ์เพื่อระลึกถึง “ยาขอบ”หรือนายโชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นทายาทเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย
• หลักเมืองจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิมย่านกลางเมือง เป็นหลักใหม่สร้างตามนโยบายมหาดไทย ปี 2535 ตั้งอยู่คู่กับหลักศิลาจารึกเก่า ที่กล่าวถึง การสร้างวัดศรีบุญเริง สมัยรามคำแหงมหาราช ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้ไม่มีแล้วกลายเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัด อักษรบนจารึกเป็นภาษาไทยอาหม
• บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น) ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 13 ตำบลป่าแมต ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 (แพร่-ลอง) สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง โดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ มีเนื้อที่ถึง 1 ไร่เศษ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย 15 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท นอกจากนี้ผู้เข้าชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. (054) 511008, 511282
• บ้านวงศ์บุรี ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ เป็นบ้านของเจ้าพรหมเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยช่างชาวจีน จากมณฑลกวางตุ้ง เป็นบ้านแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูง ทรงปั้นหยา 2 ชั้น ฐานก่ออิฐถือปูน สูงจากพื้น 1 เมตร มีลวดลาย เถาว์ไม้แกะสลักประดับ ตัวบ้านอยู่ทั่วไป เช่น หน้าจั่ว ช่องลม ชายน้ำ ประตู หน้าต่าง ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูล ที่ถ่ายทอดกัน มาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส บ้านวงศ์บุรีได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536 ของสมาคม สถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้เป็นสถานที่ถ่านทำภาพยนต์เรื่องหยุดโลกเพื่อเธอ, เจ้านาง และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย ราคา 15 บาท ชาวต่างประเทศ ราคา 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (054) 620153
• วัดสระบ่อแก้ว ตั้งอยู่บนถนนน้ำคือ ริมคูเมือง สร้างขึ้นสมัยเดียวกับวัดจอมสวรรค์ เดิมชื่อ วัดจองกลาง เป็นวัดศิลปะแบบพม่าที่สวยงามแปลกตา ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนทรงเครื่องแบบพม่า สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดารมาก วัดแห่งนี้ยังเป็นที่จำพรรษา ของพระสงฆ์พม่า ที่เดินทางเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศไทย
• วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในอารามแสดงให้เห็นฝีมือการตกแต่ง อย่าง วิจิตรบรรจง เพดาน และเสาฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม โบราณวัตถุภายในวัด ได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สาน เป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบาง ๆ เขียนลงรักแดง จารึกเป็นอักษรพม่า และยังมี บุษบก ลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน
• หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง ตั้งอยู่ที่ถนนยันตรกิจโกศล ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (สายแพร่-น่าน) เป็นแหล่งผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าม่อฮ่อมดั้งเดิมของจังหวัดแพร่
• วนอุทยานแพะเมืองผี ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำชำ ใช้เส้นทางหลวงสายแพร่-น่าน ทางหลวงหมายเลข 101 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร แพะเมืองผีอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดิน และหินทรายถูกกัดเซาะตามธรรมชาติเป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ เช่น ดอกเห็ด หน้าผา ดูแล้วแปลกตา ชื่อ แพะเมืองผี น่าจะมาจากภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวงอาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว สถานที่แห่งนี้ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524
• น้ำตกแม่แคม หรือ น้ำตกสวนเขื่อน อยู่ในเขตตำบลสวนเขื่อน จากสี่แยกบ้านทุ่งข้ามสะพานข้ามคลองแม่สาย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายป่าแดง-ทุ่งโฮ้ง 4 กิโลเมตร จะมีป้ายแยกทางไปน้ำตกแม่แคมอีก 12 กิโลเมตร น้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 2 ชั้น น้ำไหลแรงตลอดปี สภาพทั่วไปเป็นป่า เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินป่า
• น้ำตกตาดหมอก หรือ น้ำตกแม่คอย อยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 3 ชั้น สวยงามมาก แต่ต้องเดินทางเท้าเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตร
• วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ที่ตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข 1022) เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลัวะอ้ายก๊อม พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี
• วัดพระธาตุจอมแจ้ง อยู่ในท้องที่ตำบลช่อแฮ เลยพระธาตุช่อแฮไป 1 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดราว 10 กิโลเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 1331 ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง องค์พระธาตุจอมแจ้งสีทอง สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร เดิมเรียกว่า พระธาตุจวนแจ้ง เนื่องจากสมัยที่พระพุทธองค์เสด็จถึงสถานที่นี้จวนสว่างพอดี ต่อมาเพี้ยนเป็นจอมแจ้ง เชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า ที่นี่มีศาลาเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ตำบลป่าแดง หรือพิพิธภัณฑ์ของจังหวัด รวบรวมสิ่งของโบราณที่หาดูได้ยาก
• คุ้มเจ้าหลวง อยู่ที่ถนนคุ้มเดิม ปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารที่หรูหราสง่างาม และโอ่โถง คือ มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ รอบตัวอาคารประดับด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่รองรับฐานเสาทั้งหลัง ห้องกลางเป็นห้องทึบแสงสว่างส่องเข้าไปไม่ได้ ใช้เป็นที่คุมขังทาส บริวารที่ทำผิดร้ายแรง ส่วนห้องทางปีกซ้าย และขวามีช่องพอให้แสงส่องเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิดขั้นลหุโทษ คุ้มเจ้าหลวงเคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15–17 มีนาคม 2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบัน และสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2536 เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าชมล่วงหน้า ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ หรือติดต่อทางโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าได้ที่ สำนักงานจังหวัดแพร่ โทร. (054) 511411
• อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 101 พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ รับราชการระหว่าง พ.ศ. 2440-2445 ในปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวในเมืองแพร่ก่อการกบฏ ท่านถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย เนื่องจากไม่ยอมลงนามยกเมืองแพร่ให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทหารมาปราบพวกเงี้ยว แล้วสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระยาไชยบูรณ์เป็นอนุสรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชฤทธานนท์พหลพลภักดี
• พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแพร่-สูงเม่น ประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณเดียวกับสวนอาหารบ้านฝ้าย ถนนยันตรกิจโกศล เป็นสถานที่จำลองชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบอาคารบ้านเรือน และของใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00–22.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (054) 523114

อำเภอสูงเม่น
• ตลาดหัวดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ถนนสายแพร่-สูงเม่น เส้นทางหลวงหมายเลข 101 เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และหวาย เช่น เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ
• วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง อยู่ที่ตำบลดอนมูล เลี้ยวซ้ายที่บ้านหัวดงเข้าไป 700 เมตร มีเจดีย์เก่าศิลปะสุโขทัย ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุเนิ้ง” มีความหมายว่า เอียง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง

อำเภอเด่นชัย
• วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ห่างจากอำเภอเด่นชัย 10 กิโลเมตร สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ ศาลาพิพิธภัณฑ์สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังรูปทรงล้านนา ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุมีค่าของหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้มากมาย เช่นพระพุทธรูปต่าง ๆ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือ และภาพเหตุการณ์ในอดีตต่าง ๆ

อำเภอลอง
• อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 112,500 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา และหน้าผาสูงเป็นแหล่งกำเนิดของลำธาร ลำห้วยไหลลง สู่แม่น้ำยม สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณมีพันธุ์ไม้ที่สวยงาม เช่น จันทน์ผา กล้วยผา กล้วยไม้ดิน และสมุนไพร สัตว์ป่าที่พบ เช่น เลียงผา หมี เก้ง ไก่ป่า หมูป่า ชะมด และนกชนิดต่าง ๆ ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 20 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 1023 ระหว่างกิโลเมตรที่ 19–20 สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
ภูเขาหินปะการัง อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 18–19 ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก และการชะล้างพังทลายของหินที่ใช้เวลาหลายล้านปี มีลักษณะคล้ายปะการัง มีสถานที่พักแรม และสถานที่กางเต็นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว
• สวนหินมหาราช ขึ้นอยู่กับป่าไม้เขตแพร่ จากแพร่ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 เส้นทางสายแพร่-ลอง สวนหินมหาราชอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 ทางซ้ายมือ เป็นบริเวณกว้างโล่ง มีก้อนหินขนาดใหญ่วางเรียงอยู่ มีศาลาพักผ่อนสำหรับนักท่องเที่ยว และมีบริการบ้านพักรับรองไว้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข่าวอุทยานฯ จังหวัดแพร่ โทร. (054) 522097
• แก่งหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปาน ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 11 ประมาณ 63 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีโขดหินใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ในแม่น้ำยม ซึ่งเมื่อน้ำไหลมาปะทะจะเกิดฟองฝอยสาดกระเซ็นสวยงาม เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมนั่งแพ และล่องแก่ง
• ถ้ำเอราวัณ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับแก่งหลวง เป็นถ้ำที่สวยงามที่สุดของจังหวัดแพร่ มีความลึกประมาณ 200 เมตร ภายในถ้ำมีห้องโถงกว้าง มีหินงอก หินย้อยอยู่ทั่วไปรูปร่างคล้ายช้างเอราวัณ และหญิงอุ้มท้องตามตำนานของถ้ำแห่งนี้
• วัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดห้วยอ้อ” อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1078 คราวพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป และมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า ที่ทำจากไม้เรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” ตลอดจนคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งเก็บไว้ในหอไตรของวัด
• หมู่บ้านทอผ้าตีนจก ผ้าตีนจกของอำเภอลองเป็นงานฝีมือที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีความประณีตสวยงาม ทอด้วยผ้าไหม และผ้าฝ้าย โดยเน้นสีดำแดงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านนาตุ้ม บ้านหัวทุ่งบ้านนามน

อำเภอวังชิ้น
• อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ของอำเภอลอง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 256,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2524 ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ตามยอดเขาสูงมีป่าสน และทุ่งหญ้า เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ และลำห้วยหลายสาย เช่น แม่เกิ้ง แม่จอก แม่สิน มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น หมูป่า ไก่ป่า หมี อีเห็น เสือโคร่ง เลียงผา และนกชนิดต่าง ๆ อุทยานฯ นี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 68 กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 จากตัวจังหวัด เมื่อเลยอำเภอเด่นชัยไป 10 กิโลเมตร แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 11 เส้นทางสายแพร่-ลำปาง ไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอำเภอวังชิ้น เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาไปที่ทำการอุทยานฯ อีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
• น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง และแม่เกิ๋งน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ คล้ายขั้นบันไดลงมาจากดอยแม่เกิ๋ง คำว่า “แม่เกิ๋ง” เป็นภาษาพื้นเมือง หมายถึง “ขั้นบันได” น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง ห่างจากที่ทำการฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนน้ำตกแม่เกิ๋งน้อยต้องเดินเท้าจากที่ทำการฯ ไปประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกทั้งสองสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านสบเกิ๋ง อำเภอวังชิ้น นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่สิน น้ำตกแม่จอก น้ำตกแม่ป้าก น้ำตกแม่รัง น้ำตกขุนห้วย เป็นต้น
• บ่อน้ำร้อนแม่จอก ตั้งอยู่ในเขตบ้านแม่จอก หมู่ 5 ตำบลแม่ป้าก การเดินทาง ไปตามเส้นทางสายลอง-วังชิ้น ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ราว 3 กิโลเมตร จนกระทั่งเข้าเขตบ้านแม่จอก จะพบโรงเรียนแม่จอกอยู่ขวามือ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนจะมีบ่อน้ำแร่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในเนื้อที่กว้างประมาณ 10 ไร่ เป็นบ่อน้ำแร่กำมะถันที่ร้อนจัดถึง 80 องศา ในตอนเช้าจะมีหมอกควันที่เกิดจากไอน้ำลอยอยู่เต็ม ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีเรือนพักสำหรับนักท่องเที่ยว แต่หากต้องการตั้งแคมป์พักแรมในป่า จะต้องนำเต็นท์ หรือเปลสนามไปเอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติ เวียงโกศัย ตู้ปณ. 1 อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ 54160 หรือที่ศูนย์ข่าวอุทยานฯ จังหวัดแพร่

อำเภอหนองม่วงไข่
• ถ้ำจำปู อยู่ที่ตำบลน้ำรัด ห่างจากตัวเมืองแพร่ 17 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร ปากถ้ำกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 40 เมตร ลึก 40 เมตร ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ ลักษณะคล้ายโรงละครกลางแจ้ง มีอุโมงค์เชื่อมไปยังมุมต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นห้องโถงประมาณ 6-7 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องมีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป มีหินงอกหินย้อยคล้ายเกล็ดแก้วระยิบระยับสวยงาม

อำเภอร้องกวาง
• พระธาตุปูแจ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเวียง ห่างจากอำเภอร้องกวาง 20 กิโลเมตร มีงานนมัสการพระธาตุ หรืองานขึ้นพระธาตุตรงกับวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
• น้ำตกตาดซาววา อยู่ห่างจากตัวเมือง 35 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงสวยงามมาก อยู่ในเขตอำเภอร้องกวาง ทางคมนาคมเข้าไปยังลำบากอยู่ และต้องเดินเท้าเข้าไปชม
• ถ้ำผานางคอย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง (ทางหลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 800 เมตร ถึงหน้าถ้ำผานางคอย ตัวถ้ำอยู่บนหน้าผาสูง 50 เมตร เป็นอุโมงค์ลึกยาว 150 เมตร กว้าง 10 เมตร ลักษณะของถ้ำโค้งงอเป็นข้อศอกไปทางซ้าย และทางขวาเป็น 3 ตอนด้วยกัน ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยลักษณะต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเกล็ดหินประกายระยิบระยับ หรือเป็นชะง่อนหินยาวถึงพื้นถ้ำ สุดทางของถ้ำมีก้อนหินรูปร่างคล้ายหญิงสาวนั่งอุ้มลูกน้อยรอคอยคนรัก ชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า “หินนางคอย” ตามตำนานพื้นบ้านของถ้ำแห่งนี้ เบื้องหน้าของหินนางคอยมีหินย้อย ลักษณะคล้ายรูปหัวใจดูแปลกตาสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวแพร่
• น้ำตกห้วยโรง หรือ น้ำตกห้วยลง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเหนือ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 ถนนสายแพร่-ร้องกวาง ถึงกิโลเมตรที่ 78 เลี้ยวซ้ายอีก 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความสูง 2 ชั้น สภาพโดยรอบเป็นป่าโปร่งร่มรื่น

อำเภอสอง
• พระธาตุพระลอ อยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเหนือประมาณ 45 กิโลเมตร การเดินทาง ไปตามเส้นทางหลวงหมาย 101 ประมาณ 24 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 อีกราว 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสองใช้เส้นทางหมายเลข 1154 จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตรถึงพระธาตุพระลอ (พระธาตุหินล้ม) เป็นพระธาตุที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 400 ปี มีสถูปบรรจุพระอัฐิของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพงหันหน้าไปทางแม่น้ำกาหลง (แม่น้ำสอง)โดยกรมศิลปากร เป็นอนุสรณ์สถานของนครแมนสรวง และเมืองสรวงที่จูงใจให้น้อมรำลึกถึงความรักอมตะของพระลอ และพระเพื่อน พระแพง โดยรอบบริเวณตกแต่งเป็นสวนสาธารณะร่มรื่นสวยงาม
• อุทยานลิลิตพระลอ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ในเส้นทางไปพระธาตุพระลอสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมือง สรองมาก่อนเพราะยังปรากฏเนินดินเป็นแนวกำแพงให้เห็น มีแม่น้ำกาหลงไหลผ่าน ปัจจุบันแม่น้ำนี้ได้ตื้นเขินไปแล้วจนเกือบไม่เหลือสภาพเดิม
• พิพิธภัณฑ์เงินตราสยามเวียงสรอง อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 103 ตรงหลังกิโลเมตรที่ 14 ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ 39 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ของครอบครัวอุปวรรณ ที่เก็บรวบรวมเงินตรา และเหรียญกษาปณ์ต่าง ๆ ของไทยตลอดจนเงินสกุลอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบันที่หายากไว้มากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเครื่องใช้วัตถุโบราณ เช่น ถ้วยชามสังคโลก และเอกสารต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนละ 30 บาท หากเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (054) 634237, 634395
• อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ของอำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภองาว จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 284,218 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2529 ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสองฝั่งแม่น้ำยม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางเดียวกับพระธาตุพระลอ เมื่อถึงอำเภอสอง เดินทางไปตามเส้นทางสายสอง-งาว (สายเก่า) ประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางจากแพร่ถึงอุทยานฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ทางรถประจำทาง นักท่องเที่ยวสามารถเหมารถประจำทางได้ที่ตลาดในอำเภอเมืองแพร่ หรือจะเหมารถได้ที่ตัวตลาดอำเภอสองไปยังอุทยานฯ แม่ยม สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
• ดงสักงาม ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 6 กิโลเมตร ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น ลักษณะเป็นกลุ่มของดงไม้สักทองที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 20,000 ไร่ ตามริมฝั่งแม่น้ำยม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีขนาดสูงใหญ่ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีดอกสักสีเหลืองอร่ามบานอยู่ทั่วบริเวณดูร่มรื่น
• แก่งเสือเต้น อยู่หน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจากลักษณะธรรมชาติของหินก้อนหนึ่งในแก่งนี้ ซึ่งมีลักษณะรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ บริเวณแก่งเสือเต้นมีหาดทรายอยู่ทั่วไป เหมาะแก่การกางเต็นท์เพื่อสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง เสียค่าพื้นที่คนละ 50 บาท/คืน และที่แก่งเสือเต้นนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การล่องแก่ง จัดในราวเดือนตุลาคม-มกราคม (นักท่องเที่ยวจะต้องนำอุปกรณ์การล่องแก่งมาเอง) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข่าวอุทยานจังหวัดแพร่ โทร. (054) 522097
• หล่มด้ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 120 เมตร อยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำตลอดปี เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น มีลักษณะที่แปลก คือ ไม่มีต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ และน้ำในบึงก็ไม่เคยเพิ่ม หรือลดลง สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการสะสมของน้ำฝน หรือน้ำซับ และบริเวณใกล้เคียงกันมีดงต้นตะแบก มีลานสำหรับกางเต็นท์ มีจุดชมทิวทัศน์ป่าสักที่งดงาม และชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก
• ช่วงฤดูที่เหมาะสมจะมาท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงน้ำหลากในแม่น้ำยม และทางคมนาคมไม่สะดวก ทางอุทยานฯ ได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์สำหรับผู้ที่นำเต็นท์ไปเอง และมีเรือนแพของเอกชนในแม่น้ำยมไว้บริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติ แม่ยม ตู้ ปณ. 4 อำเภอสอง จังหวัดแพร่ 54000 โทร. (054) 522097

Source : tourismthailand.org