ข้อมูลท่องเที่ยวนครราชสีมา
เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน
จังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า “โคราช” เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ ผู้มาเยือนจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติที่งดงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดก โลก สนุกสนานไปกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณ เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้ความรู้ด้านการเกษตรจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งยังได้อิ่มอร่อยกับอาหารอีสานต้นตำรับ และเลือกซื้อหาสินค้าเกษตรและหัตถกรรมพื้นบ้าน ในดินแดนที่เปรียบเสมือนเป็นประตูสู่ภาคอีสานแห่งนี้ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย จังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุดที่ เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งของชาวเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบัน
จังหวัดนครราชสีมามีเนื้อที่ประมาณ 20,494 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,808,728 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีทั้งบริเวณที่สูงทางตอนกลาง พื้นที่ลูกคลื่นและที่ราบลุ่มทางตอนเหนือ และบริเวณเทือกเขาและที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัด อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลไปทางตะวันออกของภูมิภาค มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำลำเชียงไกร ลำแซะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง และลำปลายมาศจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดนครราชสีมา ทำให้เชื่อได้ว่าบริเวณนี้เคยมีชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็ยังคงความเจริญรุ่งเรืองมาตลอดตั้งแต่ สมัยทวารวดี โดยมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองเสมา เป็นเมืองใหญ่อยู่ในบริเวณที่เป็นอำเภอสูงเนินในปัจจุบันต่อมาในสมัยขอม เรืองอำนาจ มีการสร้างเมืองโคราฆะปุระ หรือเมืองโคราช ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง และมีเมืองพิมายเป็นเมืองใต้ปกครองที่สำคัญ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราฆะปุระมาผูกกันเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “เมืองโคราช” โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร และเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ได้ก่อการกบฏ ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อนพลเมืองกลับไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น ได้คิดอุบายแสร้งทำกลัวและประจบเอาใจทหารลาว จนกระทั่งเมื่อขบวนเชลยถูกกวาดต้อนมาหยุดพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตอำเภอพิมาย เมื่อสบโอกาส คุณหญิงโมก็นำทัพชาวเมืองโจมตีกองทหารเวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป วีรกรรมอันหาญกล้าของคุณหญิงโมในครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือและสรรเสริญไปทั่ว ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์ให้คุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญระหว่างภาค ตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาขึ้นเป็นมณฑลแรกของประเทศ เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียงปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็น เมืองศูนย์ราชการที่สำคัญรองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ของภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรบหลักของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วยจังหวัด นครราชสีมาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอจักราช อำเภอโชคชัย อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง อำเภอขามสะแกแสง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอประทาย อำเภอปักธงชัย อำเภอพิมาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอชุมพวง อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง อำเภอหนองบุญมาก อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอโนนแดง อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองยาง อำเภอบัวลาย อำเภอสีดา อำเภอเทพารักษ์ อำเภอพระทองคำ และอำเภอลำทะเมนชัย
- ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการล่องแก่งลำตะคอง คือ ประมาณเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สายน้ำสวยงามและมีปริมาณน้ำเหมาะสมกับการล่องมากที่สุด
- สำหรับกิจกรรมล่องแก่ง นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบระดับน้ำในลำน้ำในช่วงเวลานั้นๆ ก่อนออกเดินทาง เนื่องจากในบางช่วงของฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในลำน้ำอาจสูงและไหลเชี่ยวจนเกินไป ไม่สามารถลงล่องแก่งได้ สามารถสอบถามโดยตรงได้จากโรงแรมที่พัก หรือผู้ประกอบการนำล่องแก่งที่คุณใช้บริการ
- ข้อปฏิบัติในการล่องแก่ง คือ ควรละเว้นการดื่มสุราและของมึนเมาในขณะลงล่องแก่ง สวมชูชีพและหมวกกันน็อกตลอดเวลา และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของไกด์นำทางโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย
- อุทยานแห่งชาติฯ ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานฯ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
- ตลอดสองข้างทางในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มักจะเจอฝูงลิงป่าอยู่เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวไม่ควรให้อาหารลิงป่าโดยเด็ดขาด