สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน

สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนที่ราบสูงซึ่งร่ำรวยด้วยโบราณสถานที่บ่งบอก เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น ปราสาทหิน ผาแต้ม ฯลฯ มากมายด้วย วัฒนธรรมน่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีแหล่งธรรมชาติอันงดงามด้วยรูปลักษณ์เฉพาะตัว เช่น กลุ่มหินเทิบ เกาะแก่งกลางลำน้ำโขง ฯลฯ ไม่ว่าใครไปเยือนแล้ว เป็นต้องประทับใจสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปท่อง เที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรารวบรวมข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวทุกจังหวัดมาไว้ที่นี่แล้ว เพียงคุณคลิกที่ชื่อจังหวัดซึ่งอยู่ด้านล่างนี้ ก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของจังหวัด จำนวนประชากร ขนาดพื้นที่และอาณาเขต การเดินทาง ที่พัก สถานที่ที่น่าสนใจ อาหารและเครื่องดื่ม กิจกรรมที่น่าสนใจ งานเทศกาลและประเพณีที่สำคัญ ทัวร์และแพ็กเกจทัวร์ ข้อเสนอพิเศษ ช็อปปิ้ง อย่างครบครัน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร เป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างมากที่สุด ประกอบด้วย 19 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูง มีอากาศร้อนจัด และหนาวจัด พื้นดินไม่เก็บน้ำจึงมีสภาพแห้งแล้ง พื้นที่อันกว้างขวางจึงเป็นป่าดงและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาเมื่อได้มีโครงการชลประทานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคนี้กลับกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งที่สองรองจากภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในวงกระหนาบของประเทศลาวและเขมร การติดต่อกับประเทศลาวทำได้สดวกตลอดแนวชายแดน เพราะมีเพียงลำน้ำโขงกั้นอยู่ และประชาชนเป็นชนเผ่าเดียวกันกับไทย ส่วนทางเขมรนั้น ทิวเขาพนมดงรักกั้นอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ การติดต่อถูกจำกัดอยู่ตามช่องทางต่าง ๆ ผ่านเขาที่สูงชัน และเป็นแนวยาวตลอด
ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายปากปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ โดยมีทิวเขาเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพระยาเย็น และทิวเขาสันกำแพงอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ทิวเขาพนมดงรักอยู่ทางด้านทิศใต้ มีภูเก้าและภูพานอยู่ทางด้านทิศเหนือ และเชื่อมต่อกับทิวเขาเลยมามาพบทิวเขาพนมดงรัก พื้นที่โดยทั่วไปสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 140 - 200 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเอียง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 50 เมตร ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นน้อย ๆ เนื้อดินเป็นดินปนทราย และเกือบไม่มีดินตะกอนอยู่เลย
ภูมิประเทศ ทั้งภาคยกตัวสูงเป็นขอบแยกตัวออกจากภาคกลางอย่างชัดเจน ประกอบด้วยเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เทือกเขาทิศตะวันตก มีความสูงเฉลี่ย 500-1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูหลวง มีความสูง 1,571 เมตร และภูกระดึงสูง 1,325 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย แม่น้ำพรม แม่น้ำชี และลำตะคอง
ทางด้านทิศใต้มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างภาคอีสานของไทย กับกัมพูชา และลาว มีความสูงเฉลี่ย 400-700 เมตร ยอดเขาเขียวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ทางตอนใต้ สูงประมาณ 1,292 เมตร
ส่วนตอนกลางของภาคมีเทือกเขาภูพานทอดตัวจากเหนือลงสู่ทิศใต้ แบ่งภาคอีสานออกเป็น 2 ส่วน คือ แอ่งโคราช คือ บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคอีสานทั้งหมด แอ่งสกลนคร คือบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาภูพาน และบริเวณที่ราบลุ่มน้ำโขง
การค้นพบโครงกระดูก และรอยเท้าไดโนเสาร์บนแผ่นหินทรายที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือแม้แต่ภาพเขียนของมนุษย์โบราณตามผนังถ้ำ รวมทั้งวัฒนธรรมบ้านเชียง และซากโบราณวัตถุมากมาย ทำให้การขุดค้นหาร่องรอย อารยธรรมในอดีตของดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีต ชุมชนต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นรัฐ โดยมีแหล่งชุมชนโบราณจำนวนมาก กระจายอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและลุ่มแม่น้ำมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งนิยมทำคูน้ำคันดินเป็นวงรี หรือวงกลมรอบเมือง นิยมตั้งเมืองใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกในการชักน้ำเข้ามาเก็บในคูเมือง และกลุ่มวัฒนธรรมขอม ที่ผังเมืองมักจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีการขุดบารายไว้เป็นแหล่งน้ำในเมือง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบใหญ่ตอนใจกลางของแหลมทอง หรืออินโดแปซิฟิค มีทิวเขาเป็นกรอบล้อมรอบพื้นที่อยู่เกือบทุกด้าน จึงมีสภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่แยกออกจากภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยมีทิวเขา และป่าใหญ่กั้นไว้ มีลำน้ำโขงกั้นอยู่ทางเหนือและทางตะวันออก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว
ประวัติศาสตร์ ในสมัยโบราณภาคนี้เคยเป็นอาณาจักรขอมก่อนที่จะตกมาเป็นของไทย ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีชนชาวเขมร และส่วยปะปนอยู่กับชนชาติไทย ทางตอนใต้ของภาค ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออก มีชนชาวเวียตนามเข้ามาปะปนอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีชาวเวียตนาม อพยพเข้ามาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีชนชาติอยู่ทั่วไปทั้งที่เป็นจีนแท้ และลูกผสม
เมื่อประมาณ พ.ศ. 1100 พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจินละ หรืออิศานปุระ ส่วนพวกละว้าก็ถอยร่นไปทางทิศเหนือ เมื่อขอมแผ่อิทธิพลและมีอำนาจครอบครองดินแดนเดิมของละว้าแล้ว ขอมได้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ภาค โดยตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองบังคับ บัญชาขึ้น 3 เมือง คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองพิมาย (อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองสกลนคร แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช เท่าเทียมกัน และปกครองบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนครวัด อันเป็นราชธานีของขอม ซึ่งอยู่ในดินแดนเขมร อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดี ที่แพร่ขยายครอบคลุม ดินแดนอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 หลังจากนั้นอาณาจักรขอมได้ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน โดยมีอิทธิพลสูงมากในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18