ข้อมูลท่องเที่ยวยโสธร

ข้อมูลท่องเที่ยวยโสธร

เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

จังหวัดยโสธรเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำชี เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตภาคอีสานตอนล่าง มีชื่อเสียงในการทำบั้งไฟจนได้ชื่อว่า “เมืองบั้งไฟ” ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองเกษตรกรรม โดยเฉพาะเป็นแหล่งปลูกข้ามหอมมะลิที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศยโสธรมี ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และด้วยบรรยากาศของเมืองที่มีความสงบเงียบและเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมือง อีสานที่ความเจริญในด้านต่างๆ ยังมีไม่มากนัก ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้จึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาว อีสานดั้งเดิม และวัฒนธรรมพื้นบ้านอันงดงามบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองปัจจุบัน

จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.6 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 54 ของประเทศ พื้นที่ทางตอนบนส่วนใหญ่ เป็นที่ราบสูง สลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น ทางตอนใต้เป็นที่ราบต่ำสลับซับซ้อน มีแม่น้ำชีไหลผ่าน และมีหนองบึงกระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำชี ลำน้ำทวน ลำโพง และลำน้ำยังยโสธรเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วม กับจังหวัดหนองบัวลำภูและ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองขึ้นในราวปี พ.ศ. 2314 เมื่อพระเจ้าตาของเจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวและบริวารมาตั้งเมืองใหม่ ชื่อ “เมืองหนองบัวลุมภู” ต่อมาเมื่อสิ้นเจ้าพระวอ เจ้าคำผงผู้น้องและบริวารจึงอพยพขึ้นมา ตามลำน้ำมูลถึง ห้วยแจระแม แล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ภายใต้ปกครองของสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองดังกล่าวนี้ว่า "เมืองอุบล" และเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล หลังจากนั้นเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องของ เจ้าคำผง พร้อมกับไพร่พลและญาติอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า ซึ่งมีเจ้าคำสูปกครองอยู่ และได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งปี พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และพระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่า "พระสุนทรราชวงศา" เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร ส่วนชื่อเมือง "ยศสุนทร" นี้ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ยะโสธร" มีความหมายว่า "ทรงไว้ซึ่งยศ" และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น "ยโสธร" และใช้มาจนปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองยโสธรถูกรวมเข้าอยู่ในหัวเมือง ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อมาได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรก็ถูกรวมเข้ากับเมืองอุบล จนกระทั่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 จึงได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็น “จังหวัดยโสธร” โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ของจังหวัดอุบลราชธานี ออกรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515ปัจจุบันจังหวัดยโสธรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม อำเภอค้อวัง อำเภอทรายมูล และอำเภอไทยเจริญ

ทิปส์ท่องเที่ยว
  • สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวย้อนยุค การไปเดินชมตึกรามบ้านช่องเก่าแก่ที่บ้านสิงห์ท่านับเป็นช่วงเวลาที่น่า ประทับใจ ในย่านนี้มีตึกแถวโบราณที่ยังคงความงดงามแม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน

ยโสธร มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเกี่ยวพันกับเมืองหนองบัวลุมภู "นครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน" (อดีตอำเภอหนองบัวลำภูจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) และเกี่ยวพันกับเมืองอุบล โดยประมาณปีพุทธศักราช 2314 พระเจ้าตา เจ้าพระวอ เสนาบดีเก่านครเวียงจันทน์ เกิดไม่พอใจเจ้านครคนใหม่ จึงได้อพยพครอบครัวและบริวารหนีมาตั้งรกรากใหม่ โดยใช้ชื่อเมืองใหม่ว่าเมือง หนองบัวลุมภู ส่วนพระเจ้าศิริบุญสาร ซึ่งเป็นเจ้านครเวียงจันทน์อยู่เกิดหวาดระแวงจึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระเจ้าตาถูกข้าศึกสังหารจนถึงแก่พิราลัยในที่รบ เจ้าพระวอ เจ้าคำผง และเจ้าฝ่ายหน้าผู้เป็นน้องทั้งสองของเจ้าพระวอ อีกทั้งเจ้าก่ำ เจ้าทิดพรมได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากเมืองหนองบัวลุมภูไปพึ่งพาเจ้านครจำปาศักดิ์ ขบวนทัพของเจ้าพระวอได้เดินทางตามลุ่มน้ำชีมาพักกับเจ้าคำสู ผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร ) ต่อมาเจ้าพระวอดำริว่าหากอยู่กับเจ้าคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบาก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่ดอนวังกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวง เจ้านครจำปาศักดิ์ โดยเจ้าพระวอให้ขุดคูสร้างค่ายขึ้นเรียกว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก"

ในปี พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกจนเจ้าพระวอถึงแก่ความตาย เจ้าคำผงน้องเจ้าพระวอและบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลเรียกว่า "ดอนมดแดง"แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสมที่จะสร้างเมืองจึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูลถึงห้วยแจระแม แล้วมาสร้างเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้งเมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่า "เมืองอุบล" เพื่อรำลึกถึงเมืองเดิมของตน(เจ้าคำผง) คือเมืองหนองบัวลุมภู จากนั้นเจ้าคำผงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล และได้รับพระราชทินนามว่า "พระปทุมสุรราช" ต่อมา เจ้าฝ่ายหน้าน้องพระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบล พร้อมกับนางอูสา ไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกตัวไปอยู่ บ้านสิงห์ท่า ซึ่งเจ้าคำสูปกครองอยู่ พระปทุมสุรราชไม่ขัดข้องจึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรือง จากเรื่องราวนี้ จังหวัดยโสธรจึงมีความเกี่ยวพันกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดอุบลราชธานี

ในพ.ศ. 2325 หลังจากที่เจ้าฝ่ายหน้าได้ไปช่วยปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วเขาโองที่นครจำปาศักดิ์ ตามใบบอกของพระปทุมสุรราช เจ้าฝ่ายหน้าจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา" ครองนครจำปาศักดิ์ตามบัญชาของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2354 เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้เจ้าหนู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์ ครองนครจำปาศักดิ์สืบไป ฝ่ายเจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศากลับมาอยู่บ้านเดิมคือบ้านสิงห์ท่า และได้นำเอาอัฐิของเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศากลับมาด้วย แนะนำมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ซึ่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองและพระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" (คำว่า "ยศสุนทร" ต่อมากลายเป็น "ยะโสธร" มีความหมายว่า "ทรงไว้ซึ่งยศ" แต่การเขียนหรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ยะโส" ไม่ไพเราะหู และไม่เป็นมงคลนาม ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยะโสธร (พ.ศ. 2500-2513) ได้มีหนังสือขอให้เขียนชื่อใหม่เป็น "ยโสธร" และได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของราชบัณฑิตยสถาน และใช้มาจนบัดนี้) โดยมีเจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมืองมีราชทินนามว่า "พระสุนทรราชวงศา" เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองยโสธร พ.ศ.2533 สมัยรัชกาลที่ 5ได้มีการจัดรูปการปกครองใหม่ มีการรวมหัวเมืองอีสานชั้นเอก โท ตรีและจัตวา เข้าด้วยกันเรียกว่า "กอง" สำหรับเมืองยโสธรถูกรวมเข้าอยู่ในหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีข้าหลวงตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบล ประกอบด้วยหัวเมือง 12หัวเมือง คือ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูแล่นช้าง กมลาไสย เขมราฐ นองสองคอนดอนดง ยโสธร และศรีสะเกษ ซึ่งขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พ.ศ. 2443 ได้ยุบเลิกมณฑลอีสาน เมืองยโสธรได้รวมเข้ากับเมืองอุบล โดยแยกออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอ คำเขื่อนแก้ว และอำเภอประจิมยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอยโสธร พ.ศ. 2494 กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มขอตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัด จนกระทั่งถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 จึงได้มีประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2515 โดยแยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ของจังหวัดอุบลราชธานี รวมกันเป็นจังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย