กิจกรรมสกลนคร

ข้อมูลกิจกรรมสกลนคร

งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มต่าง ๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งอย่างสวยงามประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่ง ขันกัน ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามของคุ้มวัดต่าง ๆ แห่ไปตามถนนในเขตเทศบาลไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารปราสาทผึ้งที่แต่ละ ขบวนนำมาจะมาตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ด้วยความศรัทธาของชาวอีสานที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลง มาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์
งานประเพณีแข่งเรือ จัดขึ้นร่วมกับงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 12-13 ค่ำ เดือน 11 ในน่านน้ำหนองหาร ซึ่งจัดเป็นประเพณีมาช้านานเป็นร่องน้ำสำหรับแข่งเรือมีอยู่ 2 แห่ง คือ หน้าสระพังทอง ทางทิศตะวันออก และท่านางอาบ บ้านท่าวัด นอกจากนั้นงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง และแข่งเรือจังหวัดสกลนคร จัดต่อเนื่องกับการจัดประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม
งานเที่ยวหนองหาน ชมภูพานเผ่าไทย ชิมข้าวหอมใหม่ไทสกล เป็นงานประจำปีของจังหวัดสกลนคร ที่จัดขึ้นหลังจากที่ได้มีการจัดงานฉลองเมืองสกลนคร 150 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยกำหนดจัดงานขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมของทุกปี มีกำหนดปีละ 7 วันบริเวณศาลากลางจังหวัดสกลนครในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันเปิดงานจะมีการแสดง ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ไทย (ภูไท) โส้ ย้อ โย้ย กะเลิง กะตาก ลาว ญวน และจีน เป็นต้น นอกจากนี้ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมประกอบงานต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การประกวดนางสาวสกลนคร การออกร้านแสดงนิทรรศการของส่วนราชการต่าง ๆ การประกวดศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน การจัดพาแลง การแสดงมหรสพต่าง ๆ การออกร้านกาชาด การจำหน่ายสินค้าราคาถูกของร้านค้าเอกชน เป็นต้น
งานเทศกาลโส้รำลึก เป็นงานประจำปีของชาวโส้ ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ การแสดงโส้ทั่งบั้ง จะเริ่มในตอนสายของวันขึ้น 4 ค่ำ ตามประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่อดีต เป็นการแสดงพิธีเยา (เชิญวิญญาณเข้าทรงคนป่วยลงสนามหรือแซงสนาม) และพิธีเจี้ยศาลารวมเข้ากันเพื่อให้เกิดรูปขบวนที่สวยงามเป็นจังหวะสอดคล้องกับ เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ดีดสีตีเป่าเข้ากับท่วงท่ารำของสาวโส้ ที่มาร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก ชาวโส้ถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ในบริเวณงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านนานาชนิดให้แก่ผู้ไปเที่ยวชมในราคาถูก การคมนาคมสะดวก รถยนต์เข้าถึงบริเวณงาน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร
งานเซิ้งผีโขน เป็นงานประเพณีของชาวบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ในงานจะมีขบวนของชาวบ้านแต่งชุดผีประเภทต่าง ๆ จำนวนมากแห่ไปตามถนนในหมู่บ้านตามขบวนแห่พระเวสไปยังวัดไฮหย่องเพื่อทำบุญอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ มีการแสดงท่ารำต่าง ๆ ของผีเป็นที่ครึกครื้น การคมนาคมสะดวก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 48 กิโลเมตร
รำมวยโบราณเป็นการต่อสู้ของนักมวยโบราณ มีลักษณะพิเศษคือ การใช้ฝ่ามือตบ หรือตีแทนการใช้หมัด แล้วถอยออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่นิยมคลุกวงใน เมื่อถอยออกมาแล้วนักมวยจะร่ายรำไปมาเพื่อหาโอกาสและจังหวะที่จะรุกเข้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเผลอตัว เทคนิคในการรุกการถอย การตอบโต้ของนักมวยโบราณมีหลายแบบ และถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกหัด การแสดงรำมวยโบราณจะเห็นได้ในขบวนแห่งานประเพณีของจังหวัด
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อยู่ในท้องที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ เดินทางไปตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ระยะทาง 84 กิโลเมตรถึงอำเภอสว่างแดนดิน แยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2091 และไปอีกประมาณ 23 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกมาก เป็นแหล่งผลิตศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้ และการทอผ้าไหม และมีห้องแสดงการปั้นเขียนสีและแสดงผลิตภัณฑ์ ฝีมือในการผลิต และออกแบบสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่นิยมใช้ของไทย ผลิตภัณฑ์จากศูนย์มักนำออกแสดงให้ชม และจำหน่ายในงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับสินค้าของที่ระลึกประจำจังหวัด รวมทั้งงานออกร้านในเทศกาลต่าง ๆ ในต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ทุกวันอังคาร-วันเสาร์
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร ตั้งอยู่ที่บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 126 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-พังโคน เมื่อถึงอำเภอพังโคนแล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 222 ถึงบ้านคำตากล้า จากนั้นแยกซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 2324 ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นที่ผลิต และฝึกอาชีพในด้านการทอผ้าไหม และผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ ตลอดจนการตีเหล็ก การแกะสลักไม้ ผ้าที่ทอจากศูนย์ฯนี้มีคุณภาพดีจึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ทางศูนย์ฯ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน
บ้านปั้นหม้อ อยู่ที่บ้านเชียงเครือ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม ทางหลวงหมายเลข 22 ชาวบ้านมีอาชีพนอกเหนือจากการทำนา คือ การปั้นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น โอ่ง หม้อ ไห กระถาง เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาในบริเวณหมู่บ้าน และตลอดสองข้างทางที่เดินทางสู่หมู่บ้าน
หมู่บ้านทอผ้าบ้านวาใหญ่ บ้านดอนแดง ในเขตอำเภออากาศอำนวย ทางหลวงหมายเลข 2094 อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 75 กิโลเมตร ผ้าที่ทอนั้นมีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าขิด เป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ และผลิตผลจากไม้ พร้อมทั้งมีฝีมือการทอที่ประณีตลวดลายสวยงาม
Source : tourismthailand.org