สถานที่ท่องเที่ยวในหนองบัวลำภู

สถานที่ท่องเที่ยวหนองบัวลำภู

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวหนองบัวลำภู

อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

• วัดถ้ำกลองเพล เป็นวัดป่าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ไป 13 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร
• เดิมสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยขอมเข้ามาครอบครองแผ่นดินแห่งนี้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.ใด ต่อมาเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2501 พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ได้อาศัย วัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้พื้นที่ที่เกิดจากหมู่ก้อนหินขนาดใหญ่ 3-4 ก้อน ที่มีหลืบและชะโงกหิน ก่อเป็นหลังคา คอนกรีตเชื่อมถึงกัน ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ สามารถจุคนได้หลายร้อยคน เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรม อยู่ที่นั่นจนกระทั่ง มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2526 ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีเนื้อที่กว้างขวาง ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ ป่าเขียว และสวนหินธรรมชาติ รูปร่างประหลาดดูสวยงามกลาดเกลื่อนวัด มีถ้ำซึ่งภายในถ้ำมีกลองโบราณสองหน้า หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า “กลองเพล” ภายในถ้ำมีรูปปั้นของหลวงปู่ขาว ตามซอกหินภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปัญฑรนิมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำหลักลงในก้อนหิน และมีพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าถ้ำกลองเพล จากวัดถ้ำกลองเพล ไม่ไกลนักมีถนนลาดยาง ลัดเลาะไปตามแนวป่าและหมู่ก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ก็จะถึงอนุสรณ์สถาน ของหลวงปู่ขาว ที่ประกอบด้วย
• พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่ขาว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาว ใช้เป็นที่ระลึกและ สักการะบูชาของ ศาสนิกชนทั่วไป
• กุฎิเก่าของหลวงปู่ขาว เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ตั้งอยู่กลางดงไม้ บรรยากาศร่มรื่น ส่วนกุฏิใหม่สร้างเป็นเรือนทรงไทยทันสมัยหลังใหญ่
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่ขาว สร้างขึ้นในรูปทรงของก้อนหินเรียงกัน 3 ก้อน เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศของวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเต็มไปด้วยสวนหิน รอบๆ บริเวณตกแต่งด้วยไม้ดอกและสนามหญ้าสีเขียวขจี ภายในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่านั่ง ห้องข้างๆ ยังมีเครื่องอัฐบริขาร ของหลวงปู่ขาวตั้งแสดงไว้ด้วย
• เจดีย์หลวงปู่ขาว เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อใช้บรรจุอัฐิหลวงปู่ขาว สร้างอยู่บนลานหินมีบันไดเป็นทางเดินขึ้นไปสู่องค์เจดีย์ มณฑปหลวงปู่ขาว อยู่วัดถ้ำกลองเพล โดยมีทางแยกทางซ้ายมือเข้าไปประมาณ 300 เมตร เป็นมณฑปจตุรมุขที่หลวงปู่ขาว สร้างไว้ครั้งยังมีชีวิตอยู่ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบ พิธีสังฆกรรม รอบๆ บริเวณ เงียบสงบและร่มรื่น เจดีย์หลวงปู่ขาวและมณฑปหลวงปู่ขาว
• ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพมาที่ตำบลหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ. 2117 เพื่อไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดี ที่กรุงศรีสัตตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทน์) เนื่องจากขณะนั้นไทยเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี แต่สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระประชวร พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะริมหนองบัว หน้าที่ว่าการอำเภอ เมืองหนองบัวลำภู ในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ทางจังหวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลอง และมีพิธีถวายสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ของสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช
• วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ ตั้งอยู่ริมถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 210 จากตัวเมืองไปทางจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนร่มรื่นไปด้วย ป่าไม้นานาพรรณ และโขดหินรูปต่างๆ บริเวณใกล้เคียงมีศาลเจ้า “ปู่หลุบ” ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวหนองบัวลำภู และผู้ที่เดินทางผ่านไปมา
• ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา อยู่ห่างจากทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ประมาณ 100 เมตร ศาลนี้สร้างขึ้น เพื่อให้ชาว หนองบัวลำภู ได้เคารพสักการะพระผู้สร้างเมือง ซึ่งหมายถึง พระวอ และพระตา อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ศาลหลักเมืองได้ประกอบพิธีวาง ศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 สร้างเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519
• ศูนย์หัตถกรรมปั้นหม้อบ้านโค้งสวรรค์ ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภูไปทางจังหวัดอุดรธานีประมาณ 17 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 210 เป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม
• ศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา ตั้งอยู่ที่บ้านนาล้อม ตำบลหัวนา ระยะทางห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ตามทางหลวงหมายเลข 228 สายหนองบัวลำภู-ศรีบุญเรือง ประมาณ 19 กิโลเมตร ก่อตั้งโดยแม่ชีทองเพชร ขันตีกลม ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นบ้านนาล้อม ศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วย แก้ปัญหาการอพยพแรงงานของคนหนุ่มสาวที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงหรือต่างถิ่น โดยรวบรวม กลุ่มผู้สนใจในอาชีพต่างๆ เข้ามาฝึกอบรมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ซึ่งมีหลายอาชีพ เช่น งานศิลปประดิษฐ์ กรอบรูปวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา ซ่อมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม งานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มีกฏระเบียบที่เคร่งครัด ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนต้องงดอบายมุขทุกชนิด การสอนเน้นวิชาชีพเป็นหลักแล้ว สอดแทรกจริยธรรมผสมผสานเข้าไป ศูนย์ฯ จะมีสวัสดิการเป็นอย่างดี เช่น มีที่พักและอาหารให้รับประทาน เมื่อเลิกปฏิบัติงานประจำวัน ต้องสวดมนต์ไหว้พระและศึกษาธรรมพื้นฐานทุกวัน นอกจากจะเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นฝีมือของสมาชิก
• การเดินทางไปศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลานั้น จากสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานี จะมีรถประจำทางอุดรธานี-ชุมแพ สาย 532 ออกทุกครึ่งชั่วโมง ไปลงที่หน้าศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา กิโลเมตรที่ 19 ระหว่างหนองบัวลำภู และอำเภอศรีบุญเรือง
• หนองบัว เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ อยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภู มีน้ำขังตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็นของชาวหนองบัวลำภู ด้านหลังของหนองบัวจะมองเห็นแนวเขาภูพานคำทอดยาวดูสวยงาม
• สุสานหอยล้านปี สภาพเป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงประมาณ 50 เมตร พบซากหอยดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิค มีอายุราว 140–150 ล้านปี ลักษณะเป็นรูปหอย อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จำนวนมาก ภายในบริเวณใกล้เคียงยังพบซากกระดูกจระเข้โบราณ เศษหินจาไมก้าและแร่ธาตุบางชนิดอีกด้วย การเดินทางนักท่องเที่ยว สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางสายหนองบัวลำภู-อุดรธานี ซึ่งจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านห้วยเดื่อ ต.โนนทัน อยู่ทางด้านซ้ายมือ และเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงบริเวณที่พบซากหอยโบราณ

อำเภอโนนสัง
• โนนวัดป่า เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสัง ห่างจากจังหวัดหนองบัวลำภูตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-อำเภอโนนสัง ประมาณ 20 กิโลเมตร ที่โนนวัดป่านี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่า ทั้งนี้เนื่องจากขุดพบพระพุทธรูปปางนาคปรกทำด้วยศิลา และมีร่องรอยโบราณ สถานโบราณวัตถุอยู่รอบบริเวณนั้น ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะขอม สมัยเรืองอำนาจ
• อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมพื้นที่ 322 ตารางกิโลเมตร โดยมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่นเชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 2 แห่ง คือ ภูพานคำและภูเก้า
• ภูพานคำ เป็นเทือกเขาทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ จากอำเภอเมืองหนองบัวลำภูจนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดขอนแก่น ภูพานคำเป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะพักแรมโดยเต็นท์ หรือที่บ้านพักของอุทยานฯ หรือที่ศาลาพักแรมของกรมประชาสงเคราะห์ บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งตกปลา ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดด้วย
• ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภู-เพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อนมาก มีป่าไม้และ สัตว์ป่านานาชนิด มีถ้ำ มีน้ำตก ลานหินลาดมากมาย มีหินลักษณะแปลกๆ คล้ายปราสาท ถ้ำพลาไฮมีภาพเขียนรูปฝ่ามือ และภาพแกะสลักของ มนุษย์ยุคก่อน ประวัติศาสตร์ มีศาลาบนยอดหินที่เรียกว่า หอสวรรค์ ไว้ชมวิว นอกจากนี้ยังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้า ซึ่งมีรอยเท้าคนและสุนัขขนาดใหญ่ สลักบนหินอัน เกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง” ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้ายังมีถ้ำมึ้ม และถ้ำอาจารย์สิม ซึ่งภายในถ้ำมีภาพเขียนสี และภาพสลักตามผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์
• การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ
เส้นทางที่ 1 ตามเส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากตัวเมืองขอนแก่นถึงตลาดอำเภออุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ต่อด้วยรถยนต์โดยสาร ประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
เส้นทางที่ 2 จากตัวเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
สถานที่พักติดต่อได้ที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 579-7223,579-5734
• แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านกุดคอเมยและบ้านกุดกวางสร้อย เป็นแหล่งที่ขุดค้นพบสิ่งของเครื่องใช้ โบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ ลักษณะของภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดดู่ บริเวณเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตก ส่วนแหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย ตั้งอยู่เชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก โบราณวัตถุประเภทเด่นๆ ที่ชาวบ้านขุดพบเป็นจำนวนมาก ที่แหล่งโบราณคดี ทั้งสองแห่งได้แก่ โครงกระดูกคน ภาชนะดินเผา กำไลสำริด กำไลหิน แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดแก้ว เป็นต้น จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่ง มีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเหมือนกันหรืออยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
• การเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านหนองแวงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร และแหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย ใช้เส้นทางการเดินทางเดียวกัน กับทางไป แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ถึงบ้านหนองแวงแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร

อำเภอนากลาง
• ถ้ำเอราวัณ เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีบันไดเรียงคดโค้งไปมา จากเชิงเขาเบื้องล่างขึ้นสู่ปากถ้ำกว่า 600 ขั้น มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อยู่บริเวณปากถ้ำ มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ที่เป็นสถานที่แห่งตำนานนิยายพื้นบ้านเรื่อง “นางผมหอม” มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำเอราวัณตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 ตามทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-เลย ประมาณ 45 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร

อำเภอสุวรรณคูหา
• ถ้ำสุวรรณคูหา ตั้งอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา บ้านคูหาพัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลนาดี ภายในถ้ำมีโบราณวัตถุ และรูปพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ประดิษฐาน อยู่ภายในถ้ำ การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-วังสะพุง แล้วแยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2097 ถึงอำเภอสุวรรณคูหา จากนั้นใช้ถนนพระไชยเชษฐาไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนบ้านดงยางนาตาแหลว แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร
• แหล่งโบราณคดีภูผายา ตั้งอยู่ทางเหนือของบ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ เป็นภูเขาหินปูนที่แยกตัวออกมาจากเทือกเขาภูพาน มีภาพเขียนสีสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ปรากฏตาม ผนังถ้ำเป็นจำนวนหลายส่วน ส่วนแรกบริเวณ “ถ้ำล่าง” พบกลุ่มภาพเขียนสีแดงบนผนังถ้ำผิวเรียบยาวประมาณ 5 เมตร ประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิต ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ส่วนที่สองคือ “ถ้ำบน” พบภาพเขียนสีแดงกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ ที่เห็นชัดเจนเป็นภาพสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน ภาพคน ภาพสัตว์เลื้อยคลาน ภาพโครงร่างสัตว์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นบริเวณถ้ำผายา ยังมีสำนักสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวบ้าน ตั้งอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าภาพเขียนถ้ำภูผายามีอายุระหว่าง 2,000-3,000 ปี ใกล้เคียงกับอายุของภาพเขียนที่ค้นพบที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ลักษณะภาพเขียนคล้ายคลึงกับที่พบที่ผาลาย มณฑลกวางสี ประเทศจีน
• การเดินทางไปแหล่งโบราณคดีภูผายา จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-วังสะพุง จากนั้นแยกขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2097 ถึงอำเภอสุวรรณคูหา แล้วใช้รถโดยสารประจำทางท้องถิ่นสายอำเภอสุวรรณคูหา-บ้านนาเจริญ

Source : tourismthailand.org