สถานที่ท่องเที่ยวในอุดรธานี

สถานที่ท่องเที่ยวอุดรธานี

ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอุดรธานี

อำเภอเมือง
สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี หนองประจักษ์เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า“หนองนาเกลือ” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานี ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อมปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะมีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น แต่ละวันจะมีประชาชนเข้าไปพักผ่อนและออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก
วัดโพธิสมภรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งสร้างวัด ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหม่ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้
วัดมัชฌิมาวาส ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดเดิมหรือวัดเก่า ในวิหารเล็กๆ ภายในวัดมีพระพุทธรูปหินสีขาวปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อนาค” เป็นที่เคารพสักการะของชาวอุดรธานี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมได้โปรดให้สร้างวัดขึ้น ที่วัดร้างโนนหมากแข้ง และให้ชื่อว่า “วัดมัชฌิมาวาส”
ศาลเจ้าปู่-ย่า ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟใกล้ตลาดหนองบัว เป็นศาลเจ้าของชาวจีนที่ใหญ่โตและสวยงาม มีสวนหย่อมริมหนองบัว บรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อน และในศาลเจ้าปู่-ย่าแห่งนี้ ยังมีมังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ ตั้งอยู่ที่ซอยกมลวัฒนาถ.รอบอุดร-หนองสำโรง จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เลยแยกถ.เลี่ยงเมืองไปเล็กน้อย ทางซ้ายมือจะมีทางแยกเข้าหนองสำโรงประมาณ 500 เมตร และเห็นป้ายบอกทางเข้าสวนกล้วยไม้ทางด้านซ้ายมือ สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ เป็นสวนกล้วยไม้ที่ผลิตกล้วยไม้กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยซึ่งใช้เวลาในการค้นคว้าและผสมพันธุ์ระหว่างแวนด้า(Vanda)โจเซฟฟินแวนเบอร์โร (Josephine Van Berrow) ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สมาคมกล้วยไม้โลก ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2531ชื่อพันธุ์ Udon Sunshine Orchid หรือพันธุ์นางสาวอุดรซันไฌน์ ซึ่งมีการนำไปสกัดทำน้ำหอมในชื่อเดียวกัน ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (042) 242475
วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตาด เดินทางออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-ขอนแก่น ถึงบริเวณสี่แยกบ้านคงเค็ง แล้วแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดที่อยู่เลยจากชุมชนบ้านตาดไม่ไกลเท่าใดนัก สภาพโดยทั่วไปของวัดนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคก มีพื้นที่ทั้งหมดราว 163 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพง นอกจากมีจุดประสงค์ที่จะให้แสดงเขต แน่นอนของ วัดแล้ว ยังป้องกันอันตรายให้กับสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดอีกด้วย เพราะในบริเวณวัดมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ทั้งไก่ฟ้า ไก่ป่า นก กระรอก กระแต หมูป่า วัดป่าบ้านตาดเป็นที่พำนักของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์วิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระที่มีปฏิปทา เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส ของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องกา ไปปฏิบัติธรรม
หมู่บ้านนาข่าและศูนย์หัตถกรรมบ้านเม่น อยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุดรธานี-หนองคาย (ทางหลวงหมายเลข 2) หมู่บ้านอยู่ทางขวามือ ตรงข้ามโรงเรียนชุมชนนาข่า เป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าขิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าขิตในราคาย่อมเยา การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางสายอุดรธานี-นาข่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นได้ที่หน้าสถาบันราชภัฎอุดรธานีและตลาดรังษิณา
อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ตรงกิโลเมตรที่ 15 แล้วแยกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรและการประมง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 20,000 ไร่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะสำหรับการล่องแพ ตกปลา และนั่งเรือชมทิวทัศน์ มีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระองค์ท่านเคยเสด็จประทับเกือบทุกปี

อำเภอบ้านผือ
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,430 ไร่ ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตรแยกขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามเส้นทางหมายเลข 2348 อีกประมาณ 12 กิโลเมตร มีแยกขวาเป็นทางเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในบริเวณอุทยานฯทางด้านขวามือเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลของอุทยานฯ รวมทั้งแผนที่และเส้นทางเพื่อความสะดวกในการเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทราย ที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆกัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ
พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 คำว่า "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก บัวบกนี้คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
พระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดและเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”
ถ้ำและเพิงหินต่าง ๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ แห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ ถ้ำโนนสาวเอ้ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง (ซึ่งถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหินและมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่างๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์ และรูปรายเรขาคณิต) นอกจากนั้นยังมีลานหินที่สวยงาม คือ ลานหินโนนสาวเอ้ ธรรมชาติได้สร้างเพิงหินต่างๆ ไว้ ทำให้มนุษย์รุ่นหลังๆ ได้จินตนาการผูกเป็นเรื่องตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่อง “นางอุสา-ท้าวบารส” เพิงหินที่สวยงามเหล่านี้ ได้แก่ คอกม้าท้าวบารส หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนหลักเสมาและหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตาและเพิงหินวัดลูกเขย
พระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเป็นจำนวนมากใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคล ศิลปะทวาราวดี

อำเภอน้ำโสม
วนอุทยานนายูงน้ำโสม มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ น้ำตกยูงทอง ตั้งอยู่บ้านสว่าง หมู่ที่ 2 ตำบลนายูง อำเภอน้ำโสม เป็นน้ำตกตั้งอยู่บนสันเขาภูพานและภูย่าอูมีลำน้ำไหลผ่านโขดหินสลับซับซ้อนสวยงามท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้นานาพรรณ น้ำตกยูงทองเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 3 ชั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 103 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองอุดรธานี ผ่านเข้าอำเภอบ้านผือและอำเภอน้ำโสม เมื่อถึงอำเภอน้ำโสมจะมีทางแยกจากหมู่บ้านน้ำซึมต่อไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกไปวนอุทยานฯ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางของ รพช. ตลอดสายและมีสภาพดี

อำเภอหนองหาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดิน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะเผาที่ฝังรวมกับศพ
ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้า เป็นอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมของบ้านเชียงในอดีตตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณ รวมทั้งโบราณวัตถุและนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่างๆ การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงนั้นสะดวกมาก เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร) ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลู จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 30 บาท

อำเภอหนองแสง
อุทยานธารงาม ตั้งอยู่ในเขตบ้านทับกุง ตำบลทับกุง ตามเส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-ขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร จะมีด้านขวามือไปสู่อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่เขตอุทยานธารงาม บริเวณอุทยานธารงามมีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม มีลานหินที่กว้างใหญ่ ถ้ำและน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดมะค่า น้ำตกวังตาดแพ ถ้ำมักเกิ้น ถ้ำมักควน แหลสะอาด (ลานหิน) แหลตากผ้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละแห่งมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป

Source : tourismthailand.org